อีกไม่ถึง 4 ปีที่ภาคธุรกิจไทยมีเวลาเตรียมรับมือกับ การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ขณะที่ในห้วงเวลาเดียวกัน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ก็จะถูกจัดตั้งขึ้น และหนึ่งในเรื่องที่สำคัญก็คือ การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) บทความตอนนี้ จะชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ และแนวการกำหนดบทบาทของภาคธุรกิจไทยในระดับอาเซียน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจไทย มีในหลายมิติ หากพิจารณาจากแนวทางการดำเนินงาน ในมาตรการส่งเสริม CSR ตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน นโยบายสาธารณะ และเครื่องมือทางกฎหมาย ที่ใช้ส่งเสริมเรื่อง CSR จะถูกกำหนดไปในแนวทางเดียวกันทั้งอาเซียน โดยมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นสากล ทำให้ธุรกิจซึ่งทำ CSR ตามแบบของตัวเองโดยไม่ต้องอ้างอิงใคร หากต้องการให้ได้รับการยอมรับในระดับอาเซียน ก็จำต้องพิจารณานำแนวปฏิบัติ CSR ที่เป็นมาตรฐานสากลมาใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื้อหาในนโยบายสาธารณะ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับผู้ที่มีบทบาทในการร่างนโยบาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 มิติด้วยกัน คือ มิติแรก ภาคีใดระหว่างรัฐ-เอกชนเป็นผู้มีบทบาทนำ มิติที่สอง ประเทศใดเป็นเจ้าภาพ
ในมิติแรก หากรัฐเป็นผู้นำ นโยบายก็อาจถูกให้น้ำหนักไปทาง CSR-after-process คือ มองเป็นเรื่องของสวัสดิการสังคม การร่วมพัฒนาชุมชน การบริจาค การอาสาช่วยเหลือสังคม ขณะที่เอกชนจะเข้าใจบริบทของ CSR-in-process มากกว่า คือ มองในเชิงที่สัมพันธ์กับธุรกิจ เรื่องตลาด เรื่องแรงงาน เรื่องการกำกับดูแลองค์กร เป็นต้น
ในมิติที่สอง แน่นอนว่าประเทศที่เป็นเจ้าภาพ จะใส่ความคิดที่สอดคล้องกับความต้องการที่เป็นคุณต่อตัวเองได้มาก กรณีของสิงคโปร์ที่พยายามผลักดันความคิด ผ่านเครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมอาเซียนภาคเอกชน ด้วยการยกร่าง CSR Model Policy Statement ขึ้น โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงาน เรื่องการต้านทุจริต และเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ขาดประเด็นด้านผู้บริโภค การพัฒนาชุมชน หรือเรื่องที่ประเทศไทยให้ความสำคัญคือ นวัตกรรมในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม
ดังนั้น หากไทยต้องการจะเล่นบทบาทนำเรื่อง CSR ในอาเซียน เราคงจะต้องวางกลยุทธ์เชิงรุกในการผลักดันความคิดต่อนโยบาย ที่จะเป็นตัวแบบด้าน CSR ของอาเซียนให้มากกว่านี้
สำหรับแนวการกำหนดบทบาทของภาคธุรกิจไทยในระดับอาเซียน ต้องถามภาคธุรกิจว่า ต้องการจะเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำในภูมิภาคหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ใช่ และวันนี้ก็มีองค์กรธุรกิจไทยหลายแห่งกำหนดวิสัยทัศน์ไว้อย่างนี้ การวางกลยุทธ์เรื่อง CSR ก็เป็นวาระสำคัญ เพราะการคิดเรื่อง CSR ในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการสงเคราะห์สังคมอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
ตัวอย่างเช่น หากกิจการของเราต้องย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่มีโมเดลหรือไม่รู้วิธีในการบริหารความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่น เขาก็อาจจะต่อต้านเราได้ง่ายๆ อันนี้เป็นเรื่อง CSR หรือการอาศัยแรงงานกับวัตถุดิบในซัพพลายเชนข้ามพรมแดน ถ้ากิจการของเราไม่มีการวางมาตรฐานเรื่องแรงงาน เรื่องการจัดหา เรื่องความปลอดภัย พอเกิดปัญหาขึ้น ก็รวนกันไปหมด ผลก็คือแข่งขันลำบาก อันนี้ก็เป็นเรื่อง CSR เหมือนกัน
ต้องเข้าใจว่า วันนี้ธุรกิจกับ CSR จะคิดแยกส่วนไม่ได้แล้ว ถ้าเราเริ่มต้นด้วยกรอบความคิดนี้ ก็จะพิจารณาต่อได้ว่า การจะก้าวเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำในทศวรรษนับจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก จะต้องคำนึงถึงการบรรลุเป้าหมายที่ไม่จำกัดเพียงทางธุรกิจหรือเศรษฐกิจ แต่ยังต้องบรรลุเป้าหมายทางสังคมและทางสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย เป็นเรื่องของ Triple Bottom Line...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) [Archived]
Thursday, July 14, 2011
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment