Thursday, December 23, 2010

ให้ข้อมูล CSR ให้ได้สาระ

หลายองค์กรธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม มักจะประสบกับคำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมาอยู่ในใจเสมอๆ ในช่วงขับเคลื่อนงาน CSR นั่นคือ กิจกรรมหรือประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดำเนินการอยู่นี้ ใช่สิ่งที่องค์กรควรทำหรือไม่ หรือเหมาะสมดีแล้วหรือไม่ แล้วควรจะไปหาคำตอบที่ใช่จากใคร

แน่นอนว่า การแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในทุกๆ กิจกรรมนั้น ย่อมมีประโยชน์ต่อสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และย่อมจะส่งผลกระทบในทางใดทางหนึ่งแก่องค์กรด้วยเช่นกัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ องค์กรไม่อยากทำ CSR หรือ ทำ CSR อะไรก็ได้ ย่อมดีทั้งนั้น ทว่า องค์กรต้องการทำ CSR ที่ก่อให้เกิดผลจริงๆ และเป็น CSR ที่เหมาะสมกับองค์กรจริงๆ

แล้วคำตอบของปัญหานี้ ก็ไม่ได้อยู่ที่คนนอกองค์กร หรืออยู่กับผู้เชี่ยวชาญที่ไหน แต่อยู่ภายในองค์กรเอง คนในองค์กรจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด เพราะมีข้อมูลอยู่กับตัวมากที่สุด สิ่งที่เป็นข้อจำกัด ถ้าจะมีอยู่ ก็คือ การขาดกระบวนวิธีในการวิเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เหมาะสมและกิจกรรมที่ควรดำเนินการ ซึ่งอาจต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวมาคอยชี้แนะเพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ

เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยองค์กรในการวิเคราะห์ประเด็นและกิจกรรม CSR ที่เหมาะสม ซึ่ง GRI ได้พัฒนาขึ้น ได้แก่ การทดสอบสารัตถภาพ (Materiality Test) ของข้อมูลแนวการดำเนินงานในหมวดเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลต่อเรื่องความยั่งยืน ซึ่งได้มาจาก 3 แหล่ง คือ แง่มุม (aspect) ที่ถูกระบุโดยผู้มีส่วนได้เสียในองค์กร แง่มุมที่ถูกแนะนำโดยผู้มีส่วนได้เสียนอกองค์กร และแง่มุมที่ตกหล่นจาก 2 แหล่งแรก แต่มีความสำคัญ (เมื่อเทียบกับแนวปฏิบัติที่สากลยอมรับ) และถูกเสนอให้รวมไว้โดยคณะทำงาน CSR


การทดสอบสารัตถภาพ เป็นการคัดเลือกตัวบ่งชี้ที่มีนัยสำคัญ (significant) ต่อองค์กร โดยพิจารณาถึงผลกระทบจากการดำเนินการตามแง่มุมนั้นๆ (รวมทั้งผลกระทบจากการไม่ดำเนินการตามแง่มุมนั้นๆ) และเป็นการคัดเลือกตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวเนื่อง (relevant) กับองค์กร โดยพิจารณาจากความคาดหวังหรือการให้น้ำหนักความสำคัญของผู้มีส่วนได้เสียในแง่มุมดังกล่าว

เกณฑ์ในการคัดเลือกตัวบ่งชี้ในกระบวนการทดสอบสารัตถภาพตาม G3 Guidelines ประกอบด้วยคำถามสำคัญ 8 ข้อ ดังนี้

ตัวบ่งชี้นี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญโดยผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เป็นสิ่งท้าทายหรือสามารถสร้างให้เกิดอุปสรรคทางธุรกิจในวันข้างหน้าได้หรือไม่ และสิ่งนี้ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในวงธุรกิจแล้วหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่มีนัยสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ต่อองค์กร / ผู้มีส่วนได้เสีย หรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เอื้ออำนวยให้เกิดโอกาสบางอย่างให้แก่องค์กรหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้ก่อให้เกิดแนวโน้มที่ทำให้องค์กรต้องประสบกับความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ / ผู้เชี่ยวชาญ ยอมรับว่าเป็นภัยเสี่ยงต่อความยั่งยืนหรือไม่
องค์กรมีความรู้หรือความสามารถที่ชำนาญพิเศษในการเสริมหนุนความยั่งยืนในเรื่องที่ตัวบ่งชี้นี้ได้กล่าวถึงหรือไม่
ตัวบ่งชี้นี้มีส่วนที่ทำให้เกิดผลสำเร็จของการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติหรือไม่ หรือมีส่วนช่วยเสริมสร้างคุณค่าหรือค่านิยมขององค์กรหรือไม่

ผลจากการทดสอบสารัตถภาพ จะทำให้องค์กรได้มาซึ่งตัวบ่งชี้ที่ “มีนัยสำคัญ” และ “เกี่ยวเนื่อง” กับองค์กร ซึ่งจะถูกใช้ในการติดตามเก็บข้อมูลและนำมารายงาน ที่สำคัญ จะทำให้คณะทำงานหรือผู้รับผิดชอบงานด้าน CSR ขององค์กร สามารถอธิบายถึงหลักการและเหตุผลในการเลือกประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เหมาะสมและกิจกรรมที่องค์กรควรดำเนินการได้ ต่างจากปัญหาก่อนหน้าที่องค์กรไม่แน่ใจและไม่สามารถจะอธิบายได้ ก็เพราะไม่รู้ว่า อะไรที่ควรบริหารจัดการ อะไรที่ควรวัดผล (You can’t describe because you don’t know what to manage and measure) สำหรับการรายงานในขั้นสุดท้าย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

1 comment:

Anonymous said...

สวัสดีค่ะ