Sunday, February 17, 2019

เล่าเรื่อง Social Business

การแก้ปัญหาความยากจน ด้วยการอุดหนุนโดยรัฐ จากบทเรียนที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยสร้างให้เกิดการพึ่งพาตนเอง หรือทำให้คนยากจนเข้มแข็งขึ้น ขณะที่การแก้ปัญหาสังคม ด้วยการช่วยเหลือโดยมูลนิธิหรือองค์กรพัฒนาเอกชน ทำไม่ได้อย่างต่อเนื่อง หากขาดการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอก เช่นเดียวกับที่ องค์กรธุรกิจไม่สามารถช่วยเหลือชุมชนหรือสังคมให้ยั่งยืน ได้ด้วยการบริจาคเพื่อการกุศล ในรูปของเงินหรือวัตถุสิ่งของเพียงลำพัง

การขจัดความยากจน ความหิวโหย หรือการดูแลสุขภาวะ ที่เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว คือ การทำให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และมีปัจจัยสี่ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งหนทางหนึ่งที่เป็นไปได้ และมีบทพิสูจน์ในหลายประเทศ ได้แก่ Social Business ที่ริเริ่มโดย ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ชาวบังกลาเทศ

Social Business เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีความแตกต่างจากธุรกิจปกติที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด และไม่ใช่องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ที่อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคหรือเป็นองค์กรการกุศล แต่เป็นการประกอบธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ยูนุสได้บุกเบิกการทำงานตามแนวทางดังกล่าวด้วยตัวเอง มาเป็นเวลากว่า 30 ปี เกิดเป็นตัวอย่างกว่า 40 ธุรกิจ เฉพาะในบังกลาเทศที่เป็นบ้านเกิดของยูนุส และในจำนวนนั้น มีธุรกิจที่พัฒนาเติบโตจนติดอยู่ในกลุ่มกิจการขนาดใหญ่สุดของประเทศ จนสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และองค์การระหว่างประเทศทั้งในสังกัดภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ต่างให้การยอมรับแนวคิด Social Business นี้อย่างกว้างขวาง

เป้าหมายของธุรกิจเพื่อสังคม คือ การแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิธีการทางธุรกิจ ที่ครอบคลุมถึงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการ ดังตัวอย่างของ กรามีน-ดาน่อน ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการ ด้วยการผลิตโยเกิร์ตที่เติมธาตุอาหารเสริมจำหน่ายแก่ผู้มีรายได้น้อย หรือ กรามีน-วีโอเลีย ที่ช่วยแก้ปัญหาของผู้อยู่อาศัยในแหล่งที่มีการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำดื่ม ด้วยการจำหน่ายน้ำดื่มบริสุทธิ์ในราคาถูกตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก หรือ บีเอเอสเอฟ-กรามีน ที่ต้องการควบคุมโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ ด้วยการผลิตและจำหน่ายมุ้งเคลือบสารกันยุงในแหล่งที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น

องค์กรธุรกิจทั่วไป (ไม่จำเป็นต้องเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม) สามารถนำหลักการของ Social Business มาใช้แก้ปัญหาสังคมในประเด็นที่อยู่ในความสนใจขององค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมาย ด้วยการนำธุรกิจแกนหลัก (Core Business) ของตน มาดำเนินการ ดังตัวอย่างของบริษัท เอสซีลอร์ (Essilor) ที่จัดตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อสังคม ออปติก โซลิแดร์ (Optique Solidaire) ขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงธุรกิจประกันสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อแว่นสายตาที่มีคุณภาพสูง สำหรับกลุ่มมีรายได้น้อย จากปกติที่จำหน่ายในราคา 230-300 ยูโร เหลือเพียงไม่ถึง 30 ยูโร


ออปติก โซลิแดร์ ใช้เวลาในการพัฒนา 15 เดือนและทดลองนำร่องที่มาร์แซย์ (Marseille) เมืองทางตอนใต้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 3 เดือน จนในที่สุดเกิดเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีก "solidarity retailers" มากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศฝรั่งเศส โดยมีสมาชิกเครือข่ายเป็นร้านประกอบแว่นที่สมัครใจเข้าร่วมจำหน่ายแว่นในราคาถูกดังกล่าว ขณะที่ บริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการ จะส่งจดหมายพร้อมบัตรกำนัล แจ้งไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อยอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป สำหรับการรับข้อเสนอพิเศษนี้ จากร้านประกอบแว่นในโครงการที่อยู่ใกล้เคียง โดยเอสซีลอร์ ตั้งเป้าที่จะสร้างเครือข่ายร้านประกอบแว่นในโครงการให้ได้ 1,000 แห่ง เพื่อจัดหาแว่นสายตาให้แก่ผู้ที่ไม่สามารถซื้อแว่นสายตาในราคาสูง จำนวน 2.5 ถึง 3 แสนราย ในฝรั่งเศส (ที่มา: https://hbr.org/2015/03/reaching-the-rich-worlds-poorest-consumers)

สำหรับการนำโมเดล Social Business มาขับเคลื่อนในประเทศไทย Yunus Center AIT บริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และสถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกันก่อตั้ง "Thailand Social Business Initiative (TSBI)" ขึ้น ในปี พ.ศ.2559 โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่จะส่งเสริมความริเริ่มด้านธุรกิจเพื่อสังคมตามแนวคิดของยูนุส และมุ่งหวังให้เกิดทั้ง ตัวอย่าง-ตัวแบบ-ตัวช่วย ของการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย

และในปี พ.ศ.2562 นี้ จะมีการจัดงาน Social Business Day ครั้งที่ 9 ขึ้น ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน พ.ศ.2562 โดยมีธีมของงานในปีนี้ว่า “การทำเงินเป็นความสุข แต่การทำให้ผู้อื่นมีความสุข เป็นความสุขยิ่ง” (Making Money is Happiness, Making Other People Happy is Super Happiness)


องค์กรธุรกิจที่มีการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสังคมด้วยการใช้ Core Business ในการดำเนินการตามหลักการของ Social Business สามารถส่งกรณีธุรกิจ (Business Case) เพื่อขอรับการพิจารณาเข้าร่วมเป็น Social Business Storyteller บนเวทีของ Social Business Day ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย ในเดือนมิถุนายนนี้ได้ โดย TSBI จะทำการแจ้งข้อมูลและช่องทางในการส่งกรณีธุรกิจในโอกาสต่อไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

No comments: