Thursday, May 24, 2012

เศรษฐกิจพอเพียง 2.0

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดทำชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2547 และได้ให้การสนับสนุนการวิจัยในหัวข้อเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจชุมชน พุทธเศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ มากว่าหนึ่งทศวรรษ

ด้วยความเชื่อร่วมกันขององค์กรที่ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าสำหรับประเทศไทยและสังคมโลก เศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจทางเลือกในรูปแบบอื่นๆ ที่ต่างไปจากทุนนิยมเสรีที่ครอบงำความคิดของโลกในขณะนี้ รวมทั้งในประเทศที่อ้างตัวเองว่าเป็นประเทศสังคมนิยม ล้วนนำไปสู่หายนะ ของมนุษยชาติ เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัด ขณะที่ทรัพยากรของโลกมีจำกัด อีกทั้ง ความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ ก็มิได้เกี่ยวกับความสามารถในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์อันไม่มีขีดจำกัดเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในทศวรรษที่ผ่านมา ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ดูจะมีความก้าวหน้ามากที่สุด ด้วยการที่ธุรกิจพยายามหาทางออกและหลีกหนีการล้มละลายของกิจการ จากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจ และพบว่าแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถนำมาปฏิบัติและใช้ได้ผลจริง

ในส่วนภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรรายย่อย พบว่าการทำการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นความสามารถในการพึ่งตนเองเป็นหลักโดยไม่พึ่งตลาดจนเกินความจำเป็นนั้น เป็นแนวทางที่สามารถช่วยให้ตัวเองอยู่ได้และมีชีวิตอย่างมีความสุข ทั้งสองภาคนี้จึงขับเคลื่อนไปได้บนฐานความสำเร็จของตนเอง

อุปสรรคสำคัญของประเทศไทยอยู่ที่ ‘ธุรกิจการเมือง’ ซึ่งเป็นผลของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่ถูกครอบงำโดยทุนนิยมและเสรีนิยม ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่รู้เท่าทันและติดกับดักนโยบายประชานิยม อันเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ

ธุรกิจการเมืองในลักษณะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ มีการดำเนินนโยบายที่สวนทางกับเศรษฐกิจพอเพียง และได้รับการค้ำยันโดยธุรกิจตามปกติ (Business as usual) ที่เน้นการหากำไรให้ได้มากที่สุด ผนวกกับภาคราชการที่ถูกครอบงำโดยธุรกิจการเมือง ซึ่งแทนที่จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเสียเอง

ขณะเดียวกัน ภาคอุดมศึกษาซึ่งควรจะทำหน้าที่เป็นผู้นำทางปัญญาและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง แต่เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ และประกอบกับการได้รับอิทธิพลของตะวันตก ทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่ในระบบยังถูกครอบงำด้วยความคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก จนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นกัน

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ที่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ก็เป็นเพราะอุปสรรคที่เกิดจากธุรกิจการเมือง การเมืองส่วนท้องถิ่น ภาคราชการ และสถาบันอุดมศึกษา ที่มีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อน ดังนั้นยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในทศวรรษหน้า จึงต้องมุ่งแก้ปัญหาที่สามส่วนนี้เป็นสำคัญ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงได้ร่วมกับองค์กร/หน่วยงาน/สถาบันหลายแห่ง เป็นเจ้าภาพในการวิจัยและจัดการประชุม “ทศวรรษต่อไปของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง” ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เวลา 8.00–17.00 น. โดยจะเป็นการระดมสมองของภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทศวรรษต่อไป (2556-2565) เพื่อสกัดประเด็นสำคัญ 2 ประการ คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคส่วนต่างๆ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีความสำเร็จและอุปสรรคอย่างไร และเพื่อแก้ปัญหาจากอุปสรรคที่เผชิญอยู่สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงต่อไปในทศวรรษหน้า เราต้องการความรู้อะไรเพิ่มเติม และจะดำเนินงานขับเคลื่อนต่อไปในลักษณะใด

ผู้สนใจสามารถติดตามและสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (TRF) และสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม (RASMI) มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/trf-rasmi...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: