ในวงของภาคเอกชนที่เรื่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ได้กลายเป็นบรรทัดฐาน (Norm) ในทุกสาขาอุตสาหกรรม และในทุกองค์กร โดยไม่จำกัดขนาดของกิจการ ทำให้บรรดาองค์กรธุรกิจที่ต้องการพัฒนาสร้างความแตกต่างและคุณค่าในรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง พยายามแสวงหาเครื่องมือทางสังคมใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์การพัฒนา และหนึ่งในนั้น คือ การลงทุนทางสังคม หรือ Social Investment ที่ปัจจุบัน ได้มีองค์กรธุรกิจไทยหลายแห่ง นำมาใช้ในการสร้างคุณค่าทางสังคม นอกเหนือจากรูปแบบการบริจาคเพื่อการกุศล (Philanthropy)
จากข้อมูลการสำรวจ 2016 Global Sustainable Investment Review ของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) ระบุว่า การเติบโตของการลงทุนที่มุ่งผลกระทบหรือเป็นการลงทุนเพื่อชุมชน (Impact/Community Investing) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาสังคม รวมถึงการลงทุนในกิจการที่มีความมุ่งประสงค์ (Purpose) ทางสังคม มียอดรวมการลงทุนอยู่ราว 2.48 แสนล้านเหรียญ ในปี พ.ศ.2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 146 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2557
ในปี พ.ศ.2553 UN Global Compact หน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ ได้ออกหลักการว่าด้วยการลงทุนทางสังคม หรือ Principles for Social Investment (PSI) 4 ข้อ คือ เป็นการลงทุนที่มุ่งประสงค์ (Purposeful) ให้เกิดผลดีแก่สังคม พร้อมให้ตรวจสอบ (Accountable) เอาใจใส่ (Respectful) และมีจริยธรรม (Ethical)
การลงทุนทางสังคม ตามหลักการดังกล่าว เป็นการเข้ามีส่วนร่วมทั้งทางการเงินและในรูปแบบอื่นที่มิใช่ตัวเงินโดยสมัครใจ เพื่อช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น และสังคมในวงกว้าง ในการพัฒนาหรือจัดการกับปัญหาที่เผชิญอยู่
ด้วยเหตุที่ กิจกรรมการเข้าร่วมพัฒนาสังคมของภาคธุรกิจ ในยุคปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดระหว่างการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจกับการพัฒนาในเชิงสังคม แนวโน้มของการยอมรับความเกี่ยวโยงดังกล่าว ก่อให้เกิดรูปแบบของการพัฒนาใหม่ๆ ที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับการให้น้ำหนักที่เคลื่อนไปมาระหว่างวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ (Commercial) กับวัตถุประสงค์เพื่อชุมชน (Community) ดังรูป
จากซ้ายสุด ธุรกิจคือใจกลาง (Core Business) เป็นรูปแบบการประกอบธุรกิจที่เป็นไปเพื่อแสวงหากำไรและสร้างความมั่งคั่งเป็นที่ตั้ง ดำเนินงานในแนวทางที่นักเศรษฐศาสตร์ อย่างมิลตั้น ฟรีดแมน กล่าวไว้ว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจทั้งมวล คือ การแสวงหากำไร ด้วยเหตุนี้ การบริหารกิจการ จึงต้องเป็นไปเพื่อสนองตอบต่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น รูปแบบดังกล่าว มาจากฐานคิดที่เชื่อว่าเป้าประสงค์ในเชิงพาณิชย์กับเป้าประสงค์เพื่อชุมชนไปด้วยกันไม่ได้ ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง
ธุรกิจที่รับผิดชอบ (Responsible Business) เป็นรูปแบบการประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลผลกระทบทางลบ อันเกิดจากการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไรตามวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ กิจการประเภทนี้ ยึดหลัก “Do No Harm” โดยจะปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย เพื่อกำกับดูแลมิให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อธุรกิจ
ธุรกิจที่ไม่ปิดกั้น (Inclusive Business) เป็นรูปแบบการประกอบธุรกิจที่ให้ความสนใจในการเข้าถึงตลาดเป้าหมายในกลุ่มที่มีรายได้น้อย หรือเปิดกว้างให้กลุ่มดังกล่าว เข้ามาเป็นผู้ส่งมอบ (Suppliers) ในห่วงโซ่ธุรกิจ สามารถสร้างให้เกิดการจ้างงาน อาชีพ รายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต หรือเกิดส่วนตลาดใหม่ เป็นกิจการที่ดำเนินงานตามแนวทาง “Do Good” โดยใช้กระบวนงานหลักทางธุรกิจ ซึ่งมีความยั่งยืนกว่าการให้ความช่วยเหลือในแบบให้เปล่าที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ดำเนินอยู่
ธุรกิจแบบเน้นคุณค่าร่วม (Shared Value) เป็นรูปแบบการประกอบธุรกิจที่ผสานการดำเนินงานเพื่อสร้างให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงพาณิชย์ควบคู่กับผลประโยชน์ที่ชุมชนได้รับ ก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จทางธุรกิจและความก้าวหน้าทางสังคมไปพร้อมกัน ประโยชน์ที่สังคมได้รับจากรูปแบบดังกล่าว มิใช่การจัดสรรปันส่วนใหม่ (Re-distribute) ที่ทำให้ธุรกิจได้รับประโยชน์น้อยลงจากเดิม แต่เป็นการเพิ่มผลิตภาพในห่วงโซ่คุณค่า การปรับรื้อช่องทางการจัดจำหน่าย การสร้างนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มคุณค่ามวลรวมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง
ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) เป็นรูปแบบการประกอบธุรกิจที่ตั้งอยู่บนความมุ่งประสงค์เดียว คือ การแก้ปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ กิจการประเภทนี้ มีการบริหารจัดการแบบธุรกิจที่สามารถแสวงหากำไรได้ และต้องมีขีดความสามารถในการคืนเงินทุนตั้งต้นให้แก่ผู้ลงทุนภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกัน ตามหลัก “Non-loss, Non-dividend” โดยกำไรที่ได้รับ จะนำกลับมาลงทุนในกิจการทั้งหมด เพื่อต่อยอดขยายผลการประกอบกิจการ ให้สังคมได้รับประโยชน์เพิ่มทวีขึ้น รูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคม มักเกี่ยวข้องกับการตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน (ปัจจัยสี่) การแก้ปัญหาความยากจน และการขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น
การลงทุนทางสังคมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Social Investment) เป็นรูปแบบการให้การสนับสนุนทางการเงินและทรัพยากรที่มิใช่ตัวเงินแก่ชุมชน หรือกับประเด็นทางสังคมที่ต้องการแก้ไขหรือพัฒนา โดยเฉพาะกับชุมชนที่มีแหล่งดำเนินงานหรือสถานประกอบการตั้งอยู่ การลงทุนในรูปแบบนี้ แตกต่างจากการบริจาคในแบบให้เปล่า ตรงที่วัตถุประสงค์ของการลงทุน เป็นไปในทางที่สอดรับเป้าประสงค์ทางธุรกิจในระยะยาว คล้ายคลึงกับการให้การอุปถัมภ์ (Sponsorship) ที่ช่วยเสริมสร้างให้เกิดการรับรู้ในภาพลักษณ์องค์กร การตอบรับจากลูกค้า และความภาคภูมิใจในการทำงานร่วมกับองค์กร ช่วยให้องค์กรสามารถที่จะรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ ในขณะเดียวกัน ก็สามารถที่จะชักชวนบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการ ให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กรเพิ่มเติม
การบริจาคเพื่อการกุศล (Philanthropy) เป็นรูปแบบของการให้หรือการจัดสรรทรัพยากรที่เอกชนเป็นเจ้าของ เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยมิได้มุ่งหวังผลตอบแทน หรือมีประโยชน์เชื่อมโยงกลับมายังองค์กรผู้บริจาคในทางตรง การดำเนินงานตามรูปแบบนี้ องค์กรสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องในหลายระดับ นับตั้งแต่การคัดเลือกโครงการ การตรวจสอบสถานะโครงการ การจัดสรรทรัพยากรให้แก่โครงการ การบริหารจัดการโครงการ การติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ หรือองค์กรผู้บริจาคที่มีกิจการขนาดใหญ่ หรือมีหลายกิจการในเครือ อาจมีการตั้งมูลนิธิในสังกัดขึ้น เพื่อให้มีการประสานการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เป็นต้น
รูปแบบการดำเนินงานที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็น บทบาทของภาคเอกชนที่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ไล่เรียงจากน้อยสุดไปมากสุด เป็นการเลือกทำธุรกิจที่แสวงหากำไร (ให้สังคม) ตามอัธยาศัยของแต่ละกิจการครับ
--------------------------------------
(เรียบเรียงจากเอกสาร Foundations of Social Investment โดย UN Global Compact และ Principles for Social Investment Secretariat (PSIS), 2012.)
จากบทความ 'Green Vision' ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ [Archived]
Wednesday, June 14, 2017
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment