Monday, December 31, 2012

CSR @ heart

ในขวบปีที่ผ่านมา ผมได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านทางคอลัมน์หน้าต่าง CSR ในวันพฤหัสบดี เป็นจำนวน 39 บทความ แต่หากนับตั้งแต่บทความหน้าต่าง CSR ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 ก็รวมแล้ว 115 ชิ้น ผมต้องขอขอบพระคุณผู้อ่านทั้งฉบับกระดาษ และฉบับออนไลน์ (ผ่าน CEO Blogs ที่มีจำนวนคนอ่านราว 2 แสนคน) มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

อันที่จริงเรื่อง CSR ที่ผมนำมาถ่ายทอดนั้น ก็วนเวียนอยู่ใน 3 ส่วนหลัก แต่ละบทความก็เป็นการดึงแง่มุมเฉพาะเรื่อง มาลงรายละเอียดเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น หรือเรียงร้อยให้เข้ากับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ หรือเป็นการสะท้อนความคิดจากมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความหลากหลายแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน

ส่วนแรกนั้น เป็นการพูดถึง CSR 2 จำพวก คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) กับความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการและเกิดขึ้นภายหลัง (CSR-after-process) โดยชี้ให้เห็นความแตกต่างในบทความ CSR ที่แลกไม่ได้ แนวทางการขับเคลื่อนในตอน ตั้งไข่ให้ CSR และการวัดผลสัมฤทธิ์ในบทความ ดูยังไง CSR เวิร์กไม่เวิร์ก

ส่วนที่สอง เป็นการเปรียบเทียบหรือพูดถึงเรื่อง CSR กับเรื่องอื่นๆ หรือในบริบทอื่นๆ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืนในบทความ CSR กับ SD เหมือนหรือต่างกัน การกำกับดูแลกิจการในตอน CG กับ CSR เหมือนหรือต่างกัน หรือการสื่อสารในตอน สื่อสาร CSR ดีหรือไม่ดี

ส่วนที่สาม เป็นการขยายเนื้อหาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ในรูปของรายงานแห่งความยั่งยืน และรายงานด้าน CSR ในหลายตอนด้วยกัน อาทิ รายงาน CSR แบบไม่... เออเร่อ ความยั่งยืนที่ต้องรายงาน รายงานเพื่อความยั่งยืน

ส่วนอื่นๆ เป็นการประมวลความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วม อย่างเช่น การประชุม Rio+20 ในบทความ Rio+20 กับอนาคตที่พึงปรารถนา การประชุม Global Ethics Forum ในตอน เวทีจริยธรรมโลกที่เจนีวา การประชุม ISO 26000 ในตอน การประชุมนานาชาติว่าด้วย ISO 26000 และ ยลออฟฟิศ ISO การประชุมระดับอาเซียนว่าด้วยเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในบทความ CSR ในบ้าน เพื่อคนนอกบ้าน

ขอขอบพระคุณหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยเฉพาะเซคชัน HR&Management ที่เอื้อเฟื้อเนื้อที่ในการเผยแพร่สาระด้าน CSR ให้อย่างต่อเนื่อง และถือโอกาสเชิญชวนท่านผู้อ่านติดตามคอลัมน์หน้าต่าง CSR กันต่อในปี 2556 นี้ (สามารถติดตามบทความย้อนหลังได้ที่ http://bit.ly/CSRwindows)

เนื่องในโอกาสขึ้นศักราชใหม่ ผมขออาราธนาพลานุภาพของคุณพระศรีรัตนตรัย พระเป็นเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเคารพบูชา จงอำนวยพรให้ทุกท่านได้รับแต่ความสุข ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน มีโภคทรัพย์อุดมสมบูรณ์ และมีสุขภาพที่ดี ตลอดปี พ.ศ.2556 นี้

บุญกุศลใดที่ผมได้มีโอกาสทำผ่านทางคอลัมน์หน้าต่าง CSR และในที่อื่นๆ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ขอให้ท่านได้มีส่วนร่วมในบุญกุศลนี้อย่างเต็มที่ถ้วนหน้ากันทุกท่านด้วยเทอญ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 27, 2012

เทรนด์ธุรกิจ ปี 56 Think SD, Act CSR!

สมมติว่า CSR มีตัวตนเป็นเหมือนบริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัท CSR นี้ได้เจริญเติบโตขึ้นมาก จนกลายเป็นบริษัทมหาชน แผ่ขยายอิทธิพลไป ‘ควบรวม’ กิจการกับบริษัทธุรกิจอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในตลาดและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้กระทั่งรัฐวิสาหกิจ กวาดต้อนเข้ามาเป็นบริษัทในเครือในสังกัดมากมาย

และแล้วก็มีอีกบริษัทที่ชื่อว่า SD ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในวงการไล่หลังบริษัท CSR ไม่นาน ได้รับแรงส่งจากความต้องการของตลาดโลก จนสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดออกไปอย่างรวดเร็ว มีอิทธิพลถึงขนาดเข้ามา ‘ครอบงำ’ กิจการทั้งที่อยู่ในเครือและนอกเครือบริษัท CSR ในอัตราที่เร็วไม่แพ้อัตราการเข้าไปควบรวมกิจการของบริษัท CSR

วันนี้ ธุรกิจที่ถูกควบรวมกิจการกับบริษัท CSR และกำลังถูกครอบงำจากบริษัท SD เริ่มมีความสับสนในการรับนโยบายจากทั้งสองบริษัท ขณะที่หลายธุรกิจที่ดำเนินงานโดยใช้กลยุทธ์จากบริษัท CSR มาระยะหนึ่ง มีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์จากบริษัท SD บ้าง ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่ได้สับเปลี่ยนกลยุทธ์จากบริษัท CSR มาเป็นของบริษัท SD เรียบร้อยแล้ว กลับไม่แน่ใจว่ากลยุทธ์ของบริษัท SD มีความเหมาะสมกับองค์กรจริงหรือไม่

นี่คือ เทรนด์ธุรกิจ ที่จะเกิดขึ้นในปี 56 !

การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development เป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบกันอย่างสมดุล เกิดจากการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่เฉพาะเพียงภาคธุรกิจเอกชน

บทบาทของธุรกิจต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปพร้อมกัน ในอันที่จะช่วยเสริมหนุนการทำงานของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ให้เกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม

ความคาดหวังที่จะให้ภาคธุรกิจ ดำเนินงานด้านการพัฒนาสังคม หรือ การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแบบเต็มตัว จึงไม่ถืออยู่ในวิสัยแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของธุรกิจซึ่งมีเป้าประสงค์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

กลยุทธ์ SD ที่ธุรกิจนำมาใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการจำกัดความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นการประกอบธุรกิจหรือการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากกลยุทธ์ CSR แต่ประการใด

ขณะที่ ‘ความยั่งยืน’ หรือ Sustainability เป็นอีกหนึ่งคำ ที่ภาคธุรกิจหยิบฉวยมาใช้ เพื่อแสดงถึงสถานะของผลการดำเนินงาน ที่สามารถก่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนของสังคมโดยรวม หรือความยั่งยืนในระดับองค์กร ตามแต่กลยุทธ์ที่นำมาใช้

ธุรกิจจำนวนหนึ่ง ได้มีการพัฒนากลยุทธ์ความยั่งยืน หรือ Sustainability Strategy ขึ้น เพื่อจัดการกับความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ความต้องการทางธุรกิจ หรือการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการก็ได้

กลยุทธ์ความยั่งยืนที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจหรือประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (Shareholder) ในกรณีนี้ จะมีขอบเขตที่แคบกว่ากลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความคาดหวังทางสังคมหรือประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ในวงกว้าง

ด้วยเหตุนี้ การระบุผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ (อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม) สำหรับการดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืนหรือกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม จึงถือเป็นบันไดขั้นต้นแห่งความสำเร็จของการสร้างผลได้สูงสุดจากความทุ่มเทขององค์กร อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ระดับของกลยุทธ์ความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน กับผู้มีส่วนได้เสียภายใต้ขอบเขตองค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถแสดงดังภาพ

ระดับของกลยุทธ์ความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

หากเจาะลึกเทรนด์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลยุทธ์ความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับปี 56 จะมีธีมที่น่าสนใจดังนี้

Chief Sustainability Officer
ถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อกิจการที่ต้องการจะขับเคลื่อนเรื่องใหม่ๆ ซึ่งมีนัยสำคัญต่อองค์กร จะทำการมอบหมายตำแหน่งหรือตั้งบุคคลให้รับผิดชอบเรื่องความยั่งยืนเป็นการเฉพาะ ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน หรือ Chief Sustainability Officer จะถือกำเนิดขึ้นในองค์กร

ในปี 2556 กระแสเรื่องความยั่งยืนจะผลักดันให้หลายธุรกิจดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับกับเทรนด์ธุรกิจดังกล่าว จากเดิมธุรกิจที่มีหรือที่กำลังจะพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม หรือแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ อาจมีการปรับเปลี่ยนชื่อ ควบรวม โยกย้าย บุคลากรและตำแหน่งหน้าที่ในส่วนนี้ เพื่อรับกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี หากเป้าหมายของกิจการที่ต้องการบรรลุคือการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรเป็นหลัก ขอบข่ายของการทำงานและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน อาจไม่มีความแตกต่างจากกลยุทธ์ทางธุรกิจปกติ และอาจไม่ครอบคลุมการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรได้เคยทำไว้แต่เดิม

Integrated CSR Reporting
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เหล่าบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ในประเทศไทย ได้ริเริ่มจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เผยแพร่ให้แก่สังคมและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องของกิจการ แยกเป็นเล่มต่างหากจากรายงานประจำปี

จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ในกลุ่มบริษัทที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานด้าน CSR เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่า ร้อยละ 27 ได้มีการจัดทำโดยแยกเล่มรายงาน และร้อยละ 73 มีการจัดทำรวมไว้ในรายงานประจำปี

โดยสัดส่วนของกลุ่มบริษัทที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานด้าน CSR เมื่อเทียบกับบริษัทที่ทำการสำรวจทั้งหมดซึ่งมีความสนใจที่จะจัดทำรายงานดังกล่าว พบว่า มีถึงร้อยละ 42 ที่ยังไม่เคยจัดทำรายงานด้าน CSR มาก่อน

ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดที่จะให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคม นโยบายและการดำเนินการของบริษัทที่แสดงว่าได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และการดำเนินการของบริษัทกรณีที่มีประเด็นดังกล่าวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีข้อพิพาททางกฎหมาย ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (filing) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) โดยระยะเวลาและข้อมูลที่เปิดเผยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทำให้คาดได้ว่า ในปี 2556 จะมีกิจการหลายแห่งที่ยังไม่เคยจัดทำรายงานด้าน CSR โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ริเริ่มและเตรียมจัดทำรายงานด้าน CSR รวมไว้ในรายงานประจำปีเพิ่มมากขึ้น

New SD Agenda
จากผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNCSD) หรือที่เรียกว่า Rio+20 ณ นครริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ทำให้เกิดกรอบการทำงานเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ ภายใต้เอกสารผลลัพธ์การประชุม ความหนา 53 หน้า ที่มีชื่อว่า “The Future We Want” ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากชาติสมาชิก 193 ประเทศ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกสองปีนับจากนี้ คือ การเปลี่ยนผ่านเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2015 ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)

สหประชาชาติได้บรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ความเสมอภาค (Equality) และความยั่งยืน (Sustainability) ไว้เป็นหลักการพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากปี ค.ศ. 2015

ในปี 2556 กิจการที่ใช้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SD Framework เป็นกรอบในการขับเคลื่อนธุรกิจ จะเริ่มมีการปรับวาระการดำเนินงานขององค์กรให้เข้ากับวาระการพัฒนาหลังจากปี ค.ศ. 2015 (Post-2015 Development Agenda) และจะมีการปรับกระบวนการทางธุรกิจให้สอดรับกับหลักสิทธิมนุษยชน และหลักความเสมอภาค นอกเหนือจากหลักการความยั่งยืนที่ดำเนินอยู่

สำหรับธุรกิจทั่วไป ที่ยังมิได้เข้าสู่สนามการแข่งขันในระดับโลก หรือในระดับภูมิภาค กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ สามารถนำมาใช้เป็นแนวคิดสำหรับการวางกลยุทธ์การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในภาคปฏิบัติขององค์กรได้ ดังวลีที่ว่า Think SD, Act CSR!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 06, 2012

CSR ในบ้าน เพื่อคนนอกบ้าน

สัปดาห์ที่แล้ว (28-29 พ.ย.) คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งออสเตรเลีย (AHRC) ได้ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศออสเตรเลียทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ราว 40 ท่าน

ผมได้มีโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ประสานงานระดับชาติที่ทำงานสนับสนุนทีมศึกษาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในอาเซียน 10 ประเทศ และได้นำเสนอข้อมูลในช่วงกรณีศึกษากลไกการตรวจสอบและบังคับใช้รวมถึงการเข้าถึงการเยียวยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมด้วย

ในที่ประชุม ได้มีการแนะนำหลักการแนวทางของสหประชาชาติต่อกรอบ “คุ้มครอง-เคารพ-เยียวยา” สำหรับการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ได้ให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 และประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนและร่วมอุปถัมภ์ข้อมติดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ไทยต้องนำหลักการแนวทางดังกล่าวมาพิจารณาดำเนินการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย

ช่วงต่อมาเป็นการประมวลความเคลื่อนไหวเรื่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยได้นำผลการวิจัยขนาดย่อมที่ทำในโครงการ UN Global Compact LEAD program เรื่องภูมิศาสตร์ใหม่ว่าด้วยความยั่งยืนขององค์กร มานำเสนอในสองมุมมอง คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ และลักษณะของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในแต่ละประเทศสมาชิก

การพัฒนาชุมชนเป็นเรื่องหลักที่ภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนใช้แสดงถึงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะที่ภาครัฐยังไม่สามารถตกผลึกหนทางในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างถ่องแท้ อย่างไรก็ตาม เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถใช้เป็นเครื่องมือขยายการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนสู่ความเป็นประชาคมที่สำคัญ

สำหรับนัยของการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ประการแรก คือ การลดช่องว่างของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมระหว่างองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้นำและผู้ตาม ทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง ประการที่สอง คือ การให้ความรู้และการสร้างความเข้าใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนอกภาคธุรกิจ (รัฐ ประชาสังคม สื่อ ฯลฯ) และประการที่สาม คือ การแปลงวาระความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในอาเซียนให้เป็นรูปเป็นร่างในทางปฏิบัติ

ในการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ช่วง เป็นการถกกันในหัวข้อความท้าทายของ CSR ในอาเซียนกับผลกระทบต่อสตรี การยกระดับการรับรู้และความเข้าใจเรื่อง CSR การสร้างข้อผูกพันร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ และการพัฒนากลยุทธ์ระดับภูมิภาคที่เกี่ยวกับประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม

สำหรับหัวข้อหลังนี้ ถือเป็นประเด็น CSR ข้ามชาติ (Transnational Issues) ที่มีการกล่าวถึงปัญหาและผลกระทบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายในประเทศพม่า หรือ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีสถาบันการเงิน บริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจไทยเกี่ยวข้อง

CSR ในบริบทการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจที่ก้าวเข้าสู่เวทีระดับภูมิภาคในวันนี้ จึงมิใช่เรื่องการลูบหน้าปะจมูกทำความดีแบบ charity-based ให้สังคมในบ้านเห็น แล้วก็ออกไปหาประโยชน์ใส่ตัวด้วยการลิดรอนสิทธิของคนในสังคมนอกบ้าน

แต่ CSR สามารถใช้เป็นเครื่องมือทำความดีแบบ rights-based ที่จะช่วยเสริมสร้างความสำเร็จของธุรกิจนอกบ้านด้วยการยอมรับจากสังคมทั้งในและนอกประเทศควบคู่กันไปได้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 29, 2012

ยลออฟฟิศ ISO

หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการที่องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO จัดขึ้นสำหรับมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5-9 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา คณะผู้เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งได้มีโอกาสเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของ ISO ที่กรุงเจนีวานี้ด้วย


สิ่งแรกที่ทึ่งเมื่อก้าวเข้ามายังออฟฟิศของ ISO ในอาคารขนาดไม่ใหญ่นัก คือ พนักงานซึ่งมีเพียง 160 คน แต่สามารถทำงานด้านมาตรฐานที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก โดยทำงานร่วมกับประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกไอเอสโอจำนวน 164 ประเทศ และประสานงานกับคณะทำงานทางเทคนิคที่ดูแลการพัฒนามาตรฐานอยู่ถึง 3,335 ชุด

ไอเอสโอได้ย้ายเข้ามาอยู่ในอาคารที่ทำการปัจจุบันได้ราว 5 ปี ใช้อาณาบริเวณ 4 ชั้น มีค่าใช้จ่ายดำเนินงานในส่วนของสำนักงานกลางนี้เฉลี่ยราว 100 ล้านบาทต่อเดือน โดยใช้เงินที่ได้จากรายได้ค่าสมาชิกร้อยละ 55 และรายได้จากการจำหน่ายมาตรฐานและบริการอื่นอีกร้อยละ 45 มาสนับสนุนการดำเนินงาน

นอกเหนือจากมาตรฐานยอดฮิตอย่าง ISO 9000 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ปัจจุบัน ไอเอสโอได้ผลิตและประกาศใช้มาตรฐานระหว่างประเทศรวมกว่า 19,000 ฉบับ นับเป็นจำนวนเกือบ 800,000 หน้า จำแนกออกได้เป็น 9 สาขาหลัก โดยสาขาที่มีสัดส่วนมากสุด 3 อันดับแรก คือ หมวดเทคโนโลยีวิศวกรรม ร้อยละ 27.6 หมวดเทคโนโลยีวัสดุ ร้อยละ 23.4 หมวดอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ร้อยละ 16.7 ตามลำดับ

ไอเอสโอ ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดเก็บเอกสารมาตรฐานกว่า 19,000 ฉบับ และร่างมาตรฐานอีกกว่า 4,000 ฉบับ ในรูปของคลังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ www.iso.org ทั้งหมด ทำให้ในสำนักงานแห่งนี้ ไม่มีบรรยากาศของคลังเอกสารขนาดใหญ่ให้ได้สัมผัส หรือเห็นการพิมพ์เอกสารมาตรฐานไว้รอจำหน่าย แต่จะเห็นการจัดเก็บและใช้งานข้อมูลมาตรฐานด้วยการบริหารแฟ้มข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แทน

โรเจอร์ ฟรอสต์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและข้อมูล เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากไอเอสโอทำงานด้านการพัฒนามาตรฐานที่มีผู้ใช้อ้างอิงทั่วโลก เอกสารแต่ละหน้า ข้อความแต่ละย่อหน้า และคำในแต่ละบรรทัด จะผิดพลาดไม่ได้ ทำให้การพิสูจน์อักษร การเรียบเรียง และการรักษาความหมายของเนื้อหามาตรฐาน (ที่มีการแปลเป็นภาษาอื่น) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำงานของสำนักงานแห่งนี้ ในฐานะที่เป็นเลขานุการกลาง (Central Secretariat) ของไอเอสโอ

สิ่งที่หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและข้อมูลท่านนี้ ได้บรรยายสรุปในหัวข้อสำคัญถัดมา คือ การให้ความสำคัญกับช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันไอเอสโอได้ใช้ทั้งเฟซบุ๊ก (www.facebook.com/isostandards) และทวิตเตอร์ (@isostandards) ในการสื่อสารเพื่อเผยแพร่มาตรฐานและกิจกรรมของไอเอสโอด้วย

ในงานประชุม ISO 26000 ที่ผ่านมา ได้มีการใช้แท็ก #26000GVA สำหรับการติดตามข่าวบนทวิตเตอร์ และใช้ flickr (www.flickr.com/photos/isostandards) ในการเผยแพร่ภาพบรรยากาศทั้งการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้แทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country Workshop) เวทีประชุมเสวนาสำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและบุคคลทั่วไป (Open Forum) และการประชุมเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาทางกลยุทธ์ในองค์กรดูแลหลังการประกาศใช้มาตรฐาน (PPO’s SAG Meeting)

การเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของ ISO คราวนี้ ร็อบ สตีล เลขาธิการไอเอสโอ ได้เปิดห้องทำงานต้อนรับคณะผู้เยี่ยมชม ให้ได้พูดคุยและถ่ายภาพร่วมอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ถือเป็นโอกาสที่มีไม่บ่อยครั้งนัก กับการบุกเข้ามายลออฟฟิศ ISO ในระยะประชิดขนาดนี้ เนื่องจากการประชุมของไอเอสโอส่วนใหญ่ มักจะเวียนจัดในประเทศสมาชิกที่เป็นผู้อาสาอุปถัมภ์ค่าใช้จ่าย ไม่ค่อยได้จัดงานในบ้านของตัวเอง เพราะค่าครองชีพแพง!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 08, 2012

การประชุมนานาชาติ ว่าด้วย ISO 26000

ตลอดสัปดาห์นี้ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO ได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการแบบปิด 2 วัน (5-6 พฤศจิกายน) สำหรับผู้แทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country Workshop) เวทีประชุมเสวนาแบบเปิด 2 วัน (7-8 พฤศจิกายน) สำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและบุคคลทั่วไป (Open Forum) และการประชุมเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาทางกลยุทธ์ในองค์กรดูแลหลังการประกาศใช้มาตรฐานในวันที่ 9 พฤศจิกายน (PPO’s SAG Meeting)

ผมมีโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมประชุมในเวทีสำคัญดังกล่าวนี้ โดยได้รับการอนุมัติจาก ISO ให้เข้าร่วมในเวที Developing Country Workshop ในฐานะผู้แทนองค์กรภาคเอกชนจากประเทศไทย และถือโอกาสอยู่ร่วมประชุมต่อในเวที Open Forum ด้วย

การประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้แทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ผ่านมา 2 วัน มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 120 คน จาก 70 ประเทศ โดยวัตถุประสงค์หลักเป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้มาตรฐาน ISO 26000 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การหารือถึงแนวทางการส่งเสริมการใช้มาตรฐาน ISO 26000 รวมถึงการรวบรวมความคิด ข้อมูล และเครื่องมือสำหรับการพัฒนาแผนการดำเนินงานในการส่งเสริมการใช้มาตรฐาน ISO 26000 ให้แก่สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ (National Standards Bodies: NSBs) ในระยะข้างหน้า

ร็อบ สตีล เลขาธิการไอเอสโอ กล่าวว่า มาตรฐาน ISO 26000 มีอายุครบ 2 ปีเต็มหลังการประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 และนับเป็นครั้งแรกที่ไอเอสโอ ได้จัดงานนี้ขึ้นเฉพาะสำหรับมาตรฐานฉบับนี้ฉบับเดียว ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญและความเกี่ยวเนื่องในมาตรฐานฉบับดังกล่าวกับประเทศกำลังพัฒนา (มาตรฐานฉบับนี้ถูกร่างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญจาก 99 ประเทศ และกว่าร้อยละ 40 มาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา)

ในที่ประชุมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ได้มีการหยิบยกกรณีศึกษาการส่งเสริมการนำมาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้ในองค์กรธุรกิจของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) 8 ประเทศนำร่อง ได้แก่ แอลจีเรีย อียิปต์ อิรัก จอร์แดน เลบานอน โมร็อกโก ซีเรีย และตูนิเซีย โดยมีความพยายามที่จะสร้างให้เกิดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ (National Experts) ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสนับสนุนการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้กับกลุ่มองค์กรเป้าหมายในประเทศดังกล่าว

ส่วนเวที Open Forum มีการพูดถึงกิจกรรมและผลการสำรวจเกี่ยวกับมาตรฐาน ISO 26000 ขององค์กรที่ดูแลหลังการประกาศใช้มาตรฐาน (PPO) ในปี 2555 ประสบการณ์การใช้มาตรฐานในระดับนานาชาติ การเสวนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย ข้อกังวล และวิสัยทัศน์ในอนาคตของมาตรฐาน ISO 26000 รวมถึงการสรุปประเด็นและข้อแนะนำหลักจากผู้เข้าร่วมประชุม

การประชุมในคราวนี้ ได้เห็นถึงแนวโน้มของการให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน จากหน่วยงานระหว่างประเทศ อย่างเช่น ไอเอสโอนี้ เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลายคณะทำงานที่ยกร่างมาตรฐาน ISO ได้โยงเนื้อหาในมาตรฐานของตนเองให้เข้ากับเรื่องความยั่งยืนเพิ่มขึ้น จนกระทั่ง ไอเอสโอต้องจัดทำ ISO Guide 82: Guide for addressing sustainability in standards ขึ้น เพื่อให้การอ้างอิงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน (เอกสารดังกล่าวยังเป็นเอกสารร่างของคณะทำงาน หรือ Committee Draft อยู่)

นอกจากนี้ ไอเอสโอ ยังได้ลงนามความตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเจนีวา เปิดหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา Master in Standardization, Social Regulation and Sustainable Development เพื่อรองรับกระแสเรื่องมาตรฐาน การกำกับดูแลทางสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยได้มีการนำประสบการณ์การจัดการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวมาถ่ายทอดในเวที Open Forum นี้ด้วย

ในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ย.) ไอเอสโอ จะประกาศความริเริ่มในโครงการที่จะส่งเสริมการนำมาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้เพิ่มเติมสำหรับกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออก อีก 3 ประเทศ ได้แก่ เคนยา แทนซาเนีย และยูกันดา

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเอกสารของการประชุม ISO 26000 ทั้ง 2 งาน ผมจะประมวลและนำขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ และที่ www.thaicsr.com หลังกลับจากสวิตเซอร์แลนด์โดยเร็ววัน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 01, 2012

รายงานเพื่อความยั่งยืน

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (อังคารที่ 30 ต.ค. 2555) สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ภายใต้การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดงาน CSR DAY Forum ในหัวข้อ “เจาะลึก GRI Reporting v3.1”   เพื่ออัพเดทกรอบวิธีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้งหมด 101 คน จาก 65 องค์กร

ในห้วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR ได้เดินอยู่ในกระแสของการผนวก CSR เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ ทำให้เรื่องของ CSR เป็นวาระที่ทุกส่วนงานในองค์กรต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง รูปแบบของการขับเคลื่อน CSR จึงปรับเปลี่ยนจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมที่จำกัดเฉพาะส่วนงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะกิจกรรม (Event) ที่แยกต่างหากจากการดำเนินงานทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ไปสู่การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ (Process) และทั่วทั้งองค์กร

เมื่อพัฒนาการของ CSR เดินอยู่ในกระแสนี้ บทบาทของการเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานผลการดำเนินงานด้าน CSR จึงอยู่ในวิสัยที่กิจการทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากองค์กรสามารถบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ จากการที่กิจการเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ

ขณะที่รูปแบบของการรายงานด้าน CSR ในสมัยก่อน ซึ่งมักเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่กิจการมอบหมายมูลนิธิหรือองค์กรเอกชนหรือผู้รับจ้างไปดำเนินงานให้ในบางส่วนหรือทั้งหมด องค์กรไม่สามารถที่จะบริหารจัดการ เฝ้าสังเกตติดตามผลการดำเนินงาน และกำกับควบคุมการดำเนินงานได้เช่นเดียวกับที่ตนเป็นผู้ดูแลและเป็นเจ้าของกระบวนการนั้นๆ เอง ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ รายงานที่เกี่ยวกับ CSR จึงยังไม่ค่อยมีบทบาทในเชิงของการให้คุณค่าแก่ผู้ใช้รายงานมากนัก

จนเมื่องาน CSR ได้ถูกให้ความสำคัญในแง่ที่จะต้องบูรณาการให้เกิดขึ้นในกระบวนการและทั่วทั้งองค์กร บทบาทและคุณค่าของการรายงานจึงเป็นกระแสที่เกิดขึ้นติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีความพยายามที่จะพัฒนากรอบการรายงานที่เป็นสากล การกำหนดเนื้อหาของรายงานที่ได้มาตรฐาน และการใช้ชุดตัวบ่งชี้การดำเนินงานสำหรับการรายงานที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยแนวทางหรือกรอบการดำเนินงานด้าน CSR ที่จะชี้นำกิจการให้สามารถบรรลุซึ่งเป้าหมายขององค์กรในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมเห็นชัดและวัดได้

การรายงานด้าน CSR ในปัจจุบัน จึงมักถูกเรียกในชื่อว่า รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ซึ่ง GRI ได้เป็นผู้ริเริ่มพัฒนากรอบการรายงานในลักษณะดังกล่าว และได้รับการยอมรับจากองค์กรทั้งที่เป็นภาคธุรกิจและมิใช่ธุรกิจนำไปใช้ในการจัดทำรายงานของตนเองรวมจำนวนแล้วเกือบ 5 พันแห่ง มีรายงานเผยแพร่แล้วนับหมื่นฉบับ ซึ่งกรอบการรายงานฉบับปัจจุบัน เป็นเวอร์ชั่น 3.1 ที่ปรับปรุงจากเวอร์ชั่น 3 เมื่อเดือนมีนาคม 2554 โดยมีการทบทวนตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลักจากเดิม 49 ตัวชี้วัด เป็น 55 ตัวชี้วัด การปรับปรุงข้อกำหนดข้อมูลที่นำมารายงานและการเปิดเผยแนวการบริหารจัดการในรายงาน รวมทั้งการปรับเพิ่มประเด็นการรายงาน

สำหรับผู้สนใจที่จะศึกษาแนวทางของ GRI Reporting v3.1 ทางสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำเอกสาร “รายงานเพื่อความยั่งยืน : Reporting your CSR” Updated GRI version 3.1 ความหนา 50 หน้า เนื้อหาแบ่งออกเป็น 5 บท โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดทำรายงาน 5 ระยะของ GRI และกระบวนการกำหนดเนื้อหาของรายงาน พร้อมภาคผนวก ตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลัก (GRI Core Indicators) ฉบับภาษาไทย โดยสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ ในวันและเวลาทำการ หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaicsr.com...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 11, 2012

CSR Thailand 2012

ในวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคมนี้ CSR Club ที่ก่อตั้งโดยบริษัทจดทะเบียน 27 แห่ง และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เมื่อปี 2552 โดยได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต.จะมีการจัดงานสัมมนาประจำปี CSR Thailand 2012 “License to operate: ปรับให้ทัน...สังคมเปลี่ยน” ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เนื่องจาก CSR Club ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งเครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมอาเซียนภาคเอกชน (ASEAN CSR Network) เมื่อปี 2554 ร่วมกับองค์กรจากชาติสมาชิกอาเซียนอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ชุมนุมธุรกิจอินโดนีเซีย (Indonesia Business Links) หอการค้าระหว่างประเทศมาเลเซีย (International Chamber of Commerce-Malaysia) สันนิบาตมูลนิธิในสังกัดภาคเอกชนฟิลิปปินส์ (League of Corporate Foundations, Philippines) และกลุ่มความตกลงว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมภาคเอกชนสิงคโปร์ (Singapore Compact for CSR) รวมทั้งมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) ด้วย

วัตถุประสงค์สำคัญๆ ของ ASEAN CSR Network คือการแสวงหาโอกาสในการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยน เป็นที่พบปะพูดจาหารือประเด็นและข้อห่วงใยในระดับภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนและเสริมสร้างขีดความสามารถในการรับหลักการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นบรรทัดฐานสากล ตลอดจนการเป็นแหล่งรวมข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายแก่มวลสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค

งาน CSR Thailand ในปีนี้ จึงได้เชิญ Mr.Jerry Bernas ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการ ASEAN CSR Network มาถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ “Sharing ASEAN CSR experience” หลังจากการเสวนาในหัวข้อ “ภาคเอกชนขับเคลื่อน CSR ไปอย่างไรบ้าง” ที่นำการเสวนาโดย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงเช้า

ส่วนในช่วงบ่าย คุณเพ็ญศรี สุธีรศานต์ ผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จะเป็นผู้นำการสนทนาในหัวข้อ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง โอกาสและทางออกของธุรกิจไทย” ตามด้วยการเสวนาเรื่อง “How to Change: บทเรียนการเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน”

และเนื่องจากความเข้าใจในกระบวนการดำเนินงาน CSR ของหลายองค์กรที่ยังติดอยู่กับเรื่องของงบประมาณ ภาพลักษณ์ และการขาดความรู้ความเข้าใจ จึงยากต่อการส่งเสริมให้มีการพัฒนา CSR อย่างเป็นรูปธรรม CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จึงมีแนวคิดที่จะเป็นตัวกลางในการรวบรวมองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับ CSR ของบริษัทจดทะเบียน สำหรับใช้เป็นกรณีศึกษาแห่งการประยุกต์ใช้ในแต่ละองค์กร และเพื่อเป็นแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

ในงานนี้ ทาง CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จึงได้มีการจัดทำหนังสือ “CSR Thailand: 50 Good Practices in 2012” ซึ่งเป็นการประมวลเนื้อหาที่เป็นแนวปฏิบัติหรือการดำเนินงานที่ดีด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจจำนวน 50 บริษัท โดยใช้วิธีเข้าสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง และเก็บรวบรวมข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำมาประมวลและเรียบเรียงเป็นกรณีศึกษาใน 6 หมวด ได้แก่ ชุมชน ลูกค้า พนักงาน สิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลองค์กร และสังคมโดยรวม

ในหนังสือเล่มนี้ ยังได้บรรจุเนื้อหาที่เป็นแนวปฏิบัติสำหรับการพัฒนา CSR ขององค์กรธุรกิจ ซึ่งได้เรียบเรียงขึ้นจากผลการวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์ในโครงการพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาได้ใช้ประโยชน์จากแนวทางดังกล่าวเพิ่มเติม เผยแพร่ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน CSR Thailand 2012 ในครั้งนี้ด้วย

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน “CSR Thailand 2012” ได้ที่ www.thailca.com เพื่อจองสิทธิ์รับหนังสือ “50 Good Practices in 2012” ความหนา 130 หน้า ในงาน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, October 04, 2012

ไม่รู้ - เสียรู้ ร้ายพอกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมสื่อบ้านนอก ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประชานิยม : ชนบทได้หรือเสีย” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐที่มีผลต่อการพัฒนาชนบท ในอันที่จะนำประโยชน์มาสู่การพัฒนาประเทศและแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างคนเมืองและคนชนบท รวมทั้งลดความขัดแย้งในสังคมดังเช่นที่ปรากฏอยู่

ในงานได้จัดให้มีการปาฐกถา โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในหัวข้อ “หลักคิดในการพัฒนาชนบท” ซึ่งเป็นการนำประสบการณ์ในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ในสมัยที่ท่านเคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ. 2523-2531) เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วมาเล่าสู่กันฟัง

ผมได้ลองค้นข้อมูลของสภาพัฒน์ พบว่าในขณะนั้น ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 (2520-2524) ที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2522 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 11.6 ต่อปี นอกจากนี้ ยังเกิดวิกฤตการณ์ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน เช่น กรณีการล้มของบริษัทราชาเงินทุน

และในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 (2525-2529) ที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเกินตัวทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ ปัญหาสังคม และปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

จากปาฐกถาดังกล่าว ทำให้ได้เรียนรู้หลักคิดในการพัฒนาชนบท เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า คนชนบทไม่มีความรู้ที่ดีพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ทั้งคุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจจึงมีปัญหา ถึงขนาดมีคติว่า ความไม่รู้เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของความยากจน กลายเป็นวงจรอุบาทว์ “ไม่รู้ -> เจ็บ -> จน” ที่ก่อให้เกิดความแร้นแค้นลงไปเรื่อยๆ

การเติมความรู้จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการพัฒนาชนบทในยุคนั้น ทั้งในเรื่องโภชนาการ อนามัย สาธารณสุข การจัดการทรัพยากร และการแปรรูปผลผลิตเพื่อยกระดับรายได้ตามวิถีของระบบตลาด เพื่อต้องการที่จะขจัดความเจ็บ-จน ให้หมดไป ด้วยหวังว่าวงจรดังกล่าวจะแปรสภาพเป็น “รู้ -> สุขสบาย -> ร่ำรวย” คือ สุขสบาย จากการมี ‘สุขภาวะ’ ที่ดี และ ร่ำรวย จากการมี ‘รายได้’ เพิ่มขึ้น

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (2530-2534) ก็ยังปรากฏว่า ประเทศไทยมีปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ เพราะกลุ่มคนยากจน 20 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย มีสัดส่วนรายได้ลดลง การพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ๆ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและวัฒนธรรม ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป

กระทั่ง 30 ปีผ่านไป วงจร “รู้ -> สุขสบาย -> ร่ำรวย” ก็มิได้เกิดขึ้นจริงกับคนชนบท ประกอบกับประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากโลกาภิวัตน์ และเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ถูกครอบงำด้วยวิถีของระบบทุนนิยม แปลงสภาพจนมาเป็นระบอบประชานิยมในทางการเมือง โดยใช้ทุนเงินเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหา

วงจรอุบาทว์ในอดีตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จาก “ไม่รู้ -> เจ็บ -> จน” ได้แปรสภาพมาเป็น “เสียรู้ -> เจ็บ -> จน” วงจรอุบาทว์ใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน คือ เสียรู้ ในระบบทุนนิยม เจ็บ จาก ‘มลภาวะ’ ที่เป็นผลพวงของการพัฒนา และ จน จากการมี ‘หนี้สิน’ ที่เพิ่มขึ้น ไม่ทันกับรายได้ ซึ่งยังเป็นวงจรอุบาทว์ที่กำลังเกิดขึ้นกับคนเมืองด้วย

จากการเสวนาในครั้งนี้ ทำให้ตระหนักว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยจำเป็นจะต้องมีหลักคิดในการพัฒนาชนบทใหม่ ไม่ใช่อันที่ใช้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งล้มเหลวไปแล้ว การเติมความรู้ในแบบเดิมๆ แม้จะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีต่อผลกระทบทางลบ จากการพัฒนาและกระแสโลกาภิวัตน์ได้เท่าที่ควร

วงจรการพัฒนาที่ควรจะเป็นในปัจจุบัน ได้แก่ “รอบรู้ -> ปกติ -> พอเพียง” คือ ยกระดับจาก ความรู้ เป็นความรอบรู้ความเข้าใจที่กระจ่างและเพียงพอ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกี่ยวพันทั้งหมด รวมทั้งระบบชีวิตของคนไทย ไม่เสียรู้ไปกับการเติมความรู้และความชำนาญทางวิชาการเฉพาะทาง หรือในแบบแยกส่วน หรือนำเข้ามาจากภายนอกโดยไม่คำนึงถึงความเป็นอยู่ ความต้องการ วัฒนธรรม และความรู้สำนึกในท้องถิ่น

หลักคิดในการพัฒนาใหม่ ควรมุ่งที่ ‘ไม่เจ็บ’ คือเป็นปกติ (ไม่ใช่สุขสบาย) และ ‘ไม่จน’ หรือพอเพียง (ไม่ใช่ร่ำรวย) สอดคล้องกับที่พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า “ถ้าทุกคนเลื่อมใสต้องพอเพียงก็ปฏิบัติเถิด เพราะถ้าปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง มันใช้ได้จริงๆ ไปได้จริงๆ แต่ว่าอาจจะไม่ค่อยสบาย ... เศรษฐกิจพอเพียง คือทำให้พอเพียง ถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ แต่ถ้าพอเพียงสามารถนำพาประเทศไปได้ดี”

จากบทเรียน 30 กว่าปีที่ผ่านมานี้ เห็นแล้วว่า การขจัดความยากจน โดยมีโจทย์ที่มุ่งสู่ความร่ำรวยมั่งคั่งเป็นที่ตั้ง ได้เป็นกับดักแห่งการพัฒนาของเศรษฐกิจทุนนิยม ที่นำพาประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประสบกับวิกฤตแห่งการพัฒนาดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 20, 2012

ได้เวลาเจาะข่าว CSR

การโฆษณาประชาสัมพันธ์ขององค์กรธุรกิจผ่านทางสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน กำลังมีอิทธิพลสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคของประชาชน ทั้งในทางที่ดีและในทางที่ไม่ดี ประกอบกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่เจริญรุดหน้าได้เข้ามาเพิ่มศักยภาพสื่อในการเข้าถึงตัวผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

ปัจจุบัน กระแสการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR ได้ทวีความสำคัญและเป็นที่จับตาของสังคมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรธุรกิจหลายแห่งที่ไม่เคยให้ความสนใจกับการประชาสัมพันธ์กิจกรรม CSR ขององค์กร ก็หันมาศึกษาและค้นหาวิธีการในการเผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

การที่องค์กรธุรกิจให้ความสำคัญกับการสื่อสารกิจกรรม CSR สู่ภายนอกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ข่าวสารความเคลื่อนไหวในกิจกรรม CSR ขององค์กรต่างๆ ปรากฏในสื่อต่างๆ อย่างทวีคูณ การสื่อสาร CSR ในประเด็นต่างๆ ที่องค์กรต้องการให้สังคมรับรู้ จึงมีความหลากหลายซับซ้อนเพิ่มขึ้น หลายครั้งมีการหยิบยกเรื่อง CSR มาเป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กร มีการกล่าวอ้างเรื่อง CSR เพื่อปกปิดพฤติกรรมที่มีความไม่ชอบมาพากลของธุรกิจ หรือเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสังคมต่อตัวกิจการให้จำกัดอยู่ในกรอบที่องค์กรธุรกิจต้องการ

แม้การส่งเสริมให้ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนควรให้การสนับสนุน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้เท่าทันองค์กรธุรกิจที่อาศัยสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์โดยใช้เรื่อง CSR เป็นเครื่องนำทาง สื่อมวลชนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ รู้จักแยกแยะว่าเรื่องใดเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมเรื่องใดเป็นกิจกรรมเพื่อธุรกิจ รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทเชิงวิเคราะห์ (Analytical Role) ของสื่อมวลชน มิให้ถูกชักจูงและเชื่อคล้อยตามข้อมูลที่ได้รับโดยปราศจากความลังเลสงสัย และนำเสนอข่าวในมิติเดียว

สื่อมวลชน จึงถูกคาดหวังให้มีการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ และเป็นหน้าด่านในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่อง CSR ที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อย่างน้อยที่สุด จะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่คัดกรองตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะส่งผ่านไปสู่กระบวนการบริโภคข้อมูลของสาธารณชน โดยไม่ผลักภาระให้แก่สังคมในการแยกแยะตัดสินแต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากยังมีสังคมกลุ่มใหญ่ที่ขาดทักษะและวิจารณญาณในการบริโภคข้อมูลเหล่านี้เองได้

ในวันเสาร์ (22 ก.ย.) นี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอีกหลายหน่วยงาน ได้จัดอบรมหลักสูตรพิเศษเรื่อง “กระบวนการเจาะข่าว CSR” (Investigative journalism in CSR) ที่ห้องสัมมนา 3 อาคาร 7 ชั้น 12 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในเวลา 9.00-16.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สื่อข่าว หัวหน้าข่าว บรรณาธิการของสื่อต่างๆ คณาจารย์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นักศึกษาที่เรียนวิชาการสื่อข่าว นักประชาสัมพันธ์ และผู้ที่ทำงานด้านการสื่อสารองค์กร โดยในการอบรมครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ อดีตคณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมาจุดประเด็นเรื่องจิตวิญญาณ จรรยาบรรณ สื่อ และความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

ผู้ที่ทำงานด้านการสื่อสาร ซึ่งมีความสนใจในหลักสูตรพิเศษ กระบวนการเจาะข่าว CSR นี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.csr4thailand.com...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 13, 2012

ยุทธศาสตร์ไทย ใน 2 ทศวรรษหน้า

วันพรุ่งนี้ (14 ก.ย.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะมีการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2556-2575) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เพื่อประมวลข้อเท็จจริง ประเด็นปัญหา และผลกระทบด้านต่างๆ ตลอดจนศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศใน 2 ทศวรรษข้างหน้า

การสัมมนาครั้งนี้ จะมีการประชุมกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นใน 7 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและประชาชน และด้านกระบวนทัศน์และยุทธศาสตร์ของเศรษฐกิจพอเพียง ในฐานะเป็นทางรอดของประเทศไทย โดยเป็นการจัดสัมมนาต่อเนื่องจากการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาคไปแล้วก่อนหน้านี้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวเรื่องในการสัมมนาครั้งนี้ ได้แก่ งานศึกษาของ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสนและคณะ (2550) ในโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนที่เดินทาง (Roadmap) ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ในที่ประชุมระดมสมองของโครงการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงครั้งนั้น ได้มีการเสนอภาพของปัญหาซึ่งคาดว่าจะดำรงอยู่ใน 20 ปีข้างหน้า ได้แก่ ปัญหาโลกร้อน การขาดแคลนพลังงาน การเป็นสังคมผู้สูงอายุ การแข่งขันภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมชุมชนรวมถึงค่านิยมในสังคมไทยที่สืบเนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์

การรับมือกับสภาพปัญหาที่จะมาถึง จำเป็นต้องสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้รู้เท่าทันปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันความพอประมาณมีเหตุมีผลจะช่วยลดการบริโภคซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านการประหยัดการใช้พลังงานและการลดการปล่อยมลพิษที่สร้างปัญหาโลกร้อน การสร้างสังคมที่เอื้ออาทร โดยมีครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น เป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมและสร้างสวัสดิการที่เกื้อหนุนผู้ยากไร้และผู้สูงอายุในพื้นที่

นอกจากนี้การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพของสาขาการผลิตบนฐานทรัพยากรและภูมิปัญญา เช่น สาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยาสมุนไพร และพืชพลังงาน จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยี ปุ๋ยและพลังงานจากต่างประเทศ เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นปรัชญาที่หากนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เศรษฐกิจสังคมในระยะยาวได้

แผนที่เดินทางของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นความพยายายามที่จะแปลงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญหรือประเด็นวิกฤตที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ โดยใช้ประเด็นวิกฤติเป็นตัวตั้ง และใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดในการกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขประเด็นวิกฤติเหล่านั้น

โดยที่ส่วนประกอบและสาระของแผนที่เดินทางประกอบด้วย วิสัยทัศน์ จังหวะก้าวใน 20 ปี และยุทธศาสตร์ 6 ข้อ กลยุทธ์ภายใต้ยุทธศาสตร์แต่ละข้อ และตัวอย่างแผนงานสำหรับการก้าวเดินในระยะ 5 ปีแรก ข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับตัวชี้วัดความสำเร็จซึ่งเป็นหลักไมล์ในการเดินทางในระยะ 5 ปีแรกนี้ และในส่วนสุดท้ายได้กล่าวถึงวิธีการนำแผนที่เดินทางไปแปลงสู่การปฏิบัติ (ดูข้อมูล Roadmap เศรษฐกิจพอเพียงฉบับเต็มได้ที่ http://bit.ly/SEroadmap)

ในทางปฏิบัติ การขับเคลื่อนแผนที่เดินทางฉบับดังกล่าว ดูเหมือนมิได้มีความคืบหน้าเท่าใดนัก เนื่องจากไม่มี “เจ้าภาพ” ที่จะขับเคลื่อนแผนที่เดินทางนี้อย่างแท้จริง แต่อย่างน้อยก็ทำให้สังคมไทยได้ตระหนักว่ามีความคิดในแนวนี้เกิดขึ้น และปัญหาที่ได้กล่าวถึงในงานวิจัยดังกล่าว ก็ยังเป็นปัญหาที่คงอยู่ในปัจจุบัน และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, September 06, 2012

สังคมสีเขียว ฉบับประเทศไทย

ในวันนี้ (6 ก.ย. 2555) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ มีการจัดประชุมประจำปีเรื่อง “อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

กรอบการขับเคลื่อนการพัฒนาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2555-2559) ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไทยให้มีคุณภาพ มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะการสร้างฐานทางปัญญาในการก้าวสู่สังคมและเศรษฐกิจสีเขียวที่มีแบบแผนการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การเตรียมความพร้อมประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนสู่ “สังคมสีเขียว” นั้น สภาพัฒน์ฯ ได้กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนา โดยคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญๆ ได้แก่ บทบาทและกระบวนทัศน์การพัฒนาขององค์การระหว่างประเทศ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากความต้องการสินค้าและบริการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยในการผลิต มาสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถือเป็นปัจจัยเร่งทำให้ต้องปรับกระบวนทัศน์และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งด้านการค้า การลงทุน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมสีเขียว ยังมีประเด็นท้าทายในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนา ที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินงาน ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย กลไกและเครื่องมือ และความพร้อมในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของภาคีการพัฒนาต่างๆ การขาดแรงผลักดันจากภาครัฐอย่างจริงจังในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการพัฒนาจากเดิมไปสู่กระบวนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างตลาดผู้บริโภคภายในประเทศที่ตอบสนองความต้องการใช้สินค้าและบริการสีเขียวยังคงอยู่ในวงจำกัด ตลอดจนการสร้างระบบและกลไกสนับสนุนกลุ่มคนฐานล่างให้สามารถปรับตัวและช่วยลดผลกระทบจากการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมสีเขียวภายใต้กรอบแนวคิดของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ดังกล่าว

การประชุมครั้งนี้ มีการหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาใน 7 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1) อนาคตเกษตรไทยสู่การเติบโตสีเขียว 2) อุตสาหกรรมสะอาด วิถีใหม่ของอุตสาหกรรมอนาคต 3) มุ่งสร้างสรรค์การท่องเที่ยวสีเขียว เพื่อการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน 4) การพัฒนาระบบขนส่งและพลังงานเพื่อระบบเศรษฐกิจสีเขียว 5) เส้นทางสู่นวัตกรรมสีเขียว 6) สังคมสีเขียว นวัตกรรมทางสังคมสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน 7) การรับมือภัยพิบัติภายใต้การเติบโตสีเขียว

สิ่งสำคัญเบื้องแรกในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้ประสบผลสำเร็จนั้น จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในความหมายของคำว่า “สีเขียว” แก่ทุกภาคส่วนให้ตรงกันก่อน เพราะบริบทของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบนเส้นทางสีเขียว ในประการแรก มิได้จำกัดเพียงแค่มิติ “ด้านสิ่งแวดล้อม” เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์และความเสมอภาคเป็นธรรมทางสังคมประกอบกัน

ประการที่สอง ไม่สามารถกำหนดหรือใช้ยุทธศาสตร์สีเขียวชุดเดียวสำหรับการขับเคลื่อน โดยขาดการคำนึงถึงปัจจัย “ด้านภูมิสังคม” ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่

และประการที่สาม ยุทธศาสตร์สีเขียวต้องเอื้อต่อการสร้างให้เกิด “ภูมิคุ้มกัน” ที่สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง มิใช่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็น “เครื่องมือกีดกัน” การเข้าถึงทรัพยากร โอกาส แหล่งทุน ฯลฯ และมิใช่เป็นข้ออ้างสำหรับการสร้างมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หรือนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งแก่คนบางกลุ่มบนความสูญเสียของคนกลุ่มใหญ่

สิ่งสำคัญต่อมาคือ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสีเขียวกับนโยบายรัฐบาล แผนการบริหารราชการแผ่นดิน และแผนระดับอื่นๆ รวมทั้งแผนพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัด และแผนท้องถิ่น ตลอดจนการผลักดันให้ภาคเอกชนนำประเด็นการพัฒนาสีเขียวไปจัดทำแผนการลงทุนทางธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว

ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนแผนของภาคีการพัฒนาต่างๆ พิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนการพัฒนา รวมทั้งสื่อสารและจัดทำข้อมูลที่ภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นระบบและบูรณาการ ตลอดจนการเสริมสร้างบทบาทของภาคีการพัฒนาให้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนา มิใช่พระอันดับที่เข้าร่วมพอเป็นพิธีโดยมิได้ให้ความสำคัญ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 30, 2012

หลัก 7 มี ดี 7 เรื่อง (จบ)

บทความตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงหลักการ (Principles) ในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 ที่มีอยู่ 7 ประการ หรือ “หลัก 7 มี” ซึ่งประกอบไปด้วย หลักความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ หลักความโปร่งใส หลักการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม หลักการเคารพถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย หลักการเคารพต่อหลักนิติธรรม หลักการเคารพต่อหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล และหลักการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน

สำหรับบทความตอนนี้ จะได้กล่าวถึงเรื่องหลัก (Core Subjects) ในมาตรฐาน ISO26000 ฉบับดังกล่าว ซึ่งก็มีอยู่ 7 ประการเช่นเดียวกัน หรือเรียกว่า “ดี 7 เรื่อง” ที่กิจการจะต้องเดินทางผ่านเส้นทางสถานีแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมเหล่านี้ ก่อนที่จะมุ่งสู่สถานีปลายทางแห่งความยั่งยืนในที่สุด

เรื่องหลักหรือหัวข้อหลัก 7 ประการ ที่ถูกกล่าวถึงในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 ประกอบด้วย

1) การกำกับดูแลองค์กร (Organizational Governance) เป็นระบบที่องค์กรใช้วินิจฉัยและดำเนินการตามข้อวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายขององค์กร ซึ่งประกอบด้วยกลไกการกำกับดูแลทั้งที่เป็นทางการ (มีการกำหนดโครงสร้างและกระบวนการชัดเจน) และไม่เป็นทางการ (เกิดขึ้นโดยเกี่ยวโยงกับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรซึ่งมักได้รับอิทธิพลจากผู้นำองค์กร)

การกำกับดูแลองค์กรในบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคมมีลักษณะพิเศษที่เป็นทั้งเรื่องหลัก (Core Subject) ซึ่งองค์กรควรดำเนินการ และเป็นวิธีที่ใช้เพิ่มขีดความสามารถองค์กรในการดำรงพฤติกรรมอย่างรับผิดชอบต่อสังคมที่มีต่อเรื่องหลักด้านอื่นๆ เนื่องจากการมุ่งเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม กิจการควรมีระบบที่เปิดทางให้องค์กรสามารถใช้ควบคุมดูแลและนำ “หลัก 7 มี” ข้างต้นไปปฏิบัติได้จริง

2) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถจำแนกเป็นสองหมวดใหญ่ คือ หมวดสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งหมายรวมถึง สิทธิในชีวิตและเสรีภาพ ความเสมอภาคในกฏหมาย เสรีภาพในการแสดงออก และหมวดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งหมายรวมถึง สิทธิในการทำงาน สิทธิที่พึงได้รับอาหาร สิทธิในสุขภาพตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้ สิทธิในการศึกษา และสิทธิด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งสิทธิมนุษยชนทั้งสองหมวดนี้ กิจการพึงให้การเคารพภายใต้เขตอิทธิพล (Sphere of Influence) ขององค์กร

3) การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labour Practices) เป็นเรื่องของนโยบายและการดำเนินงานทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานทั้งภายในองค์กร โดยองค์กร หรือในนามขององค์กร ซึ่งรวมถึงงานรับเหมาช่วง โดยส่วนสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมของกิจการ ก็คือ การสร้างงาน การจ่ายค่าจ้าง และการให้ผลตอบแทนอื่นๆ จากการทำงาน ทั้งนี้ การสร้างงานที่มีคุณค่าและได้มูลค่า ถือเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นในการพัฒนามนุษย์ ขณะที่มาตรฐานการครองชีพจะถูกยกระดับได้ด้วยการจ้างงานแบบเต็มเวลาและมีหลักประกัน

4) สิ่งแวดล้อม (The Environment) เป็นการคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการตัดสินใจและการดำเนินงานขององค์กรทั้งในแง่ของการใช้ทรัพยากร ถิ่นที่ตั้งของสถานประกอบการ มลภาวะและของเสีย รวมถึงผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรต่อแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพืชและสิ่งมีชีวิตต่างๆ

5) การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม (Fair Operating Practices) เป็นการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมขององค์กรที่มีต่อองค์กรอื่น ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หุ้นส่วนทางธุรกิจ คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ผู้รับเหมา ลูกค้า คู่แข่งขัน และบรรดาสมาคมที่ตนสังกัดอยู่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดผลในทางที่ดีหรือในทางบวก โดยใช้ภาวะผู้นำผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมให้แผ่กว้างไปทั่วทั้งเขตอิทธิพลขององค์กร

6) ประเด็นด้านผู้บริโภค (Consumer Issues) เป็นความรับผิดชอบในตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่มีต่อผู้บริโภค (Consumers) รวมทั้งลูกค้า (Customers) ที่องค์กรผลิตจำหน่ายและให้บริการ สำหรับการปฏิบัติต่อลูกค้าที่ซื้อเพื่อการพาณิชย์จะใช้แนวปฏิบัติในข้อ 5) เป็นหลัก ส่วนการปฏิบัติต่อผู้บริโภคที่ซื้อเพื่อการบริโภคจะใช้แนวปฏิบัติในข้อนี้เป็นหลัก อย่างไรก็ดี แนวปฏิบัติบางส่วนในทั้งสองข้อนี้ สามารถใช้ได้กับทั้งผู้บริโภคหรือลูกค้าด้วย

7) การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (Community involvement and development) เป็นเรื่องที่ถูกผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน และอยู่นอกเหนือการระบุและสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กร แต่การมีส่วนร่วมกับชุมชนในที่นี้ เนื่องเพราะองค์กรถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียหนึ่งในชุมชน และมีผลประโยชน์ร่วมกับชุมชน ทั้งนี้ การพัฒนาชุมชนในข้อนี้ มิได้จำกัดในแง่ของการบริจาคเพื่อการกุศล (Philanthropy) เท่านั้น เพราะลำพังกิจกรรมการบริจาคมิได้นำไปสู่จุดหมายแห่งการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมในองค์กร

ย้ำว่าเรื่องหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ “ดี 7 เรื่อง” เป็นสถานีระหว่างทางที่กิจการซึ่งมุ่งเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจะต้องเดินทางผ่านในทุกสถานี ไม่มีเส้นทางลัดสำหรับการเข้าสู่สถานีปลายทางแห่งความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เก่งกาจ มีทรัพยากรหนา หรือมีเส้นสายใหญ่เพียงใดก็ตาม...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 16, 2012

หลัก 7 มี ดี 7 เรื่อง

จั่วหัวอย่างนี้ คงไม่เกี่ยวกับหนังที่กำลังลงโรงอยู่ในขณะนี้แต่ประการใด เพียงสื่อให้นึกถึงหลักการ (Principles) ในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 ที่มีอยู่ 7 ประการ และเรื่องหลัก (Core Subjects) ซึ่งก็มีอยู่ 7 เรื่องเหมือนกัน ที่ถูกแนะนำไว้ในมาตรฐานฉบับดังกล่าว

การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม หากจะทำให้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ แน่นอนว่าองค์กรจำต้องมีหลักให้ยึดโยงและต้องทำความเข้าใจร่วมกันในหมู่พนักงานให้เกิดขึ้นก่อนที่จะแปลงไปสู่การกระทำ หากองค์กรขาดหลักการ (หรือใช้หลักกู) ในการปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ก็จะพานให้เกิดความยุ่งเหยิงสับสน และยังสูญเสียทรัพยากรไปโดยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โพดผลที่ทั้งองค์กรและสังคมพึงจะได้รับในปลายทาง

การอ้างอิงหลักการอันเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เป็นหนทางหนึ่งที่สามารถใช้เป็นพวงมาลัยช่วยให้องค์กรเดินทางบนถนนความรับผิดชอบต่อสังคมได้โดยไม่แหกโค้งหรือตกข้างทาง ไม่พาผู้โดยสารที่เป็นพนักงานในองค์กรเจ็บตัวไปตาม ๆ กัน และยังป้องกันไม่ให้ผู้สัญจรรอบข้างซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ต้องประสบอันตรายหรือต้องได้รับความเสียหายตามไปด้วย

หลักการในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 ที่มีอยู่ 7 ประการ หรือ “หลัก 7 มี” นั้น ประกอบด้วย

1) มีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (Accountability) เป็นความสามารถขององค์กรในการตอบคำถามของผู้มีส่วนได้เสีย อันเนื่องมาจากการดำเนินงานและการตัดสินใจขององค์กร ในส่วนที่เป็นผลกระทบจากการตัดสินใจขององค์กร (โดยเฉพาะในด้านลบ) รวมถึงการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ โดยที่องค์กรสามารถตอบข้อสงสัยต่อสาธาณชนได้

2) มีความโปร่งใส (Transparency) เป็นการเปิดเผยการตัดสินใจและการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กรอย่างชัดเจน ซื่อตรง ถูกต้อง ครบถ้วน และเหมาะสมกับช่วงเวลา ในเรื่องที่เกี่ยวกับกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ แหล่งที่มาของเงินทุน แนวโน้มผลกระทบจากการตัดสินใจและการดำเนินงานที่อาจเกิดขึ้น ฯลฯ

3) มีการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Ethical Behaviour) เป็นพฤติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการปฏิบัติที่ดี ตามบรรทัดฐานสากล ในประเด็นการชี้บ่ง การนำไปใช้ การสื่อสาร การป้องกันแก้ไขข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเหมาะสม รวมถึงประเด็นอื่น อย่างเช่น การเคารพต่อสวัสดิภาพของสัตว์

4) มีการเคารพถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (Respect for Stakeholder Interests) เป็นการพิจารณาและตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย นอกเหนือจากผลประโยชน์ขององค์กร ซึ่งองค์กรต้องมีความสามารถในการชี้บ่งและจัดลำดับความสำคัญผู้มีส่วนได้เสีย การคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลประโยชน์และความคาดหวังระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงการพิจารณาถึงผลกระทบผู้มีส่วนได้เสียจากการตัดสินใจขององค์กร

5) มีการเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for the Rule of Law) เป็นการพิจารณา ชี้แจง และกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งในขั้นตอนของการปฏิบัติให้สอดคล้องเหมาะสม การติดตามเพื่อให้รับทราบ และการทบทวนเพื่อให้มีความสอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

6) มีการเคารพต่อหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล (Respect for International Norms of Behaviour) เป็นการดำเนินงานที่คำนึงถึงหลักการสากล นอกเหนือจากหลักนิติธรรม ได้แก่ การเคารพและปฏิบัติตามแนวทางที่เป็นสากล หรือการหลีกเลี่ยงการร่วมมือกับองค์กรที่มีพฤติกรรมหรือการดำเนินงานที่ขัดกับแนวปฏิบัติสากล เป็นต้น

7) มีการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน (Respect for Human Rights) เป็นการปฏิบัติที่ดำเนินภายใต้ ธรรมนูญแห่งสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อาทิ การเคารพและส่งเสริมตามธรรมนูญฯ การหลีกเลี่ยงการแสวงหาผลประโยชน์ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ว่าในบทหลักการไปแล้ว ยังไม่ได้สาธยายถึงเรื่องหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ “ดี 7 เรื่อง” ซึ่งเปรียบได้กับสถานีที่สารถี CSR ขององค์กร จะต้องขับเคลื่อนยานพาหนะของกิจการแวะเวียนไปทำกิจกรรมหรือเก็บแต้มความรับผิดชอบต่อสังคมบนเส้นทางที่มีความยั่งยืนเป็นสถานีปลายทางนี้ เนื้อที่ก็พลันหมดเสียก่อน คงไว้ให้ได้ขยายความกันในโอกาสต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 09, 2012

ไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง จึงไม่พัฒนา

ภาพรวมของการพัฒนาประเทศในอดีตที่ผ่านมา นับตั้งแต่ระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-7 (2504-2539) สรุปได้ว่า “เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” จึงทำให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (2540-2544) ได้ปรับแนวคิดการพัฒนาประเทศใหม่จากเดิมที่ให้ความ สำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลัก มาเป็นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไปพร้อมกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการพัฒนาที่มี “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” โดยให้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเปลี่ยนวิธีการพัฒนาเป็นแบบองค์รวมที่เชื่อมโยงมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันอย่างสมดุล

แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 ทำให้การปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการพัฒนาไม่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม สังคมไทยได้เริ่มรับรู้ถึงหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางในขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตครั้งสำคัญของประเทศ

ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (2545-2549) จึงได้อัญเชิญหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยให้ความสาคัญกับการพัฒนาที่สมดุล ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยสู่ความอยู่ดีมีสุข พร้อมทั้งยึดหลักทางสายกลาง เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤต สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง มีคุณภาพและยั่งยืน

และในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (2550-2554) ยังคงน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างสมดุล การอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขในสังคม และการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 นี้ ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของทุน 3 ด้าน ได้แก่ ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ และการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและความอยู่เย็นเป็นสุขของคนในสังคม

ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การพัฒนาประเทศ ภายใต้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) โดยยังคงยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและ “สร้างสมดุลการพัฒนา” ในทุกมิติ เป็นไปในแนวทางที่ยั่งยืนและสร้างความสุขให้กับคนไทย สำหรับทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน โดยขยายการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพ จาก 3 ทุน ทั้งทุนสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็น 6 ทุน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนกายภาพ ทุนทางการเงิน ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุนทางวัฒนธรรม มาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า แนวคิดแห่งการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีลักษณะที่สำคัญ ได้แก่

1)ให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” ในการดำเนินวิถีชีวิตอย่างมั่นคงบนพื้นฐานของการรู้จักความพอประมาณ การคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
2)เน้นการ “เข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนา” อย่างสอดคล้องกับ “ภูมิสังคม” ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของระบบภูมินิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
3)เป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงการ “ทำตามลำดับขั้นตอน” จากการสร้างพื้นฐานให้มั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ

จะเห็นว่าแนวทางแห่งการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์อย่างเป็นลำดับขั้นโดยคำนึงถึงภูมิสังคมแล้ว ยังต้องพัฒนาคนให้เตรียมพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกอย่างมีความสมดุลด้วย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, August 02, 2012

วุฒิภาวะทาง 'CSR'

นับจนถึงวันนี้ นิยามของ CSR ก็ยังเต็มไปด้วยความหลากหลาย อันเกิดจากการตีความที่ไม่ตรงกัน เกิดจากความพยายามในการกำหนดเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่หน่วยงานได้ดำเนินการ หรือเกิดจากบริบทของการดำเนินงานในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากกรอบคิดในอดีต

บ้างคิดว่ามันคือการทำอะไรสักอย่างให้กับชุมชน บ้างว่ามันคือการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม บ้างว่ามันคือการสร้างภาพลักษณ์อย่างหนึ่ง ประกอบกับยังมีอีกหลายคำถามที่ถูกหยิบยกขึ้นในทำนองว่า ทำไมต้องทำ CSR ทำแล้วได้อะไร ทำแล้วดีอย่างไร แล้วมีมาตรวัดไหนที่บอกว่าทำแล้วดี

แม้หลายองค์กรได้ริเริ่มกระบวนการในการสร้างความรู้ความเข้าใจและการยอมรับในความสำคัญของเรื่อง CSR ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเลื่อมล้ำในการขับเคลื่อนด้วยวุฒิภาวะ (Maturity) ของแต่ละองค์กรซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยเปรียบได้กับ ‘ขบวน’ การขับเคลื่อนที่ประกอบด้วยผู้โดยสารตามแต่ละชั้น ที่แบ่งออกเป็น หัวขบวน กลางขบวน และท้ายขบวน

องค์กรที่อยู่ในกลุ่มหัวขบวนมีการรับรู้และนำไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนต่อเนื่อง ด้านองค์กรที่อยู่ในกลุ่มกลางขบวนก็มีการทำ CSR เช่นกัน แต่อาจจะไม่มากหรือต่อเนื่องเท่ากลุ่มหัวขบวน ส่วนองค์กรที่อยู่ในกลุ่มท้ายขบวนอาจจะรับรู้ถึงผลดีในการทำ CSR หากแต่ยังไม่เห็นความสำคัญมากนัก และอาจจะด้วยปัจจัยในการทำ CSR ที่ต้องอาศัยทรัพยากรในการพัฒนาบุคลากรและระบบ จึงยังไม่สามารถทำได้เต็มที่นัก

ปัจจัยสำคัญในการสร้าง CSR ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กรได้ ต้องทำผ่านบุคลากร โดยเริ่มต้นจากผู้นำองค์กรคือผู้บริหารและคณะกรรมการ ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ให้กับผู้ปฏิบัติ หรือเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆ ขององค์กรได้ดำเนินตามระบบต่างๆ ขององค์กร จะต้องเน้นให้มีการถ่ายโอนวัฒนธรรมสืบเนื่องเพื่อให้บุคลากรทุกคนในองค์กรมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง CSR ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อทุกคนในองค์กรเห็นภาพของ CSR และได้ลงมือปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ความสำเร็จจากการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น

มาตรการในการส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จในการขับเคลื่อน CSR ทั่วทั้งองค์กร ควรต้องคำนึงถึงประเด็นการพัฒนาวุฒิภาวะทาง CSR ของแต่ละองค์กรตามตำแหน่งที่อยู่ของขบวนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยใช้การ ‘Enforce’ กับกลุ่มท้ายขบวนให้มีการทำ CSR อย่างจริงจัง ส่วนกลางขบวนควรใช้วิธี ‘Encourage’ ที่ช่วยผลักดันให้มีการทำ CSR ที่บูรณาการมากยิ่งขึ้น และส่วนหัวขบวนนั้น จะต้องมีการ ‘Enable’ เพื่อเปิดทางให้องค์กรได้มีโอกาสพัฒนาเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้าน CSR ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก เช่น เวที AEC ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

และเมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของไทยในการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในระดับภูมิภาค ข้อมูลจากการสำรวจในหลายแหล่ง ชี้ให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจไทยมีความสามารถในการขับเคลื่อน CSR ไม่แพ้ประเทศอื่น เช่น ผลการจัดอันดับของ ASIAN Sustainability Rating (ASR) ในปี 2554 ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากเกาหลีใต้

ในระดับอาเซียนเอง ภาคเอกชนในภาพรวมยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของการรับรู้แนวปฏิบัติ CSR ที่อยู่ภายใต้แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจผนวกเอาเรื่อง CSR ไว้ในวาระการดำเนินงานขององค์กร และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ-สังคมที่ยั่งยืนในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งบทบาทของ CSR ในเสาของ ASCC นั้น ในท้ายที่สุด ก็จะต้องเดินควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจในเสาของ AEC กันอย่างแยกไม่ออก

อีกไม่ถึงสามปี ภาพของการขับเคลื่อน CSR ในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากปัจจุบัน การรั้งตำแหน่งผู้นำแถวหน้าทางธุรกิจในอาเซียน อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่นำเรื่อง CSR เข้ามาอยู่ในสมการธุรกิจ และจัดวางกลยุทธื CSR ให้เป็นตัวแปรสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน นอกเหนือจากตัวแปรอื่นๆ ในทางธุรกิจ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 19, 2012

คุ้มครอง-เคารพ-เยียวยา คาถาสิทธิมนุษยชน

สัปดาห์นี้ ผมจะต้องปั่นรายงานฉบับหนึ่งให้แล้วเสร็จตามกำหนด ที่จะต้องส่งให้แก่ทีมศึกษาเบื้องต้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) และสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR)

โดยขณะนี้ รัฐบาลของหลายประเทศในภูมิภาค ต่างได้ริเริ่มส่งเสริมและจัดทำแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้แก่ภาคเอกชนผ่านทางหน่วยงานต่างๆ อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ หน่วยงานกำกับดูแลด้านการลงทุน องค์การด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน มีฐานการประกอบอุตสาหกรรมและรูปแบบของวิสาหกิจที่หลากหลายไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องมีแนวการศึกษาที่แสดงให้เห็นภาพรวมและเน้นการปฏิบัติได้จริงในประเด็น CSR ที่สัมพันธ์กับเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความพยายามในการทำความเข้าใจสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศสมาชิก ตลอดจนการหาบรรทัดฐานในการจัดทำแนวปฏิบัติร่วมกันในอนาคต

การศึกษาเบื้องต้นในครั้งนี้ จึงได้นำกรอบการทำงานซึ่งเป็นที่ยอมรับ อย่างเช่น หลักการแนวทางสำหรับการนำไปปฏิบัติตามกรอบ "Protect, Respect and Remedy" ที่สหประชาชาติได้ให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 มาใช้เป็นกรอบอ้างอิงในการศึกษาในแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งหลักการแนวทางดังกล่าว มีเนื้อหาสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

หน้าที่ของรัฐต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (State Duty to Protect) อาทิ การกำหนดนโยบายคุ้มครอง การแก้ไข และการลงโทษการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ไปลงทุนทำกิจการ การให้หน่วยงานภาคธุรกิจตระหนักถึงพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐ การเคารพสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ การดำเนินการให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชนในการทำธุรกรรมทางการค้า ฯ

หน้าที่ของบรรษัทในการเคารพสิทธิมนุษยชน (Corporate Responsibility to Respect) อาทิ การมีนโยบายและกระบวนการในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากกิจกรรมของภาคธุรกิจ การให้ผู้บริหารสูงสุดของภาคธุรกิจแสดงพันธกรณีที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน การให้มีการตรวจสอบผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจของตน และให้มีการตอบสนองผลกระทบนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ การให้มีการสื่อสารกับสาธารณชนเมื่อมีข้อกังวลเกิดขึ้น ฯ

การเข้าถึงการเยียวยา (Access to Remedy) อาทิ การให้รัฐดำเนินการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการเยียวยาผ่านมาตรการด้านการบริหารและกระบวนการยุติธรรม การส่งเสริมประสิทธิภาพของกลไกกระบวนการยุติธรรมให้สามารถเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ การอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงกลไกการเยียวยาอื่นๆ ที่มิใช่ของรัฐ เช่น กลไกของสมาคมธุรกิจอุตสาหกรรม การให้ภาคธุรกิจสร้างกลไกเยียวยาทั้งในระดับบุคคลและในระดับชุมชน ฯ

จะเห็นได้ว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนกับภาคธุรกิจ เป็นประเด็นที่สหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จนมีการผลักดันให้มีการจัดทำและรับรองหลักการแนวทางดังกล่าว เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้นำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน มิให้ถูกละเมิดจากการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้เช่นกัน โดยประเทศไทยได้สนับสนุนและร่วมให้การรับรองหลักการแนวทางตามกรอบ "Protect, Respect and Remedy" ดังกล่าวนี้แล้วด้วย (ดาวน์โหลดเอกสารหลักการแนวทางฉบับนี้ได้ที่ http://bit.ly/AHRC1731)

จากนี้ไป ภาคธุรกิจไทย คงจะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ส่งผลต่อประเด็น CSR ที่สัมพันธ์กับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และเตรียมมาตรการ กลไกการดำเนินงานที่สนองตอบต่อหลักการแนวทางสำหรับการนำไปปฏิบัติตามกรอบ "คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา" ที่ทั้งสหประชาชาติ อาเซียน และประเทศไทยเอง ได้ให้การรับรองและสนับสนุน ไม่ช้าก็เร็ว...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 12, 2012

คู่มือ CSR สำหรับองค์กรธุรกิจไทย

นับจากเดือนพฤษภาคม ปี 2554 ที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำและเผยแพร่ Guidelines for Social Responsibility และ Guidelines for CSR Report ในรูปแบบ Multi-Stakeholder Forum ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียจากหลายภาคส่วน อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งผู้แทนจากภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดจนวิสาหกิจทั่วไป มีแหล่งข้อมูลและเครื่องมือที่สามารถอำนวยความสะดวก และนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินกิจการที่มุ่งคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม การนำไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ อย่างมีความรู้ความเข้าใจตลอดจนการนำไปใช้สนับสนุนการจัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ที่สอดคล้องกับหลักการสากล

ปัจจุบัน คณะทำงานชุดดังกล่าว ได้จัดคู่มือทั้งสองฉบับเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และนำออกเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยคู่มือฉบับแรกใช้ชื่อว่า “แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ” ซึ่งเป็นแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในแบบฉบับของไทย ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญทั้งหมดของหลักการสากล ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมต่างๆ ได้แก่ ISO 26000, UN Global Compact, GRI รวมถึงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2549 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2551 โดยผนวกกับเนื้อหาเพิ่มเติมด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

เอกสารแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เรียบเรียงขึ้นโดยคณาจารย์ในคณะกรรมการกลุ่มความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอนและการวิจัยด้านบริหารธุรกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทจดทะบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป มีแนววิธีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ที่คำนึงถึงทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

โดยแบ่งออกเป็น 10 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) การกำกับดูแลกิจการที่ดี 2) การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม 3) การต่อต้านการทุจริต 4) การเคารพสิทธิมนุษยชน 5) การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม 6) ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค 7) การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม 8) การจัดการสิ่งแวดล้อม 9) นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรม จากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และ 10) การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน

ส่วนคู่มือฉบับที่สอง ใช้ชื่อว่า “แนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน” ซึ่งอ้างอิงจากแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนขององค์การแห่งความริเริ่ม ว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ในฉบับแปลภาษาไทย เพื่อใช้เป็นเอกสารตั้งต้นสำหรับบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป ใช้ศึกษาทำความเข้าใจถึงแนวทางและวิธีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน

เอกสารแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เป็นการจัดทำร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทจดทะบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป มีแนววิธีการจัดทำข้อมูลรายงานการดำเนินงานของกิจการ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอ้างอิงจากกรอบการรายงานของ GRI ที่ประกอบด้วย เนื้อหา คุณภาพ ขอบเขตของการรายงาน มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เกณฑ์วิธีตัวชี้วัด และการวัดระดับการรายงาน

จัดทำขึ้นเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน และส่วนที่เป็นวิธีจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI Sustainability Reporting Guidelines รุ่น 3.1 ซึ่งเป็นฉบับแปลภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ GRI

แนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนที่จัดทำขึ้นครั้งนี้ สามารถใช้เป็นเอกสารตั้งต้นสำหรับบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป ในการศึกษาทำความเข้าใจถึงแนวทางและวิธีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นช่องทางสื่อสารของ องค์กรในผลการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ แก่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ อย่างมีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ผู้ที่สนใจเอกสารแนวทางทั้งสองฉบับดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ที่ www.csri.or.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 05, 2012

วาระ 50+20 : การศึกษาเพื่อความยั่งยืน

สัปดาห์นี้ ขอรายงานควันหลงจากการประชุมใหญ่ 2 งาน คือ การประชุมก่อน Rio+20 (13-20 มิ.ย.) ที่บราซิล และการประชุม World Ethics Forum 2012 (28-30 มิ.ย.) ที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีหัวข้อในเรื่องเดียวกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ วาระ 50+20 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปการศึกษาด้านการบริหารจัดการที่ต้องการปรับเปลี่ยนจากหลักการพัฒนาเพื่อให้เป็นเลิศในโลก (best in the world) มาสู่การพัฒนาบ่มเพาะเพื่อให้เป็นเลิศแก่โลก (best for the world)

ที่มาของความริเริ่ม 50+20 ก่อตัวขึ้นจากสามแหล่ง โดยแหล่งแรกมาจากสภาวิทยาลัยการบริหารธุรกิจโลกเพื่อการบริหารธุรกิจที่ยั่งยืน (World Business School Council of Sustainable Business: WBSCSB) เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 โดยนักวิชาการและคณบดีวิทยาลัยการบริหารธุรกิจจากทั่วโลกที่รวมตัวกันเพื่อที่จะทลายกำแพงการศึกษาด้านการจัดการและการบริหารธุรกิจแบบเดิม ให้มุ่งตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง

อีกแหล่งหนึ่งเป็นความริเริ่มในภาวะผู้นำที่รับผิดชอบต่อโลก (Globally Responsible Leadership Initiative: GRLI) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผู้นำในภาคธุรกิจและในภาคการศึกษา มีจุดกำเนิดในช่วงต้นปี 2546 โดยมีหลักการแรกเริ่มของกลุ่มว่า "FIRST WHO, THEN WHAT” และได้พัฒนาเรื่อยมาจนมาถึงการก่อตั้งโครงการ SB21 เพื่อพัฒนาพิมพ์เขียวสำหรับวิทยาลัยการบริหารธุรกิจในศตวรรษที่ 21

ขณะที่ สหประชาชาติก็ได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาหลักการศึกษาด้านการบริหารจัดการที่รับผิดชอบ (Principles of Responsible Management Education: PRME) ในปี 2550 ด้วยความร่วมมือของผู้นำในภาคการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ในการวางรากฐานของหลักการศึกษาด้านการบริหารจัดการที่มีความรับผิดชอบเผยแพร่สู่ภาคการศึกษา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และวิทยาลัยการบริหารธุรกิจต่างๆ ได้ร่วมลงนามรับหลักการนี้แล้วจำนวน 456 แห่ง (มีมหาวิทยาลัยของไทย 2 แห่ง)

โดยเมื่อเดือนมกราคม 2554 ทั้งสามองค์กรได้บรรลุข้อตกลงที่จะช่วยเหลือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญเพื่อการปฏิรูปการศึกษาด้านการบริหารจัดการร่วมกัน ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า 50+20 (มาจากตัวเลขระยะเวลา 50 ปี นับตั้งแต่ที่วาระการศึกษาด้านการบริหารจัดการได้ถือกำเนิดขึ้นในทศวรรษ 1950 บวกกับตัวเลขระยะเวลา 20 ปีนับจากการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อปี ค.ศ. 1992)

โครงการ 50+20 มีจุดมุ่งหมายที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาด้านการบริหารจัดการ โดยได้มี การจัดทำวาระ 50+20 ที่ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ ความท้าทาย แนวทางและวิธีการใหม่ในการจัดการศึกษาด้านการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน ซึ่งได้มีการนำเสนอในช่วงการประชุม Rio+20 ที่ผ่านมา (ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ http://bit.ly/50plus20)

เอกสารวิสัยทัศน์ฉบับนี้ ใช้ระยะเวลาในการจัดทำราว 18 เดือน โดยผ่านกระบวนการปรึกษาหารือร่วมกับผู้นำ นักการศึกษา และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ รวมทั้งการประมวลตัวอย่างและมาตรฐานของการทำงานร่วมกัน (มากกว่าแนวทางการแข่งขัน) ทางการศึกษา ที่จะนำไปสู่บรรทัดฐานใหม่ในการศึกษาด้านการบริหารจัดการ

ภายใต้ความร่วมมือของ WBSCSB, GRLI และ PRME ในโครงการนี้ นอกจากการเผยแพร่เอกสารวาระ 50+20 ฉบับดังกล่าวแล้ว ทั้งสามองค์กรยังมีแผนที่จะจัดทำเอกสารเผยแพร่แนวการจัดการศึกษาด้านการบริหารจัดการในอนาคต รวมทั้งการริเริ่มโครงการความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยการบริหารธุรกิจทั่วโลก เพื่อนำเสนอกรณีศึกษา วิถีการปฏิบัติ และหนทางที่คิดค้นขึ้นใหม่ในการจัดการศึกษาด้านการบริหารจัดการที่มีความรับผิดชอบและที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการก่อตั้งวิทยาลัยการบริหารธุรกิจใหม่ 5 แห่งในแต่ละภูมิภาค (เอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอฟริกา) เพื่อเป็นต้นแบบของวิทยาลัยการบริหารธุรกิจแนวใหม่ด้วย

อย่างน้อยที่สุด เราได้เห็นบุคคลกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาทำงานและมีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงอาณาจักรทางการศึกษาที่มีอิทธิพลทางความคิดแก่มวลมนุษย์มาร่วมครึ่งชีวิต ซึ่งภาคการศึกษาเอง ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบในผลแห่งการพัฒนาที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และจะต้องตระหนักถึงปัจจัยที่จะต้องปรับรื้อรากฐานทางความคิดเพื่อให้สอดรับกับบริบทของโลกปัจจุบันไม่มากก็น้อย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 28, 2012

เวทีจริยธรรมโลกที่เจนีวา

สัปดาห์นี้ ผมเดินทางมาร่วมประชุมเวทีจริยธรรมโลก หรือ Global Ethics Forum 2012 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2555 โดยใช้ชื่อธีมว่า ‘The Value of Values in Responsible Business’

การประชุมเวทีจริยธรรมโลกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2552 ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ในกรุงเจนีวา โดยมีวิทยากรนำการประชุมจากทั่วโลกจำนวน 37 ท่าน และครั้งที่สอง เมื่อปี 2554 ที่กรุงเจนีวาเช่นเดียวกัน ในครั้งนี้มีวิทยากรเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หรือราว 68 ท่าน สำหรับครั้งที่สามนี้ มีผู้ที่ตอบรับเข้าร่วมเป็นวิทยากรหลักถึง 79 ท่าน

เวทีจริยธรรมโลก เป็นโครงการที่มิใช่มีเพียงการจัดประชุมประจำปี แต่มีการดำเนินงานต่อเนื่องใน 4 กิจกรรมหลัก คือ การประชุม การวิจัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดทำเอกสารเผยแพร่ โดยมีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้เกิดวงสนทนาในกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เพื่อค้นหาทางออกหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ ของภาคธุรกิจและภาคีที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของกิจการ (Corporate Responsibility) อย่างสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม

ผมได้มีโอกาสรู้จักกับ Prof. Dr. Christoph Stückelberger ผู้อำนวยการและเป็นผู้ก่อตั้ง Globethics.net ซึ่งเป็นแม่งานจัดประชุมเวทีจริยธรรมโลก เมื่อครั้งที่มาเชื้อเชิญให้ไปเป็นวิทยากรร่วมอภิปรายในการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่อง “Globalization for the Common Good” ในหัวข้อ “Ethical Investments for a Sufficiency Economy” ที่มหาวิทยาลัย California Lutheran ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้น เป็นการร่วมอภิปรายถึงประเด็นการลงทุนเชิงจริยธรรมกับเศรษฐกิจพอเพียงในมุมมองของศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม

ในการประชุมคราวนี้ ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในประเด็นการเงินที่ยังยืน (Sustainable Finance) โดยจะอภิปรายในหัวเรื่อง “The Time Horizons of Sufficiency Strategy in Dealing with Economic Recovery” ซึ่งจะเป็นการนำเสนอมุมมองของเศรษฐกิจพอเพียงกับนโยบายการเงินต่อการฟื้นฟูและรับมือกับภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว ร่วมกับผู้อภิปรายจากเยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เนื่องจากการประชุมเวทีจริยธรรมโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นถัดจากการประชุม Rio+20 มาสัปดาห์เดียว เจ้าภาพจึงจัดให้มีการอภิปรายหลัก (Plenary Panel) ในหัวข้อ ‘Managing the Sustainability Crisis: Next Steps after Rio+20’ ที่วิพากษ์ถึงผลลัพธ์ที่เดินทางไปไม่ถึงความคาดหมายของการประชุม Rio+20 แบบสดๆ ร้อนๆ ในแง่มุมของการแปลงสภาพเชิงจริยธรรม (Ethical Transformation) ของภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคสังคม

อีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ‘Business Schools with a new Paradigm of Sustainable Global Responsibility’ ซึ่งนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2550 แวดวงการศึกษาด้านการบริหารจัดการทั่วโลก ถูกกดดันให้มีการปรับรื้อตัวแบบและค่านิยมใหม่ ที่สะท้อนถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบของนักบริหารอย่างจริงจัง ความริเริ่มในโครงการ 50+20 ซึ่งได้มีการนำเสนอในการประชุม Rio+20 ด้วยความร่วมมือขององค์กรสำคัญอย่างเช่น World Business School Council for Sustainable Business (WBSCSB), Globally Responsible Leadership Initiative (GRLI), และ Principles for Responsible Management Education (PRME) จะถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการอภิปรายในเวทีจริยธรรมโลกครั้งนี้ด้วย

ส่วนหัวข้ออภิปรายอื่นๆ ในเวทีนี้ อาทิ การแก้ปัญหาสถานการณ์เชิงจริยธรรมในธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ในกลุ่มประเทศในแอฟริกาที่พูดภาษาฝรั่งเศส (Francophone Africa) สื่อสังคมออนไลน์กับการแปรรูปและสันติภาพ ฯ โดยหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ทางผู้จัดงานคงจะมีการจัดทำรายงานสรุปผลการประชุมเผยแพร่ให้ได้ติดตามกันในเร็ววัน

สำหรับผู้ที่สนใจการประชุมเวทีจริยธรรมโลก ประจำปี 2555 สามารถติดตามจากลิงค์ http://bit.ly/gef2012 ได้ตามอัธยาศัยครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 21, 2012

Rio+20 กับอนาคตที่พึงปรารถนา

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNCSD) หรือ Rio+20 ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวานนี้ (20 มิถุนายน) โดยมีผู้นำประเทศ/หัวหน้ารัฐบาล/หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศเข้าร่วมกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในการประชุมเตรียมการ การประชุมหลัก และกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ซึ่งจัดโดยองค์กรต่างๆ ในห้วงเวลาของการประชุม Rio+20 ครั้งนี้ ทั้งสิ้นราว 50,000 คน


ผมได้มีโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่วันจันทร์ โดยลำพังกิจกรรมคู่ขนานซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหัวข้อที่จัดให้เข้ากับธีมของการประชุม ซึ่งได้แก่เรื่องเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็มีให้เลือกมากกว่า 500 กิจกรรมเข้าไปแล้ว เรียกได้ว่าเป็นตลาดนัดกิจกรรมสัมมนาสำหรับผู้ที่คลั่งไคล้เรื่องดังกล่าวได้จนลืมเวลาทีเดียว แม้แต่คณะของผมเองก็ได้กระจายไปเข้าร่วมตั้งแต่เช้ายันค่ำทุกวัน

ไฮไลท์หนึ่งของกิจกรรมที่ผมได้เข้าร่วม คือ การประชุมเต็มคณะ (Plenary Meeting) เพื่อให้ความเห็นชอบในเอกสารผลลัพธ์ (Outcome Document) การประชุม Rio+ 20 ที่ใช้ชื่อว่า “The Future We Want” ซึ่งในวันพรุ่งนี้เอกสารฉบับดังกล่าวจะถูกพิจารณากลั่นกรองและให้การรับรองโดยผู้แทนในแต่ละประเทศ และจะกลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนบทใหม่ ที่จะถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวางนับจากนี้ไปอีก 20 ปี

กว่าที่เอกสารผลลัพธ์จะได้รับความเห็นชอบนั้น ได้ผ่านการปรับปรุงแก้ไขในระหว่างกระบวนการเจรจาต่อรองที่เข้มข้นอย่างยิ่ง จากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในสารัตถะและท่าทีของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเนื้อหาเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวที่มีการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวาง กระทั่งในการประชุมเต็มคณะเมื่อวันอังคารก็ยังร้อนระอุไปทั้งห้องประชุม

เหตุผลหลักของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเอกสารผลลัพธ์ฉบับนี้ ประการแรก ไม่เชื่อว่าการผลักดันเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวตามกรอบเนื้อหาที่เสนอ จะสามารถขจัดความยากจนและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ประการต่อมา ไม่เห็นความชัดเจนของกลไกและวิธีการที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และประการสุดท้าย ไม่ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและกลุ่มที่สำคัญๆ (Major Groups) ได้เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาต่อรองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม (ดูความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในการจัดทำเอกสารคำร้องที่มีชื่อว่า “The Future We Don’t Want” ได้ที่ http://bit.ly/rio20petition)

อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดหมายว่า ที่ประชุม Rio+20 ในวันพรุ่งนี้ จะพิจารณาให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ฉบับดังกล่าว ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ส่วน ได้แก่ วิสัยทัศน์ร่วม การยืนยันพันธกรณีทางการเมือง เศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการขจัดความยากจน กรอบเชิงสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบการดำเนินงานและการติดตามผล วิธีการนำไปปฏิบัติ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงไม่ต่างจากฉบับที่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดของเอกสารผลลัพธ์ฉบับล่าสุดได้ที่ www.uncsd2012.org)

และนับว่าโชคดีที่ผมได้มีโอกาสรับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนในคณะสังเกตการณ์ในสังกัดกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมในการประชุมหลักด้วย เลยจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของการประชุมสำคัญครั้งนี้เพื่อนำมาถ่ายทอดในโอกาสต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 14, 2012

CG กับ CSR เหมือนหรือต่างกัน

สำหรับคนในองค์กรที่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG) มาระยะหนึ่ง วันนี้ยังต้องศึกษาและเข้าใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility: CSR) เพิ่มเติม เพื่อที่จะตอบคำถามหรืออธิบายให้ผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจได้ว่า เรื่องทั้งสองนี้ มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกันหรือไม่

เรื่องการกำกับดูแลกิจการ หรือเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า บรรษัทภิบาล เป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการ ที่จัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของกิจการให้มีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายของกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง

ในประเทศไทย หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศเผยแพร่นั้น มีอยู่ด้วยกัน 5 หมวด ได้แก่ 1) สิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 3) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และ 5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

หลักการกำกับดูแลกิจการทั้ง 5 หมวดนี้ หมวด 1 และหมวด 2 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้น หมวด 4 และหมวด 5 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ ซึ่งทั้งผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการ ขณะที่หมวดที่ 3 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียจากบริษัทตามสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐานของกิจการ

การดำเนินงานของกิจการซึ่งมีเป้าหมายที่ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร คณะกรรมการ หรือพนักงาน (คือ ผู้มีส่วนได้เสียในกิจการ) เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ภายในองค์กร ซึ่งจัดอยู่ในหัวข้อการกำกับดูแลกิจการภายในให้มีความโปร่งใส สามารถให้สังคมภายนอกตรวจสอบได้

ส่วนการดำเนินงานของกิจการซึ่งมีเป้าหมายที่ครอบครัวของพนักงาน ชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ (รวมถึงสิ่งแวดล้อม) ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่งขัน และประชาชนทั่วไป (คือ ผู้มีส่วนได้เสียนอกกิจการ) เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ภายนอกองค์กร ดังนั้น กิจการใดที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีอยู่แล้ว ถือว่าได้มีส่วนในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ด้วย

ขณะที่ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือที่เรียกว่า บรรษัทบริบาล เป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก ที่องค์กรจัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือส่วนรวมตามกำลังและความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว

บรรษัทบริบาล จึงเป็นการดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนิติพลเมือง (Corporate Citizen) โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกกิจการอย่างเป็นธรรม

หลักการความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ยกร่างขึ้นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้แก่บริษัทจดทะเบียนและกิจการทั่วไป มีอยู่ด้วยกัน 8 หมวด ได้แก่ 1) การกำกับดูแลกิจการที่ดี 2) การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม 3) การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม 4) ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค 5) การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม 6) การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม 7) นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และ 8) การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

กล่าวได้ว่า เรื่องการกำกับดูแลกิจการ (CG) จะมีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1) เป็นเรื่องของการนำหลักคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งจะต้องปลูกฝังให้เกิดกับบุคลากรในองค์กร มาเป็นฐานแห่งการพัฒนาระบบและกระบวนการภายในองค์กรสำหรับใช้กำกับดูแลการดำเนินงานของบุคลากรเพื่อให้เป็นไปตามหลักคุณธรรม จริยธรรม

2) เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐานของกิจการ ที่คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย และดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้สิทธิที่พึงได้รับตามที่กฎหมายกำหนด

3) มุ่งหมายให้กิจการมีขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง สังคมภายนอกตรวจสอบได้

ขณะที่เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) จะประกอบด้วยคุณลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกับ CG อยู่ 3 ประการ คือ

1) เป็นเรื่องของการคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินงานที่จะเกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ตามหลักศีลธรรม หรือการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ซึ่งองค์กรใช้เป็นแนวการดำเนินงานที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอก โดยมีฐานที่พัฒนาขึ้นจากกลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดี

2) เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่มากกว่าการคำนึงถึงเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย และการดูแลผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรม นอกเหนือจากสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย

3) มุ่งหมายให้กิจการมีขีดความสามารถในการสร้างคุณค่าร่วมจากการส่งมอบประโยชน์ให้แก่กิจการและสังคมส่วนรวม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว

จากบทเรียนในการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในองค์กรธุรกิจหลายแห่ง พบว่า องค์กรจะไม่สามารถดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมภายนอกให้ประสบผลสำเร็จหรือก้าวหน้าได้ หากปราศจากการกำกับดูแลกิจการภายในที่ดีและเข้มแข็ง หรืออีกนัยหนึ่ง ธุรกิจทำ CSR โดยละเลยเรื่อง CG มิได้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, June 07, 2012

CSR กับ SD เหมือนหรือต่างกัน

ในแวดวงของผู้ที่ทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ปัจจุบัน จะเริ่มได้รับคำถามที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง SD (Sustainable Development) ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บทความตอนนี้ จะพยายามอธิบายให้เห็นภาพความเกี่ยวเนื่องและความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ กับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่สะสมต่อเนื่องมาในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้เป็นแรงผลักดันให้เกิดแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UNCHE) เมื่อปี 2515 ที่จุดประกายให้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในประชาคมระหว่างประเทศ และนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ รวมถึงการจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)

ต่อมาในปี 2535 ในการประชุมสุดยอดโลก (Earth Summit 1992) ทำให้มีข้อสรุปที่สำคัญเกิดขึ้นหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการระบุถึงบูรณาการระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และกล่าวถึงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาบรรลุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (WSSD) ซึ่งประเทศสมาชิกจำนวน 180 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ลงนามรับรองปฏิญญาโจฮันเนสเบอร์กในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเอกสารประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศต่างๆ ที่จะร่วมกันปฏิบัติตามพันธกรณีและมาตรการจากผลการประชุม Earth Summit 1992 ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม

หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งนิยามโดย Brundtland Commission เมื่อปี 2520 ระบุว่า เป็น “การพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป” ซึ่งแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนจะคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือ Profit-People-Planet ในมุมมองของ Triple Bottom Line ที่มีความเชื่อมโยงกัน หรือกล่าวได้ว่า แนวคิดแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน มีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ

1) เป็นเรื่องของการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมภายใต้ข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

2) คำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น การขจัดความยากจน จำเป็นต้องคำนึงถึงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมประกอบกัน

3) มุ่งหมายที่จะบรรลุถึงสถานะแห่งความยั่งยืนของสังคมโลกโดยรวม ไม่ใช่เพื่อความยั่งยืนหรือความสามารถในการอยู่รอดขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งหมายรวมถึง วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน และแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืน

สถานะแห่งความยั่งยืนนั้น ถูกจัดให้เป็น “ผล” การดำเนินงาน ขณะที่ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จะเป็นปัจจัยหลักหรือ “เหตุ” ที่เกื้อหนุนให้ได้มาซึ่งความยั่งยืนจากการประกอบการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้ ความรับผิดชอบต่อสังคมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น จึงมิใช่เรื่องเดียวกัน แต่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด โดยที่ CSR จะประกอบด้วยคุณลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกับ SD อยู่ 3 ประการ คือ

1) เป็นเรื่องระดับองค์กรที่คำนึงถึงการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

2) การสร้างความยั่งยืนหรือขีดความสามารถในการอยู่รอดขององค์กร อาจมีวิธีการที่แตกต่างหรือสวนทางกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม

3) สามารถใช้เป็นเครื่องมือขององค์กร ทั้งในการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร และในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ กลไกสำคัญซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจ ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ไม่ใช่เพียงแค่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือเพียงเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร แต่ต้องสามารถผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในทุกกระบวนการทางธุรกิจจนพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของขีดความสามารถขององค์กร...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Friday, June 01, 2012

มีอะไรใน WEF ที่กรุงเทพฯ

ในสัปดาห์นี้ ประเทศไทยจะร่วมกับเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก หรือ WEF on East Asia (30 พ.ค. - 1 มิ.ย. 55) ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ โดยมีธีมหลักของการประชุมคือ การกำหนดอนาคตภูมิภาคโดยการเชื่อมโยง ที่จะร่วมกันหารือใน 3 เรื่อง ได้แก่ การทบทวนรูปแบบของภูมิภาคสำหรับโลกยุคใหม่ การรับมือกับความเสี่ยงในภูมิภาค และการบรรลุความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะมีผู้นำภาครัฐบาล ผู้บริหารเอกชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนระดับโลกกว่า 700 คน เข้าร่วมงาน

ไทยได้แสดงความประสงค์จะเป็นเจ้าภาพการประชุม WEF on East Asia มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 โดยเห็นว่า จะเป็นเครื่องแสดงความเชื่อมั่นของประชาคมธุรกิจโลกต่อการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองของไทย โดยเมื่อต้นปี 2554 WEF ได้เลือกให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WEF on East Asia เป็นครั้งแรกในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาคมเศรษฐกิจโลก ที่มีต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพในการฟื้นตัวจากวิกฤตการเมืองไทย

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการเมืองของไทยให้แก่นักธุรกิจและนักลงทุนชั้นนำของโลก รวมถึงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจไทยจากการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวของผู้เข้าร่วมการประชุมและเจ้าหน้าที่ WEF ไม่ต่ำกว่า 31.5 ล้านบาท (ประเมินขั้นต่ำจากผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมผู้ติดตามและเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 700 คน)

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมย่อย หรือที่เรียกว่า Private Session ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้พิจารณาจัดกิจกรรมในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ ทั้งหมด 5 สาขา ได้แก่ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การสาธารณสุข การเกษตร และพลังงาน ซึ่งจะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในแต่ละกิจกรรมย่อย

ปัจจุบัน มีภาคเอกชนไทยที่ได้เข้าเป็นสมาชิก WEF แล้วจำนวน 16 แห่ง ได้แก่ ปตท. การบินไทย ไทยเบฟเวอร์เรจ ธนาคารกรุงเทพ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ช.การช่าง ธนาคารกรุงไทย เซ็นทรัลพัฒนา ไออาร์พีซี ธนาคารไทยพาณิชย์ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บ้านปู แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส บางจากปิโตรเลียม น้ำตาลมิตรผล และศรีไทยซุปเปอร์แวร์

ผลประโยชน์อื่นที่ได้หลังจากการจัดประชุมฯ หากประเมินจากที่อินโดนีเซียจัดเมื่อครั้งที่แล้ว มีตัวเลขรายได้การลงทุนจากต่างประเทศที่หน่วยงาน BOI ของอินโดนีเซียระบุว่า หลังจากจัดการประชุม WEF on East Asia ในปี 2554 ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสาธารณรัฐเกาหลี ได้ให้คำมั่นในการลงทุนประมาณ 6.2 แสนล้านบาท หรือราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมรถยนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภค แก่ประเทศอินโดนีเซีย

การจัดประชุมฯ ครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสดีในการถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น การจัดทำรายงานพิเศษด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสบการณ์ในด้านการจัดประชุมระหว่างประเทศ และการขยายโอกาสทางธุรกิจและการชักจูงการค้าการลงทุนสู่ไทยอีกด้วย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link