เป็นที่รับรู้กันว่าภาคธุรกิจนั้นเป็นกลจักรหลักต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและมีศักยภาพสูงในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่น่าเสียดายว่า แบบแผนการดำเนินธุรกิจภายใต้รูปแบบองค์กรในปัจจุบัน มุ่งที่จะแสวงหากำไรหรือสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นเป้าหมายยอดสุดเหนือสิ่งใด ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม (for-profit-at-all-cost)
เพราะความเชื่อที่ปลูกฝังกันมาว่า ภาคเอกชนมีหน้าที่ทำธุรกิจ การทำธุรกิจก็ต้องมุ่งกำไร และกิจกรรมทางธุรกิจนั้นแหละที่สร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในตัว เช่น การจ้างงาน การผลิตสินค้าที่มีคุณค่าต่อการใช้สอย หรือความสะดวกสบายที่ได้รับจากบริการต่างๆ อันเกิดจากการแข่งขันทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน ก็มอบบทบาทในการดูแลแก้ไขปัญหาสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ภาครัฐและภาคประชาสังคมเป็นผู้ทำหน้าที่
แต่ความจริงที่เกิดขึ้นคือ ระหว่างที่ธุรกิจทำหน้าที่แสวงหากำไรตามบทบาทของตน มีทั้งการสร้างงานให้แก่คนในสังคม (เมือง) พร้อมกับความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่กระจายอย่างไม่ทั่วถึง (ท้องถิ่น) มีทั้งการสร้างสินค้าที่มีคุณค่า พร้อมกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า มีทั้งการสร้างบริการที่สะดวกสบาย พร้อมกับผลกระทบที่ทำให้สิ่งแวดล้อมไม่สบาย สะสมจนทำให้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมีปริมาณและระดับความรุนแรงเกินกว่าที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมจะตามแก้ไขที่ปลายทางได้ลำพัง โดยไม่ใส่ใจเรื่องการระงับป้องกันที่ต้นทาง ที่ซึ่งภาคธุรกิจเป็นต้นเหตุสำคัญ
การปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินธุรกิจ ด้วยเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) จึงเป็นกระแสที่ตื่นตัวอย่างมากในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ ก็เป็นไปเพื่อความพยายามในการลดหรือระงับผลกระทบที่ต้นทางหรือในระหว่างทาง นอกเหนือจากการแก้ไขเยียวยาที่ปลายทางในรูปความรับผิดชอบต่อสังคมหลังกระบวนการธุรกิจ (CSR-after-process) เช่น การบริจาค การปลูกป่า ฯลฯ
การพัฒนารูปแบบองค์กรธุรกิจใหม่ๆ เพื่อทลายข้อจำกัดของการก่อตั้งธุรกิจเพื่อมุ่งกำไรอย่างเดียว คือหนทางหนึ่งในการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการแสวงหากำไร และหนึ่งในรูปแบบองค์กรธุรกิจยุคใหม่ที่เกิดขึ้น คือ Benefit Corporation
อัตถบริษัท หรือ กิจการมุ่งประโยชน์ เป็นรูปแบบขององค์กรที่ใช้พลังของธุรกิจในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทลายข้อจำกัดหลักสองประการ คือ ในด้านกฎหมาย (ในสหรัฐอเมริกา) ที่ระบุให้กรรมการบริษัทต้องทำหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ซึ่งทำให้มีความยากลำบากต่อการพิจารณาประโยชน์ในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ชุมชน รวมถึงสิ่งแวดล้อม และในด้านมาตรฐาน ที่ยังขาดเกณฑ์และตัววัดความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งทำให้มีความยากลำบากต่อผู้บริโภค ผู้ลงทุน รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย ในการแยกแยะระหว่าง ‘บริษัทที่ดี’ (good company) กับ ‘บริษัทที่ทำการตลาดดี’ (good marketing)
คุณลักษณะของกิจการมุ่งประโยชน์ ที่แตกต่างจากกิจการมุ่งกำไรทั่วไป ประการแรก กิจการต้องมีความมุ่งหมายที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ประการที่สอง กรรมการบริษัทต้องขยายบทบาทหน้าที่ในการพิจารณาสร้างประโยชน์ไม่เฉพาะที่เป็นตัวเงินให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่ต้องครอบคลุมถึงประโยชน์ที่ไม่เป็นตัวเงินให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียอื่น และประการที่สาม กิจการมีหน้าที่ในการรายงานผลการดำเนินงานโดยรวมในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมประจำปีด้วยแบบการรายงานที่เข้าใจง่าย น่าเชื่อถือ มีความเป็นอิสระ และโปร่งใส ได้มาตรฐานจากภายนอก
ปัจจุบัน มีมลรัฐในอเมริกาที่ได้ตรากฎหมายรับรองกิจการ Benefit Corp แล้วทั้งสิ้น 7 รัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก ฮาวาย เวอร์จิเนีย แมรี่แลนด์ เวอร์มอนท์ นิวเจอร์ซีย์ และมีอีก 7 รัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณา อาทิ นอร์ทแคโรไลนา เพนซิลเวเนีย มิชิแกน วอชิงตันดีซี ด้วยการผลักดันของ B Lab องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมกิจการมุ่งประโยชน์ด้วยการสร้างเครือข่ายอัตถบริษัทที่ได้รับการรับรอง (Certified B Corporations)
สำหรับบริษัทที่ประกอบการอยู่แล้ว และต้องการปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของกิจการมุ่งประโยชน์ โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนตามกฎหมายกิจการ Benefit Corp ก็สามารถเข้าร่วมในเครือข่ายอัตถบริษัทที่ได้รับการรับรองตามข้อกำหนดของ B Lab ซึ่งปัจจุบันมี Certified B Corp อยู่จำนวน 517 กิจการ กระจายอยู่ใน 60 สาขาอุตสาหกรรม มีรายรับรวมกันกว่า 9 หมื่นล้านบาท
ในประเทศไทย B Lab ได้เข้ามาบุกเบิกความร่วมมือในการส่งเสริมกิจการมุ่งประโยชน์กับ NISE Corp เพื่อช่วยเหลือองค์กรธุรกิจที่ต้องการปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับผลการดำเนินงานที่คำนึงถึง Triple Bottom Line อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยยกระดับกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, March 15, 2012
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment