แล้วทีนี้เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) จัดว่าเป็นส่วนไหนของกลยุทธ์ หรือมาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างไร หรือว่าตัว Responsibility ที่ทำกับสังคม จะมาเหนือกว่าเรื่อง Satisfaction เรื่อง Relationship เรื่อง Experience เรื่อง Engagement กับลูกค้า อย่างนั้นหรือ
คำตอบที่ได้ยินบ่อย ก็คือ CSR ไม่ได้มาทดแทนเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นที่องค์กรทำกับลูกค้า แต่ละเรื่องมีความสำคัญ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรว่ากลยุทธ์ใดเหมาะสมกับกิจการของตนเอง นี่ตอบแบบไม่ต้องกลัวผิด แถมโยนกลับไปให้องค์กรคิดเองอีกต่างหาก
บทความนี้ พยายามจะอธิบายในสองคำถามแรก คือ CSR กับตำแหน่งทางกลยุทธ์ และการนำมาใช้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งจะนำมาสู่คำตอบว่า องค์กรควรให้ความสำคัญระหว่างกลยุทธ์ CSR กับกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับลูกค้าอย่างไร
พื้นฐานดั้งเดิมของการคิดกลยุทธ์ทางธุรกิจ มาจากตัวแปรหลักสามส่วนที่ประกอบกันเป็นสมการของธุรกรรมการซื้อขาย คือ ตัวพ่อค้า ตัวสินค้า และตัวลูกค้า ที่เหลือเป็นการปรับแต่งสัมประสิทธ์ของตัวแปรแต่ละตัวให้เหมาะสมกับวัฏจักรของธุรกิจ สถานการณ์ และจังหวะเวลา
ก่อนหน้าการให้ความสำคัญที่ตัวลูกค้า (Customer-Centric) ธุรกิจอยู่ในสนามการแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบด้วยการวัดกันที่ตัวสินค้า (Product-Centric) ยุคนี้คุณลักษณะ หรือ Attribute ของตัวสินค้าจึงมีความสำคัญ ตั้งแต่เรื่องของราคา คุณภาพ และประโยชน์ใช้สอย การวางกลยุทธ์การแข่งขันในทางธุรกิจจึงวนเวียนอยู่กับตัวแปรสินค้านี้เป็นสำคัญ ตัววัดความสำเร็จในสนามนี้ คือ การนำเสนอคุณค่าในระดับ Cost-Benefit
กูรูการแข่งขันอย่างไมเคิล อี พอร์เตอร์ ก็ถือกำเนิดและลุกขึ้นมาเสนอแนวคิดกลยุทธ์ต้นทุนต่ำ การสร้างความแตกต่าง หรือการมุ่งเฉพาะส่วน ที่นักธุรกิจรุ่นอายุ 40-50 ปีขึ้นต่างคุ้นเคยกันดี สำหรับนักธุรกิจในยุคนี้ที่มีอายุ 30 ปีลงมา จะรู้จักกับอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้สร้างและจับจองอุปสงค์ในตลาดใหม่ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมทางคุณค่าที่ล้ำหน้าจากสภาพการแข่งขัน ในชื่อว่า Blue Ocean Strategy
ที่มาของแนวคิดการให้ความสำคัญที่ตัวลูกค้า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการแข่งขันที่ตัวสินค้านั้นเริ่มอิ่มตัว เพราะแต่ละธุรกิจสามารถจัดหาเทคโนโลยีการผลิตได้ทัดเทียมกัน สามารถพัฒนาและซื้อหานวัตกรรมได้ไม่ต่างกัน คุณลักษณะของตัวสินค้าที่ใช้ในการแข่งขันแต่เดิมจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น (Necessary) แต่ไม่เพียงพอ (Sufficient) อีกต่อไป
จะเห็นว่าธุรกิจในยุคปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มสัมประสิทธ์ตัวแปรที่เป็นลูกค้ามากขึ้น กลยุทธ์ตระกูล C (Customer) ไม่วาจะเป็น CS, CRM, CEM, CE จึงเบ่งบาน และได้รับการยอมรับจากองค์กรที่พยายามยกระดับหรือหลีกหนีการแข่งขันที่ตัวสินค้า ตัววัดความสำเร็จในสนามนี้ คือ การนำเสนอคุณค่าในระดับ Emotional
การสร้างแบรนด์ที่พยายามเชื่อมโยงกับ Emotional ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งสำหรับสนามการแข่งขันซึ่งมุ่งเป้าที่ตัวลูกค้า และมีคุณสมบัติด้านศักยภาพในการสร้างตระกูลหรือสายผลิตภัณฑ์ที่อาศัยอานิสงส์จากแบรนด์ที่สร้างขึ้น
ผลพวงจากการให้ความสำคัญที่ตัวลูกค้า หรือ Customer-Centric นี้ คือ การกำหนดราคาที่ไม่ใช่ Cost Plus ซึ่งเพดานราคามักถูกชี้นำด้วยราคาตลาด แต่เป็นการตั้งราคาในแบบ Emotional Gain ที่ซึ่งเพดานราคาถูกกำหนดด้วยความพึงพอใจของลูกค้า (จนบางทีมีอำนาจเหนือกว่า กำลังซื้อของผู้บริโภค เช่นกรณี ขายอวัยวะมาซื้อไอแพด)
สำหรับการให้ความสำคัญที่ตัวพ่อค้า หรือองค์กรที่เป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ให้บริการ ประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมจะเข้ามามีบทบาทในการวางตำแหน่งกลยุทธ์ขององค์กร โดยตัววัดความสำเร็จในสนามนี้ คือ การนำเสนอคุณค่าในระดับ Recognition
โดยเฉพาะตลาดที่ผู้บริโภคมีวุฒิภาวะสูง การแสดงให้เห็นว่าองค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคม (แม้จะไม่เท่าสิ่งที่มีอยู่จริง) เป็นเรื่องที่จะละเลยไม่ได้ เพราะการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ มีการคำนึงถึง Credibility ของตัวองค์กร นอกเหนือจาก Cost-Benefit ของตัวผลิตภัณฑ์ และ Emotional ของตนเอง
ผลจากการที่องค์กรมีความน่าเชื่อถือหรือได้รับการยอมรับสูง ทำให้ส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์มิได้รวมไว้แค่กำไร แต่ยังสามารถบวกต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่องค์กรอาสาเข้าร่วมรับผิดชอบดูแลไว้ได้ด้วย อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ได้รับเงินอุดหนุน (เป็นค่า Adder หรือในแบบ Feed-in-tariff) โรงงานที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและได้รับคาร์บอนเครดิตซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินรายได้ส่วนเพิ่มจากกิจการหลัก
จะเห็นว่ากลยุทธ์ CSR ในกรณีนี้ มิใช่ตัวแปรเสริมทางธุรกิจ เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์ แต่กลับกลายเป็นตัวแปรหลักที่สามารถสร้างรายได้ให้กิจการ ในรูปแบบของ CSR-as-business ที่วันนี้นักธุรกิจคงต้องสำรวจตัวเองว่า เราได้คำนึงถึงการเพิ่มสัมประสิทธ์ที่ตัวองค์กรกันอย่างจริงจังแล้วหรือยัง...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR)
![External Link](http://photos1.blogger.com/blogger2/3100/451090002991372/200/external-link.jpg)
No comments:
Post a Comment