ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกๆ ครั้งที่เกิดภัยพิบัติ สังคมได้ตั้งความคาดหวังต่อภาคธุรกิจในการเข้าให้ความช่วยเหลือตามบทบาทที่ถูกกำกับด้วยเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและในฐานะขององค์กรพลเมืองที่ดี ขณะเดียวกันธุรกิจในสาขาต่างๆ รวมทั้งผู้นำองค์กรเหล่านั้นในวันนี้ ต่างก็มิได้ปฏิเสธบทบาทดังกล่าวเช่นกัน
แต่การดำเนินการที่เหมาะสม สอดคล้องต้องตามเหตุการณ์ และสนองตอบต่อความต้องการของพนักงานและสาธารณชนได้อย่างเห็นผล จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ในการวางแนวทางที่จะดำเนินการ ล่วงรู้ถึงปัจจัยและตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเล็งเห็นถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
แม้ผู้บริหารองค์กรจะเผชิญกับอุปสงค์เช่นที่เคยประสบในภาวการณ์ปกติ แต่ในสถานการณ์หลังภัยพิบัติ ไม่ว่าผู้บริหารจะมีเจตนาที่ดีเพียงใดก็ตาม สภาพการณ์จะมีความซับซ้อนและทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ดีดังที่เคยเป็น เช่น การตัดสินใจที่ต้องทำทันทีโดยขาดข้อมูลที่ครบถ้วน การได้รับข้อมูลรายงานที่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ หรือมีสภาพความกดดันจากเหตุการณ์ที่ต้องดำเนินการอย่างปัจจุบันทันด่วน
ในเอกสารของ International Business Leaders Forum (IBLF) ชื่อ “Best Intentions: Complex Realities” ได้ประมวล 10 ข้อคำถามที่ผู้นำองค์กรจำต้องสำรวจและซักซ้อมกับคณะผู้บริหารเพื่อให้แน่ใจว่า องค์กรได้มีการตระเตรียมความพร้อมและมีความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล โดยคำถามทั้ง 10 ข้อ ประกอบด้วย
1. เราได้เตรียมพร้อมหรือยัง องค์กรจำต้องดำเนินการคะเนถึงความต้องการและแรงกดดัน รวมทั้งการประเมินผลกระทบที่มีต่อธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิผลและฉับไว
2. เรามีข้อมูลพอที่จะรับมือหรือไม่ องค์กรจำต้องได้ข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ทั้งจากผู้จัดการ หัวหน้างาน และหุ้นส่วนธุรกิจที่คลุกคลีอยู่ในภาคสนาม เพื่อที่จะสามารถประเมินสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินให้มีความแม่นยำ
3. เหตุพิบัติที่เกิดขึ้นมีส่วนเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อธุรกิจอย่างไร หากองค์กรมีสินทรัพย์ พนักงาน และกิจกรรมทางธุรกิจในพื้นที่ ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับเหตุพิบัติ และองค์กรย่อมต้องถูกคาดหวังจากพนักงาน สาธารณชน ตลอดจนสื่อมวลชน ให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด
4. เราจะเข้าช่วยเหลือให้ดีที่สุดได้อย่างไร องค์กรสามารถเข้าดำเนินการโดยตรงในพื้นที่ผ่านทางหน่วยธุรกิจหรือจะใช้วิธีให้การสนับสนุนช่วยเหลือในระยะไกล ทั้งนี้ องค์กรจำเป็นต้องตัดสินใจใช้หรือผสมผสานรูปแบบการช่วยเหลือให้มีประสิทธิผลสูงสุด ระหว่างเงินช่วยเหลือ สิ่งของที่คำนวณเป็นมูลค่าเทียบเคียง โลจิสติกส์ หรือความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ
5. เรามีหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลหรือไม่ ผู้เป็นหุ้นส่วนที่องค์กรเลือกทำงานด้วย หรือที่ส่งการสนับสนุนไปให้ ควรมีความรู้ความจัดเจนพื้นที่และมีสมรรถภาพในการทำงานภาคสนามสมกับเป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิผลในการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟู
6. ความช่วยเหลือของเราจะส่งทอดต่อในระยะยาวหรือไม่ ผู้เป็นหุ้นส่วนในการทำงานขององค์กรจำเป็นต้องมีประสบการณ์และความสามารถที่จะจัดการสนับสนุนและฟื้นฟูในระยะยาว หรือมีหุ้นส่วนในท้องถิ่นช่วยดำเนินการให้
7. เราสามารถรับประกันให้มีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้หรือไม่ ผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงาน ควรจัดทำบัญชีและรายงานรายการให้ความช่วยเหลืออุดหนุนที่ได้รับจากองค์กร รวมทั้งวิธีการและงวดเวลาที่เบิกจ่าย โดยหากเกิดข้อสงสัย องค์กรควรพิจารณาจัดทำข้อผูกมัดแบบมีเงื่อนไข
8. เรามีวิธีในการจัดการให้ความช่วยเหลืออย่างไร องค์กรจำต้องรู้จักผู้ประสานงาน ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ ช่องทางการมีส่วนร่วมของพนักงานหรือหน่วยงานในพื้นที่ การดูแลความช่วยเหลือให้เป็นไปตามแผน และการคาดการณ์ล่วงหน้าหากสิ่งที่นำไปช่วยเหลือไม่สามารถนำไปใช้ได้
9. เรามีแนวทางในการดูแลเผยแพร่ข้อมูลที่สาธารณชนสนใจอย่างไร องค์กรจำต้องดำเนินการบริหารงานประชาสัมพันธ์และแง่มุมด้านสื่อตั้งแต่เริ่มต้น รู้จักคุมการคาดหมายทางสื่อในห้วงเวลาที่เป็นเป้าสายตาของสาธารณชน
10. เราได้จัดลำดับความสำคัญอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ องค์กรต้องแน่ใจว่าการให้ความช่วยเหลือและสิ่งที่ดำเนินการไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อการดำเนินงานตามลำดับความสำคัญอื่นๆ และคงไว้ซึ่งความยืดหยุ่นต่อการดำเนินงานในวันข้างหน้า (สำหรับพื้นที่ประสบเหตุ ประเทศ ภูมิภาค) และต่อสิ่งสำคัญเร่งด่วนอื่นๆ ในปัจจุบันหรือในอนาคต...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, November 24, 2011
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment