สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประธานกรรมการบริษัทที่มาร่วมงาน Chairman Dinner ของ IOD เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 พบว่า ร้อยละ 82 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าคณะกรรมการของบริษัทได้นำประเด็นเรื่องความยั่งยืน มาพิจารณาในการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร
สำหรับการสอบถามในประเด็นที่คณะกรรมการบริษัทจะใช้เวลาพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการมากขึ้นในปีหน้า นอกเหนือจากเรื่องกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ คือ เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ร้อยละ 61.2 เรื่องการบริหารความเสี่ยง ร้อยละ 55.1 เรื่องการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ร้อยละ 22 และเรื่องการต่อต้านทุจริต ร้อยละ 18.4 ตามลำดับ
ผลสำรวจดังกล่าว มาจากผู้ตอบแบบสอบถาม 49 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 7.2 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ทั้ง SET และ mai) จำนวน 679 บริษัท
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ออก “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560” (Corporate Governance Code: CG Code) เพื่อนำมาใช้แทนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2555 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
CG Code ฉบับดังกล่าว ถือเป็นหลักปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการ นำไปปรับใช้ในการกำกับดูแลให้บริษัท มีผลประกอบการที่ดีในระยะยาว ดำเนินงานอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย พัฒนาหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง
โดยหลักปฏิบัติเน้นการบูรณาการเรื่องความยั่งยืน ในประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) เข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ ตั้งแต่การกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ กระบวนการดำเนินงาน การติดตามและการรายงาน เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท สามารถใช้เป็นกรอบในการกำกับดูแลให้บริษัท ดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นไปเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน
ผมคาดการณ์ว่า ไม่ช้าก็เร็ว บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ จะต้องรับเอาเรื่องความยั่งยืนมาดำเนินการ ทั้งที่เกิดจากความริเริ่มภายในตัวบริษัทเอง (Self-Discipline) หรือจากกฎเกณฑ์การกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Discipline) รวมทั้งแรงผลักดันจากตลาด (Market Discipline)
กลไกหนึ่งที่สำคัญ เพื่อให้การส่งเสริมเรื่องนี้สัมฤทธิ์ผล คือ การสื่อสารให้บริษัทจดทะเบียน รับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่เฉพาะการมีผลประกอบการที่ดีในระยะยาวจากการดำเนินการเรื่องความยั่งยืน แต่ยังสามารถให้ผลในระยะสั้นได้ด้วย ซึ่งในประเด็นหลังนี้ จะสร้างให้เกิดแรงจูงใจ ในแบบที่ไม่ต้องรอ หรือต้องแลก เพื่อผลในระยะยาว 5 ปี 10 ปี ซึ่งบางที คณะกรรมการอาจหมดวาระ หรืออยู่ไม่ทันรับอานิสงส์ถึงผลที่จะเกิดขึ้น
แนวทางการดำเนินการเรื่องความยั่งยืน เพื่อให้ผลในระยะสั้นนั้น อยู่ที่การออกแบบความริเริ่มด้านความยั่งยืน จากที่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น (หรือที่จะเกิดขึ้น หากมิได้ดำเนินการ) โดยการจับคู่พิจารณากับ “โอกาส” และ “ความเสี่ยง” ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต มาเป็นการจับคู่พิจารณากับ “รายรับ” และ “รายจ่าย” ซึ่งเป็นเรื่องในปัจจุบัน ที่มีผลกับบรรทัดสุดท้ายของกิจการตอนสิ้นปี
เป็นการปรับเปลี่ยนการรับรู้ประโยชน์ (Recognized Benefit) ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เป็นการรับประโยชน์ (Realized Benefit) จากการดำเนินการเรื่องความยั่งยืน ในรอบปีปัจจุบัน ซึ่งผมเรียกว่าเป็น “มูลค่าปัจจุบันของความยั่งยืน” (Present Value of Sustainability)
เสมือนกับการบันทึกการรับรู้รายได้ในทางบัญชีที่มี 2 แบบ คือ เกณฑ์เงินสด (Cash Basis) กับเกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) นั่นเอง
ส่วนรายละเอียดและวิธีการในการให้ได้มาซึ่งมูลค่าปัจจุบันของความยั่งยืน จากการออกแบบความริเริ่มเพื่อรับประโยชน์ (Realized Benefit) ในรอบการดำเนินงานปัจจุบัน จะทำได้อย่างไรนั้น ผมจะมาขยายความ พร้อมตัวอย่างในตอนต่อไปครับ
จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ [Archived]
Monday, December 11, 2017
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment