Thursday, October 04, 2012

ไม่รู้ - เสียรู้ ร้ายพอกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมสื่อบ้านนอก ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประชานิยม : ชนบทได้หรือเสีย” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐที่มีผลต่อการพัฒนาชนบท ในอันที่จะนำประโยชน์มาสู่การพัฒนาประเทศและแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างคนเมืองและคนชนบท รวมทั้งลดความขัดแย้งในสังคมดังเช่นที่ปรากฏอยู่

ในงานได้จัดให้มีการปาฐกถา โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในหัวข้อ “หลักคิดในการพัฒนาชนบท” ซึ่งเป็นการนำประสบการณ์ในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ในสมัยที่ท่านเคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ. 2523-2531) เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วมาเล่าสู่กันฟัง

ผมได้ลองค้นข้อมูลของสภาพัฒน์ พบว่าในขณะนั้น ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 (2520-2524) ที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2522 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 11.6 ต่อปี นอกจากนี้ ยังเกิดวิกฤตการณ์ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน เช่น กรณีการล้มของบริษัทราชาเงินทุน

และในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 (2525-2529) ที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเกินตัวทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ ปัญหาสังคม และปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

จากปาฐกถาดังกล่าว ทำให้ได้เรียนรู้หลักคิดในการพัฒนาชนบท เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า คนชนบทไม่มีความรู้ที่ดีพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ทั้งคุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจจึงมีปัญหา ถึงขนาดมีคติว่า ความไม่รู้เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของความยากจน กลายเป็นวงจรอุบาทว์ “ไม่รู้ -> เจ็บ -> จน” ที่ก่อให้เกิดความแร้นแค้นลงไปเรื่อยๆ

การเติมความรู้จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการพัฒนาชนบทในยุคนั้น ทั้งในเรื่องโภชนาการ อนามัย สาธารณสุข การจัดการทรัพยากร และการแปรรูปผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้ตามวิถีของระบบตลาด เพื่อต้องการที่จะขจัดความเจ็บ-จน ให้หมดไป ด้วยหวังว่าวงจรดังกล่าวจะแปรสภาพเป็น “รู้ -> สุขสบาย -> ร่ำรวย” คือ สุขสบาย จากการมี ‘สุขภาวะ’ ที่ดี และ ร่ำรวย จากการมี ‘รายได้’ เพิ่มขึ้น

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (2530-2534) ก็ยังปรากฏว่า ประเทศไทยมีปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ เพราะกลุ่มคนยากจน 20 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย มีสัดส่วนรายได้ลดลง การพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและวัฒนธรรม ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป

กระทั่ง 30 ปีผ่านไป วงจร “รู้ -> สุขสบาย -> ร่ำรวย” ก็มิได้เกิดขึ้นจริงกับคนชนบท ประกอบกับประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากโลกาภิวัตน์ และเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ถูกครอบงำด้วยวิถีของระบบทุนนิยม แปลงสภาพจนมาเป็นระบอบประชานิยมในทางการเมือง โดยใช้ทุนเงินเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหา

วงจรอุบาทว์ในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จาก “ไม่รู้ -> เจ็บ -> จน” ได้แปรสภาพมาเป็น “เสียรู้ -> เจ็บ -> จน” วงจรอุบาทว์ใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน คือ เสียรู้ ในระบบทุนนิยม เจ็บ จาก ‘มลภาวะ’ ที่เป็นผลพวงของการพัฒนา และ จน จากการมี ‘หนี้สิน’ ที่เพิ่มขึ้น ไม่ทันกับรายได้ ซึ่งยังเป็นวงจรอุบาทว์ที่กำลังเกิดขึ้นกับคนเมืองด้วย

จากการเสวนาในครั้งนี้ ทำให้ตระหนักว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยจำเป็นจะต้องมีหลักคิดในการพัฒนาชนบทใหม่ ไม่ใช่อันที่ใช้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งล้มเหลวไปแล้ว การเติมความรู้ในแบบเดิมๆ แม้จะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีต่อผลกระทบทางลบ จากการพัฒนาและกระแสโลกาภิวัตน์ได้เท่าที่ควร

วงจรการพัฒนาที่ควรจะเป็นในปัจจุบัน ได้แก่ “รอบรู้ -> ปกติ -> พอเพียง” คือ ยกระดับจาก ความรู้ เป็นความรอบรู้ความเข้าใจที่กระจ่างและเพียงพอ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวพันทั้งหมด รวมทั้งระบบชีวิตของคนไทย ไม่เสียรู้ไปกับการเติมความรู้และความชำนาญทางวิชาการเฉพาะทาง หรือในแบบแยกส่วน หรือนำเข้ามาจากภายนอกโดยไม่คำนึงถึงความเป็นอยู่ ความต้องการ วัฒนธรรม และความรู้สำนึกในท้องถิ่น

หลักคิดในการพัฒนาใหม่ ควรมุ่งที่ ‘ไม่เจ็บ’ คือเป็นปกติ (ไม่ใช่สุขสบาย) และ ‘ไม่จน’ หรือพอเพียง (ไม่ใช่ร่ำรวย) สอดคล้องกับที่พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า “ถ้าทุกคนเลื่อมใสต้องพอเพียงก็ปฏิบัติเถิด เพราะถ้าปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง มันใช้ได้จริงๆ ไปได้จริงๆ แต่ว่าอาจจะไม่ค่อยสบาย ... เศรษฐกิจพอเพียง คือทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ แต่ถ้าพอเพียงสามารถนำพาประเทศไปได้ดี”

จากบทเรียน 30 กว่าปีที่ผ่านมานี้ เห็นแล้วว่า การขจัดความยากจน โดยมีโจทย์ที่มุ่งสู่ความร่ำรวยมั่งคั่งเป็นที่ตั้ง ได้เป็นกับดักแห่งการพัฒนาของเศรษฐกิจทุนนิยม ที่นำพาประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประสบกับวิกฤตแห่งการพัฒนาดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: