Thursday, June 23, 2016

5 ระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง

ในการพัฒนาเครื่องมือสำหรับการวางแผนและการกำหนดกลยุทธ์ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (งานวิจัยในการสนับสนุนของ สกว. ปี 2551-2552) ได้มีการพัฒนาตัวแบบหนึ่งที่เรียกว่า ระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประเมินองค์กรธุรกิจที่เข้าไปศึกษาว่ามีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงมากน้อยเพียงใด และจะมีกระบวนการพัฒนาเพื่อยกระดับให้สู่ขั้น (stage) ที่สูงขึ้นไปได้อย่างไร โดยไม่จำกัดว่าองค์กรนั้นจะใช้หลักการหรือแนวทางปฏิบัติจากแหล่งใด หรือไม่อิงอยู่กับทฤษฎีที่จะพัฒนามาจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งในอนาคต

ตัวแบบระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เกิดจากแนวคิดที่ต่อยอดมาจากเกณฑ์การจำแนกองค์กรธุรกิจที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เข้าข่าย - เข้าใจ - เข้าถึง โดยมีการกำหนดระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เป็น 5 ระดับ ดังนี้

ระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง 5 ระดับ

องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 1 จะแสดงให้เห็นถึงการริเริ่มนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในองค์กร มีการประกาศให้ทราบในองค์กรว่าจะยึดแนวทางการดำเนินงานที่เข้ากับคุณลักษณะใดลักษณะหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงในบางส่วนงาน หรือทดลองนำมาปฏิบัติเป็นตัวอย่าง โดยอาจจะยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก็ได้

องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 2 จะแสดงให้เห็นถึงการขยายผลของการริเริ่มในระดับแรกไปสู่การปฏิบัติในหลายส่วนงาน มีการพูดคุย ศึกษา ค้นคว้า และถ่ายทอดวิธีการดำเนินงานจากส่วนงานหนึ่งไปยังอีกส่วนงานหนึ่งจนเป็นที่แพร่หลายในองค์กร อย่างไรก็ดี ผลของการดำเนินงานในแต่ละส่วนงานจะยังมีความแตกต่างกัน มีทั้งที่สัมฤทธิ์ผลบ้างและไม่สัมฤทธิ์ผลบ้าง

องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 3 จะแสดงให้เห็นถึงการที่องค์กรมีการพัฒนาตัวแบบสำหรับการประยุกต์เศรษฐกิจพอเพียงขึ้นอย่างเป็นระบบ หรือมีการนำหลักการและแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นที่ยอมรับมาปรับใช้ในองค์กร โดยสามารถกำหนดเป็นกลยุทธ์และมีตัวชี้วัดการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 4 จะแสดงให้เห็นถึงการนำตัวแบบ หลักการ กลยุทธ์ และแนวปฏิบัติ รวมทั้งตัวชี้วัดการดำเนินงานมาปฏิบัติใช้ในธุรกิจ มีการบริหารจัดการและการติดตามวัดผลการดำเนินงานตามหลักการและแนวปฏิบัติที่ได้กำหนดขึ้นในระดับที่สามอย่างต่อเนื่อง จนสามารถกำกับดูแลเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่มุ่งหมาย

องค์กรธุรกิจที่ได้รับการประเมินในระดับที่ 5 จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถขององค์กรในการบูรณาการ “วิธี” แห่งการปฏิบัติให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร จนกลายเป็น “วิถี” แห่งการดำเนินธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ และถูกหยิบยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาได้อย่างชัดแจ้ง องค์กรธุรกิจในระดับนี้ จะมีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตการณ์และภัยคุกคามต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่งผลให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ตัวแบบระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงนี้ สามารถพัฒนาไปสู่การจัดทำรายละเอียดของชุดกรรมวิธี (processes) ในแต่ละขั้น สำหรับประกอบการประเมินและใช้วัดเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmarking) การดำเนินงานระหว่างองค์กรได้โดยใช้ชุดตัวชี้วัดการดำเนินงานอ้างอิงในบรรทัดฐานเดียวกัน รวมทั้งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถใช้เผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานตามเกณฑ์ระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, June 16, 2016

เข้าข่าย-เข้าใจ-เข้าถึง กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

เศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกหยิบยกมาเป็นปรัชญาในการวางแนวการบริหารราชการแผ่นดินในทุกรัฐบาล ในมุมหนึ่งควรถือว่าเป็นเรื่องดี ที่ทำให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถูกถ่ายทอดขยายวงออกไปสู่ประชาชนในทุกระดับ โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะในวงของนักวิชาการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามแนวทางพระราชดำริดังกล่าว แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็ได้ทำให้เกิดการตีความหมายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและมีความเข้าใจไปตามแบบของตนเอง จนนำไปสู่การปฏิบัติหรือการประยุกต์ใช้ที่แตกต่างกันตามที่ตนเองเข้าใจ

อุปสรรคในเรื่องของการประยุกต์ใช้ที่กล่าวไว้ข้างต้น มิได้หมายความว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่สามารถนำมาใช้กับนอกภาคเกษตรกรรมได้ แต่เป็นเพราะยังไม่มีผู้ที่วิจัย ทดลอง พิสูจน์ บันทึกผล และนำเสนอเป็นทฤษฎีได้อย่างเป็นระบบ ดังเช่นในกรณีของเกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งที่ในภาคส่วนอื่น อาทิ ภาคเอกชนได้มีการดำเนินงานที่อ้างอิงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และปรากฏให้เห็นว่ามีผลสัมฤทธิ์ตามจุดหมายในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน

ปัญหาเรื่องความเป็นไปได้ในการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเอกชน ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องการสืบค้นเพื่อยืนยันคำตอบ แต่เป็นการค้นหาวิธีการหรือรูปแบบของการประยุกต์ว่ามีขั้นตอนและรายละเอียดอย่างไร ที่นำไปสู่ผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย สอดคล้องตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มากที่สุด

ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้มีการจำแนกระดับของความพอเพียงเป็นสองแบบด้วยกัน คือ เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ซึ่งเทียบเคียงได้กับความพอเพียงในระดับกิจการหรือบริษัท ที่เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรเป็นเบื้องต้น คำนึงถึงการดำเนินกิจการโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรเป็นหลัก พร้อมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนากิจการให้เจริญเติบโตก้าวหน้า โดยยึดหลักของความถูกต้องโปร่งใส และการมีจริยธรรมที่ดี

ขณะที่เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า เทียบเคียงได้กับความพอเพียงในระดับกลุ่มธุรกิจและเครือข่าย ที่เน้นถึงการรวมกลุ่มและการประสานความร่วมมือกัน ดำเนินกิจการเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวม นอกเหนือจากประโยชน์ของกิจการ มีการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถ ตลอดจนการประสานงาน และประสานประโยชน์กันบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน ด้วยเงื่อนไขของคุณธรรม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเหมาะสมเป็นธรรม

สำหรับเงื่อนไขคุณธรรมในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นเหตุให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจนั้น ประกอบด้วยคุณธรรมที่ประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต สำหรับรองรับสนับสนุนวิชาความรู้ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง ส่วนที่สอง คือ ความอดทน มีความเพียร ประกอบการงานด้วยความตั้งใจ ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง เป็นความเพียรที่มีลักษณะกล้าแข็งไม่ขาดสาย มีความหนักแน่นอดทน ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไป และส่วนที่สาม คือ ความรอบคอบระมัดระวัง ที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้กระจ่างแจ้งในทุกแง่ทุกมุม ก่อนที่จะจัดการให้ถูกจุดถูกขั้นตอน ส่วนคุณธรรมที่เกี่ยวกับความเมตตา การแบ่งปัน การช่วยเหลือเกื้อกูล ประสานงาน และประสานประโยชน์กัน ประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า

ในผลการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต (งานวิจัยในการสนับสนุนของ สกว. ปี 2547-2548) ได้จำแนกองค์กรธุรกิจที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มเข้าข่าย - เป็นองค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมเข้าในคุณลักษณะใดลักษณะหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียง หรือมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยธรรมชาติ และอาจไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อน

กลุ่มเข้าใจ - เป็นองค์กรธุรกิจที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกับคุณลักษณะในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แต่อาจมิได้ปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์แบบ

กลุ่มเข้าถึง - เป็นองค์กรธุรกิจที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกับคุณลักษณะและเงื่อนไขในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างครบถ้วน มีคุณธรรมในการประกอบการและปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ จนถูกหยิบยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาอย่างชัดเจน

บทความในตอนต่อไป จะกล่าวถึงการนำเกณฑ์การจำแนกองค์กรธุรกิจที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ‘เข้าข่าย-เข้าใจ-เข้าถึง’ ข้างต้น มาพัฒนาต่อยอดเป็นตัวแบบ Sufficiency Maturity Level หรือวุฒิระดับความพอเพียง 5 ระดับ ที่สามารถใช้สำหรับประเมินเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmarking) การดำเนินงานระหว่างองค์กร และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรมได้

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, June 09, 2016

ได้เวลาของธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย

ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ราว 10.42 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.6 ของประชากรทั้งหมด จึงถือว่า เราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุจำนวน 1 ใน 5 หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านกำลังแรงงาน จะมีผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น จากผลการสำรวจ พบว่า ในจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด มีผู้สูงอายุที่ทำงาน 3.78 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 36.3 จำแนกเป็นเพศชาย 2.23 ล้านคน (ร้อยละ 59.0) และเพศหญิง 1.55 ล้านคน (ร้อยละ 41.0)

โดยสถานภาพการทำงานของผู้สูงอายุที่ทำงานในสี่อันดับแรก เป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างร้อยละ 63.1 เป็นการช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างร้อยละ 18.2 เป็นลูกจ้างเอกชนร้อยละ 12.8 และมีผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นนายจ้างอยู่ร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ซึ่งนับวันแรงงานสูงอายุเหล่านี้จะมีความสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2558)

ภาคเอกชนสามารถดำรงบทบาทเป็นแหล่งรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ ทั้งในรูปของการจ้างงานผู้สูงวัยในตำแหน่งที่เหมาะสมกับวัยวุฒิ ประสบการณ์ และสมรรถภาพของร่างกาย และการจัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการซึ่งมาจากกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นฝั่งอุปทาน (Supply) ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ยังสามารถตอบสนองความต้องการของประชากรสูงวัยที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจในตลาดผู้สูงอายุ ที่เป็นฝั่งอุปสงค์ (Demand) ด้วยเช่นกัน


ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในกลุ่มผู้สูงอายุ สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำแพลตฟอร์ม “ธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” หรือ “Age-Friendly Business” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรธุรกิจทั่วไปที่มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ มีการพัฒนากระบวนงานทางธุรกิจให้พร้อมรองรับความต้องการของผู้สูงอายุ อาทิ การจ้างงานผู้สูงอายุ การพัฒนาสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ในลักษณะที่เป็น CSR-in-process และเพื่อให้องค์กรธุรกิจในกลุ่มที่มีความพร้อม พัฒนาธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ อาทิ การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งโดยพนักงานเกษียณอายุ การแปลงสภาพชมรมผู้สูงอายุในสังกัดของหน่วยงานให้เป็นกิจการที่เลี้ยงตัวเองได้ ในลักษณะที่เป็น Social Enterprise

แพลตฟอร์มดังกล่าว ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่ทำงานได้ใช้ศักยภาพ ภูมิปัญญา ความรู้และประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม รวมทั้งสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่ต่อเนื่องหลังเกษียณอายุ โดยจะเริ่มจากการศึกษาและประมวลแนวคิดและทิศทางในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในรูปแบบ CSR-in-process และ Social Enterprise การรับฟังความคิดเห็นต่อรูปแบบและแนวทางในการขับเคลื่อน และการนำร่ององค์กรที่มีความพร้อมในการพัฒนา ‘ธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย’ รวมทั้งการเผยแพร่กรณีตัวอย่าง ตลอดจนผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยกิจกรรมแรก จะเป็นการระดมความคิดและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่ต้องการพัฒนากระบวนงานทางธุรกิจเดิมหรือพัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งในรูปแบบ CSR-in-process และ Social Enterprise เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน Focus Group: Sustainability Forum for Older Persons ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะจัดขึ้นในวันพฤหัสที่ 23 มิถุนายนนี้ เวลา 13.00 น. - 16.00 น. ณ ห้องบอลรูม ฟอร์เย่ ชั้น 2 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

ภาคเอกชนที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age-Friendly Business) หรือสนใจเข้าร่วมหารือในเวที Focus Group ดังกล่าว (เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้า) สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://agefriendly.biz ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, June 02, 2016

หุ้น ESG100 เลือกอย่างไร?

การเปิดเผยรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) จำนวน 100 บริษัท หรือเรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2558 และดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่สอง ในปีนี้ ด้วยการคัดเลือกจาก 621 บริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) ได้กลายเป็น Benchmark หนึ่งสำหรับบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในการเข้ามาอยู่ในยูนิเวอร์ส ESG100 เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรธุรกิจวิถียั่งยืน

ข้อมูลที่ใช้สำหรับการประเมินในปี พ.ศ.2559 อ้างอิงจากเอกสารรายงานที่บริษัทเผยแพร่ไว้ต่อสาธารณะในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) รวมทั้งในรายงานประจำปี รายงานแห่งความยั่งยืน และข้อมูลผลการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัท จากแหล่งข้อมูล 6 แหล่ง รวมจำนวนกว่า 11,500 จุดข้อมูล

ในปีที่แล้ว การประเมินมุ่งไปที่การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ของบริษัทที่มีความโดดเด่น โดยอ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ อาทิ ข้อมูลการพิจารณารางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมยอดเยี่ยม และรางวัล CSRI Recognition ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) แต่ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการ ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ การวิเคราะห์อุตสาหกรรม กลยุทธ์องค์กร และรายงานทางการเงิน

การประเมิน ESG แบบบูรณาการ

โดยในส่วนการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เป็นการพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรม สำหรับในส่วนการวิเคราะห์กลยุทธ์องค์กร เป็นการพิจารณาวิธีการที่บริษัทใช้ระบุและจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG และในส่วนการวิเคราะห์รายงานทางการเงิน เป็นการพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กร

ทำให้การประเมินในปีนี้ จึงเป็นการยกระดับจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แบบเอกเทศ มาสู่การวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

ส่วนเกณฑ์เบื้องต้นที่ใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ ESG100 ปี 2559 นี้ ประกอบด้วย เกณฑ์ผลการดำเนินงานของบริษัทซึ่งต้องมีผลประกอบการที่เป็นกำไรติดต่อกันสองรอบปีบัญชีล่าสุด เกณฑ์การปลอดจากการกระทำความผิดโดยที่บริษัทหรือคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต้องไม่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน และเกณฑ์การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ของบริษัทเป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด เป็นต้น

เนื่องจากการพิจารณาเพื่อคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนเข้าในยูนิเวอร์ส ESG100 ได้ใช้ข้อมูล ESG ที่บริษัทเผยแพร่ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นสำคัญ รวมถึงข้อมูล ESG ที่มีการเปิดเผยหรือปรากฏต่อสาธารณะ ในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หรือในรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) หรือในรายงานอื่น ตามแต่กรณี โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนได้จัดทำข้อมูลเพื่อเปิดเผยในแบบ 56-1 หรือ 56-2 ตามรายการที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน และเป็นไปตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง

นั่นหมายความว่า บริษัทจดทะเบียนควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน CSR-in-process ภาคปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลการดำเนินงานที่เป็นภาคข้อมูล ESG สำหรับการเปิดเผยต่อสาธารณะตามช่องทางปกติที่กำหนด โดยไม่มีความจำเป็นต้องส่งข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติม สำหรับใช้ในการประเมิน ESG100 แต่อย่างใด

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]