จากประเด็นสภาพการจ้างงานในภาคประมง ข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารทะเล และมาตรการที่เสนอให้ระงับการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ส่งมอบที่มีส่วนในการสนับสนุนการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม จนส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการส่งออกของไทย เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงขอบข่ายของความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ที่ไม่สามารถจำกัดอยู่เพียงเฉพาะองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ยังยึดโยงกับขีดการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของคู่ค้าในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วย
ประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ถูกระบุว่ามีสาระสำคัญ (Identified Material Aspects) จะมีความแตกต่างกันตามรายสาขาอุตสาหกรรม อาทิ ประเด็นการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ประเด็นน้ำทิ้งและของเสียในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ประเด็นสิทธิเด็กในอุตสาหกรรมสิ่งทอและท่องเที่ยว
การระบุประเด็น CSR ที่มีนัยสำคัญต่อกิจการ เป็นสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการ โดยใช้ข้อมูลนำเข้าจากผลการปรึกษาหารือและรับฟังเสียงสะท้อนในกระบวนการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement)
ทั้งนี้ การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียที่องค์กรดำเนินการในกระบวนการรายงานนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้แน่ใจว่า เรื่องและประเด็น CSR ที่มีความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น จะถูกพิจารณาเพื่อบรรจุเป็นวาระการดำเนินงานและสำหรับใช้เป็นหัวข้อในการรายงานผลการดำเนินงาน ตามลำดับ
กระบวนการสานสัมพันธ์ที่มีประสิทธิผล จะทำให้องค์กรทราบถึงความสนใจหรือความคาดหวังของแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อการดำเนินงานและผลกระทบจากการดำเนินงาน ซึ่งจะมีความเกี่ยวเนื่องและมีความเชื่อมโยงกับผลประกอบการ การเจริญเติบโต และความยั่งยืนของกิจการ
สำหรับองค์กรที่ยังไม่มีกระบวนการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย หรือยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลตามที่ควรจะเป็น มักจะประสบกับคำถามที่ว่า เรื่องและประเด็น CSR ที่ดำเนินการอยู่นั้น สามารถตอบโจทย์หรือเป็นสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการจริงหรือ และสามารถนำพาองค์กรไปสู่การเป็นกิจการที่ยั่งยืน (Sustainable Enterprise) ได้จริงหรือไม่
ตัวช่วยหนึ่งที่องค์กรสามารถใช้เป็นแนวในการค้นหาเรื่องและประเด็น CSR ที่ควรดำเนินการ นอกเหนือจากการสานสัมพันธ์ระหว่างกิจการกับผู้มีส่วนได้เสียเองโดยตรง คือ การพิจารณาแนวปฏิบัติด้าน CSR ที่จัดทำขึ้นตามรายอุตสาหกรรมที่ธุรกิจสังกัดอยู่ หรือการประเมินและคัดเลือกประเด็นที่ถูกระบุว่ามีสาระสำคัญในรายสาขาอุตสาหกรรม (Sector-specific Material Aspects) เพื่อนำมาพิจารณาดำเนินการ
กล่าวอย่างเข้าใจง่าย คือ ประเด็น CSR ที่มีสาระสำคัญ ที่องค์กรเลือกมาดำเนินการ ดีที่สุด คือ ได้มาจากการเห็นพ้องของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง รองลงมา คือ ได้มาจากการเห็นตรงกันในกลุ่มอุตสาหกรรมโดยรวม และที่มีดีอยู่บ้าง คือ ได้มาจากการเห็นชอบของฝ่ายบริหาร และ/หรือคณะกรรมการบริษัท (ซึ่งก็ยังดีกว่า การชงเอง-สรุปเอาเอง จากฝ่าย CSR โดยลำพัง)
เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็น CSR แก่กิจการที่ยังไม่มีกระบวนการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย หรือยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลตามที่ควรจะเป็น สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประมวลข้อมูลจากรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) รายงานประจำปี (Annual Report) ที่เปิดเผยข้อมูลในหัวข้อ CSR และรายงาน CSR แบบบูรณาการ (Integrated CSR Report) จำนวน 126 เล่ม จาก 90 บริษัท ในระหว่างปี 2556-2557 เพื่อสังเคราะห์ประเด็น CSR ที่บริษัทมีการรายงานมากที่สุด 10 อันดับแรก โดยปรากฏผลเป็นดังนี้
1. การฝึกอบรมและการให้ความรู้ (Training and Education)
2. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational Health and Safety)
3. ผลเชิงเศรษฐกิจ (Economic Performance)
4. การจ้างงาน (Employment)
5. พลังงาน (Energy)
6. การต้านทุจริต (Anti-corruption)
7. มลอากาศ (Emissions)
8. น้ำทิ้ง และของเสีย (Effluents and Waste)
9. ชุมชนท้องถิ่น (Local Communities)
10. การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และบริการ (Product and Service Labeling)
สำหรับข้อมูลประเด็น CSR ที่มีการรายงานสูงสุดจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) กลุ่มธุรกิจการเงิน (Financials) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) กลุ่มทรัพยากร (Resources) กลุ่มบริการ (Services) และกลุ่มเทคโนโลยี (Technology) ตามการจัดหมวดอุตสาหกรรมสำหรับหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ จะทำการเปิดเผยรายละเอียดในงานแถลง “ทิศทาง CSR ปี 2558” ซึ่งจะจัดขึ้นภายในเดือนมกราคมนี้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, January 15, 2015
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment