Saturday, July 12, 2025

แนวคิดการใช้มาตรการ Rebate ตอบโต้ภาษีการค้าสหรัฐฯ

จากข้อมูล (เมื่อ 7 ก.ค.) ที่ประเทศไทยได้รับแจ้งจากสหรัฐอเมริกาว่า จะเริ่มคิดภาษีการค้าในอัตรา 36% ในวันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ซึ่งจะมีผลให้การส่งออกสินค้าของไทยได้รับผลกระทบจากยอดที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งมีอยู่ราว 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดย ธปท. คาดว่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 จะหดตัว -4% และในปี 2569 ทั้งปี คาดว่าจะหดตัว -2%

ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อรัฐบาลไทย ว่าจะมีมาตรการในการรักษายอดส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าราว 6.33 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ไว้ให้มากที่สุดได้อย่างไร จากที่รัฐบาลทรัมป์ ต้องการลดการขาดดุลการค้า และกดดันให้ไทยเปิดตลาดเพื่อซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยใช้เครื่องมือภาษีการค้าเป็นเครื่องต่อรอง และมาจบลงที่อัตรา 36%


อันที่จริง แนวทางแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีการใช้มาตรการภาษีการค้าในปัจจุบัน ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 2003 วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้เคยเสนอแนวคิดเรื่อง “Import Certificate” เพื่อใช้แก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่เขาเริ่มมีความกังวลย้อนกลับไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 โดยแนวคิดดังกล่าวเสนอให้มีการออกใบรับรองให้แก่ผู้ส่งออกสหรัฐฯ ด้วยยอดสินค้าที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ และผู้ส่งออกสามารถขายใบรับรองให้แก่ใครก็ตามที่ต้องการนำเข้าสินค้าเข้าสหรัฐฯ โดยสามารถนำเข้าสินค้าได้เท่ากับมูลค่าที่ระบุไว้ในใบรับรอง

เช่น บริษัท A ส่งออกสินค้ามูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปต่างประเทศ บริษัท A จะได้รับใบรับรองที่ระบุมูลค่าไว้ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับยอดที่ส่งออก และบริษัท A สามารถขายใบรับรองให้บริษัทใดก็ได้ ที่ต้องการส่งสินค้าจากประเทศอื่นเข้ามาขายยังสหรัฐฯ ในมูลค่าที่เท่ากัน ผลลัพธ์ คือ เกิดสมดุลการค้า (ระหว่างมูลค่าส่งออกและนำเข้า)

แนวคิดของบัฟเฟตต์ ได้เคยถูกผลักดันให้เป็นกฎหมายเมื่อปี ค.ศ. 2006 แต่ก็ไม่ได้ถูกประกาศใช้ ซึ่งน่าจะมาจากข้อจำกัดที่เมื่อปริมาณการนำเข้าถูกกำหนดด้วยยอดการส่งออก จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีฐานจากการบริโภค (หากแนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ จีดีพีของสหรัฐฯ คงไม่โตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน) และเมื่อปริมาณการนำเข้าถูกอั้นจนต่ำกว่าความต้องการที่แท้จริงมาก ราคาสินค้านำเข้าจะพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าความเป็นจริง

ตัวเลขจริงในปี ค.ศ. 2024 สหรัฐฯ มียอดส่งออกสินค้าทั้งปีอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้าทั้งปีมีอยู่ถึง 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ขาดดุลอยู่ราว 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ถ้ารวมยอดบริการที่สหรัฐฯ เกินดุลอยู่ ตัวเลขขาดดุลสินค้าและบริการจะลดลงเหลือ 0.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)

นโยบายการค้าภายใต้การบริหารของรัฐบาลทรัมป์ จึงได้นำภาษีการค้ามาใช้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองในการลดยอดขาดดุล โดยบีบให้ประเทศต่าง ๆ ลดภาษีและยกเลิกมาตรการกีดกัน เพื่อเปิดตลาดให้สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าได้มากขึ้น (ไม่นับรวมเหตุผลทางการเมืองที่ต้องการกีดกันจีนและเลือกปฏิบัติกับประเทศที่ต่อต้าน)

ระหว่างนี้จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม หากเรายังไม่สามารถเจรจาแลกเปลี่ยนการเปิดตลาดเพื่อรับสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม จนเป็นผลให้มีการปรับอัตราภาษีการค้าลดลง เราจำเป็นต้องหามาตรการอื่นเพื่อรับมือกับอัตราภาษีที่ 36% โดยปริยาย

โดยก่อนที่จะออกมาตรการเชิงรับในทางที่เป็นการชดเชยหรือเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เราอาจจะออกแบบมาตรการเชิงรุกในทางที่เป็นการตอบโต้ภาษีการค้า โดยแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ การทำให้ภาษีการค้าเป็นกลาง (neutralize tariff) หรือไม่ส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ด้วยการให้ “Import Rebate” หรือวงเงินส่วนลดในจำนวนเท่ากับภาษีการค้าที่ผู้นำเข้าได้จ่ายไป (เป็นการใช้วงเงิน rebate มา offset กับยอด tariff ทำให้สินค้าที่ส่งไปขายในสหรัฐฯ เสมือนมีต้นทุนเท่าเดิม) และผู้นำเข้าในสหรัฐฯ สามารถใช้วงเงินดังกล่าวในการซื้อสินค้าจากไทยต่อในครั้งถัดไป

ด้วยกลไกนี้ ยังเปิดโอกาสให้เราสามารถกำหนดให้มีการใช้วงเงิน Rebate กับรายการสินค้าหรืออุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยากส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้ด้วย

และหากมีผู้นำเข้าในสหรัฐฯ รายใด ไม่ได้ใช้วงเงิน Rebate เราก็ไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนเพื่อชดเชย Tariff สำหรับผู้นำเข้ารายนั้น นั่นอาจแสดงว่า แม้ต้นทุนสินค้าจะแพงขึ้นจาก Tariff เราก็ยังส่งออกสินค้านั้น ๆ ไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้อยู่

จากที่รัฐบาลเปิดเผยว่า งบประมาณรายการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีเหลืออยู่อีกประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท รวมกับงบกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่อนุมัติไปเพื่อลดผลกระทบภาคการส่งออก เพิ่มผลิตภาพ และดิจิทัลวงเงินรวม 11,122 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีงบประมาณที่ใช้ในการลดผลกระทบจากการเก็บภาษีเพิ่มของสหรัฐ รวมทั้งสิ้น 58,122 ล้านบาท

งบประมาณก้อนนี้ สามารถใช้เป็นวงเงินตั้งต้น สำหรับการ Rebate และติดตามว่ามีผลสัมฤทธิ์มากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้นำมาประเมินและตัดสินใจว่าจะใช้มาตรการเชิงรับที่เป็นการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในท้ายที่สุดหรือไม่ต่อไป


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]