Thursday, February 10, 2011

จับทิศทาง CSR ประเทศไทย

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำทุกปีที่สถาบันไทยพัฒน์จะทำการวิเคราะห์และประมวลแนวโน้มเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ในประเทศไทย รายงานให้แก่ผู้ที่สนใจสำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนดำเนินงาน CSR ตอนต้นปี โดยได้ดำเนินการติดต่อกันมาเป็นปีที่ 5 แล้ว และในปี 2554 นี้ ทิศทาง CSR ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ก็มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปีที่ผ่านๆ มา

การดำเนินงาน CSR ของภาคธุรกิจในปีที่ผ่านมา ได้ขยายขอบเขตจากองค์กรของตนเอง มาสู่การชักชวนคู่ค้าและสมาชิกในสายอุปทาน ให้ดำเนินงานร่วมด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดสายกระบวนการ (CSR in Supply Chain) ที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทย

ในปีที่แล้ว กระแส “Green” ได้กลายเป็นประเด็น CSR ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากคำประกาศของภาคธุรกิจ ที่มีต่อบทบาทการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว และกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์พลังงาน ที่ส่งเสริมให้เกิดโรงงานสีเขียว และอาคารสีเขียว ซึ่งได้ทำให้เรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ (Action) มิใช่ทางเลือก (Option) อีกต่อไป

การประกาศใช้มาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000:2010 ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 หลังจากการริเริ่มจุดประกายกระบวนการจัดทำร่างนี้นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 หรือเป็นระยะเวลาร่วม 10 ปี เป็นที่น่าจับตาว่า ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะขานรับมาตรฐานดังกล่าวนี้มากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุที่มาตรฐานดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้หรือนำมาพัฒนาเป็นข้อกำหนดอ้างอิงเพื่อการรับรองได้เช่นเดียวกับ ISO 9000 ที่ใช้และมีการรับรองกันอยู่อย่างแพร่หลาย

แนวโน้มที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ การจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) ที่จะกลายมาเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการสื่อสารกับภาคสังคมและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ของกิจการ ที่ซึ่งการประชาสัมพันธ์ CSR ไม่สามารถสร้างคุณค่าและความสัมพันธ์ได้เหมือนดังเดิม และนับเป็นครั้งแรกที่องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ได้เข้ามาจัดเวิร์คชอปแนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเป็นทางการในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553

จุดมุ่งหมายหลักของการเปิดเผยรายงาน CSR ก็เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับและการรับรองจากสังคมต่อ “ผลสำเร็จ” ในภารกิจ CSR ขององค์กร โดยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่เกื้อหนุนให้การรายงานเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ บูรณภาพ (Inclusivity) ของการคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องและความครอบคลุมของภารกิจ CSR ในเรื่องหลักและประเด็นสำคัญได้อย่างครบถ้วน สารัตถภาพ (Materiality) ของตัวบ่งชี้สัมฤทธิภาพในกิจกรรม CSR ที่มีนัยสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับองค์กรจริงๆ และทีฆภาพ (Sustainability) ของกิจกรรม CSR ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปีนี้ การรายงาน CSR ขององค์กรจะทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) กำลังดำเนินการจัดทำแนวทางการรายงานข้อมูลการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่คาดว่าจะมีการประกาศในปี 2554 นี้

ธุรกิจที่มีการดำเนินงาน CSR อยู่ในกระบวนการ แต่ยังมิได้มีการเปิดเผยรายงานต่อสังคมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จึงควรต้องเริ่มสำรวจและเก็บบันทึกข้อมูล วางแผนการเปิดเผยข้อมูล ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย คัดเลือกข้อมูลที่จะรายงานต่อผู้มีส่วนได้เสียในช่องทางที่เหมาะสม พร้อมรับต่อแนวโน้มของการรายงานด้าน CSR ที่เกิดขึ้น

สำหรับรายละเอียดการประมวลแนวโน้ม CSR ปี 2554 ในทิศทางอื่นๆ สามารถศึกษาได้จากรายงาน “6 ทิศทาง CSR ปี 2554: Reporting your CSR” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ สอบถามเพิ่มเติม 0-2930-5227 info@thaipat.org หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.thaipat.org...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: