ก่อนอื่น ต้องขอสวัสดี ท่านผู้อ่านกรุงเทพธุรกิจทุกๆ ท่าน ผมขออนุญาตฝากเนื้อฝากตัว ในฐานะคอลัมนิสต์หน้าใหม่ ที่จะมาประจำการในหน้า BizWeek นี้ทุกวันอาทิตย์ เว้นอาทิตย์ ครับ
อันที่จริง จะว่าเป็นหน้าใหม่ ก็ไม่ตรงซะทีเดียว เพราะผมได้เคยเขียนบทความรับใช้ท่านผู้อ่านทางกรุงเทพธุรกิจ ในชื่อว่า หน้าต่าง CSR นับตั้งแต่ปี 2552 (ไม่ย้อนไปก่อนหน้านั้น เพราะมันรู้สึกแก่ขึ้นมาหน่อยๆ) หรือเป็นเวลาร่วม 7 ปี ก่อนที่จะพักสายตาเถอะนะ คนดี.. เอ๊ย เว้นไประยะหนึ่ง จนกระทั่ง ได้หวนกลับมาพบกับท่านผู้อ่านในวันนี้อีกครั้ง
และก็ต้องขอบคุณทีมงาน BizWeek ที่เปิดโอกาสให้ผมได้มาพบปะกับท่านผู้อ่าน ในคราวนี้ อะแฮ่ม .. ต้องบอกว่า มันมากกว่าเรื่อง CSR (Corporate Social Responsibility) แบบเดิมๆ โว้ว โว้ว (เขียนเอง น่าสนใจเอง ฮา)
จึงเป็นที่มาของชื่อคอลัมน์ ซึ่งมาจากคำว่า Sustainable (ยั่งยืน) + Entrepreneur (ผู้ประกอบการ) ย่นเข้าให้เหลือเป็น “SUSTAINPRENEUR” กลายเป็นคำเฉพาะที่มุ่งหมายใช้สื่อถึงความเป็นผู้ประกอบการในวิถียั่งยืนนั่นเอง
ผู้ประกอบการในวิถียั่งยืน มีหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นองค์กรธุรกิจแบบทั่วไป แต่ใส่ใจในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development) โดยใช้ CSR เป็นตัวขับเคลื่อน แบบหนึ่ง
เป็นธุรกิจในแบบที่คำนึงถึงการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคมไปพร้อมกัน หรือ CSV (Creating Shared Value) แบบหนึ่ง
เป็นธุรกิจในแบบที่ตั้งขึ้นใหม่โดยมีความมุ่งประสงค์ทางสังคมเป็นหลัก และมีกำไรเป็นเรื่องรอง หรือ SE (Social Enterprise) แบบหนึ่ง
เป็นธุรกิจในแบบที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสังคมโดยเฉพาะ และไม่เอาปันผลจากกำไรที่ได้ หรือ SB (Social Business) ก็แบบหนึ่ง
และพัฒนาการล่าสุด กำลังจะมีธุรกิจที่นำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG (Sustainable Development Goals) มาแปลงเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนธุรกิจในแบบที่เครื่องมือบริหารจัดการ (Management Tools) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อาจตกยุคไปเลยทีเดียว
เรื่องจริงครับ เครื่องมือบริหารจัดการอย่าง Balanced Scorecard หรือ BSC อันเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ได้สิ้นอายุขัยไปเรียบร้อยโรงเรียนแคปแลนและนอร์ตัน (ผู้พัฒนาเครื่องมือ BSC)
ผมเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามหนังสือเล่มแรกที่ทั้งสองท่านเขียนออกมา ในปี 1996 จนถึงเล่มล่าสุด (เล่มที่ 5) ในปี 2008 หลังจากนั้นก็ไม่มีผลงานร่วมของทั้งสองท่านออกมาอีกเลย ร่วม 9 ปี
สาเหตุเป็นเพราะอะไรหรือครับ เพราะเครื่องมือไม่สามารถตอบโจทย์การบริหารองค์กรได้อีกแล้วครับ เนื่องจากข้อจำกัดของมุมมองในเครื่องมือที่ไม่สามารถรองรับความเป็นไปขององค์กรในปัจจุบัน เลยทำให้เครื่องมือนี้ ไม่ได้ไปต่อครับ (แม้จะมีผู้พยายามดัดแปลงมุมมองในเครื่องมือให้รองรับกับปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เจ้าตำรับไม่เห็นชอบครับ จบข่าว)
ขยายความให้เห็นภาพนะครับ มุมมองแรก เป็นเรื่อง การเงิน หรือ Financial วิถีของผู้ประกอบการยั่งยืนนั้น ไม่ได้วัดความสำเร็จแค่ตัวเลขทางการเงินอย่างเดียวแล้วครับ เหลียวไปดูตลาดทุนในวันนี้ พูดกันถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งต้องใช้ตัววัดประเภทที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน หรือ Non-Financial มุมมองแรกของ BSC ก็ไม่รองรับแล้วครับ
มุมมองต่อมา เป็นเรื่อง ลูกค้า หรือ Customer ผู้ประกอบการยั่งยืน ไม่ได้มีแค่ลูกค้าที่ต้องให้การดูแลนะครับ แต่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholder ที่ประกอบไปด้วยพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชน องค์กรกำกับดูแล ฯลฯ ถ้วนหน้าเลยครับ แผนที่ยุทธศาสตร์ หรือ Strategy Map ที่องค์กรธุรกิจทำใช้อยู่ในทุกวันนี้ บอกได้เลยว่า อีหลักอีเหลื่อครับ ไม่รู้จะบรรจุยุทธศาสตร์ที่ตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นไว้ตรงไหนในแผนที่ฯ เอ.. หรือว่ายุทธศาสตร์ผิด ไม่มีที่ลง เอ้า .. เป็นงั้นไป
มุมมองต่อมา เป็นเรื่อง กระบวนการภายใน หรือ Internal Process ผู้ประกอบการยั่งยืน ถ้ามัวแต่บริหารกระบวนการภายใน เจ๊งแน่นอนครับ มีจอมยุทธ์พกบิตคอยน์ยุคบล็อกเชนกล่าวไว้ว่า วันนี้ธุรกิจไม่ได้แข่งขันด้วยกิจการหรือบริษัท (Company) ที่ท่านเป็นเจ้าของอยู่ แต่แข่งขันกันด้วยโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ท่านอาศัยอยู่ เห็นมั้ยครับว่า เรื่องที่ต้องบริหารเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันยุคนี้ เป็นกระบวนการที่อยู่ภายนอกกิจการแทบทั้งนั้นครับ
มุมมองสุดท้าย เป็นเรื่อง การเรียนรู้และการเติบโต หรือ Learning and Growth ผู้ประกอบการยั่งยืน เอ่อ.. คือ ชื่อก็บอกอยู่แล้วครับว่า ต้องยั่งยืน ไม่ใช่แค่ เติบโตอย่างเดียว เหมือนคนเรา โตได้เรื่อยๆ แต่พอใกล้อายุ 25 ก็ไม่โตแล้วครับ จากนี้ เค้าเรียกว่า แก่ไปเรื่อยๆ ครับ อาหารการกินตอนเลี้ยงให้โตก็แบบหนึ่ง อาหารการกินตอนเลี้ยงไม่โตแล้วก็แบบหนึ่ง อุปมาเหมือนธุรกิจที่ต้องการโต ต้องใช้อินพุตหรือปัจจัยนำเข้าแบบหนึ่ง ส่วนธุรกิจที่ต้องการยั่งยืน ก็จะมีอินพุตหรือปัจจัยนำเข้าอีกชุดหนึ่งที่ต่างออกไป มุมมองการเรียนรู้และการเติบโตในกรณีนี้ เลยไม่ค่อย Applicable น่ะครับ
คือ ถ้าท่านยังอ่านบทความของกระผมอยู่ ณ บรรทัดนี้ และดื่มด่ำกับมัน ก็แปลว่า เราทั้งคู่แก่แล้ว นั่นเองครับ
เลยต้องมาหาเครื่องมือใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ วิธีการบริหารใหม่ๆ เพื่อทำให้ธุรกิจของเรา ยั่งยืนไงครับ
คอลัมน์ SUSTAINPRENEUR จะเริ่มทำหน้าที่ดังว่า นับจากนี้เป็นต้นไปครับ
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Sunday, June 18, 2017
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment