Friday, September 29, 2006

การสร้างมูลค่าเพิ่มกับการบริหารจัดการซอฟต์แวร์

ได้มีโอกาสไปบรรยายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง "การสร้างมูลค่าเพิ่มกับการบริหารจัดการซอฟต์แวร์" ภายใต้หัวข้อ "ลิขสิทธิ์ พัฒนาเศรษฐกิจไทย" ในการสัมมนางานตลาดนัดทรัพย์สินทางปัญญา 2549 : TIPF 2006 ณ ห้องฟินิกซ์ 5-6 อาคาร Impact Exhibition Hall เมืองทองธานี มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ จำนวนประมาณ 150 คน

เอกสารอ่านประกอบ :
- เอกสาร PowerPoint ที่นำเสนอประกอบการบรรยาย PDF Format
- บทความ "What is your software worth?" โดย Gio Wiederhold External Link
- หนังสือ "The Business of Software" โดย Michael A. Cusumano External Link

Thursday, September 28, 2006

ข้อเสนอแนวทางใหม่ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ขอมีส่วนร่วมในทางการเมือง ด้วยการเสนอแนวความคิดในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งในแบบแบ่งเขตและในแบบบัญชีรายชื่อ โดยอาศัยกระบวนการออกเสียงประชามติในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เพื่อเพิ่มบทบาทและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง

ข้อดีของรูปแบบที่นำเสนอสำหรับ ส.ส. แบบแบ่งเขต คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง จะต้องได้รับประชามติรับรองจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่นอกเขตเลือกตั้งนั้นๆ จึงสามารถเป็นผู้แทนได้ ทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติอันเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย ส่วนข้อดีของรูปแบบที่นำเสนอสำหรับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ คือ บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่ประสงค์จะทำงานเพื่อประเทศชาติ จะมีความเป็นอิสระจากพรรคการเมือง และอาสาเข้ามาทำงานการเมืองได้ง่ายขึ้น รวมทั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จะมาจากการเลือกตั้งในระดับรายบุคคล แทนการเลือกแบบทั้งบัญชี ซึ่งจะสะท้อนความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ดีกว่าแบบเดิม

เอกสารข้อเสนอแนวทางใหม่ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร PDF Format

Friday, September 22, 2006

แนวคิดการจัดการความรู้ : แบบจำลองปลาทู

ได้เข้าร่วมสัมมนางานวิจัย "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน" ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน แนวคิดการจัดการความรู้ที่นำมาใช้ในโครงการวิจัยนี้ คือ แนวคิดที่เปรียบเทียบการจัดการความรู้เหมือนกับปลาทู (Plato Model)

ส่วนหัวปลา หมายถึง ส่วนที่เป็นวิสัยทัศน์ หรือเป็นทิศทางของการจัดการความรู้ เป็นการตอบคำถามว่า เราทำการจัดการความรู้ไปเพื่ออะไร (Knowledge Vision) ส่วนกลางลำตัวปลา เป็นส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นส่วนสำคัญและยากที่สุด เนื่องจากกระบวนการต้องอาศัยคนที่พร้อมจะเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ เป็นการจัดการที่จะทำให้เกิดเหตุปัจจัยและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้คนพร้อมที่จะแบ่งปันและเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge Sharing) ส่วนหางปลา หมายถึง เนื้อหาความรู้ที่เก็บสะสมไว้ที่คลังความรู้ (Knowledge Assets)

ในส่วนของกระแสน้ำนั้น เป็นสิ่งที่ชุดโครงการวิจัยได้เพิ่มเติมเข้ามา เนื่องจากในการดำเนินการเพื่อให้องค์กรการเงินชุมชนเข้มแข็งนั้น ปลาทู (ซึ่งเปรียบเสมือนกับ องค์กรการเงินชุมชน) มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่จะต้องว่ายฝ่ากระแสน้ำ ซึ่งในที่นี้หมายถึง กระแสการพัฒนา นโยบาย/กฎหมาย กลไกสนับสนุน รวมทั้งสภาพชุมชนด้วย

คณะวิจัยได้นำแบบจำลองปลาทูมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมจัดการความรู้ โดยเริ่มต้นจากการให้คณะกรรมการร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ ตั้งเป้าหมายที่ต้องการจะไปให้ถึง (หัวปลา) ใช้หลักการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันสำหรับการพัฒนาเครือข่าย กลุ่ม และสมาชิก (ลำตัวปลา) และดำเนินการจัดทำคลังความรู้ของเครือข่าย กลุ่ม และสมาชิก ในรูปของเอกสารที่เป็นองค์ความรู้ของกลุ่ม (หางปลา)

ผมขอเพิ่มเติม "น้ำพริก" เข้าไปในแบบจำลองนี้ กลายเป็น "น้ำพริก ปลาทู โมเดล" โดยนัยของน้ำพริกในกรณีนี้ หมายถึง การนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ (Knowledge Appreciation) หลังจากที่ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนเกิดเป็นองค์ความรู้ขึ้น เครือข่าย กลุ่ม และสมาชิก สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในแต่ละสภาพชุมชนที่อาจมีความแตกต่างกันทางภูมิสังคม เปรียบเสมือนกับมีน้ำพริกได้หลายชนิด การบริโภคปลาทู ในที่นี้จึงหมายถึง การแปรสภาพความรู้ให้เกิดประโยชน์ นอกเหนือจากการเก็บไว้เป็นคลังความรู้

แหล่งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม :
- เว็บ : หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน External Link
- บล็อก : สถาบันจัดการความรู้เพื่อชุมชน External Link

Monday, September 18, 2006

"The Rules of Business" ตอน 2

ได้ย่อยหนังสือ "The Rules of Business" ในรายการ MCOT.NET ต่อเป็นตอนที่ 2 กฎทางธุรกิจที่น่าสนใจในรายการตอนนี้ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการเทคโนโลยี ในกรอบคิดเดิม คือ องค์กรมีการรวมศูนย์ทรัพยากรทางเทคโนโลยีไว้ด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและการประหยัดจากขนาด ในขณะที่กรอบคิดใหม่ มีความท้าทายที่สำคัญ คือ ในเมื่อเทคโนโลยีไม่ใช่หัวใจของธุรกิจ แต่เป็นเพียงเครื่องมือ การตัดสินใจระหว่างการนำเครื่องมือมาไว้รวมกันในโรงเก็บเครื่องมือที่ยากแก่การเข้าถึง กับการแบ่งเครื่องมือไว้กระจัดกระจายในแต่ละแผนกขององค์กร เพื่อให้เกิดการใช้งานให้มาก อย่างไหนจะก่อให้เกิดความคุ้มค่ามากกว่ากัน ฤาจะถึงเวลาแล้วที่จะพิจารณายุบแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ พิจารณาปรับลดผู้เชี่ยวชาญบริสุทธิ์ (Pure Expert) แต่หันมามุ่งเน้นการพัฒนาเจ้าหน้าที่ในแผนกต่างๆ ให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีในแบบผู้ชำนาญการประยุกต์ (Applied Practitioner)

Audio File ฟังการย่อยเนื้อหาในหนังสือ "The Rules of Business" ตอน 2 External Link