Thursday, November 27, 2014

CSV ในธุรกิจด้านสุขภาพ

ธุรกิจด้านสุขภาพ ในกลุ่มเภสัชภัณฑ์ เทคนิคการแพทย์ หรือเทคโนโลยีการอาหาร เป็นกิจการที่มีโอกาสสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) โดยใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ในธุรกิจหลักได้อย่างชัดเจน และเป็นธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโตสูง

เนื่องจากฐานตลาดของผลิตภัณฑ์ในธุรกิจสามารถขยายครอบคลุมไปยังส่วนตลาดที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีฐานรายได้ต่ำ (Bottom of the Pyramid) หรือกลุ่มชายขอบที่ยากต่อการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการ (Corners of the Pyramid) ในรูปแบบที่ธุรกิจสามารถออกแบบหรือดัดแปลงเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาด้านสุขภาพที่คนกลุ่มเหล่านี้เผชิญอยู่

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการที่ธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงคนสองกลุ่มนี้ คือ การขาดแรงจูงใจทางธุรกิจ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานและช่องทางการจัดจำหน่ายไม่เอื้ออำนวย เกิดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงจนไม่คุ้มค่ากับการดำเนินงาน ตลาดของธุรกิจด้านสุขภาพจึงถูกจำกัดวงอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง หรือที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่

แต่แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น คือ ภาวะอิ่มตัวของผลิตภัณฑ์ (ที่เป็นแบบเดียวกัน) ในตลาดกลุ่มนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมากต่างก็ต้องการเข้าถึงตลาดกลุ่มเดียวกันนี้

พัฒนาการในธุรกิจด้านสุขภาพ ยังเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม หรือสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค คำนึงถึงการผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อประเด็นด้านสุขภาพของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น มีการใช้สารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดการใช้สารเคมีหรือสารปรุงแต่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพิ่มการใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์ ผลักดันให้เกิดตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงสุขภาพ เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่มีแบบแผนการใช้ชีวิตที่ใส่ใจต่อสุขภาพและความยั่งยืน (เช่น กลุ่ม LOHAS) ซึ่งนับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

กิจการที่มีศักยภาพในการคิดค้น พัฒนา หรือดัดแปลงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกับตลาดหรือกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ด้วยการใช้สินทรัพย์และความเชี่ยวชาญหลักของกิจการ เพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าร่วม สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเภสัชภัณฑ์และเทคนิคการแพทย์ (Pharmaceutical and Medical Technology) กลุ่มเทคโนโลยีการอาหาร (Food Technology) และกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค (Consumer Products)


ในระดับผลิตภัณฑ์ กิจการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนน้อยและต้นทุนต่ำเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงในตลาดท้องถิ่น มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับคนชั้นฐานราก ด้วยคุณภาพในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

ในระดับห่วงโซ่คุณค่า กิจการสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิต ช่องทางการขายและการจัดจำหน่ายให้เหมาะกับสภาพท้องถิ่นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับการรักษาได้ดียิ่งขึ้น มีการขยายช่องทางการบริการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล

ในระดับกลุ่มความร่วมมือ กิจการสามารถเสริมสร้างระบบสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง เอื้อต่อการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น มีการขยายบทบาทการให้ความรู้เรื่องสุขภาพแก่ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น

ยังมีการสร้างคุณค่าร่วมในธุรกิจด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ปัญหาทางสังคมที่รอการแก้ไขไปพร้อมๆ กัน โดยจะได้ทยอยนำเสนอผ่านทางคอลัมน์หน้าต่าง CSR นี้เป็นระยะๆ ในโอกาสต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 20, 2014

โอกาสธุรกิจ คุณค่าสังคม

สัปดาห์ที่ผ่านมา (11-13 พฤศจิกายน) Foundation Strategy Group (FSG) ผู้ที่ริเริ่ม Shared Value Initiative ได้จัดอบรมที่ปรึกษาในเครือข่ายจำนวน 12 องค์กร จาก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สเปน เบลเยียม อินเดีย เยอรมนี ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา ตุรกี อิตาลี ชิลี และไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยองค์กรที่ปรึกษาจากประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมอบรม คือ บริษัท เอ็กซ์เพิร์ท แอสเปค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

การจัดอบรมครั้งนี้นับเป็นรอบที่ 4 โดยมีวิทยากรนำการอบรม คือ "Mark R. Kramer" หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Foundation Strategy Group ร่วมกับ "Michael E. Porter" เจ้าของแนวคิด Creating Shared Value (CSV) ที่ภาคเอกชนได้นำมาใช้ขับเคลื่อนเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างกว้างขวาง

หนึ่งในหัวข้อที่ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนในการอบรม คือ การช่วยเหลือองค์กรในการระบุโอกาสแห่งการสร้างคุณค่าร่วม โดยใช้เครื่องมือ SVOI (Shared Value Opportunity Identification) ที่ FSG และ Shared Value Initiative ได้พัฒนาขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กิจกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มีทั้งที่เป็นการสร้างและการทำลายคุณค่า ส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างและสภาพแวดล้อมที่อยู่รายรอบ ในหลายกรณี ผลกระทบถูกถ่ายทอดไปยังผู้คนที่อยู่ไกลออกไป รวมทั้งระบบนิเวศโดยรวม เช่น ความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศ ผลักดันให้เกิดการเสาะหาแหล่งเชื้อเพลิงสำรอง เกิดเป็นโครงการสำรวจและผลิตนอกชายฝั่ง การขนถ่ายเชื้อเพลิงที่มีโอกาสหกรั่วไหลสู่สภาพแวดล้อม เสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศ ซึ่งเกิดเป็นกรณีอยู่เนืองๆ

ตัวอย่างที่ยกขึ้นมานี้ มิได้ต้องการนำไปสู่การระงับหรือยกเลิกกิจกรรมทางธุรกิจที่มีส่วนในการสร้างคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจ หรือการรักษาความมั่นคงของประเทศ เพื่อแลกกับความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น แต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงการสร้างคุณค่าที่ต้องดำเนินควบคู่กับการป้องกันความเสี่ยงต่อเหตุการณ์หรือการดำเนินงานที่อาจส่งผลเสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือที่ดีไปกว่านั้น คือ ใช้โอกาสที่กิจการได้รับ สร้างให้เกิดเป็นกิจกรรมที่สามารถส่งมอบคุณค่าร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน

SVOI เป็นเครื่องมือสำหรับองค์กรในการระบุโอกาสที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม ด้วยการพิจารณาประเด็นทางสังคมที่ธุรกิจได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือที่ประสงค์จะเข้าไปเกี่ยวข้อง บนเงื่อนไขที่องค์กรสามารถใช้ความเชี่ยวชาญหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ในการดำเนินการกับประเด็นดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดเป็นประสิทธิผลในเชิงคุณค่าทั้งแก่ธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน

เครื่องมือ SVOI นี้ ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการค้นหาโอกาสการส่งมอบคุณค่าทั้งที่อยู่ในรูปของตัวเงินและที่มิได้อยู่ในรูปของตัวเงิน โดยไม่ได้จำกัดว่าผลลัพธ์หรือคุณค่าที่ส่งมอบนั้น จะต้องนำมาคำนวณเพื่อหาผลตอบแทนที่เป็นมูลค่าหรือตัวเงินเท่านั้น

ตัวอย่างของคุณค่าทางธุรกิจที่ได้รับ ได้แก่ ยอดรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น การเติบโตของตลาด ต้นทุนลดลง การมีแหล่งจัดหาที่มั่นคง ผลิตภาพดีขึ้น คุณภาพดีขึ้น โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการกระจายสินค้าและบริการดีขึ้น ระดับการเข้าถึงแรงงานสูงขึ้น ขีดความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น

ตัวอย่างของคุณค่าทางสังคมที่ได้รับ ได้แก่ ยอดการใช้พลังงานลดลง ยอดการใช้น้ำลดลง ยอดการใช้วัตถุดิบลดลง ทักษะในการทำงานดีขึ้น รายรับของพนักงานดีขึ้น ระบบการดูแลผู้ป่วยได้รับการปรับปรุง ปริมาณรอยเท้าคาร์บอนลดลง โภชนาการที่ดีขึ้น การศึกษาที่ดีขึ้น การสร้างงานเพิ่มขึ้น สุขภาวะที่ดีขึ้น เป็นต้น

องค์กรที่กำลังริเริ่มนำการสร้างคุณค่าร่วมมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แก้โจทย์หรือปัญหาทางสังคมไปพร้อมกัน สามารถใช้ประโยชน์จากการระบุโอกาสที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วมด้วยเครื่องมือ SVOI มาช่วยองค์กรในการค้นหาและคัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม เพื่อนำมาพัฒนาเป็นความริเริ่มด้าน CSV ที่เหมาะสมกับองค์กร สอดคล้องกับแง่มุมความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ พร้อมด้วยแนวทางการระบุผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคมที่คาดว่าจะได้รับอย่างเป็นรูปธรรม

ในโอกาสที่บริษัท เอ็กซ์เพิร์ท แอสเปค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้เข้าร่วมรับการอบรมจาก FSG และ Shared Value Initiative ในครั้งนี้ จึงได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “CSV Affiliate Experiences 2014” ให้แก่องค์กรธุรกิจที่สนใจ เพื่อเข้าร่วมรับฟังการ Update ข้อมูลความเคลื่อนไหวล่าสุดเพื่อสร้างสรรค์งาน CSV ให้กับกิจการ ในวันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 13.00 - 17.00 น. ณ ห้องกรุงเทพ 2 โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.eai.co.th...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, November 06, 2014

วงจรข้อมูลความยั่งยืน

ในบ้านเรา เริ่มได้ยินว่ามีบริษัทจดทะเบียนไทยหลายแห่งที่ได้เข้าอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ซึ่งเอสแอนด์พี/ดาวโจนส์ (ควบรวมกันในปี 2554) ถือเป็นผู้จัดทำและให้บริการดัชนีสำหรับการลงทุนรายใหญ่รายหนึ่งที่กำเนิดจากฝั่งอเมริกา ขณะที่ในฝั่งยุโรป (อังกฤษ) มีฟุตซี่ (FTSE) ที่ให้บริการข้อมูลดัชนีที่คล้ายคลึงกัน

เอสแอนด์พี/ดาวโจนส์ และฟุตซี่ เป็นผู้เล่นกลุ่มที่ให้บริการข้อมูลดัชนีในวงจรข้อมูลความยั่งยืน ซึ่งนำข้อมูลที่ใช้จัดทำดัชนีมาจากบริษัทประเมินหรือบริษัทวิจัย เช่น RobecoSAM หรือ Sustainalytics ขณะที่บริษัทประเมินหรือบริษัทวิจัยเหล่านี้ นอกจากจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิเองแล้ว จะซื้อจากบริษัทขายข้อมูลอย่าง บลูมเบิร์ก หรือทอมสัน รอยเตอร์ส โดยที่บริษัทขายข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นผู้ประกอบร่างข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิ เช่น ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยตามข้อกำหนด รายงานผลประกอบการ รวมถึงผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตลอดจนจากแหล่งทุติยภูมิ เช่น เสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้เสีย ภาคประชาสังคม และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสื่อต่างๆ


บริษัทที่เปิดเผยข้อมูลได้อย่างชัดเจน ครบถ้วน และเป็นไปตามบรรทัดฐานสากลตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากผู้รวบรวมข้อมูล (Aggregators) ไปยังบริษัทวิจัยข้อมูล (Researchers) และบริษัทผู้ประเมิน (Raters) สู่การจัดทำข้อมูลดัชนี (Indexes) ส่งตรงไปยังผู้ใช้ข้อมูล (Users) ซึ่งเป็นผู้ลงทุนโดยส่วนใหญ่ และผู้ใช้ข้อมูลปลายทาง จะยังประโยชน์ให้แก่ตัวองค์กรต่อการเป็นที่ยอมรับและการตัดสินใจลงทุนในบริษัท

ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่พัฒนาแนวทางการเปิดเผยข้อมูลหรือกรอบการรายงาน เช่น IIRC, GRI, SASB ได้ออกเกณฑ์วิธีใหม่ๆ (เช่น การสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสียเพื่อระบุเรื่องที่เกี่ยวข้อง การกำหนดสารัตถภาพของประเด็นที่เลือกมาดำเนินการ) เพื่อช่วยเหลือบริษัทในการเปิดเผยข้อมูลและการรายงานข้อมูลความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลักการรายงานความยั่งยืนของ GRI (ปัจจุบันใช้ฉบับ G4) ได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) ที่ใช้อ้างอิงสำหรับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนอย่างแพร่หลายในระดับสากล

อาจมีข้อกังขาว่า ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยนั้น มีความน่าเชื่อถือหรือถูกต้องตรงกับความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด จึงได้เกิดผู้เล่นอีกกลุ่มหนึ่งในตลาดทุน เพื่อพยายามแก้ข้อจำกัดในเรื่องการขาดความเชื่อมั่นในข้อมูลดังกล่าว โดยในส่วนของข้อมูลบริษัท ได้เกิดผู้ให้บริการงานให้ความเชื่อมั่น (Assurance Providers) ต่อการเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน หรือรายงานด้านความยั่งยืน ตามมาตรฐานการสอบทานและการให้ความเชื่อมั่นที่พัฒนาขึ้นมารองรับจากหน่วยงาน IAASB และ AA1000 เป็นต้น

ในส่วนของข้อมูลวิจัยที่เผยแพร่จากบริษัทวิจัย ได้มีมาตรฐานคุณภาพการวิจัยข้อมูลการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (ARISTA) เกิดขึ้น เพื่อให้ความมั่นใจว่าข้อมูลวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่มาจากกระบวนการวิจัยที่น่าเชื่อถือ มีความเป็นกลาง ได้คุณภาพ และสามารถตรวจสอบได้ ปัจจุบัน มาตรฐานที่ใช้เป็นฉบับที่ 3 และมีองค์กรที่ร่วมลงนาม 14 แห่ง

ในส่วนของการประเมิน จัดอันดับ และจัดทำดัชนี ได้มีการพัฒนามาตรฐานด้านการประเมินความยั่งยืน โดยหน่วยงานความริเริ่มสากลด้านการประเมินความยั่งยืน (GISR) มีระเบียบวิธีการประเมินทั้งในด้านกระบวนการและด้านเนื้อหา ที่ให้คำนึงถึงความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ รวมถึงเป้าหมายการดำเนินงานในระยะยาวของบริษัทที่ใช้เป็นแนวกำกับผลลัพธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะกลางควบคู่ไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ ผลได้ทางตรงของบริษัทในการเปิดเผยข้อมูลที่ได้คุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล คือ โอกาสที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตของธุรกิจจากผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ที่ใช้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ประกอบการตัดสินใจลงทุน

ส่วนผลได้ทางอ้อมของบริษัท (แต่ให้ผลทันที) คือ การยกระดับภาพลักษณ์และการเป็นที่ยอมรับขององค์กร จากการได้รับบทวิเคราะห์ในเชิงบวกจากบริษัทวิจัย อันดับที่ดีจากบริษัทผู้ประเมิน และการได้เข้าอยู่ในดัชนีชั้นนำของโลก

ด้วยผลได้ทางตรงและทางอ้อมที่จะเกิดแก่ทั้งฝั่งบริษัทและกับฝั่งผู้ลงทุน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์รวมทั้งหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ต่างออกมาตรการในการส่งเสริมให้บริษัทดำเนินการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีมาตรการในการสนับสนุนให้ผู้ลงทุนใช้ข้อมูล ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทที่ขาดธรรมาภิบาล ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างผลกระทบเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อความยั่งยืนและผลประกอบการในระยะยาวของกิจการ

การลงทุนเป็นโอกาส ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ESG ก่อนการตัดสินใจลงทุน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]