Thursday, March 22, 2012

ดูยังไง CSR เวิร์กไม่เวิร์ก

การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่วันนี้หลายองค์กรได้นำมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักทางธุรกิจไปแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องที่ผู้บริหารหลายๆ ท่าน มีความข้องใจสงสัยว่า ทำไปแล้ว จะได้อะไรบ้าง นอกจากหน้าตาหรือภาพลักษณ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี หรือเป็นองค์กรที่ห่วงใยตอบแทนสังคม และในฐานะผู้บริหารที่กำกับดูแลองค์กร จะทราบได้อย่างไรว่า องค์กรตนเองประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเรื่อง CSR

เพื่อให้ผู้บริหารที่ยังไม่คุ้นชินกับเรื่อง CSR แต่คุ้นเคยกับการบริหารธุรกิจเข้าใจได้ง่ายๆ ให้ลองตั้งคำถามที่ตนเองน่าจะมีคำตอบก่อนก็คือ ท่านวัดอย่างไรว่าธุรกิจที่ท่านบริหารอยู่ประสบผลสำเร็จ

ถ้าธุรกิจท่านมีขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของก็ลงมาบริหารเอง ก็จะมีคำตอบทำนองว่า ก็ต้องทำให้กิจการอยู่ได้ มีกำไร มั่นคง และมีศักยภาพที่จะเจริญเติบโตหรือขยายออกไปได้ในอนาคต ผู้บริหารจึงให้ความสำคัญที่ตลาด ซึ่งมีลูกค้าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่สุด โจทย์ของธุรกิจจึงมุ่งที่การมีหรือได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นที่ต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ไล่เรียงมาถึงการทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนเองมีคุณลักษณะ (Attribute) ที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของลูกค้ากลุ่มดังกล่าว ยิ่งถ้ามีได้คนเดียวยิ่งดี (เรื่องลิขสิทธ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า สูตรลับฯ จึงถูกออกแบบมาเพื่อการนี้)

สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มักเป็นบริษัทมหาชน ไม่ได้มีเจ้าของคนเดียว และมีผู้บริหารมืออาชีพ เป้าหมายหรือความสำเร็จของกิจการก็เป็นเรื่องเดียวกัน แต่จะใช้คำใหญ่กว่าคือ การสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งก็ต้องมาจากการที่บริษัทมีรายได้และผลกำไรที่มั่นคง สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง โจทย์ของธุรกิจในกรณีนี้ได้ให้ความสำคัญที่ตลาดไม่แตกต่างกัน

กิจการทั้งหลายทั้งปวงทางธุรกิจ จึงให้ความสำคัญที่การตลาด เพื่อให้เกิดธุรกรรม นำรายได้เข้ากิจการ บริหารต้นทุน ให้เหลือสุทธิเป็นกำไร สะสมกำไรเพื่อเป็นทุนสำหรับขยายตลาด ขยายกิจการสืบเนื่องต่อไปตามหลัก Going Concern

เงื่อนไขความสำเร็จของธุรกิจ จึงอยู่ที่การยอมรับของตลาด หรือของลูกค้าที่มีต่อตัวผลิตภัณฑ์ ต่อแบรนด์ ต่อองค์กร ต่อผู้นำองค์กร หรือต่อบุคคลในองค์กร (ก็มี)

กลับมาในเรื่อง CSR เงื่อนไขความสำเร็จของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม อยู่ที่ “การยอมรับ” เช่นกัน แต่มิได้จำกัดเพียงการยอมรับของตลาด โดยมีหน่วยวัดเป็นเม็ดเงินที่ได้จากลูกค้าตามโจทย์ของธุรกิจปกติ แต่เป็นการยอมรับของสังคม ซึ่งประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้อง (ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละกิจการ) โดยมีหน่วยวัดที่มิใช่ตัวเงิน และไม่ได้คำนึงถึงผู้รับประโยชน์ที่เป็นผู้ถือหุ้นเท่านั้น

สาเหตุที่เรื่อง CSR มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ และได้ถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์หนึ่งทางธุรกิจ ก็เพราะ หากธุรกิจประสบปัญหาเรื่องการยอมรับจากสังคม เช่น ชุมชนรอบโรงงานเดือดร้อนจากการประกอบการ ลุกขึ้นมาต่อต้านการดำเนินงานของกิจการ ความชะงักงันของธุรกิจก็อาจเกิดขึ้น หรือหากกิจการละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานของกิจการอาจถูกสั่งระงับโดยหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล หรือหากกิจการบกพร่องเรื่องสวัสดิการ การดูแลความปลอดภัย อาชีวอนามัยของแรงงาน พนักงานในองค์กรก็อาจลุกขึ้นมาเรียกร้อง ประท้วง นัดหยุดงาน จนเป็นเหตุให้บริการทางธุรกิจสะดุดหยุดลง

การวัดความสำเร็จของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ไม่ได้อยู่ที่การ “ได้ทำ” ตามแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม CSR ที่วางไว้ และได้ตอบโจทย์ตามตัวชี้วัดการดำเนินงานของแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นตัวชี้วัดระดับ “ผลผลิต” แต่ความสำเร็จของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม จะต้องมุ่งให้เกิด “ผลลัพธ์” จากการดำเนินงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิด “การยอมรับ” ของผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นเป้าหมายของแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม CSR เป็นสำคัญ

ขณะที่เป้าหมายสูงสุดของการดำเนินธุรกิจอยู่ที่การแสวงหากำไรสูงสุด (Maximize Profit) สำหรับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น เป้าหมายยอดสุดจะอยู่ที่การสร้างผลได้สูงสุดจากความทุ่มเท (Maximize Contribution) ขององค์กร ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, March 15, 2012

Benefit Corp องค์กรธุรกิจยุคใหม่

เป็นที่รับรู้กันว่าภาคธุรกิจนั้นเป็นกลจักรหลักต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและมีศักยภาพสูงในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่น่าเสียดายว่า แบบแผนการดำเนินธุรกิจภายใต้รูปแบบองค์กรในปัจจุบัน มุ่งที่จะแสวงหากำไรหรือสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นเป้าหมายยอดสุดเหนือสิ่งใด ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม (for-profit-at-all-cost)

เพราะความเชื่อที่ปลูกฝังกันมาว่า ภาคเอกชนมีหน้าที่ทำธุรกิจ การทำธุรกิจก็ต้องมุ่งกำไร และกิจกรรมทางธุรกิจนั้นแหละที่สร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในตัว เช่น การจ้างงาน การผลิตสินค้าที่มีคุณค่าต่อการใช้สอย หรือความสะดวกสบายที่ได้รับจากบริการต่างๆ อันเกิดจากการแข่งขันทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน ก็มอบบทบาทในการดูแลแก้ไขปัญหาสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ภาครัฐและภาคประชาสังคมเป็นผู้ทำหน้าที่

แต่ความจริงที่เกิดขึ้นคือ ระหว่างที่ธุรกิจทำหน้าที่แสวงหากำไรตามบทบาทของตน มีทั้งการสร้างงานให้แก่คนในสังคม (เมือง) พร้อมกับความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่กระจายอย่างไม่ทั่วถึง (ท้องถิ่น) มีทั้งการสร้างสินค้าที่มีคุณค่า พร้อมกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า มีทั้งการสร้างบริการที่สะดวกสบาย พร้อมกับผลกระทบที่ทำให้สิ่งแวดล้อมไม่สบาย สะสมจนทำให้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมีปริมาณและระดับความรุนแรงเกินกว่าที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมจะตามแก้ไขที่ปลายทางได้ลำพัง โดยไม่ใส่ใจเรื่องการระงับป้องกันที่ต้นทาง ที่ซึ่งภาคธุรกิจเป็นต้นเหตุสำคัญ

การปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินธุรกิจ ด้วยเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) จึงเป็นกระแสที่ตื่นตัวอย่างมากในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ ก็เป็นไปเพื่อความพยายามในการลดหรือระงับผลกระทบที่ต้นทางหรือในระหว่างทาง นอกเหนือจากการแก้ไขเยียวยาที่ปลายทางในรูปความรับผิดชอบต่อสังคมหลังกระบวนการธุรกิจ (CSR-after-process) เช่น การบริจาค การปลูกป่า ฯลฯ

การพัฒนารูปแบบองค์กรธุรกิจใหม่ๆ เพื่อทลายข้อจำกัดของการก่อตั้งธุรกิจเพื่อมุ่งกำไรอย่างเดียว คือหนทางหนึ่งในการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการแสวงหากำไร และหนึ่งในรูปแบบองค์กรธุรกิจยุคใหม่ที่เกิดขึ้น คือ Benefit Corporation

อัตถบริษัท หรือ กิจการมุ่งประโยชน์ เป็นรูปแบบขององค์กรที่ใช้พลังของธุรกิจในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทลายข้อจำกัดหลักสองประการ คือ ในด้านกฎหมาย (ในสหรัฐอเมริกา) ที่ระบุให้กรรมการบริษัทต้องทำหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ซึ่งทำให้มีความยากลำบากต่อการพิจารณาประโยชน์ในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ชุมชน รวมถึงสิ่งแวดล้อม และในด้านมาตรฐาน ที่ยังขาดเกณฑ์และตัววัดความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งทำให้มีความยากลำบากต่อผู้บริโภค ผู้ลงทุน รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย ในการแยกแยะระหว่าง ‘บริษัทที่ดี’ (good company) กับ ‘บริษัทที่ทำการตลาดดี’ (good marketing)

คุณลักษณะของกิจการมุ่งประโยชน์ ที่แตกต่างจากกิจการมุ่งกำไรทั่วไป ประการแรก กิจการต้องมีความมุ่งหมายที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ประการที่สอง กรรมการบริษัทต้องขยายบทบาทหน้าที่ในการพิจารณาสร้างประโยชน์ไม่เฉพาะที่เป็นตัวเงินให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่ต้องครอบคลุมถึงประโยชน์ที่ไม่เป็นตัวเงินให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียอื่น และประการที่สาม กิจการมีหน้าที่ในการรายงานผลการดำเนินงานโดยรวมในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมประจำปีด้วยแบบการรายงานที่เข้าใจง่าย น่าเชื่อถือ มีความเป็นอิสระ และโปร่งใส ได้มาตรฐานจากภายนอก

ปัจจุบัน มีมลรัฐในอเมริกาที่ได้ตรากฎหมายรับรองกิจการ Benefit Corp แล้วทั้งสิ้น 7 รัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก ฮาวาย เวอร์จิเนีย แมรี่แลนด์ เวอร์มอนท์ นิวเจอร์ซีย์ และมีอีก 7 รัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณา อาทิ นอร์ทแคโรไลนา เพนซิลเวเนีย มิชิแกน วอชิงตันดีซี ด้วยการผลักดันของ B Lab องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมกิจการมุ่งประโยชน์ด้วยการสร้างเครือข่ายอัตถบริษัทที่ได้รับการรับรอง (Certified B Corporations)

สำหรับบริษัทที่ประกอบการอยู่แล้ว และต้องการปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของกิจการมุ่งประโยชน์ โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนตามกฎหมายกิจการ Benefit Corp ก็สามารถเข้าร่วมในเครือข่ายอัตถบริษัทที่ได้รับการรับรองตามข้อกำหนดของ B Lab ซึ่งปัจจุบันมี Certified B Corp อยู่จำนวน 517 กิจการ กระจายอยู่ใน 60 สาขาอุตสาหกรรม มีรายรับรวมกันกว่า 9 หมื่นล้านบาท

ในประเทศไทย B Lab ได้เข้ามาบุกเบิกความร่วมมือในการส่งเสริมกิจการมุ่งประโยชน์กับ NISE Corp เพื่อช่วยเหลือองค์กรธุรกิจที่ต้องการปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับผลการดำเนินงานที่คำนึงถึง Triple Bottom Line อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยยกระดับกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, March 01, 2012

บริหารความต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืน

ธุรกิจในประเทศไทยได้มีความตื่นตัวอย่างจริงจังที่จะจัดทำแผนรองรับภัยพิบัติ นับตั้งแต่การเกิดวินาศภัยจากเหตุการณ์จลาจลเมื่อปี 2553 และมาถึงอุทกภัยปี 2554 หลายองค์กรได้มีการนำแผนเหล่านั้นมาใช้ในการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) เพื่อมิให้การดำเนินงานหยุดชะงักจากเหตุการณ์หรือภัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ในบริบทของการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ จะครอบคลุมทั้งเรื่องการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ การนำธุรกิจกลับคืนสู่สภาพปกติ การจัดการในภาวะวิกฤต การจัดการอุบัติการณ์ การจัดการในภาวะฉุกเฉิน การเรียกคืนผลิตภัณฑ์ การวางแผนสำรอง หรือที่เรียกกันในภาษาทั่วไปว่า ‘Plan B’ ซึ่งการมีระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย (ทั้งผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ฯ) และรักษาชื่อเสียงองค์กร ที่สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องตามภารกิจและข้อผูกพันตามกฎหมาย แม้ในภาวะวิกฤต

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจหลายแห่งได้นำมาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจมาใช้เป็นภาษากลางที่จะสื่อสารระหว่างองค์กรในห่วงโซ่ธุรกิจเพื่อให้เกิดความเข้าใจและให้มีความเข้ากันได้ รวมทั้งเพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง ทำให้ BS 25999 ซึ่งเป็นมาตรฐานแห่งชาติของประเทศอังกฤษ (British Standard) ด้านความต่อเนื่องทางธุรกิจ ถูกนำมาอ้างอิงอย่างแพร่หลาย แม้กระทั่งองค์กรธุรกิจในประเทศไทยหลายแห่ง ก็ได้มีการอ้างอิงตามมาตรฐานฉบับนี้

ในปีนี้ มาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ISO 22301 Societal security - Business continuity management systems ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศด้านความต่อเนื่องทางธุรกิจ จะถูกประกาศใช้ และจะมีผลทำให้มาตรฐาน BS 25999 ถูกเพิกถอนโดยสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศอังกฤษ (BSI) เพื่อเปลี่ยนผ่านไปยังมาตรฐานระหว่างประเทศในหัวเรื่องเดียวกันแทน

ในมาตรฐานฉบับใหม่นี้ องค์ประกอบสำคัญๆ ของการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ มิได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่นักบริหารความต่อเนื่องและในวงการธุรกิจได้ให้การยอมรับมาก่อนแล้ว อย่างไรก็ดี มาตรฐาน ISO 22301 ได้ให้น้ำหนักกับแง่มุมพื้นฐานบางประการในการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ อาทิ ความจำเป็นสำหรับแนวทางเชิงรุกในการวางแผน ดุลพินิจในเรื่องทัศนคติองค์กรที่มีต่อความเสี่ยง รวมทั้งการเชิ่อมโยงกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจน ตลอดจนการคำนึงถึงความต้องการและความคาดหวังจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลัก

ผู้บริหารระดับสูง นอกจากจะเป็นผู้นำในการวางนโยบาย วัตถุประสงค์ บทบาทและความรับผิดชอบแล้ว ยังต้องกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการรับความเสี่ยง การฝึกฝนและทดสอบอย่างจริงจัง เพื่อให้แน่ใจว่าสมรรถนะการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจได้ถูกสอบทานโดยผู้ตรวจสอบและผู้บริหารอย่างรอบด้าน

การวางแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ จะต้องเป็นไปด้วยความเข้าใจในบริบทขององค์กร และสามารถระบุถึงความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจ (ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ในมาตรการเชิงป้องกัน) ในอันที่จะช่วยลดความจำเป็นของการมีมาตรการแก้ไขในภายหลัง เนื่องจากจุดมุ่งเน้นอยู่บนการวางแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจและความตระหนักถึงโอกาสในการปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

การสนับสนุนงานบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจที่ระดับบริหารต้องรับทราบนั้น ก็เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรที่ได้รับจัดสรรต้องมีความเหมาะสมและเพียงพอต่อการดำเนินงาน ระดับความเหมาะสมจะถูกประเมินจากการวิเคราะห์สมรรถภาพ (Competency Analysis) ขณะที่การสื่อสารงานบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอกองค์กรจะต้องคำนึงถึงเนื้อหา วิธีการ และจังหวะเวลา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำหรับการวางแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจด้วย

การดำเนินงานบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจจะประกอบด้วยส่วนที่สำคัญๆ อาทิ ระเบียบวิธีและงานเอกสารสำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ (Business Impact Analysis: BIA) และการประเมินความเสี่ยง ระเบียบวิธีในการคัดเลือกกลยุทธ์ความต่อเนื่องทางธุรกิจ แผนและกระบวนงานความต่อเนื่องทางธุรกิจ ที่ซึ่งมาตรฐาน ISO 22301 มุ่งเน้นวิธีดำเนินการตรวจหาอุบัติการณ์ (Incident) การสื่อสารในช่วงต้น และความจำเป็นในการเฝ้าสังเกตอุบัติการณ์เป็นระยะๆ มากกว่าที่เห็นในมาตรฐานระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจอื่นๆ รวมทั้งข้อกำหนดที่คำนึงถึงการกู้คืนสภาพการดำเนินงานให้กลับสู่สภาวะปกติ

ประการสุดท้าย สิ่งที่มาตรฐาน ISO 22301 ให้ความสำคัญเช่นมาตรฐานระบบการบริหารอื่นๆ ได้แก่ การประเมินผลการดำเนินงานที่องค์กรจำต้องเลือกตัววัดการดำเนินงานที่เหมาะสม การตรวจสอบภายในและการสอบทานจากผู้บริหาร จะถูกใช้เป็นแนวทางหลักในการทบทวนการดำเนินงานและเครื่องมือบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจสำหรับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลได้สูงสุดที่องค์กรคาดหมายก็คือการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]