สำหรับกรอบการรายงานที่เป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก และได้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในการจัดทำรายงานความยั่งยืน ก็คือ Global Reporting Initiative (GRI) ซึ่งถือเป็นรูปแบบของการรายงานที่ให้ความสำคัญด้านกระบวนการ (Process) และเปิดเผยผลการดำเนินงานที่เป็นผลลัพธ์ (Outcome) หรือผลกระทบ (Impact) มากกว่าการรายงานเชิงโครงการ (Project) ที่รายงานเพียงผลการดำเนินงานในเชิงผลผลิต (Output) หรือมุ่งหวังแค่ให้ได้เอกสารรายงานเพียงเพื่อเผยแพร่เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ การจัดทำรายงานตามกรอบ GRI จะสามารถเพิ่มคุณค่าของรายงานที่ส่งมอบไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ รวมทั้งยังสามารถใช้กระบวนการรายงานเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนิน CSR ขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม
ในช่วงสิบปีหลังจากที่กรอบการรายงานในรุ่นแรกๆ ได้มีการประกาศใช้ นับจนถึงปี 2543 มีองค์กรเพียง 44 แห่งที่ได้จัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบดังกล่าว ปัจจุบันได้มีองค์กรที่เผยแพร่รายงานความยั่งยืนเท่าที่สำรวจได้ ทั้งสิ้นราว 3,503 แห่ง มีรายงานที่เผยแพร่แล้วรวมกว่า 8,573 ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นรายงานที่จัดทำตามกรอบการรายงานของ GRI จำนวน 8,209 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 95.75 ของจำนวนรายงานทั้งหมด (จากฐานข้อมูลของ GRI ณ วันที่ 8 ก.พ. 55)
แนวโน้มที่กำลังก่อตัวขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก คือ การที่รัฐบาลและหน่วยงานที่ดูแลตลาดทุนของแต่ละประเทศได้ส่งเสริมการจัดทำและเผยแพร่รายงานความยั่งยืนของกิจการต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ และบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยการออกกฏหมายและกฎระเบียบให้การจัดทำรายงานความยั่งยืนเป็นข้อกำหนด จากเดิมที่เป็นไปตามความสมัครใจของกิจการ
จากงานวิจัยของ Ioannis Ioannou (London Business School) และ George Serafeim (Harvard Business School) ในหัวข้อ The Consequences of Mandatory Corporate Sustainability Reporting (2011) ได้สำรวจประเทศที่ส่งเสริมให้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนจากข้อมูลของ 58 ประเทศ พบว่า มีประเทศที่กำหนดให้มีการรายงานโดยออกเป็นกฎระเบียบและกฏหมายแล้วจำนวน 17 ประเทศ ที่เหลือยังคงเป็นการแนะนำให้มีการรายงานตามแนวปฏิบัติด้วยความสมัครใจ และหลายประเทศในจำนวนนี้ มีแนวโน้มที่จะออกเป็นข้อกำหนดในอนาคต
ตัวอย่างของประเทศที่มีนโยบายของรัฐในการส่งเสริมการจัดทำรายงานความยั่งยืน และ/หรือการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และการกำกับดูแล (governance) หรือที่เรียกรวมกันว่า ESG ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน เดนมาร์ก สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส อินเดีย เยอรมนี นอร์เวย์ สเปน สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดหลักทรัพย์ที่มีบทบาทนำในการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ก็มี บราซิล จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ปากีสถาน และแอฟริกาใต้ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำลังจัดทำคู่มือการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Guidelines for Sustainability Reporting) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่สนใจทั่วไปในการใช้เป็นแนวปฏิบัติในการจัดทำรายงาน โดยคู่มือฉบับนี้ได้อ้างอิงวิธีจัดทำรายงานตามกรอบของ GRI โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การนิยามเนื้อหา คุณภาพ และกรอบการรายงาน ส่วนที่ 2 มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล ส่วนที่ 3 เกณฑ์วิธีตัวชี้วัด และส่วนที่ 4 การวัดระดับรายงานของ GRI โดยมีกำหนดที่จะเผยแพร่ภายในปี 2555 นี้
องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากลหรือ Global Reporting Initiative (GRI) เป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งโดยเครือข่าย Ceres (ออกเสียงว่า “series”) และสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ในรูปแบบโครงการระหว่างปี 2540 ถึงกลางปี 2545 มีสำนักงานอยู่ที่เมืองอัมสเตอดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดย GRI ทำงานในลักษณะเครือข่ายที่มีผู้มีส่วนได้เสียประมาณ 20,000 ราย จากภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษาและสมาคมการค้าต่างๆจากกว่า 80 ประเทศ ช่วยเหลือร่วมมือกันพัฒนากรอบและแนวการดำเนินงานจัดทำรายงานความยั่งยืน จนปัจจุบันมีการประกาศแนวปฏิบัติหลักหรือ Core Guidelines สำหรับการจัดทำรายงานเป็นรุ่นที่ 3.1 หรือ G3.1 |
(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
No comments:
Post a Comment