Thursday, September 13, 2012

ยุทธศาสตร์ไทย ใน 2 ทศวรรษหน้า

วันพรุ่งนี้ (14 ก.ย.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะมีการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2556-2575) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เพื่อประมวลข้อเท็จจริง ประเด็นปัญหา และผลกระทบด้านต่างๆ ตลอดจนศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศใน 2 ทศวรรษข้างหน้า

การสัมมนาครั้งนี้ จะมีการประชุมกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นใน 7 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและประชาชน และด้านกระบวนทัศน์และยุทธศาสตร์ของเศรษฐกิจพอเพียง ในฐานะเป็นทางรอดของประเทศไทย โดยเป็นการจัดสัมมนาต่อเนื่องจากการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาคไปแล้วก่อนหน้านี้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวเรื่องในการสัมมนาครั้งนี้ ได้แก่ งานศึกษาของ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสนและคณะ (2550) ในโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนที่เดินทาง (Roadmap) ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ในที่ประชุมระดมสมองของโครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงครั้งนั้น ได้มีการเสนอภาพของปัญหาซึ่งคาดว่าจะดำรงอยู่ใน 20 ปีข้างหน้า ได้แก่ ปัญหาโลกร้อน การขาดแคลนพลังงาน การเป็นสังคมผู้สูงอายุ การแข่งขันภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมชุมชนรวมถึงค่านิยมในสังคมไทยที่สืบเนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์

การรับมือกับสภาพปัญหาที่จะมาถึง จำเป็นต้องสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้รู้เท่าทันปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันความพอประมาณมีเหตุมีผลจะช่วยลดการบริโภคซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านการประหยัดการใช้พลังงานและการลดการปล่อยมลพิษที่สร้างปัญหาโลกร้อน การสร้างสังคมที่เอื้ออาทร โดยมีครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น เป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมและสร้างสวัสดิการที่เกื้อหนุนผู้ยากไร้และผู้สูงอายุในพื้นที่

นอกจากนี้การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพของสาขาการผลิตบนฐานทรัพยากรและภูมิปัญญา เช่น สาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยาสมุนไพร และพืชพลังงาน จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยี ปุ๋ยและพลังงานจากต่างประเทศ เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นปรัชญาที่หากนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เศรษฐกิจสังคมในระยะยาวได้

แผนที่เดินทางของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นความพยายายามที่จะแปลงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญหรือประเด็นวิกฤตที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ โดยใช้ประเด็นวิกฤติเป็นตัวตั้ง และใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดในการกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขประเด็นวิกฤติเหล่านั้น

โดยที่ส่วนประกอบและสาระของแผนที่เดินทางประกอบด้วย วิสัยทัศน์ จังหวะก้าวใน 20 ปี และยุทธศาสตร์ 6 ข้อ กลยุทธ์ภายใต้ยุทธศาสตร์แต่ละข้อ และตัวอย่างแผนงานสำหรับการก้าวเดินในระยะ 5 ปีแรก ข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จซึ่งเป็นหลักไมล์ในการเดินทางในระยะ 5 ปีแรกนี้ และในส่วนสุดท้ายได้กล่าวถึงวิธีการนำแผนที่เดินทางไปแปลงสู่การปฏิบัติ (ดูข้อมูล Roadmap เศรษฐกิจพอเพียงฉบับเต็มได้ที่ http://bit.ly/SEroadmap)

ในทางปฏิบัติ การขับเคลื่อนแผนที่เดินทางฉบับดังกล่าว ดูเหมือนมิได้มีความคืบหน้าเท่าใดนัก เนื่องจากไม่มี “เจ้าภาพ” ที่จะขับเคลื่อนแผนที่เดินทางนี้อย่างแท้จริง แต่อย่างน้อยก็ทำให้สังคมไทยได้ตระหนักว่ามีความคิดในแนวนี้เกิดขึ้น และปัญหาที่ได้กล่าวถึงในงานวิจัยดังกล่าว ก็ยังเป็นปัญหาที่คงอยู่ในปัจจุบัน และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: