Thursday, May 20, 2010

เคล็ด (ไม่) ลับกับการบริหาร CSR

เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility - CSR) หรือที่เรียกว่า “บรรษัทบริบาล” ได้กลายเป็นวาระสำคัญขององค์กรธุรกิจ ที่ต้องแสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไร และต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากบุคลากรในองค์กรทุกระดับชั้น

เงื่อนไขความสำเร็จของการดำเนินงาน CSR จะต้องเกิดจากการที่ผู้บริหารเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนภารกิจด้าน CSR อย่างจริงจังและต่อเนื่อง คณะกรรมการบริษัทจึงถือเป็นกลุ่มบุคคลแรกที่ต้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องและเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดการขับเคลื่อนงาน CSR ในองค์กร

ที่ผ่านมา กิจการหลายแห่งที่ดำเนินงาน CSR โดยขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในระดับผู้บริหาร เป็นสาเหตุให้องค์กรต้องสูญเสียทรัพยากรทั้งงบประมาณ เวลา และบุคลากร ไปกับกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมน้อย และมิได้สร้างผลสะท้อนกลับมาสู่องค์กรตามที่ควรจะเป็น

ขณะที่บางกิจการ ผู้บริหารได้นำเอารูปแบบการดำเนินงาน CSR ขององค์กรอื่นที่ประสบผลสำเร็จมาดำเนินการ ด้วยคาดหมายว่าจะทำให้เกิดผลสำเร็จเช่นเดียวกัน โดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างของลักษณะของกิจการ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง วัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ จนเป็นเหตุให้การดำเนินงาน CSR ขององค์กรนั้นๆ ล้มเหลวอย่างน่าเสียดาย

ผู้บริหารระดับสูงจึงมีส่วนสำคัญยิ่งในการกำกับดูแลการดำเนินงาน CSR ของกิจการให้สัมฤทธิผล เพื่อตอบโจทย์องค์กรตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อให้เกิดความสมดุลของการพัฒนาระหว่าง People-Profit-Planet หรือที่เรียกว่า Triple Bottom Line (TBL) ของธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ข้อเสนอเรื่องระเบียบวิธี (Methodology) ที่นำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนสามารถพิจารณาใน 3 ส่วน ได้แก่ Principles-Policies-Practices ซึ่งในที่นี้ ขอเรียกว่า Triple Streamline: Pathway to Triple Bottom Line

ในส่วนที่เป็นหลักการ (Principles) ความรับผิดชอบต่อสังคม กิจการควรให้ความสำคัญกับหลัก 7 ประการ ได้แก่ การมีภาระรับผิดชอบ ความโปร่งใส การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม การเคารพในประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย การเคารพต่อหลักนิติธรรม การเคารพต่อบรรทัดฐานพฤติกรรมที่เป็นสากล และการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน

ผู้บริหารพึงนำหลักการเหล่านี้ มาเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างได้ผลและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกิจการ

เนื่องจากลักษณะของกิจการ วัฒนธรรมองค์กร กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ มีความแตกต่างกันในแต่ละองค์กร การจัดทำนโยบาย (Policies) ความรับผิดชอบต่อสังคมของแต่ละกิจการ ย่อมมีความแตกต่างกัน และมีจุดเน้นที่ไม่เหมือนกัน คณะกรรมการหรือผู้บริหารควรคำนึงถึงศักยภาพ ความเป็นไปได้ และผลลัพธ์การดำเนินงานที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสังคมและตัวองค์กรเองต่อการจัดทำนโยบาย CSR ของกิจการอย่างรอบคอบ

หัวข้อที่ควรพิจารณาในการจัดทำนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ การกำกับดูแลกิจการที่ดี การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และการจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

เมื่อกิจการได้นโยบาย CSR ที่พึงประสงค์แล้ว การกำหนดแนวการปฏิบัติ (Practices) ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดีนั้น ผู้บริหารควรบูรณาการเรื่อง CSR ให้ปรากฏทั่วทั้งองค์กร ด้วยการคำนึงถึงแนวปฏิบัติ 7 ประการ ได้แก่ ความสัมพันธ์ของคุณลักษณะองค์กรกับเรื่อง CSR ความเข้าใจในเรื่อง CSR ขององค์กร ปฏิบัติการผนวก CSR ทั่วทั้งองค์กร การสื่อสารเรื่อง CSR การเพิ่มความเชื่อถือได้ในการดำเนินงาน CSR ขององค์กร การทบทวนและปรับปรุงการปฏิบัติดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวกับ CSR และการเข้าร่วมในความริเริ่มทาง CSR โดยสมัครใจ

ข้อพิจารณาทั้งเรื่อง Principles-Policies-Practices ข้างต้น จะช่วยให้ผู้บริหารได้มีกรอบการพิจารณาเรื่อง CSR ขององค์กรที่ครอบคลุมรอบด้าน และสามารถใช้เป็นฐานในการอธิบายการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมสู่สาธารณะได้อย่างเป็นระบบ มีที่มาที่ไป และตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนตามแนวทาง Triple Bottom Line ของธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างชัดเจน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, May 13, 2010

มุม (ที่ไม่ได้) มองใหม่ของ CSR

ภารกิจความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ทางเลือกขององค์กรว่าจะลงมือทำหรือไม่เท่านั้น วันนี้ CSR ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะมันได้กลายเป็นหนึ่งในคุณลักษณะ (Attribute) ของกิจการที่ดีที่พึงมีไปเรียบร้อยโรงเรียนธุรกิจซะแล้ว

มาถึงเวลานี้ การริเริ่มทำ CSR ที่ต้องรอให้องค์กรพร้อมทั้งองคาพยพ หรือให้ก่อเกิดด้วยความสมัครใจอย่างถ้วนหน้านั้น อาจจะไม่ทันการณ์กับความต้องการทั้งทางสังคมและทางธุรกิจ ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่ใช่ OPTION ที่องค์กรจะเลือกว่าทำหรือไม่ทำ เปรียบเหมือนกับเรื่อง ISO 9000 หรือ ISO 14000 ที่ในยุคสมัยปัจจุบัน หากกิจการใดไม่ได้รับการรับรอง ก็อาจจะไม่สามารถค้าขายกับบรรดาคู่ค้าที่อยู่ในสายอุปทานของหลายอุตสาหกรรมอย่างสะดวกโยธินเช่นเดิม

ที่ผ่านมา องค์กรส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR มักมีมุมมองว่าการทำ CSR เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมิติทางสังคม และก็มักมีข้อสรุปตามมาว่ากิจกรรม CSR เหล่านั้นถือเป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องจัดสรรคืนกลับสู่สังคมผ่านทางกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับกำไรที่ได้จากการดำเนินงานและผู้ถือหุ้นของกิจการไม่มากก็น้อย ทัศนคติที่ว่านี้ แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายหรือเข็มทิศการดำเนินงาน ระหว่างเรื่องธุรกิจและเรื่องสังคม มิได้ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน การพิจารณาดำเนินงาน CSR จึงเป็นเรื่องที่แปลกแยกไปจากการดำเนินธุรกิจโดยอัตโนมัติ

ในหลายกรณี กิจการที่เข้าใจบริบทของ CSR อย่างรอบด้าน สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า การทำ CSR เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ และมิได้เป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่กลับเป็นปัจจัยที่เสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการเติบโตของกำไรที่มั่นคง

กิจการที่ก้าวมาสู่ขั้นนี้ได้ มักจะมีเข็มทิศการดำเนินงานในเรื่องธุรกิจและเรื่องสังคม ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน การพิจารณาดำเนินงาน CSR ขององค์กรเหล่านี้ จึงผสมผสานกลมกลืนกับการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมิได้ถูกปฏิเสธจากผู้ถือหุ้นด้วย

การปรับทิศหรือแนวการดำเนินงาน CSR ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ จะพิจารณาใน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ คน (People) ของ (Product) และกระบวนการ (Process) ในองค์กร หรือที่เรียกว่าเป็น Triple Alignment

การปรับทัศนคติและพฤติกรรมของคนในองค์กรนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญสุด แต่ยากสุดในบรรดาองค์ประกอบทั้งหมด ในแวดวง CSR ศาสตร์แห่งการสร้าง Employee Engagement จึงเป็นเรื่องใหญ่ คำว่า Engage นั้นมีดีกรีที่แตกต่างจากคำว่า Participate หรือ Involve คือสูงกว่าขั้นการมีส่วนร่วมหรือการเข้าร่วมในระดับการกระทำ แต่ยังเป็นเรื่องของ emotional and intellectual commitment ในระดับจิตใจและสติปัญญาร่วมด้วย

การสร้างความผูกพันของพนักงานส่งผลสำคัญต่อสมรรถนะ (Performance) ในการทำงาน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการสร้างความพึงพอใจในงานหรือความสุขในการทำงาน โดยพนักงานซึ่งพอใจหรือมีความสุขในงานที่ทำ อาจไม่ได้ส่งมอบผลงานที่ดีหรือมีสมรรถนะสูงให้แก่องค์กรก็เป็นได้

เงื่อนไขสำคัญของการปรับแนวการดำเนินงาน CSR ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างประสบผลสำเร็จ คือ การปรับจูนบุคลากรในระดับจิตสำนึกและความรู้ความเข้าใจที่มีต่อเรื่อง CSR เพื่อสร้างให้เกิดความผูกพันรับผิดชอบของพนักงานในงานที่ทำ ไม่ว่าจะอยู่ในฝ่ายใด แผนกใด หรือส่วนงานใดก็ตาม

การปรับที่ตัวผลิตภัณฑ์นั้น เป็นเรื่องที่ง่ายสุดในบรรดาองค์ประกอบทั้งหมด โดยคำนึงถึงตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เช่น การเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่งและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นที่สถานประกอบการตั้งอยู่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือการปรับบรรจุภัณฑ์ ที่ลดมลภาวะหรือขยะมูลฝอย การเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ในตลาดล่าง (Bottom of Pyramid Market) ในราคาที่ชนชั้นฐานรากเข้าถึงได้ หรือการเลิกสายผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสุขภาวะของคนในสังคม

การปรับที่กระบวนการในองค์กร เป็นเรื่องที่มีความหลากหลายที่สุดในบรรดาองค์ประกอบทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การจัดให้มีระบบการทำงานที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ทำงาน การสำรวจตรวจตราและแก้ไขผลกระทบจากการดำเนินงานที่มีต่อชุมชนรอบถิ่นที่ตั้งของธุรกิจ การจัดให้มีระบบการรายงานการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณชน หรือการเปิดเผยนวัตกรรมที่ค้นพบในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

เมื่อทิศทางการดำเนินงานในเรื่องธุรกิจและเรื่องสังคมขององค์กร ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน การขับเคลื่อนภารกิจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ก็จะเป็นเรื่องที่ทั้งผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงานในองค์กร ต่างสามารถร่วมไม้ร่วมมือกันทำ โดยไม่เกิดสุญญากาศแห่งความรับผิดชอบอีกต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, May 06, 2010

หน้าที่ของ (องค์กร) พลเมือง

มีคำถามว่าท่ามกลางสถานการณ์ความแตกแยกทางสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างให้เกิดความปรองดองในสังคมได้บ้างหรือไม่

มิติทาง CSR ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีนักธุรกิจหลายท่านที่อ้างถึงคำว่า “Corporate Citizenship” หรือความเป็นพลเมืองขององค์กรธุรกิจ ที่ต้องมีบทบาทหน้าที่ไม่ต่างไปจากบุคคลในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ (ดังเช่นสถานภาพของความเป็น “นิติบุคคล” ที่องค์กรธุรกิจได้รับตามกฎหมาย) ด้วยการประพฤติปฏิบัติ “หน้าที่พลเมือง” ขององค์กรธุรกิจ หรือ Civic Duty of Corporation นั่นเอง

เริ่มจาก “บ้าน” และ “ที่ทำงาน”
การทำหน้าที่ของปัจเจกบุคคลควรเริ่มต้นที่ “บ้าน” ความแตกต่างในทัศนะหรือความคิดเห็นในเรื่องการบ้านการเมืองนั้นเกิดขึ้นได้ในครัวเรือน แต่สมาชิกในบ้านควรยึดหลัก “ความสัมพันธ์ในครอบครัวต้องมาก่อน” การนำเอาเรื่องความเชื่อหรือความศรัทธาที่มีต่อบุคคลภายนอก มาทำลายความสัมพันธ์ของบุคคลภายในครอบครัว เป็นเรื่องที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรม รังแต่จะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งและความเสียหายในภายหลัง

สำหรับครัวเรือนที่มีบุตรหลานซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะในการรับรู้ข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมือง ผู้ปกครองควรจะให้คำอธิบายพร้อมคำชี้แนะในทางสร้างสรรค์ ควรหลีกเลี่ยงการร่วมบริโภคข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ตกอยู่ในภาวะวิตกกังวล อึดอัด หดหู่ หรือตึงเครียดเป็นเวลานานๆ

การทำหน้าที่ในหมวกของนักบริหารใน “ที่ทำงาน” ผู้บังคับบัญชาจะต้องแสดงถึงความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงหรือมีอคติในการแสดงความคิดเห็น ในขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นความคิดเห็นที่เป็นอิสระจากผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งใช้เป็นโอกาสในการสร้างความผูกพันสามัคคีในหมู่พนักงาน ด้วยกิจกรรมที่ทำร่วมกันในองค์กร โดยเฉพาะการใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นโจทย์ในการปลูกฝังพนักงานได้ร่วมแรงร่วมใจนำพาธุรกิจให้ก้าวเดินไปข้างหน้า

แนวคิดในการใช้เวลาที่ปลอดจากการให้บริการลูกค้า มาเป็นการปรับปรุงกระบวนการภายในสำนักงาน การพัฒนาคุณภาพของระบบงานต่างๆ การฝึกอบรมบุคลากร การประชุมพบปะกับคู่ค้า การเรียนรู้และเสาะหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เช่น Social Media ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่าการรอคอยให้สถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งอาจกินเวลายาวนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน

หน้าที่องค์กรต่อ “ชุมชน” และ “สังคม”
การทำหน้าที่ในนามขององค์กรที่มีต่อ “ชุมชน” รอบข้าง กิจการสามารถเริ่มต้นจากการพบปะพูดคุย กระชับความสัมพันธ์ ร่วมแบ่งปันความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์ ไปจนถึงการเสริมสร้างขวัญกำลังใจที่จะเห็นอนาคตที่ดีขึ้น

องค์กรที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในทรัพยากรสำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์ จะลุกขึ้นมาบรรเทาความเดือดร้อนด้วยการอุดหนุนซื้อสินค้าและบริการจากชุมชน ห้างร้าน หาบเร่แผงลอยที่ได้รับผลกระทบ หรือมอบเป็นของใช้สอยที่จำเป็นให้ในช่วงสถานการณ์ โดยเชิญชวนให้พนักงานได้อาสาร่วมทำกิจกรรมเหล่านี้ไปด้วย ก็จะยิ่งมีพลังมากขึ้น

ส่วนการทำหน้าที่พลเมืองขององค์กรธุรกิจต่อ “สังคม” โดยรวม กิจการควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมเพิ่มขึ้น เช่น การร่วมชุมนุม หรือให้การสนับสนุนการชุมนุมไม่ว่าฝ่ายใดๆ (ซึ่งไม่รวมถึงการแสดงออกส่วนบุคคล)

กิจกรรมที่องค์กรธุรกิจควรเข้าไปสนับสนุนหรือจัดให้มีขึ้น ได้แก่ กิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ที่มุ่งยกระดับความรู้ความเข้าใจและการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย โดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชน อาทิ การจัดค่ายเยาวชนประชาธิปไตย เพราะปัจจุบันเยาวชนส่วนใหญ่มองว่าการเมืองไทยน่าเบื่อ ไม่สร้างสรรค์ ไร้สาระ เห็นแก่ตัวไม่คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมือง ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบระยะยาวให้กับประเทศไทยว่า เยาวชนไม่มีความผูกพันและไม่รักบ้านเมือง

ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นไว้เมื่อเร็วๆ นี้ต่อสภาพการเมืองในปัจจุบันว่า “พวกผมมีโอกาสได้พูดคุยกับกลุ่มแก๊งแว๊นบอยสกอยเกิร์ลต่างๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามีเยอะมากๆ ที่พวกเขาออกห่างจากสังคม ไม่สนใจคนอื่น แล้วหันไปหาสังคมอินดี้ ไม่อิงกับกระแสหลัก ที่สำคัญยังปฏิเสธและแบนการเมืองและนักการเมือง พวกเขามองว่าการเมืองเป็นสิ่งสกปรก ไม่ว่าจะเป็นด่ากันในสภา แจกของลับ หรือต่อย ถีบกัน ในเวทีหลักเวทีที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาติ วันนี้กลุ่มอินดี้เหล่านี้ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นการเติบโตของกลุ่มที่ด้อยคุณภาพ เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถซับพอร์ตระบบการทำงานบ้านเมืองได้เลย ซึ่งอนาคตชาติเราอันตราย” (ไทยรัฐออนไลน์, 5 เมษายน 2553)

การปลูกฝังเรื่องประชาธิปไตยหรือเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ที่เยาวชน ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ เหมือนจะเป็นวาทกรรมที่ดูดี แต่ลึกๆ แล้ว คือ ความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่ที่ผลักความรับผิดชอบให้แก่คนรุ่นหลัง โดยมิได้ริเริ่มทบทวนแก้ไขที่ตนเอง เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนแม้แต่น้อย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]