ในบทความตอนที่แล้ว ได้แนะนำเครื่องมือในการประเมินค่า ที่เรียกว่า SROI (Social Return on Investment) หรือการประเมินผลตอบแทนทางสังคมต่อหน่วยของเงินลงทุน (Investment) ซึ่งเทียบเป็นหน่วยร้อยละของตัวเลขทางการเงิน โดยอาศัยตัวแทนค่า (Proxies) เพื่อแปลงผลลัพธ์จากโครงการเพื่อสังคมที่อาจมิได้วัดเป็นหน่วยเงิน ให้เป็นตัวเลขทางการเงิน โดยเทียบกับทุนหรือทรัพยากรที่ใช้ไป
SROI เป็นเครื่องมือหนึ่งในหลายๆ เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment) อาทิ Outcome Mapping (IDRC, 2001), Social Earnings Ratio (CCEG, 2011), Collective Impact (FSG, 2011) ฯลฯ โดยจุดเน้นของการประเมินในแต่ละเครื่องมือจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทำให้การนำเครื่องมือประเมินเหล่านี้ไปใช้ จึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและบริบทของโครงการ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการนำผลประเมินไปใช้
สำหรับเครื่องมือ SROI มักถูกหยิบยกมาใช้ในการประเมินค่า (Evaluate) ของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ได้ดำเนินการ เพื่อใช้ในการคำนวณผลตอบแทนทางสังคมที่ได้รับ หรือใช้ในการคาดการณ์ (Forecast) คุณค่าทางสังคมที่จะเกิดขึ้น หากโครงการที่จะดำเนินการบรรลุผลลัพธ์ตามที่ตั้งไว้
ส่วนใหญ่ โครงการที่จะใช้เครื่องมือ SROI ในมุมมองของภาคธุรกิจ คือ โครงการเพื่อสังคม จำพวก CSR-after-process ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่เกิดขึ้นภายหลังกระบวนการดำเนินงาน และเป็นกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระบวนการหลักของกิจการ โดยประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากการใช้เครื่องมือ SROI คือ ทำให้ทราบถึงความคุ้มค่าของโครงการที่ได้ดำเนินการ หรือที่จะดำเนินการ ในรูปของผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนขององค์กร ถือเป็นเครื่องมือประเมินผลในฝั่งปลายทาง ด้วยการให้ค่าของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการ
อย่างไรก็ดี การมุ่งให้ความสำคัญต่อการคำนวณผลกระทบในฝั่งปลายทาง โดยพิจารณาปัจจัยนำเข้า (input) ที่เป็นเม็ดเงินลงทุนในแบบสัมบูรณ์ (Absolute) จะทำให้ขาดความลึกของการประเมินในภาพรวม เพราะเมื่อนำเครื่องมือนี้มาใช้กับภาคเอกชน การพิจารณาถึงขนาดของการลงทุน (ด้านสังคม) ในฝั่งต้นทาง เมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ ของกิจการ ในแบบสัมพัทธ์ (Relative) จะมีนัยสำคัญต่อขนาด(และคุณภาพ)ของผลกระทบด้วย เช่น บริษัทที่มีขนาดการลงทุน (ด้านสังคม) 1 ล้านบาท คำนวณ SROI ได้ 300% อาจไม่ได้สร้างผลกระทบสูงไปกว่าบริษัทที่มีขนาดการลงทุน (ด้านสังคม) 100 ล้านบาท และคำนวณ SROI ได้ 10% เป็นต้น
องค์กรจึงควรพิจารณาใช้ตัววัดผลในฝั่งต้นทาง โดยเทียบสัดส่วนปัจจัยนำเข้ากับทรัพยากรที่มีอยู่ของกิจการ ในรูปของการลงทุนทางสังคม (Social Investment) ต่อรายรับ (Revenue) หรือต่อสินทรัพย์ (Asset) หรือต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) เสริมในการประเมินเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ขึ้น
ตัวอย่าง บริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง มีการจัดสรรงบสำหรับโครงการเพื่อสังคม 400 ล้านบาท ในปี 2559 ขณะที่มีรายรับจากการดำเนินงาน 150,000 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 487,000 แสนล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 368,000 แสนล้านบาท
ในตัวอย่างนี้ จะเห็นว่า สัดส่วนการลงทุนทางสังคมต่อรายรับ (Social Investment On Revenue: SIOR) อยู่ที่ 0.27% และสัดส่วนการลงทุนทางสังคมต่อสินทรัพย์ (Social Investment On Asset: SIOA) อยู่ที่ 0.08% ขณะที่ สัดส่วนการลงทุนทางสังคมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Social Investment On Equity: SIOE) อยู่ที่ 0.11% ตามลำดับ
สำหรับเกณฑ์เปรียบเทียบ (Benchmark) ที่เหมาะสมของตัวเลขการลงทุนทางสังคม อาจพิจารณาจากตัวเลขการจัดสรรงบวิจัยและพัฒนาทางธุรกิจ ซึ่งมีภาคเอกชนหลายแห่ง (อาทิ เครือเอสซีจี) ตั้งเป้าไว้ที่ 1% ของรายได้ต่อปี
ขณะที่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ได้มีการกำหนดสัดส่วนค่าใช้จ่ายการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มเป็น 1.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยมีสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนต่อภาครัฐ เพิ่มเป็น 70:30 จึงมีความเป็นไปได้ที่ภาคเอกชน จะกำหนดสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาทางสังคม อยู่ที่ 1% เช่นกัน
อัตราส่วนการลงทุนทางสังคม หรือ Social Investments Ratio (SIR) ที่ประกอบด้วย ชุดตัววัด SIOR, SIOA, และ SIOE ดังกล่าว ถือเป็นเครื่องมือวัดผลในฝั่งต้นทาง ด้วยการพิจารณาปัจจัยนำเข้าหรือทรัพยากรที่ใช้ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นและเป็นเงื่อนไขหลักในการดำเนินงานด้านสังคม ในอันที่จะก่อให้เกิดผลกระทบตามที่คาดหมายในฝั่งปลายทาง
ส่วนทางเลือกในการวัดผล (ไม่ใช่ประเมินค่า) ในฝั่งปลายทาง สำหรับภาคเอกชน ที่ต้องการวัดผลได้ทางธุรกิจ จากการลงทุนทางสังคม อาจใช้บริบทของการวัดคุณค่าร่วม (Shared Value Measurement) ที่เรียกว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนทางสังคม หรือ Return On Social Investment (ROSI) กับโครงการหรือความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม (Shared Value Initiative) ที่องค์กรธุรกิจดำเนินการอยู่ รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นตัววัดผลสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีการลงทุนในกิจการ ซึ่งเป็นไปเพื่อความมุ่งประสงค์ทางสังคมอยู่แล้วได้เช่นกัน
การวัดด้วย SIR ในฝั่งขาเข้า และ ROSI ในฝั่งขาออก ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ตัวแทนค่า หรือ Proxies เหมือนในเครื่องมือ SROI เพราะเป็นการเทียบหน่วยร้อยละจากข้อมูลที่เป็นตัวเลขทางการเงินโดยตรง จึงสามารถขจัดข้อจำกัดที่มีอยู่ในเครื่องมือ SROI ที่เกิดจากการใช้ดุลพินิจของผู้ประเมิน ความไม่เป็นกลาง และการคำนวณผลตอบแทนที่เกินจริงได้
จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ [Archived]
Sunday, July 30, 2017
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment