การประชุมเวทีจริยธรรมโลกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2552 ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ในกรุงเจนีวา โดยมีวิทยากรนำการประชุมจากทั่วโลกจำนวน 37 ท่าน และครั้งที่สอง เมื่อปี 2554 ที่กรุงเจนีวาเช่นเดียวกัน ในครั้งนี้มีวิทยากรเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หรือราว 68 ท่าน สำหรับครั้งที่สามนี้ มีผู้ที่ตอบรับเข้าร่วมเป็นวิทยากรหลักถึง 79 ท่าน

ผมได้มีโอกาสรู้จักกับ Prof. Dr. Christoph Stückelberger ผู้อำนวยการและเป็นผู้ก่อตั้ง Globethics.net ซึ่งเป็นแม่งานจัดประชุมเวทีจริยธรรมโลก เมื่อครั้งที่มาเชื้อเชิญให้ไปเป็นวิทยากรร่วมอภิปรายในการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่อง “Globalization for the Common Good” ในหัวข้อ “Ethical Investments for a Sufficiency Economy” ที่มหาวิทยาลัย California Lutheran ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้น เป็นการร่วมอภิปรายถึงประเด็นการลงทุนเชิงจริยธรรมกับเศรษฐกิจพอเพียงในมุมมองของศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม
ในการประชุมคราวนี้ ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในประเด็นการเงินที่ยังยืน (Sustainable Finance) โดยจะอภิปรายในหัวเรื่อง “The Time Horizons of Sufficiency Strategy in Dealing with Economic Recovery” ซึ่งจะเป็นการนำเสนอมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียงกับนโยบายการเงินต่อการฟื้นฟูและรับมือกับภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว ร่วมกับผู้อภิปรายจากเยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เนื่องจากการประชุมเวทีจริยธรรมโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นถัดจากการประชุม Rio+20 มาสัปดาห์เดียว เจ้าภาพจึงจัดให้มีการอภิปรายหลัก (Plenary Panel) ในหัวข้อ ‘Managing the Sustainability Crisis: Next Steps after Rio+20’ ที่วิพากษ์ถึงผลลัพธ์ที่เดินทางไปไม่ถึงความคาดหมายของการประชุม Rio+20 แบบสดๆ ร้อนๆ ในแง่มุมของการแปลงสภาพเชิงจริยธรรม (Ethical Transformation) ของภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคสังคม
อีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ‘Business Schools with a new Paradigm of Sustainable Global Responsibility’ ซึ่งนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2550 แวดวงการศึกษาด้านการบริหารจัดการทั่วโลก ถูกกดดันให้มีการปรับรื้อตัวแบบและค่านิยมใหม่ ที่สะท้อนถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบของนักบริหารอย่างจริงจัง ความริเริ่มในโครงการ 50+20 ซึ่งได้มีการนำเสนอในการประชุม Rio+20 ด้วยความร่วมมือขององค์กรสำคัญอย่างเช่น World Business School Council for Sustainable Business (WBSCSB), Globally Responsible Leadership Initiative (GRLI), และ Principles for Responsible Management Education (PRME) จะถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการอภิปรายในเวทีจริยธรรมโลกครั้งนี้ด้วย
ส่วนหัวข้ออภิปรายอื่นๆ ในเวทีนี้ อาทิ การแก้ปัญหาสถานการณ์เชิงจริยธรรมในธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ในกลุ่มประเทศในแอฟริกาที่พูดภาษาฝรั่งเศส (Francophone Africa) สื่อสังคมออนไลน์กับการแปรรูปและสันติภาพ ฯ โดยหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ทางผู้จัดงานคงจะมีการจัดทำรายงานสรุปผลการประชุมเผยแพร่ให้ได้ติดตามกันในเร็ววัน
สำหรับผู้ที่สนใจการประชุมเวทีจริยธรรมโลก ประจำปี 2555 สามารถติดตามจากลิงค์ http://bit.ly/gef2012 ได้ตามอัธยาศัยครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR)

No comments:
Post a Comment