Thursday, January 27, 2011

6 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ CSR

เริ่มต้นศักราชปีกระต่าย ผมก็ยังได้รับคำถามเกี่ยวกับ CSR ที่พบอยู่บ่อยๆ จากผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ เลยถือโอกาสนำเอาคำถาม-คำตอบบางส่วนในหนังสือเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม ฉบับปรับปรุงใหม่ (พิมพ์ครั้งที่ 3) ที่จัดทำโดยสำนักงาน ก.ล.ต. มาเผยแพร่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันอย่างถ้วนหน้า

1. CSR ทำเพื่ออะไร? ใครได้ประโยชน์?
แนวคิดพื้นฐานของ CSR คือ การทำให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน การที่ธุรกิจทำ CSR ธุรกิจยังต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นในการบริหารกิจการให้มีผลกำไร และยังเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน รวมถึงสามารถขยายกิจการให้เจริญเติบโตในสังคมและชุมชนที่ธุรกิจดำเนินอยู่ได้อย่างยั่งยืน

สำหรับประโยชน์จากการทำ CSR จะส่งผลถึงผู้เกี่ยวข้องหลายด้าน เช่น ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นในแง่มูลค่าหุ้นที่สูงขึ้น ประโยชน์ต่อพนักงานทำให้เกิดความสุขและความภาคภูมิใจในการทำงานร่วมกับองค์กร ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวธุรกิจเองในการเป็นที่ยอมรับในสังคม ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้กับธุรกิจด้วย นอกจากนี้การทำ CSR ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทดแทนด้วย

2. การบริจาคถือเป็น CSR หรือไม่ อย่างไร?
การบริจาคพอจะอนุมานได้ว่าเป็น CSR แบบหนึ่ง แต่ผลที่ได้อาจไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเงินหรือของที่บริจาคไปอาจไม่ได้ช่วยให้ผู้รับสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว เช่น การบริจาคเงินให้ผู้ยากไร้อาจก่อให้เกิดประโยชน์ ในระยะสั้น เปรียบเทียบกับการสอนอาชีพให้แก่คนชุมชน ซึ่งจะช่วยให้คนในชุมชนนั้นสามารถดำรงชีพด้วยตนเองต่อไปได้ในระยะยาวย่อมมีความยั่งยืนมากกว่า

ดังนั้นในแวดวง CSR ในระยะหลัง จึงมีการพูดถึง “การบริจาคเชิงกลยุทธ์” (Strategic Philanthropy) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผสมผสานเป้าประสงค์หลักในทางสังคมและในทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน คำนึงถึงการเลือกเป้าหมายที่สามารถได้รับประโยชน์จากทรัพยากร และความเชี่ยวชาญที่บริษัทมีเหนือองค์กรอื่น ในอันที่จะส่งผลกระทบทั้งทางสังคมและทางธุรกิจ ซึ่งมิใช่เรื่องของการมุ่งเน้นสร้างภาพลักษณ์ แต่เป็นการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้แก่องค์กร

3. บริษัทเพิ่งเริ่มต้นทำ CSR จะปฏิบัติตามรูปแบบ CSR ของบริษัทอื่นได้หรือไม่?
บริษัทอาจศึกษารูปแบบการดำเนินการด้าน CSR ของบริษัทอื่นเป็นแนวทางได้ แต่ควรนำมาปรับให้เหมาะกับลักษณะธุรกิจและทรัพยากรของบริษัท ในบางกรณี บริษัทก็อาจเข้าร่วมกิจกรรม CSR ของบริษัทอื่นได้เช่นกัน หากเห็นว่ามีความเหมาะสม ทั้งนี้ การรวมกลุ่มกันทำ CSR โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กหรือ SME จะช่วยให้ประหยัดทรัพยากร เพิ่มสมรรถภาพ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน ได้เป็นอย่างดี

4. บริษัทที่ยังไม่มีความพร้อม เช่น บริษัทขนาดเล็ก บริษัทที่ผลประกอบการยังไม่มีกำไร ยังไม่ควรทำ CSR ใช่หรือไม่
ไม่ใช่ เพราะการทำ CSR นั้นมีหลายด้าน และบางเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้เงิน หรือบางเรื่องเป็นการดำเนินการภายในกิจการที่พึงทำตามปกติอยู่แล้ว เช่น การดูแลพนักงานเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การพัฒนาพนักงาน การมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เป็นต้น นอกจากนี้ การทำ CSR บางเรื่องก็เป็นการดำเนินการที่ใช้ทรัพยากรบุคคลของบริษัทดำเนินการได้ เช่น การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นต้น

5. เมื่อทำ CSR แล้ว จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้หรือไม่?
การประชาสัมพันธ์เป็นเพียงส่วนสนับสนุนการทำ CSR เท่านั้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักในการทำ CSR โดยการประชาสัมพันธ์สามารถทำได้ ทั้งการประชาสัมพันธ์ภายในเพื่อเป็นการให้ข้อมูลสื่อสารให้สมาชิกในองค์กรมาร่วมมือกัน และการประชาสัมพันธ์ภายนอกเพื่อเป็นการสื่อสารกับสาธารณชน ให้สังคมได้รับรู้และมีส่วนร่วมในสิ่งที่องค์กรทำ

6. รายงาน CSR คืออะไร และมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องจัดทำรายงาน?
รายงาน CSR (CSR Report หรือ Sustainability Report) เป็นรายงานที่บริษัทจัดทำขึ้น เพื่อเผยแพร่ให้ทราบโครงการ/กิจกรรมที่บริษัททำเกี่ยวกับ CSR ข้อมูลในรายงานจะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญให้ผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจพิจารณาลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินการด้าน CSR ทั้งนี้ รายงาน CSR อาจเป็นส่วนหนึ่งของรายงานประจำปี หรือจะทำแยกเป็นรายงานต่างหากก็ได้ โดยปัจจุบันรูปแบบรายงานที่เป็นมาตรฐานสากล คือ แนวทางของ Global Reporting Initiative (GRI) ตลอดจนข้อแนะนำในมาตรฐาน ISO 26000 ว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ได้ให้แนวทางในการรายงานสาธารณะ หรือ Public Reporting เกี่ยวกับ CSR ไว้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, January 20, 2011

เลือกตัวชี้วัดดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

เมื่อไรก็ตาม ที่องค์กรต้องการจะทราบว่าการดำเนินงาน CSR ของกิจการ ประสบความสำเร็จหรือไม่ และมากน้อยเพียงใดนั้น ได้ทำให้ประเด็นเรื่องการวัดผลการดำเนินงาน CSR ด้วยตัวบ่งชี้การดำเนินงานในมิติต่างๆ กลายเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่หากองค์กรให้ความใส่ใจ ก็จะส่งผลให้ CSR ขององค์กรมีสัมฤทธิ์ภาพ (Achievement) ตรงตามที่ต้องการ

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การดำเนินงาน CSR ขององค์กรไม่ประสบผลสำเร็จ คือ การใช้ตัวชี้วัดที่ไม่ถูกต้องในการวัดผลการดำเนินงาน CSR หรือมีการเลือกตัวชี้วัดที่ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน

โดยทั่วไป ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด (David Parmenter, 2010) คือ

Key Result Indicators (KRIs) เป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์หลัก ที่บ่งบอกถึงสิ่งที่เป็นผลจากการดำเนินงานในแต่ละมุมมอง
Performance Indicators (PIs) เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน ที่บ่งบอกถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการ
Key Performance Indicators (KPIs) เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก ที่บ่งบอกถึงสิ่งซึ่งส่งผลกระทบสูงต่อผลการดำเนินงานที่ต้องดำเนินการ

ชนิดของตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน


ตัวอย่างของตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์หลัก (KRIs) ได้แก่ ความพึงพอใจของชุมชนรอบโรงงาน ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานขององค์กรในหลายๆ ด้านประกอบกัน เช่น การดูแลของเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงงาน มิให้เกินเกณฑ์มาตรฐานจนอาจก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชน การร่วมทำกิจกรรมในชุมชนอย่างต่อเนื่อง หรือการสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ฉะนั้น การใช้ KRIs เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานซึ่งมาจากหลายปัจจัย อาจไม่สามารถปรับปรุงหรือจัดการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมในกระบวนงานสำคัญๆ ซึ่งส่งผลต่อความพึงพอใจของชุมชนได้ในทุกปัจจัย

ตัวอย่างของตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (PIs) ได้แก่ ค่ามาตรฐานของเสียที่ปล่อยออกจากโรงงาน จำนวนกิจกรรมที่โรงงานเข้ามีส่วนร่วมกับชุมชน และระดับการรับรู้ข่าวสารของชุมชน และในบรรดาตัวชี้วัดผลการดำเนินงานข้างต้น ตัวชี้วัดที่ส่งผลกระทบสูงต่อชุมชนหากโรงงานไม่ดำเนินการ และจัดเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (KPIs) ได้แก่ ค่ามาตรฐานของเสียที่ปล่อยออกจากโรงงาน

คุณลักษณะของตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ดี ควรจะต้องเป็นตัวชี้วัดที่สมเหตุสมผล (Valid) คือ มีผลใช้การได้ สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจน (Informative) คือ ไม่ซับซ้อนและไม่ยากต่อการทำความเข้าใจ สามารถวัดได้จริง (Practical) คือ มีความเหมาะสมกับองค์กร ไม่ใช้ต้นทุนการวัดที่สูงเกินไป เป็นที่น่าเชื่อถือ (Credible) คือ มีผลเป็นที่ยอมรับ พร้อมต่อการตรวจสอบและพิสูจน์ และสามารถไว้ใจได้ (Reliable) คือ บิดเบือนได้ยาก และมีความคงเส้นคงวาสูง

แม้ว่าการใช้ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน จะให้ผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมที่เป็นค่าหรือตัวเลขที่สะดวกต่อการนำไปประมวลผล แต่ในหลายกรณีอาจมีความไม่เหมาะสมและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน (อาทิ ประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การระงับข้อพิพาท ฯลฯ) ทำให้องค์กรจำต้องพิจารณาประเด็นในเรื่องคุณค่า ทัศนคติ และการประยุกต์หลักการ CSR นอกเหนือจากสัมฤทธิ์ภาพที่จำกัดเฉพาะกิจกรรมที่สามารถวัดผลได้เท่านั้น

นอกจากนี้ องค์กรอาจพิจารณาทางเลือกที่เป็นการประเมินผลการดำเนินงานในลักษณะอื่นๆ เช่น การสัมภาษณ์ หรือการสังเกตการณ์ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบผลการดำเนินงานด้วยอีกทางหนึ่ง และหวังว่าการเลือกใช้ตัวบ่งชี้การดำเนินงานและเครื่องมือประกอบที่เหมาะสม จะช่วยให้องค์กรของท่านประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน CSR ตามที่คาดหวังไว้นะครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, January 13, 2011

รายงาน CSR ปี 54 แบบไหนดี

ปัจจุบัน การรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR Reporting ได้ทวีความสำคัญจนกิจการหลายแห่งได้ดำเนินการจัดทำเป็นเอกสารรายงานที่เรียกกันว่า CSR Report เผยแพร่ควบคู่กับรายงานประจำปี (Annual Report) ขององค์กร ซึ่งมีชื่อเรียกที่หลากหลาย อาทิ รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability report) รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development หรือ SD report) รายงานความเป็นพลเมือง (Citizenship report) รายงานไตรสังสิทธิ (Triple-bottom line report) ซึ่งล้วนแต่สนับสนุนให้องค์กรใช้เป็นเครื่องมือนำเสนอข้อมูลผลประกอบการในแง่มุมเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งสิ้น

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การจัดทำรายงาน CSR ของหลายองค์กร มีสถานะเป็นเพียงหนังสือรายงานข้อมูลประจำปี (Yearbook) ที่เป็นการรวบรวมความเคลื่อนไหวของการดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในรอบปี โดยเนื้อหาของรายงานส่วนใหญ่ เป็นข้อมูลจากโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ขององค์กรที่เน้นการเปิดเผยผลการดำเนินงานในเชิงผลผลิต (output) ในรายโครงการ แทนที่จะเป็นผลลัพธ์ (outcome) หรือผลกระทบ (impact) ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของกิจการในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

รายงานแห่งความยั่งยืน เป็นเอกสารที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่องค์กรจัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการในปัจจุบันที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสะท้อนข้อมูลผลประกอบการโดยรวมให้แก่ผู้ถือหุ้น ลูกค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นได้อย่างครบถ้วน

แม้ว่าการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน จะเป็นกระบวนการที่เพิ่มเติมจากการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรโดยปกติทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจากการจัดทำรายงานดังกล่าวแล้ว ก็ต้องถือว่ามีคุณค่าหลายประการ เช่น

ให้ภาพที่ชัดเจนแก่องค์กรต่อการสร้างผลกระทบหลักทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
สามารถระบุถึงโอกาสและความเสี่ยงในกิจกรรมที่องค์กรดำเนินอยู่
ทำให้ทราบถึงบริเวณหรือส่วนงานบริหารโดยรวมที่ควรได้รับการปรับปรุง
เพิ่มความผูกพันกับพนักงานที่อยู่เดิม และดึงดูดบุคลากรใหม่ๆ ที่สนใจเข้าร่วมงาน
ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและสร้างสรรค์วิธีดำเนินงานที่ดีกว่าในปัจจุบัน
ช่วยเพิ่มชื่อเสียง ความภักดีของลูกค้า และความนับถือในชุมชน
ทำให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ที่สำคัญ จะช่วยให้องค์กรเข้าใจถึงหนทางในการมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกับองค์กรที่กำหนดให้การรายงานเป็นกระบวนการ (Process) มากกว่าเป็นโครงการ (Project) ที่มุ่งหวังเพียงแค่เอกสารรายงานขั้นสุดท้าย จะสามารถทวีคุณค่าจากกิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการจัดทำรายงานเพิ่มเติม ดังนี้

เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเป้าประสงค์ทางธุรกิจกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทุกๆ วันของการปฏิบัติงาน
วัดผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น
สานเสวนากับผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดจุดมุ่งเน้นหลัก การบริหารและการระบุถึงโอกาสต่างๆ
สื่อสารถึงความสำเร็จและความท้าทายขององค์กร
วางแผนองค์กรตามข้อมูลที่ได้ข้างต้น


ตัวอย่างแนวปฏิบัติของ GRI ตามกรอบการรายงาน G3 ได้ชี้ให้เห็นถึงวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึงและทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงาน ที่เอื้อให้องค์กรสามารถสร้างกระบวนการจัดทำรายงานให้เป็นเครื่องมือ (mean) ในการขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กรตลอดทั้งปี มากกว่าที่จะมุ่งให้ได้รายงานเป็นจุดหมาย (end) ในตอนท้ายปีเท่านั้น...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, January 06, 2011

เทรนด์ CSR ปี 54 แรงได้ใจ!

กรุงเทพธุรกิจ ได้ทำการสำรวจความเห็นผู้นำองค์กรภาคธุรกิจไทยจำนวน 100 คน ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และเป็นประเด็นที่ซีอีโอจะให้ความสนใจสำหรับปี 2554 ซึ่งปรากฏผลเป็น "10 เทรนด์แห่งอนาคต" ที่กูรูนักบริหารทั้งหลายลงความเห็นว่า "ต้องโฟกัส" หากต้องการเป็นเลิศในการแข่งขันตลอดปี 2554

ผมได้ย้อนไปดูการประเมินทิศทางการปรับตัว และแนวโน้มธุรกิจที่เป็นเทรนด์ธุรกิจดาวรุ่งปีเสือ ในปีที่แล้ว และการสำรวจ 10 เทรนด์ปี 52 ที่ธุรกิจไทยหยิบขึ้นมาเป็น "ตัวช่วย" เพื่อให้องค์กรอยู่รอดในห้วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ในปีนั้นต้องประสบกับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ผสมโรงด้วยวิกฤติการเมืองภายในประเทศ

จะเห็นว่า กระแสเรื่อง "กรีนคอนเซปต์" มีมาตั้งแต่ปี 52 ขึ้นมาแรงในปี 53 และในปี 54 นี้ก็ยังอยู่ติดโผ 10 อันดับ แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจไม่สามารถที่จะละทิ้งกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และการดูแลจัดการของเสียที่เกิดจากการประกอบการ

ในปี 53 ที่ผ่านมา ผลพวงจากการระงับโครงการหรือกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง และใกล้เคียงไว้เป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งของศาลปกครองกลางได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่มีลักษณะเข้าข่ายตามมาตรา 67 วรรค 2 และก่อให้เกิดความชะงักงันในการดำเนินงานในหลายโครงการ

แม้ธุรกิจจะอ้างถึงตัวเลขความเสียหายและผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ แต่ปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูงซึ่งรวมกันอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดอันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศมีอยู่จริงและส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ของปัญหามลพิษมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น ผลกระทบดังกล่าว ได้ต่อเนื่องมาถึงการพิจารณาดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือ ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard: SSB) และการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนกระแส "ซีเอสอาร์" ตามการสำรวจในรอบ 3 ปี ได้โผล่มาอยู่ในโผปี 53 และไต่ขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ในปี 54 นี้ รองจากเรื่องนวัตกรรม และการบริหารต้นทุน แสดงให้เห็นว่า เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (ได้คะแนนโหวต 73%) ยังมาแรงแซงเรื่องการตอบสนองผู้บริโภค (70%) และการสร้างแบรนด์ (60%) อย่างน่าสนใจ


หากเจาะลึกเทรนด์ซีเอสอาร์สำหรับปี 54 จากข้อมูลที่ได้ประมวลเบื้องต้น จะมีธีมที่น่าสนใจดังนี้

Supply Class ใน Supply Chain
ความแตกต่างระหว่างชนชั้นของผู้ส่งมอบ (Suppliers) รวมไปถึงผู้จำหน่าย (Dealers) จะเกิดขึ้นจากหลักเกณฑ์ซีเอสอาร์ที่กำหนดให้คู่ค้าต้องแสดงให้เห็นได้ว่าองค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับที่ยอมรับได้จึงจะค้าขายด้วยได้ ตัวอย่างรูปธรรมของข้อกำหนดดังกล่าวนี้ อาทิ การใช้กลไกการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ธุรกิจหลายแห่งเรียกว่า Green Procurement) หรือการระบุให้คู่ค้าต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO ที่เกี่ยวข้อง หรือเข้าเกณฑ์ที่ผู้ซื้อเป็นผู้กำหนด

จากเดิมการจำแนกประเภทของธุรกิจในแบบที่เป็นต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ คงจะต้องเพิ่มการจำแนกเป็นธุรกิจจำพวกพ้นน้ำ (หรือที่ลอยตัวอยู่ใน short-list) จำพวกปริ่มน้ำ (ที่ยังสามารถอยู่ใน list) และจำพวกใต้น้ำ (ที่ตกอยู่ใน waiting list ต้องฝ่าฟันกันต่อ) กลายเป็นชนชั้นอุปทาน (supply class) ในสายอุปทาน (supply chain) ที่แต่เดิมมีอยู่ ก็จะทวีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น

ฐานันดร 3.5: People + Social Media
การเกิดขึ้นของ Social Media จนมีพัฒนาการมาถึงวันนี้ ได้เปิดพรมแดนการติดต่อสื่อสาร การเปิดเผยข้อมูล และการแฉข้อเท็จจริงในทุกวงการ ไม่พ้นวงธุรกิจ และโดยคนธรรมดาๆ คนหนึ่งในสังคม ที่ไม่ต้องผ่านตัวแทนใดๆ
จากฐานันดรที่สาม ซึ่งเป็นประชาชนที่ต้องอาศัยผู้แทน หรือเข้าไม่ถึงสื่อสาธารณะ ก็จะยกระดับสู่การมีช่องทางสื่อสารแบบไม่ต้องอาศัยตัวกลางและเปิดกว้าง ขณะที่ฐานันดรที่สี่ ซึ่งเป็นสื่อเดิมๆ ก็ต้องปรับตัวเพื่อสะท้อนความเห็นที่หลากหลายจากสังคม และยอมรับการขยายตัวของ Social Media มากขึ้น การบรรจบกันของฐานันดรที่สามและฐานันดรที่สี่ จึงกลายมาเป็น "ฐานันดร 3.5" คนพันธุ์ที่มีสื่อสังคมเป็นเครื่องมือขยายพิสัย

ในปี 54 ธุรกิจจะหยิบฉวย Social Media ทั้ง Facebook, Twitter ฯลฯ มาเป็นเครื่องมือทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากที่องค์กรหลายแห่งต่างมีหน้าเฟซบุ๊ค และบัญชีทวิตเตอร์ในชื่อองค์กรหรือผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อใช้ส่งเสริมการขาย สร้างภาพลักษณ์ และกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้า

ขณะที่ Social Media เองก็มีผลต่อเรื่องซีเอสอาร์อย่างมาก มีกรณีการร้องเรียนของผู้บริโภคต่อสินค้าและบริการที่ไม่ได้คุณภาพ ที่หากองค์กรมิได้ให้ความสำคัญหรือละเลยศักยภาพของ Social Media หลายเหตุการณ์ขยายวงไปสู่การรวมกลุ่มของผู้บริโภคที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน การบอกต่อประสบการณ์ที่สร้างให้เกิดภาพลบต่อองค์กร จนนำไปสู่ความเสียหายที่อาจยากเกินแก้ไข

ธุรกิจ (ฟอก) เขียว: เกาะกระแสสิ่งแวดล้อม
จากการเติบโตของธุรกิจสีเขียว ทั้งทางด้านพลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์และบริการเชิงสุขภาพ สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ได้กลายเป็นตัวแปรที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด ที่ต้องมีส่วนประสมของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรื่องหลักของซีเอสอาร์ด้วยเช่นกัน

ในระดับของอุตสาหกรรม สำหรับปี 54 การพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ (action) มิใช่ทางเลือก (option) อีกต่อไป

ในระดับธุรกิจ กลยุทธ์ทางธุรกิจที่แสดงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน จะถูกหยิบยกมาเป็นไฮไลท์สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่อยู่ในฝั่งต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำก็ตาม

สำหรับธุรกิจที่ต้องการเกาะกระแสสีเขียว แต่ทำไม่ได้จริง หรือมิได้คำนึงถึงการปรับการใช้วัตถุดิบ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและบริการ หรือการดูแลผลิตภัณฑ์และกากของเสียอย่างจริงจัง จะใช้วิธีการฟอกเขียว (Green Washing) เพื่อทำให้ผู้บริโภคหรือสังคมเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ของตนหรือกระบวนการธุรกิจของตนมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการตลาดหรือการขาย แต่มิได้ทำจริง

ในปีนี้ ผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบและศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์และข้อมูลองค์กรอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ อาจมีราคาไม่ถูกไปกว่าผลิตภัณฑ์ในแบบปกติทั่วไป การยอมจ่ายเงินสูงขึ้น แต่กลับได้ผลิตภัณฑ์ย้อม (แมว) สีเขียว จึงเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]