ต้องขออภัยท่านผู้อ่าน หากจะทำให้บทความนี้เป็นที่สนใจ เพราะคำพาดหัว ซึ่งมิได้เกี่ยวอะไรกับการเมืองหรือคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของประเทศไทยแต่อย่างใด แต่อยากจะดึงดูดความสนใจของท่านในเบื้องแรก เพื่อให้มาสำรวจและปรับปรุง ‘ความรับผิดชอบต่อมารดา’ (Mother Responsibility) เนื่องในวันแม่ที่มาถึงนี้ครับ
ผมยังดีใจอยู่ว่าชาวไทย (รวมถึงชาวตะวันออกฟากเอเชียด้วยกันหลายประเทศ) ยังมีความผูกพันและดูแลซึ่งกันและกันฉันท์ครอบครัวอยู่มาก แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าคนรุ่นหนุ่มสาวยุคนี้มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตแบบครอบครัวเชิงเดี่ยวเพิ่มสูงขึ้น เช่น เมื่อแต่งงานก็แยกออกไปใช้ชีวิตร่วมกันไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ หรือสภาพการงานบังคับให้ต้องจากรกรากเดิมมาใช้ชีวิตในเมืองใกล้ที่ทำงาน ทำให้ความสัมพันธ์กับพ่อแม่มิได้ใกล้ชิดเหมือนแต่ก่อน
แม้คนไทยจะยังมีการปลูกฝังถ่ายทอดเรื่องความกตัญญู (รู้คุณ) กตเวทิตา (แทนคุณ) ต่อผู้มีพระคุณจากรุ่นสู่รุ่นได้ค่อนข้างดี จนมีภาพสะท้อนเป็นที่รับรู้กันว่าสังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่มีความเกื้อกูล เป็นสังคมอุปถัมภ์ แต่ด้วยสภาพครอบครัวและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะครอบครัวเชิงเดี่ยวที่สมาชิกแต่ละรุ่น (ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูก หลาน) ไม่ได้อาศัยอยู่รวมกัน การตอบแทนคุณบิดามารดาจึงมีเงื่อนไขเรื่องระยะทางและเวลามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในหลักธรรมเรื่องทิศ 6 บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า ดังนี้ 1) ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ 2) ช่วยทำการงานของท่าน 3) ดำรงวงศ์สกุล 4) ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท 5) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
ในข้อแรก การแทนคุณของหนุ่มสาวสมัยใหม่ คือ การให้เงินท่าน สิ้นเดือนเงินเดือนออก ก็จัดสรรเงินส่วนหนึ่งมอบให้ท่านไว้จับจ่ายใช้สอย ความรับผิดชอบต่อมารดา (ครม.) ที่อยากให้สำรวจและปรับปรุงเพิ่มเติม คือ เอาใจใส่ในการกินอยู่หลับนอนของท่าน ไม่ให้เดือดร้อนหรือลำบาก จัดหาเครื่องใช้ไม้สอยหรือเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามอายุขัยของท่านที่เพิ่มขึ้น หรือยามเจ็บไข้ก็เป็นธุระจัดแจงเรื่องหมอ หยูกยาต่างๆ และปรนนิบัติให้ท่านหายหรือทุเลาจากเจ็บป่วย
ในข้อที่สอง เป็นเรื่องการแบ่งเบาภาระทั้งการงานและการบ้าน ทำธุระที่ท่านไหว้วานโดยไม่อิดออดบิดพลิ้ว อาสาที่จะช่วยเหลือกิจการงานของท่านโดยไม่ต้องรอให้ท่านร้องขอ เพื่อให้ท่านได้มีโอกาสพักผ่อนเพิ่มขึ้น
ในข้อที่สาม เป็นเรื่องที่ท่านอยากเห็นเราสืบทอดสกุล รักษาเกียรติคุณความดีแห่งวงศ์ตระกูลให้ยั่งยืน ไม่ทำให้เสื่อมเสีย ด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ดำรงชีวิตในทางดีหรือในทางที่ชอบที่ควร ข้อนี้เป็นการตอบแทนคุณโดยกระทำกับตนเอง มิใช่กับท่านโดยตรง
ในข้อที่สี่ พ่อแม่ปรารถนาจะมอบทรัพย์สมบัติที่ท่านเพียรหาและเก็บออมมาด้วยน้ำพักน้ำแรงให้กับเรา เราก็ต้องประพฤติตนให้ดีควรแก่การรับมรดก ไม่ใช่อยู่เพื่อหวังมรดก ไม่เกะกะเหลวไหล ไม่สุรุ่ยสุร่ายผลาญทรัพย์สมบัติที่ท่านมอบให้ ทรัพย์สมบัตินี้ยังหมายรวมถึง ความรู้หรือคำสั่งสอนที่ท่านได้ให้โดยตรง หรือที่ท่านทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ ส่งเสียให้เราได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบ มีงานทำ การใช้ความรู้ไปในทางที่ผิด ให้โทษแก่ผู้อื่น ก็ถือว่าเป็นการผลาญทรัพย์สมบัติที่ท่านให้ไว้เช่นกัน
ในข้อที่ห้า เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้อย่างสม่ำเสมอ แม้ท่านจะเกิดในภูมิที่สูงกว่าหรือไม่สามารถรับกุศลได้ การระลึกและแผ่เมตตาจิตให้แก่พ่อแม่ ก็ถือเป็นมงคลอันประเสริฐกับตนเอง
ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่บุตรธิดาทุกท่าน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR)
Thursday, August 11, 2011
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment