จั่วหัวบทความตอนนี้ ท่านผู้อ่านมีทางเลือก 2 ทาง คือ ข้ามไปเลย เพราะไม่อยู่ในความสนใจ หรือพาดหัวเอาเท่ เนื้อหาคงงั้นๆ กับอีกทาง อาจชวนให้สงสัยอยากรู้ว่า เอ๊ะ สองเรื่องนี้เกี่ยวกันยังไง
ถ้าท่านอ่านต่อในย่อหน้านี้ แสดงว่าเลือกทางหลัง และต้องขอบคุณล่วงหน้าที่ให้ความสนใจ แต่อย่าคาดหวังไว้สูงนะครับ เพราะเป็นเพียงการนำเสนอความคิด ไม่ใช่ทฤษฎีหรือความจริงที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์แล้วตามหลักวิชาแต่อย่างใด
เรื่องเศรษฐกิจ เอาความอย่างง่าย เป็นเรื่องของปากท้อง รวมไปถึงเครื่องใช้สอยต่างๆ ปุถุชนพึงรับผิดชอบดูแลตนเองให้ท้องอิ่ม มีเครื่องอุปโภคบริโภคที่เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน ไม่ขัดสนจนเกิดความยากลำบากในการดำรงชีพ หากทุกคนทำได้ถ้วนหน้า เรื่องเศรษฐกิจในระดับมหภาคก็จะไม่เป็นปัญหาให้ต้องมาคอยแก้ไข
แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถดูแลรับผิดชอบปากท้องของตนเองได้ ขณะที่บางคนซึ่งมีศักยภาพหรือโอกาสมากกว่าผู้อื่น กลับใช้ความสามารถในการตักตวงและสะสมเครื่องอุปโภคบริโภคในรูปของทุน(เงิน)
ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ แสวงหาด้วยการเอารัดเอาเปรียบหรือคดโกงผู้อื่น แทนที่จะใช้ความสามารถนั้นในการช่วยเหลือผู้อื่นที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ทำให้รัฐต้องรับบทในการคุมกติกาให้เกิดความเป็นธรรม ให้แต้มต่อแก่ผู้ด้อยโอกาสหรือขาดศักยภาพ ที่หากช่วยโดยไม่คำนึงถึงการสร้างให้เกิดภาวะพึ่งตนเองให้ได้ (ผสมโรงกับการหวังผลทางการเมือง ทำให้เป็นประชานิยมแบบพึ่งพา) นานวันเข้า สัดส่วนของการพึ่งพาผู้อื่นในทางเศรษฐกิจก็จะมากกว่าการพึ่งตนเอง ผลิตภาพถดถอย จนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมอ่อนแอลงเรื่อยๆ และเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลายในอนาคต
ทางออกจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายเห็นหายนะที่รออยู่ข้างหน้า ไม่เว้นแม้แต่ภาคเอกชนหรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่ถือความมั่งคั่งไว้ตรงยอดพีระมิด เพราะท่านไม่สามารถจะตักตวงหรือสะสมทุนอย่างที่เคยได้ในระบบเศรษฐกิจที่ล่มสลาย
ผู้แทนหรือนักการเมืองต้องสลัดกรอบเวลาของการบริหารกิจการบ้านเมืองตามวาระของรัฐบาลโดยไม่ผลักปัญหาเพียงให้พ้นตัวหรือทิ้งให้เป็นภาระในอนาคต ประชาชนทุกคนก็ต้องตระหนักและรับผิดชอบต่อตนเอง พัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้เกิดอิสรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่คอยแต่พึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอก
เมื่ออิสรภาพทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น เข้าหลัก ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ปุถุชนจึงจะสามารถคิดอ่านกระทำการในขั้นถัดไป
เรื่องสังคม เป็นเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ บุคคลไม่อาจอยู่ได้โดดเดี่ยวลำพัง แม้ท่านจะมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างเหลือล้น แต่ในการดำรงชีวิตก็ขาดการปฏิสัมพันธ์ไม่ได้
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ให้ผลในหลายลักษณะ แต่มีหน้าที่เดียวกัน คือ การถ่ายเทสิ่งซึ่งเป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรมระหว่างกัน เช่น การแบ่งปันทรัพยากร ข้อมูล ความรู้สึก ความคิดเห็น ความรัก ความชัง ฯลฯ
ในยุคก่อนที่จะมีเทคโนโลยีติดต่อสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต้องเกิดขึ้นซึ่งหน้า และกับบุคคลต่อบุคคล แต่ในยุคที่มีเทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายพิสัยของมนุษย์ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เป็นยุคสื่อสังคมออนไลน์ การปฏิสัมพันธ์ได้พัฒนารูปแบบโดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ซึ่งหน้าอีกต่อไป
บุคคลเดียวสามารถใช้สื่อในการปฏิสัมพันธ์กับคนจำนวนมหาศาลได้ในคราวเดียว และไปไกลถึงขนาดที่เรียกว่า ความรู้สึกหรือความคิดเห็นของบุคคลๆ เดียว สามารถส่งอิทธิพลไปยังคนทั้งโลกได้ในชั่วลัดนิ้วมือเดียว
เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจ ที่ความเหลื่อมล้ำเกิดจากช่องว่างทางศักยภาพที่บุคคลมีต่างกัน ในเรื่องสังคม ช่องว่างทางศักยภาพในการปฏิสัมพันธ์หรือการใช้สื่อที่บุคคลมีต่างกัน ก่อให้เกิดการล่อลวงและการโฆษณาชวนเชื่อได้โดยง่าย (เช่น Clickbait หรือการพาดหัวเพื่อให้ผู้อ่านคลิกโดยมักนำไปยังเนื้อหาที่ไม่ได้น่าสนใจจริง)
นอกจากเรื่องวัยหรืออายุของบุคคล ที่ต้องมีการชี้แนะหรือมีการกำกับดูแลในการปฏิสัมพันธ์โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์แล้ว ยังต้องอาศัยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบุคคลเพื่อให้มีวุฒิภาวะในการใช้สื่อดังกล่าวเพื่อการปฏิสัมพันธ์ มีการเสริมสร้างให้เกิดสำนึกรับผิดชอบในการสื่อสาร เน้นการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ และในทางสร้างสรรค์
แม้การปฏิสัมพันธ์ที่เป็นไปในทางบวก เช่น การแบ่งปันปัจจัยช่วยเหลือผู้อื่น การมอบความรัก ยังจำเป็นต้องมีขอบเขต มีเบรกหรือห้ามล้อ เมื่อถึงจุดที่เกินความเหมาะสม จนอาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น (เช่น กรณีของดาราที่บูชาความรักถึงขนาดยอมแลกชีวิตตัวเอง)
บุคคลไม่ว่าจะยากดีมีจน ต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้เกิดวุฒิภาวะทางสังคม ไม่คอยแต่หมกมุ่นปฏิสัมพันธ์กับภายนอก
เมื่อวุฒิภาวะทางสังคมเกิดขึ้น เข้าหลัก ‘สังคมพอประมาณ’ ปุถุชนจึงจะสามารถคิดอ่านกระทำการในขั้นถัดไป
ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรต่อไปนั้น โปรดติดตาม เมื่อผมสามารถพัฒนาวุฒิภาวะทางสังคมได้ถึงขั้น เลิกหมกมุ่นกับสื่อสังคมออนไลน์ได้ก่อนนะครับ!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, July 09, 2015
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment