ธุรกิจพึ่งพิงธรรมชาติ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ (Extractives) อาทิ การทำเหมืองแร่ การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมโลหะขั้นมูลฐาน เป็นกิจการที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และถือเป็นธุรกิจที่อยู่ต้นน้ำในระบบเศรษฐกิจ
ด้วยสภาพของธุรกิจที่แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญหลักของธุรกิจ ประกอบกับแหล่งทรัพยากรที่จะนำมาใช้ประโยชน์ มักอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่เหล่านั้นยังขาดการพัฒนา ซึ่งกลายเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจที่สัมพันธ์กับระดับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
หากธุรกิจมิได้ตระหนักว่า ผลกระทบต่อชุมชนที่เกิดจากการประกอบการ เป็นปัญหาแก่องค์กร ความรับผิดชอบต่อสังคมจะอยู่ในระดับต่ำ กิจการอาจแสดงออกด้วยการเพิกเฉย หรือรับผิดชอบให้น้อยที่สุด และหากเลี่ยงไม่ได้ ก็จะใช้วิธีการบริจาคเป็นทางออก
แต่หากธุรกิจเริ่มตระหนักว่า ผลกระทบดังกล่าวเป็นปัญหากับองค์กร ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมจะเพิ่มขึ้น กิจการจะใช้การสร้างสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ใช้การประชาสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือดำเนินการ และเพิ่มกิจกรรมการบริจาคมากขึ้น จนกระทั่งเกิดสำนึกที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการแก้ไขปัญหา จัดการ ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินการกับปัญหาจนลุล่วง
การสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ (Products) และริเริ่มตลาดใหม่ โดยเฉพาะกับตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ระดับของการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chains) และระดับของการพัฒนากลุ่มความร่วมมือ (Cluster) ในท้องถิ่นที่เอื้อต่อธุรกิจ
ในระดับผลิตภัณฑ์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ สามารถนำผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผลิต อาทิ น้ำชลประทาน หรือน้ำเพื่อการบริโภค ไฟฟ้า มาจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น
ในระดับห่วงโซ่คุณค่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ สามารถปรับปรุงสมรรถภาพของแรงงานท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ส่งมอบในห่วงโซ่คุณค่า เพิ่มสมรรถภาพในการเตรียมพร้อม เผชิญเหตุ และฟื้นฟูสภาพจากภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินในท้องถิ่น ปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ พลังงาน และทรัพยากรอื่นๆ ในแหล่งดำเนินงาน
ในระดับกลุ่มความร่วมมือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ สามารถพัฒนาความร่วมมือในท้องถิ่นที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจในกลุ่ม ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายโลจิสติกส์สำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกัน เข้าเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกลุ่มความร่วมมืออื่นในท้องถิ่น ดำรงบทบาทเชิงรุกในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจในวงกว้าง ปรับปรุงขีดความสามารถด้านธรรมาภิบาลทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ
จะเห็นว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ สามารถเพิ่มระดับความรับผิดชอบต่อสังคม จากการดูแลและจัดการกับผลกระทบทางลบ ยกระดับมาสู่การส่งมอบผลกระทบในทางบวก ด้วยการพิจารณาว่าเป็นโอกาสของธุรกิจในการร่วมพัฒนาชุมชน โดยที่ธุรกิจสามารถใช้สินทรัพย์และความเชี่ยวชาญหลักของกิจการ และการเข้าร่วมกับหุ้นส่วนดำเนินการภายนอกตามแนวคิด CSV มาช่วยเสริมสร้างปัจจัยทางเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคมไปพร้อมกันได้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, December 18, 2014
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment