เศรษฐกิจที่พัฒนาจนมาเป็นระบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ล้วนมีพื้นฐานจากกิจกรรมหลักสองประการได้แก่ กิจกรรมการผลิต และกิจกรรมการบริโภค ระบบเศรษฐกิจที่มีภาวะของการผลิตเท่ากับภาวะของการบริโภค จัดเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยแวดล้อมภายนอกใดๆ เป็นภาวะอุดมคติที่ไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ
ในความเป็นจริง ระบบเศรษฐกิจในชุมชนหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ จะไม่สามารถดำรงภาวะคงตัวได้อย่างสมบูรณ์ในตัวเอง จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนหรือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในระบบเศรษฐกิจ จึงมีภาวะของการผลิตซ้อนเหลื่อมกับภาวะของการบริโภค ไม่ซ้อนทับกันพอดี ซึ่งหมายความว่า ชุมชนนั้นๆ มีผลผลิตที่มิได้ใช้เพื่อการบริโภคเองทั้งหมด ในขณะที่ชุมชนก็มิได้บริโภคในสิ่งที่ตัวเองผลิตได้เท่านั้น จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยการบริโภคจากภายนอกอยู่ส่วนหนึ่ง เรียกว่าเป็นระบบที่อยู่ในภาวะปกติ
ตราบเท่าที่ชุมชนนั้นๆ สามารถที่จะรักษาสัดส่วนหรือขนาดของการผลิตให้เท่ากับสัดส่วนหรือขนาดของการบริโภคอยู่ได้ ชุมชนนั้นก็จะไม่ประสบกับปัญหาในระบบเศรษฐกิจ แต่หากเมื่อใดก็ตามที่ชุมชนนั้น ไม่สามารถรักษาระดับของการผลิตให้ใกล้เคียงกับระดับของการบริโภคเป็นระยะเวลานาน ในกรณีนี้คือ สัดส่วนการผลิตน้อยกว่าสัดส่วนการบริโภค ชุมชนก็จะประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ เกิดภาวะที่ต้องพึ่งพาปัจจัยการบริโภคจากภายนอกมาก ซึ่งหากไม่พยายามลดสัดส่วนการบริโภคของตัวเองลง ก็จะต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคเหล่านั้น
ปัญหาเศรษฐกิจในอีกภาวะหนึ่ง เกิดจากการพัฒนาในยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ทำให้กิจกรรมการผลิตและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจนั้นแยกออกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องบริโภคในสิ่งที่ตนเองผลิตได้ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นต้องผลิตในสิ่งที่ตนเองต้องการบริโภค
ผลที่ตามมาก็คือ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจซึ่งเดิมมุ่งเน้นที่การจัดสรรปันส่วนผลผลิต กลายมาเป็นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนที่ให้น้ำหนักกับเงิน ในฐานะที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่สำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด ผู้ผลิตจึงมุ่งผลิตสินค้าและบริการขายแลกกับเงินเพื่อการสะสมทุนและการลงทุนสำหรับการผลิตในรอบต่อไป ในขณะที่ผู้บริโภคก็มุ่งทำงานแลกกับเงินเพื่อการเก็บออมและการใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าและบริการ ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่จึงถือเรื่องทุนเงินเป็นใหญ่ ซึ่งก็คือ ทุนนิยม
ด้วยเหตุนี้ ทุกชุมชนต่างก็พยายามแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอดและเพื่อสะสมความมั่งคั่งไว้ในชุมชนของตัว สภาวการณ์ของการแข่งขันเช่นนี้ ก่อให้เกิดผลได้ผลเสียในระบบเศรษฐกิจของแต่ละชุมชน ชุมชนใดที่ไม่สามารถปรับตัวหรือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับชุมชนอื่นๆ ได้ ก็จะถูกดึงเอาทรัพยากรและความมั่งคั่งออกไปจากชุมชน จะเกิดการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนระบบเศรษฐกิจในชุมชนนั้นขาดเสถียรภาพหรือเข้าขั้นล่มสลาย
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ มักมุ่งไปที่ความพยายามในการลดการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอก โดยใช้วิธีการชดเชยหรือมาตรการตอบโต้ในรูปแบบต่างๆ ผ่านทางหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือหรือเข้าไปแก้ไขปัญหา เช่น ขบวนการช่วยเหลือจากมูลนิธิในรูปของเงินบริจาค ทุนการศึกษา ทุนประกอบอาชีพ ฯลฯ ขบวนการอุดหนุนจากหน่วยงานรัฐในรูปของโครงการจำนำผลผลิต โครงการประกันราคาผลผลิต การจัดมหกรรมหรือนิทรรศการเพื่อระบายผลผลิต และขบวนการเพิ่มอำนาจต่อรองจากประชาคม หรือองค์การพัฒนาเอกชนในรูปของการรวมกลุ่มชาวบ้านเพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหา การเผยแพร่ปัญหาให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้าง การสร้างกลุ่มแกนนำชุมชน ฯลฯ
แม้แต่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยการสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน หรือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ก็ยังถือว่าเป็นความพยายามในการลดการเอารัดเอาเปรียบจากภายนอก เป็นการแก้ปัญหาในระดับอนุพันธ์ของปัญหาเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งหากรากเหง้าของปัญหาเศรษฐกิจในสองภาวะข้างต้น ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลได้
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะต้องกลับมาทบทวนอย่างจริงจังกับการแก้ไขที่ต้นเหตุของเรื่อง นั่นคือ การรักษาสัดส่วนหรือขนาดของการผลิตให้เท่ากับสัดส่วนหรือขนาดของการบริโภค (ความพอประมาณ) รวมทั้งความพยายามที่จะไม่ทำให้กิจกรรมการผลิตและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของชุมชน แยกออกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด (การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว) เป็นการส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาจากภายนอก จนสามารถที่จะรักษาระบบเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Sunday, April 22, 2018
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment