วันตรุษของชาวจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ หรือวันที่หนึ่ง (ชิวอิก) ของเดือนที่หนึ่งของปี เป็นการเริ่มเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ หรือเป็นช่วงขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ สำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ของธุรกิจหรือกิจการ ด้วยคำอวยพร “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” หรือ ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่
ในวันตรุษจีน ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน คือ “ป้ายเจีย” เป็นการไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะส้มออกเสียงในภาษาจีนจะไปพ้องกับคำว่าความสุขหรือโชคลาภ ดังนั้น การให้ส้มจึงเหมือนนำความสุขหรือโชคลาภมาให้
สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของตรุษจีน คือ อั่งเปา (ซองแดง) คือ ซองใส่เงินที่ผู้ใหญ่แล้วจะมอบให้ผู้น้อย และมีการแลกเปลี่ยนกันเอง หรือใช้คำว่า แต๊ะเอีย (ผูกเอว) ที่สมัยก่อน เหรียญจะมีรูตรงกลาง ผู้ใหญ่จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และนำมามอบให้เด็กๆ ซึ่งจะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว
วันที่ 1 เดือน 1 ของปีตามจันทรคตินี้ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป หรือเรียกว่าเป็น “วันถือ” โดยจะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน หรือบ้างก็เรียกว่าเป็น “วันเที่ยว” โดยจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและเที่ยวนอกบ้าน เป็นต้น (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
คติของการให้อั่งเปา หากเถ้าแก่จะนำมาใช้ในกิจการ นอกเหนือจากการมอบให้แก่ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องแล้ว ยังสามารถขยายไปสู่วัด โรงเรียนในชุมชนที่อยู่รายรอบกิจการ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาสในสังคมอื่นๆ ซึ่งหากการมอบนั้นทำในนามของบริษัท ห้างร้าน นั่นก็เรียกได้ว่า เป็นการทำ CSR อย่างหนึ่งในรูปแบบของการบริจาคเพื่อการกุศลหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ (Corporate Philanthropy) ที่ตรงกับเรื่องของ “ทาน” ในพระพุทธศาสนา และจัดว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมจำพวก “CSR-after-process” ที่เกิดขึ้นนอกกระบวนการธุรกิจ
ส่วนคติในวันถือที่เป็นการงดทำบาป (ในพจนานุกรม หมายถึง การกระทำผิดหลักคำสอนหรือข้อห้ามในศาสนา; ความชั่ว, ความมัวหมอง) ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือการเบียดเบียนคนอื่นรอบข้าง หากเถ้าแก่จะขยายให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ตั้งแต่เรื่อง การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การไม่เอารัดเอาเปรียบคู่ค้า นี่ก็เรียกว่า เป็นการทำ CSR ที่มิได้แยกต่างหากออกจากกิจการ หรือเป็นการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Business Practices) ที่สอดคล้องกับเรื่องของ “ศีล” ในพระพุทธศาสนา และจัดว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมจำพวก “CSR-in-process” ที่อยู่ในกระบวนการธุรกิจ
ในพระพุทธศาสนา การทำทานและการรักษาศีลอย่างมั่นคงสม่ำเสมอของปุถุชนชาวพุทธ ถือเป็นเรื่องที่สมควรแก่การอนุโมทนาทั้งคู่ แต่กระนั้นก็ตาม อานิสงส์ของการทำทานและการรักษาศีล ย่อมมีระดับที่แตกต่างกันอยู่ในตัว ฉันใดฉันนั้น การที่ธุรกิจดำเนินกิจกรรม CSR-after-process และ CSR-in-process อย่างไม่เคลือบแฝง ถือเป็นเรื่องที่ควรสรรเสริญทั้งคู่ แต่แน่นอนว่า อานิสงส์ของกิจกรรม CSR-after-process และ CSR-in-process ของกิจการ ย่อมส่งผลต่อธุรกิจแตกต่างกันอย่างไม่ต้องสงสัย
วันตรุษจีนนี้ ก็ขอให้ทุกท่านได้รับพรอันประเสริฐ มั่งมีศรีสุข ค้าขายได้กำไร ร่ำรวยไม่เสื่อมคลาย มีคติถืออันเป็นสิริมงคลในทุกๆ วัน ตลอดปีใหม่นี้ด้วยเทอญ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR)
Thursday, February 03, 2011
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment