ในวันนี้ (6 ก.ย. 2555) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ มีการจัดประชุมประจำปีเรื่อง “อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
กรอบการขับเคลื่อนการพัฒนาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2555-2559) ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไทยให้มีคุณภาพ มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะการสร้างฐานทางปัญญาในการก้าวสู่สังคมและเศรษฐกิจสีเขียวที่มีแบบแผนการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การเตรียมความพร้อมประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนสู่ “สังคมสีเขียว” นั้น สภาพัฒน์ฯ ได้กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนา โดยคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญๆ ได้แก่ บทบาทและกระบวนทัศน์การพัฒนาขององค์การระหว่างประเทศ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากความต้องการสินค้าและบริการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยในการผลิต มาสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถือเป็นปัจจัยเร่งทำให้ต้องปรับกระบวนทัศน์และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งด้านการค้า การลงทุน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมสีเขียว ยังมีประเด็นท้าทายในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนา ที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินงาน ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย กลไกและเครื่องมือ และความพร้อมในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของภาคีการพัฒนาต่างๆ การขาดแรงผลักดันจากภาครัฐอย่างจริงจังในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการพัฒนาจากเดิมไปสู่กระบวนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างตลาดผู้บริโภคภายในประเทศที่ตอบสนองความต้องการใช้สินค้าและบริการสีเขียวยังคงอยู่ในวงจำกัด ตลอดจนการสร้างระบบและกลไกสนับสนุนกลุ่มคนฐานล่างให้สามารถปรับตัวและช่วยลดผลกระทบจากการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมสีเขียวภายใต้กรอบแนวคิดของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ดังกล่าว
การประชุมครั้งนี้ มีการหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาใน 7 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1) อนาคตเกษตรไทยสู่การเติบโตสีเขียว 2) อุตสาหกรรมสะอาด วิถีใหม่ของอุตสาหกรรมอนาคต 3) มุ่งสร้างสรรค์การท่องเที่ยวสีเขียว เพื่อการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน 4) การพัฒนาระบบขนส่งและพลังงานเพื่อระบบเศรษฐกิจสีเขียว 5) เส้นทางสู่นวัตกรรมสีเขียว 6) สังคมสีเขียว นวัตกรรมทางสังคมสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน 7) การรับมือภัยพิบัติภายใต้การเติบโตสีเขียว
สิ่งสำคัญเบื้องแรกในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้ประสบผลสำเร็จนั้น จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในความหมายของคำว่า “สีเขียว” แก่ทุกภาคส่วนให้ตรงกันก่อน เพราะบริบทของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบนเส้นทางสีเขียว ในประการแรก มิได้จำกัดเพียงแค่มิติ “ด้านสิ่งแวดล้อม” เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์และความเสมอภาคเป็นธรรมทางสังคมประกอบกัน
ประการที่สอง ไม่สามารถกำหนดหรือใช้ยุทธศาสตร์สีเขียวชุดเดียวสำหรับการขับเคลื่อน โดยขาดการคำนึงถึงปัจจัย “ด้านภูมิสังคม” ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่
และประการที่สาม ยุทธศาสตร์สีเขียวต้องเอื้อต่อการสร้างให้เกิด “ภูมิคุ้มกัน” ที่สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง มิใช่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็น “เครื่องมือกีดกัน” การเข้าถึงทรัพยากร โอกาส แหล่งทุน ฯลฯ และมิใช่เป็นข้ออ้างสำหรับการสร้างมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หรือนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งแก่คนบางกลุ่มบนความสูญเสียของคนกลุ่มใหญ่
สิ่งสำคัญต่อมาคือ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสีเขียวกับนโยบายรัฐบาล แผนการบริหารราชการแผ่นดิน และแผนระดับอื่นๆ รวมทั้งแผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัด และแผนท้องถิ่น ตลอดจนการผลักดันให้ภาคเอกชนนำประเด็นการพัฒนาสีเขียวไปจัดทำแผนการลงทุนทางธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว
ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนแผนของภาคีการพัฒนาต่างๆ พิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนการพัฒนา รวมทั้งสื่อสารและจัดทำข้อมูลที่ภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นระบบและบูรณาการ ตลอดจนการเสริมสร้างบทบาทของภาคีการพัฒนาให้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนา มิใช่พระอันดับที่เข้าร่วมพอเป็นพิธีโดยมิได้ให้ความสำคัญ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, September 06, 2012
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment