Thursday, April 26, 2012

ความยั่งยืนที่ต้องรายงาน

ความยั่งยืน (Sustainability) ถูกจัดให้เป็นวาระที่กำหนดให้เป็น “ผล” การดำเนินงานของกิจการ ท่ามกลางความคาดหวังของโลกที่มุ่งเน้นความสำคัญของการพัฒนาที่สมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม องค์กรที่มุ่งเน้นผลการดำเนินงานไปที่การเติบโต (Growth) เพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถยืนหยัดหรืออยู่รอดในสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจเช่นในปัจจุบันได้อีกต่อไป

การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) นับเป็นปัจจัยหลัก หรือ “เหตุ” ที่เกื้อหนุนให้องค์กรได้มาซึ่งความยั่งยืน จากการประกอบการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า “กิจการไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งความยั่งยืน โดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคม

การดำเนินกิจการขององค์กรหนึ่งๆ มิได้มีความบริบูรณ์พร้อมในขนาดที่ปลอดจากการส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมใดๆ แต่ในสภาพความเป็นจริง องค์กรมีการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบทั้งในทางบวก อาทิ การสร้างมูลค่าทางเศรฐกิจ การสร้างงาน การพัฒนาคุณภาพชีวิตจากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ และผลกระทบในทางลบ อาทิ การเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ขยะ มลภาวะ กากของเสีย ฯลฯ

การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่ควรจะเป็น จึงมิใช่การมุ่งยุติผลกระทบในทางลบเพื่อมิให้เกิดขึ้น แต่เป็นการบริหารจัดการผลกระทบทางลบเหล่านั้นให้ส่งผลน้อยที่สุด หรืออยู่ในวิสัยที่ควบคุมดูแลได้ เพื่อมิให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่กิจการส่งมอบผลกระทบทางบวกให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ

การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Reporting) เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งขององค์กรที่ใช้สื่อสารถึงผลการดำเนินงานของกิจการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นประโยชน์สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการรายงานถึงโปรไฟล์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรให้แก่ลูกค้าและคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจได้รับทราบและเกิดการยอมรับ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของกิจการ

ความเข้าใจเบื้องต้นของรายงานแห่งความยั่งยืน คือ การรายงานตามความเป็นจริง ดังเช่นที่องค์กรมีทั้งการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบทั้งในทางบวกและในทางลบ การรายงานจึงต้องสะท้อนผลการดำเนินงานทั้งในทางบวกและในทางลบเช่นกัน ความพยายามในการปรับแต่งข้อมูลรายงาน หรือจำกัดการรายงานเฉพาะข้อมูลด้านใดด้านเดียว จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและภาพพจน์ขององค์กรที่จัดทำรายงาน ทำให้การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรทุ่มเทมาต้องสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย

ปัจจุบัน มีหลายประเทศที่ส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจในประเทศของตน จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนเผยแพร่ต่อสาธารณะ อาทิ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ และมีองค์กรธุรกิจจำนวน 3,907 แห่งทั่วโลกได้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ GRI โดยมีรายงานที่เผยแพร่แล้ว 9,258 ฉบับ (ข้อมูลจาก GRI Database ณ วันที่ 25 เม.ย. 2555)

ในประเทศไทย มีบริษัทที่ริเริ่มจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ GRI และเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้รับทราบแล้วจำนวน 17 แห่ง โดยมีแนวโน้มของจำนวนองค์กรที่จะจัดทำรายงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ถึงเวลาที่องค์กรธุรกิจควรศึกษาทำความเข้าใจถึงแนวทางและวิธีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นช่องทางสื่อสารขององค์กรในผลการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการแก่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ อย่างมีประสิทธิผลและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: