Saturday, April 19, 2025

อ่านทาง ทีมนโยบายเศรษฐกิจ 'ทรัมป์'

จากสัญญาณที่ทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งนำโดย สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ฮาวเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สื่อสารออกมาให้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปนั้น นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วยเรื่อง พิกัดอัตราภาษี (Tariffs) การปฏิรูปภาษี (Tax Cuts) และการลดกฎเกณฑ์ (Deregulation) เพื่อจุดหมายในการลดหนี้ที่มีอยู่ราว 36 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 123% ของจีดีพี


ในแผนระยะที่หนึ่งซึ่งรัฐบาลทรัมป์ ได้ดำเนินการแล้ว คือ การวางแนวทางเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) และการทยอยลดรายจ่ายในภาครัฐด้วยการยุบหน่วยงาน ลดบุคลากร ตัดงบประมาณ ฯลฯ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อภาวะเงินเฟ้อ และไม่ไปกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการลดภาษีในแผนระยะที่สอง จะช่วยให้ประชาชนมีเงินเหลือในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายกฎระเบียบในแผนระยะที่สาม จะช่วยเร่งการเติบโตในภาคการผลิต ซึ่งไปเพิ่มโอกาสการจ้างงานของภาคเอกชน (ที่ช่วยชดเชยการเลิกจ้างในภาครัฐด้วย)

แม้นโยบายการเก็บภาษีต่างตอบแทน จะถูกมองเป็นสัญญาณลบต่อเศรษฐกิจโลก และผลักให้นานาประเทศอยู่ฝั่งตรงข้ามของโต๊ะเจรจา ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ ประเมินแล้วว่า ประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ จะไม่กล้าผลีผลามเพิกเฉยข้อเสนอเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยตามข่าวระบุว่า ไทยก็อยู่ในกลุ่ม 14 ประเทศแรกที่สหรัฐฯ หวังว่าจะบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้ในกรอบระยะเวลา 90 วัน ที่มาตรการภาษีดังกล่าวถูกพักการบังคับใช้ชั่วคราว

เป็นที่รับรู้กันว่า หัวข้อการค้าหลักที่อยู่หน้าโต๊ะเจรจา คือ 1) เพิ่มยอดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อลดตัวเลขขาดดุล และ 2) เพิ่มการลงทุนตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้ถูกเรียกเก็บภาษี (และยังจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีการลงทุนเพิ่มตามแผนระยะที่สอง) ขณะที่หนึ่งในข้อเรียกร้องที่น่าจะอยู่หลังโต๊ะเจรจา คือ มาตรการจำกัดวงล้อมจีนในทางเศรษฐกิจ โดยไม่ให้จีนส่งออกสินค้าผ่านประเทศคู่ค้าซึ่งต้องการบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ที่จะได้รับยกเว้นภาษีต่างตอบแทน

เรียกว่า สหรัฐฯ ใช้วิธียืมมือประเทศคู่ค้าตีกรอบล้อม (Contain) จีน มิให้ใช้ประเทศที่สามเป็นทางผ่านส่งออกสินค้ามายังตลาดสหรัฐฯ เพื่อให้กำแพงภาษีที่มีต่อจีน ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (ส่วนสินค้าจีนจะทะลักสู่ตลาดของประเทศคู่ค้าหรือไม่นั้น ไม่ใช่ปัญหาของสหรัฐฯ)

ในแง่ของตลาดสินค้าในสหรัฐฯ แน่นอนว่า นโยบายการเก็บภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับราคาที่เพิ่มขึ้น (หรือไม่ก็จำต้องบริโภคน้อยลงหรือหยุดการบริโภคสินค้านั้น ๆ เลย) และยังทำให้มีตัวเลือกสินค้าในตลาดลดลง (เพราะผู้นำเข้า ไม่นำเข้าสินค้า ด้วยกังวลว่าจะขายไม่ได้) รวมทั้งมีโอกาสที่ทำให้สินค้าเดียวกันที่ผลิตในประเทศขึ้นราคาโดยผู้ขายที่ฉวยประโยชน์แบบกินเปล่า (Freeloader)

ในแง่ตลาดเงิน หากนานาประเทศเริ่มขาดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อสหรัฐฯ จะทยอยลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อลดความเสี่ยง ผลที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้น คือ การเทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ไปกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งก็ตรงตามเป้าหมายของทีมเศรษฐกิจทรัมป์ที่ต้องการให้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ในตลาดโลก มีราคาที่ถูกลง และสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาแข็งแกร่งจากการผลิตที่ทำรายได้เข้าประเทศ (ไม่ใช่เติบโตด้วยการบริโภคและก่อหนี้) ในระยะยาว ประเทศต่าง ๆ ยังคงต้องรักษาการถือครองสกุลเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองอยู่เหมือนเดิม

ในแง่ตลาดตราสารหนี้ ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ เชื่อว่า ไม่มีประเทศใดที่ต้องการทำลายเสถียรภาพในตลาดพันธบัตร ซึ่งเป็นที่พักพิง (Safe Haven) หรือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยของผู้ลงทุน เพียงเพื่อหวังผลทางการเมือง แม้กระทั่งชาติมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศจีน เพราะการเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ทิ้ง เท่ากับว่าจีนได้เงินสกุลดอลลาร์เพิ่ม ซึ่งหากไม่อยากถือเงินดอลลาร์ไว้ จีนก็ต้องขายดอลลาร์และถือเป็นเงินสกุลหยวน ก็ยิ่งทำให้เงินหยวนแข็งค่า ซึ่งไปสวนทางกับนโยบายที่จีนต้องการ จึงไม่เห็นว่าการที่จีนจะเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ทิ้งในเวลานี้ จะมีประโยชน์ใด ๆ ในทางเศรษฐกิจต่อจีนเอง

สำหรับตลาดตราสารทุน ทีมเศรษฐกิจทรัมป์นั้น ให้ความสำคัญกับ Mainstreet (ที่เป็นภาคเศรษฐกิจจริง) มาก่อน Wallstreet (ที่เป็นภาคการเงิน) เพราะเชื่อว่า ในระยะยาว หากภาคเศรษฐกิจหรือภาคการผลิตจริงมีความแข็งแกร่ง ย่อมจะส่งผลสู่ภาคการเงินในทิศทางเดียวกัน แม้ในระยะสั้น ตลาดทุนอาจจะมีความผันผวนสูง จากผลสะท้อนของมาตรการต่าง ๆ ที่ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ นำมาใช้ในแต่ละช่วง

อันที่จริง ทีมเศรษฐกิจทรัมป์ อาจมีความต้องการที่เลยไปถึงการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยี (Tech Sector) ที่ได้อานิสงส์จากค่าแรงต่ำและชิ้นส่วนราคาถูกจากนอกประเทศมาเป็นเวลานาน ทำให้บริษัทเหล่านี้ได้กำไรจากส่วนต่างเป็นจำนวนมหาศาล จนสามารถสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารอย่างเป็นกอบเป็นกำ

การดึงบริษัทเหล่านี้กลับมาตั้งฐานการผลิตในประเทศ (Reshoring) จะช่วยให้เกิดการปรับการกระจายรายได้ (Redistribution of Income) กลับไปสู่ผู้ส่งมอบและแรงงานภายในประเทศ จากการจ้างงานและการซื้อในห่วงโซ่อุปทานที่ผู้ประกอบการและพลเมืองสหรัฐฯ ได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการปรับโครงสร้างดังกล่าว

อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างธุรกิจในแนวทางนี้ มิใช่เรื่องง่าย เพราะจะเจอแรงเสียดทานทั้งจากบริษัทที่ไม่ต้องการมีต้นทุนเพิ่มหรือมีการจัดสรรรายได้ในทางที่ทำให้กำไรของกิจการลดลง และจากผู้ลงทุนที่ต้องการตัวเลขผลตอบแทนสูง ๆ รวมทั้งจากผู้บริโภคที่ไม่ต้องการให้สินค้าเดิมที่เคยซื้อมีราคาแพงขึ้น

ต้องติดตามว่า ระหว่างเวลาที่รอให้นโยบายเศรษฐกิจส่งผล กับเวลาที่รัฐบาลทรัมป์มีเหลือในการทำงาน อันแรกจะเกิดขึ้นก่อนหรืออันหลังจะหมดก่อน


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Saturday, April 05, 2025

รู้ทันนโยบายภาษีทรัมป์ ?

การลงนามคำสั่งของฝ่ายบริหารโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ต่อการใช้นโยบายภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) เพื่อหวังจะลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.2 ล้านล้านเหรียญ (ตัวเลขปี ค.ศ. 2024) ได้สร้างความกังวลให้กับประเทศคู่ค้าที่มีตัวเลขการค้าเกินดุล รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีตัวเลขการค้าเกินดุลอยู่ในอันดับ 8 ที่จำนวน 4.56 หมื่นล้านเหรียญ (คิดเป็น 3.8% ของยอดขาดดุลรวมของสหรัฐฯ)


สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทนไว้ที่ 36% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

ตัวเลขดังกล่าวมาจาก การนำยอดขาดดุลการค้ากับไทย (4.56 หมื่นล้านเหรียญ) หารด้วยยอดนำเข้าสินค้าจากไทยทั้งหมด (6.33 หมื่นล้านเหรียญ) ซึ่งเท่ากับ 72% และ สหรัฐฯ เรียกเก็บครึ่งเดียว จึงเท่ากับ 36%

ตามข่าว มีการประเมินว่า ไทยจะมีมูลค่าความเสียหายอยู่ราว 8 แสนล้านบาท (ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขจริง) ตัวเลขนี้น่าจะมาจากการนำยอดส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ (6.33 หมื่นล้านเหรียญ) คูณกับอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทนที่สหรัฐฯ จะจัดเก็บ (ในอัตรา 36%)

ในความเป็นจริง อัตราภาษี 36% เป็นภาษีนำเข้า เรียกเก็บจากผู้นำเข้าสินค้าจากไทย (ซึ่งอยู่ในสหรัฐฯ) มิได้เก็บจากผู้ประกอบการไทยที่เป็นผู้ส่งออก หมายความว่า เดิมสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มีราคา 100 บาท ภายใต้นโยบายภาษีต่างตอบแทนนี้ รัฐบาลทรัมป์จะได้ค่าภาษี 36 บาท เพื่อชดเชยการขาดดุล ขณะที่ผู้นำเข้าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 36 บาท และจะผลักต้นทุนนี้ไปยังผู้ซื้อหรือผู้บริโภค ทำให้สินค้าไทยที่จำหน่ายในสหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้น (ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของรัฐบาลทรัมป์ ที่ต้องการให้สินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ มีราคาที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้า)

แต่ในหลักเศรษฐศาสตร์ เรื่องอุปสงค์-อุปทาน ความต้องการซื้อสินค้า มิได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคาอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นที่ใช้ตัดสินใจซื้อ อาทิ คุณภาพ ความชอบ หรือตราสินค้า ดังนั้น การเก็บภาษีต่างตอบแทน มิได้เป็นปัจจัยที่ทำให้สินค้านำเข้าขายไม่ได้เลย และที่สำคัญผู้ซื้อหรือผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต่างหากที่เป็นผู้จ่ายภาษีดังกล่าวให้รัฐบาลตนเอง (กรณีนี้ ผู้ประกอบการไทยยังส่งออกสินค้าได้ไม่ต่างจากเดิม เพราะอุปสงค์ยังคงอยู่)

ยิ่งถ้าเป็นสินค้าขั้นกลางหรือเป็นวัสดุชิ้นส่วนเพื่อใช้ประกอบการผลิต ที่มิใช่สินค้าสำเร็จรูป (finished goods) ยังมีปัจจัยเพิ่มเติมเรื่องสายการผลิตและการปรับแต่งกรรมวิธีการผลิต หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้ส่งมอบที่มิใช่ผู้นำเข้าสินค้ารายเดิม

ผลที่ตามมาอีกเรื่องหนึ่ง หากสินค้าโดยรวม ยกแผงกันขยับราคาขึ้น (โดยผู้ผลิตในสหรัฐฯ ร่วมวงขึ้นด้วย เพราะธุรกิจย่อมแสวงหากำไรเพิ่มเท่าที่ทำได้) ในขณะที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเท่าเดิม จะกดดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น แม้จะมิได้มีการพิมพ์เงินใหม่เติมเข้าในระบบเศรษฐกิจก็ตาม

ใช่ว่ารัฐบาลทรัมป์จะไม่ทราบข้อเท็จจริงนี้ จึงมีผู้วิเคราะห์ว่า การประกาศใช้นโยบายภาษีต่างตอบแทน จุดประสงค์ที่แท้จริง คือ ต้องการให้แต่ละประเทศคู่ค้าเข้ามาเจรจาเพื่อปรับสมดุลทางการค้าระหว่างกัน โดย 1) เสนอซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมให้เท่าหรือใกล้เคียงกับยอดที่สหรัฐฯ ขาดดุลอยู่ และ 2) เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการไม่ถูกเรียกเก็บภาษีต่างตอบแทนดังกล่าว (รัฐบาลทรัมป์เองก็ไม่อยากให้พลเมืองของตนเป็นผู้จ่าย)

ทั้งการซื้อเพิ่มและการลงทุนใหม่จากประเทศคู่ค้า เป็นกลวิธีที่สหรัฐฯ ใช้ลดการขาดดุลการค้าของจริง มิใช่ภาษีต่างตอบแทน ที่สหรัฐฯ นำมาใช้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับเปิดการเจรจา (ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่า จะมีหลายประเทศ ยอมดำเนินตาม)

นอกจากนี้ รัฐบาลทรัมป์ยังมีอีกหนึ่งแนวคิดที่สอดรับกับการใช้นโยบายภาษีต่างตอบแทน คือ การจัดตั้งหน่วยงานสรรพากรเพื่อจัดเก็บรายได้จากนอกประเทศ (External Revenue Service: ERS) ซึ่งมาจากจุดที่ว่า ไม่เพียงแต่ขนาดจีดีพีของประเทศที่ 29 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งใหญ่สุดในโลก สหรัฐฯ ยังมีมูลค่าการบริโภคสูงถึง 20 ล้านล้านเหรียญต่อปี เป็นผู้ซื้อใหญ่สุดในโลก ฉะนั้น ประเทศใดที่ต้องการขายสินค้าให้สหรัฐฯ จากนี้ไป ต้องสมัครเป็นประเทศสมาชิกคู่ค้า และมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสมาชิก (membership fee) โดยจะมอบหมายให้หน่วยงาน ERS เป็นผู้จัดเก็บ

วิธีนี้ เป็นการลบข้อจำกัดของนโยบายภาษีต่างตอบแทนที่โดยโครงสร้างแล้ว ผู้ซื้อในประเทศเป็นผู้จ่ายภาษี แต่เมื่อเป็นค่าธรรมเนียมสมาชิก ตามการออกแบบ ผู้ขายนอกประเทศจะเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งโดยหลักการ (ที่คาดว่าจะให้รัฐบาลประเทศสมาชิกเป็นผู้จ่าย) จะไม่ทำให้ต้นทุนสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้น เหมือนในกรณีของภาษีต่างตอบแทน

แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องเรียกเก็บค่าสมาชิกจากกลุ่มผู้ส่งออกสินค้า เพราะไม่ต้องการนำภาษีประชาชนมาอุดหนุนธุรกิจเฉพาะกลุ่ม ทำให้ท้ายที่สุด ผู้ส่งออกต้องบวกค่าธรรมเนียมสมาชิกเข้าเป็นต้นทุนค่าสินค้าที่ส่งออกอยู่ดี

โดยหากแนวคิดนี้ ถูกนำมาใช้เป็นนโยบายจริง เราจะได้เห็นการรวมกลุ่มการค้าที่จะมีขนาดใหญ่สุดของโลก จากนานาประเทศที่ไม่ต้องการพึ่งพาค้าขายกับสหรัฐฯ ที่แม้จะเป็นประเทศผู้ซื้อใหญ่สุดในโลกก็จริง แต่ก็มีขนาดเพียง 1 ใน 4 ของมูลค่าการบริโภคทั้งโลกต่อปี เมื่อคำนวณจากขนาดจีดีพีโลกที่ 110 ล้านล้านเหรียญ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]