Thursday, July 15, 2010

ความต่างระหว่าง Social Enterprise กับ Social Business

คำว่า ‘วิสาหกิจ’ (enterprise) ตามพจนานุกรม หมายถึง การประกอบการที่ยากสลับซับซ้อนหรือเสี่ยงต่อการขาดทุนล้มละลาย ส่วนคำว่า ‘ธุรกิจ’ (business) หมายถึง การประกอบกิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม พาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอย่างอื่นเป็นการค้า หรือหมายถึง การงานประจำเกี่ยวกับอาชีพค้าขาย หรือกิจการอย่างอื่นที่สำคัญและที่ไม่ใช่ราชการ

หากดูตามความหมายนี้ คำว่าวิสาหกิจมีความหมายกว้างกว่าธุรกิจ เพราะหมายรวมถึงการประกอบการที่มิใช่เพื่อการค้า (ที่หมายถึง การซื้อขายสินค้าหรือบริการ) หรือได้รวมถึงเรื่องที่เป็นราชการเข้าไว้ด้วย เมื่อมีการเติมคำขยายว่าเป็น วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) และ ธุรกิจเพื่อสังคม (social business) จึงทำให้การประกอบการเหล่านี้ ล้วนต้องมีวัตถุประสงค์ที่จะสนองตอบต่อเป้าหมายทางสังคม (และสิ่งแวดล้อม) เป็นหลัก

ด้วยการที่ธุรกิจซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่แสวงหากำไร แม้จะมีวัตถุประสงค์ทางสังคมมากำกับ ธุรกิจเพื่อสังคมก็มิได้ปฏิเสธการแสวงหากำไร (และยิ่งต้องไม่ทำให้ขาดทุนด้วย) เพียงแต่กำไรที่ได้จากการทำธุรกิจนั้น จะต้องถูกนำกลับมาทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม ไม่สามารถนำมาปันกลับคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นการส่วนตัวได้ (ยกเว้นก็แต่เงินลงทุนที่มีสิทธิ์ได้รับกลับคืน)

มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้บุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคมในบังกลาเทศ ได้ขยายความว่า ธุรกิจเพื่อสังคมตามนิยามของเขามี 2 ประเภทๆ แรก ยูนูสเรียกว่า Type I social business คือ non-loss, non-dividend company ที่ทำงานอุทิศให้กับการแก้ไขปัญหาทางสังคมและถือหุ้น โดยนักลงทุนที่/พร้อมจัดสรรกำไรจากการดำเนินงานทั้งหมดในการขยายและปรับปรุงธุรกิจเพื่อสังคมของตนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ประเภทที่สองเรียกว่า Type II social business คือ profit-making company ที่มิได้ถือหุ้นโดยนักลงทุนหรือบุคคลทั่วไป แต่เป็นคนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสที่เข้าเป็นเจ้าของ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และได้รับโอกาสให้นำกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน ไปบรรเทาปัญหาความยากจนนั้น ได้ตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจเพื่อสังคมนั้นๆ

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ใช่องค์กรที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไร (non-profit organization) เช่น มูลนิธิที่มิได้มีรายได้จากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเป็นหลัก แต่รายรับส่วนใหญ่มาจากการบริจาค เพื่อนำไปใช้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ และที่สำคัญไม่มีผู้เป็น ‘เจ้าของ’ เหมือนกับธุรกิจเพื่อสังคม

ด้วยเหตุที่ กฎหมายว่าด้วยมูลนิธิในหลายประเทศส่วนใหญ่ ถือว่าทรัพย์สินของมูลนิธิที่ได้รับจากการบริจาคหรือที่เป็นดอกผลเพิ่มเติมขึ้นภายหลังนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ (ในฐานะผู้ว่าการสังคม) แต่เนื่องจากรัฐไม่สามารถดูแลหรือจัดการได้อย่างทั่วถึง จึงมอบหมาย (ตามบทบัญญัติของกฎหมาย) ให้คณะกรรมการชุดหนึ่ง (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ คณะผู้ก่อการมูลนิธินั้น) ทำหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมแทนเจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการมูลนิธิจึงไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็น ‘เจ้าของ’ ทรัพย์สินที่เป็นของส่วนรวมนั้นแต่ต้น (รัฐจึงมีสิทธิ์เข้ามาจัดการได้ทุกเมื่อ โอ้จริงหรือนี่)

ครั้นเมื่อเทียบระหว่างวิสาหกิจเพื่อสังคมกับธุรกิจเพื่อสังคม ในแง่ของขอบเขต วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นกินความหมายกว้างกว่า เพราะรูปแบบขององค์กรเป็นได้ทั้งองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (non-profits) และที่แสวงหากำไร (for-profits) ซึ่งหากมีกำไร ก็จะนำกำไรส่วนใหญ่ไปขยายหรือลงทุนในกิจการหรือโครงการเพื่อสังคมต่อ และกำไรบางส่วนแบ่งปันกลับคืนให้เจ้าของได้

ขณะที่ธุรกิจเพื่อสังคม (ตามนิยามของยูนูส) รูปแบบขององค์กรนั้นเป็นแบบที่แสวงหากำไรอย่างเดียว และกำไรที่ได้ต้องใช้หมุนเวียนในธุรกิจเพื่อสังคมทั้งหมด ไม่ปันกลับไปให้ผู้ถือหุ้น (ในกรณีของ Type I) ดังนั้น ธุรกิจเพื่อสังคม จึงเป็น subset ของวิสาหกิจเพื่อสังคม

ไอเดียของยูนูสในเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม ดูจะแข็งและเข้มงวดมากกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคม ในแง่ของการแบ่งปันผลกำไรที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ปันผลส่วนตัว” กับ “ประโยชน์ส่วนรวม” เพราะมีฐานคิดว่า ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น ความโน้มเอียงจะไปในทางเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน และประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง

บรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs น่าจะชอบใจหรือถูกจริตกับรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมของยูนูส ในประเด็นที่ไม่ต้องการนำเรื่องธุรกิจมาหากินหรือค้ากำไรกับความยากจนของชาวบ้าน ขณะที่องค์กรธุรกิจทั่วไปน่าจะขานรับกับแนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคมมากกว่า เพราะมีความยืดหยุ่นในแง่ของการปันผลกำไรที่ถูกกับจริตของนักธุรกิจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ยังมีรูปแบบใหม่ๆ ของวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ และดูจะเป็นเรื่องที่น่าศึกษาไม่น้อย อย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ Community Interest Company (CIC) ที่มีกฎหมายรองรับมาตั้งแต่ปี 2005 หรือในสหรัฐอเมริกา Low-profit Limited Liability Company (L3C) ที่รับรองในปี 2008 และเพิ่งเมื่อเดือนเมษายน ปีนี้ รัฐแมรี่แลนด์เป็นรัฐแรกที่ได้ให้การรับรอง Benefit Corporation (B-Corp) เป็นรูปแบบล่าสุด ตามมาด้วยอีกกว่า 10 รัฐที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาให้การรับรอง เช่น แคลิฟอร์เนีย โอเรกอน วอชิงตัน โคโลราโด ซึ่งคงจะได้หาโอกาสมาขยายความในรายละเอียดกันต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 08, 2010

เมื่อองค์กรถูกขนาบด้วย CSR

สัปดาห์ที่แล้ว มีประชุมโต๊ะกลมเรื่องความรับผิดชอบของกิจการ ในหัวข้อ "Launching an Update of the OECD Guidelines for Multinational Enterprises" ที่จัดขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์เพื่อริเริ่มกระบวนการปรับปรุงแนวปฏิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติ ที่ได้มีการประกาศใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ปัจจุบัน

การทบทวน OECD Guidelines for MNEs ฉบับปัจจุบันที่มีรัฐบาล 42 ชาติได้เข้าร่วมในข้อตกลงได้เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประเทศที่มิใช่สมาชิก OECD และมิได้เข้าร่วมเป็นภาคี เพื่อปรับปรุงเนื้อหาของแนวปฏิบัติในหลายหัวข้อ อาทิ สายอุปทาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม นโยบายทั่วไปเกี่ยวกับความระมัดระวังตามสมควร การเปิดเผยข้อมูล แรงงานและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ การต้านทุจริต ประโยชน์แห่งผู้บริโภค และการเสียภาษี

การประชุมที่เพิ่งผ่านมานี้ ได้มีการหารือกันใน 3 หัวข้อหลัก คือ เรื่อง Suply Chains, Human Rights และ Environment/Climate Changes โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวง CSR จะได้เห็นทิศทางและแนวโน้มของการขับเคลื่อน CSR ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

ความรับผิดชอบของกิจการในสายอุปทาน หรือ CSR in Supply Chain เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากนับจากนี้ไป กรณีที่เกิดขึ้นในสายอุปทานไม่ว่าจะเป็นเรื่องความบกพร่องหรือการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติด้านแรงงานที่ไม่เป็นธรรม (เช่น ปัญหาของโรงงานของ Foxconn ในจีน) เป็นตัวเร่งเร้าให้บรรดาบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายต้องผลักดันให้ผู้ส่งมอบ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในสายอุปทานแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานที่สากลยอมรับอย่างเข้มงวด

ผลสืบเนื่องที่ติดตามมาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่ว่าจะอยู่ในซีกโลกไหนก็จะต้องรับเอาข้อกำหนดเหล่านี้มาปฏิบัติต่อกันเป็นทอดๆ ด้วยความจำยอม (และอาจมาถึงองค์กรของท่านในไม่ช้านี้) แม้ไม่มีกฎหมายในประเทศบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม

ในหลายประเทศผู้ส่งมอบ บรรดา SMEs ต่างต้องปวดหัวและเสียเวลาไปกับภาระเกินจากการฝึกอบรม (Training) และการตรวจสอบ (Auditing) หลายซ้ำหลายซ้อนจากภายนอก เพียงเพื่อให้บรรดาคู่ค้ามีความเชื่อมั่นและวางใจในกระบวนการดำเนินธุรกิจของตนว่ามีความรับผิดชอบถึงขนาดที่ค้าขายกันได้ อุบัติการณ์นี้เป็นเงื่อนไขใหม่ที่องค์กรธุรกิจต่างต้องเผชิญในเวทีการค้าสากล

คำถามมีอยู่ว่า SMEs ต้องปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ สำหรับองค์กรธุรกิจกลุ่มหนึ่งอาจไม่ต้องปรับอะไร หากสินค้าและบริการยังเป็นที่ต้องการอยู่ หรือธุรกิจของท่านไม่เดือดร้อนเพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพายอดขายจากคู่ค้าเหล่านี้ ในอีกมุมหนึ่งอย่าลืมว่า ท่านก็มีผู้ส่งมอบหรือผู้จำหน่ายวัตถุดิบในฝั่งต้นน้ำที่ต้องให้ความเชื่อมั่นกับท่านได้ว่าวัตถุดิบที่ได้รับมีความปลอดภัย ได้คุณภาพ และไม่สร้างปัญหากับสังคม (โดยเฉพาะกับลูกค้าของท่าน) ในภายหลัง หมวกใบหลังนี้ ท่านเองก็มีหน้าที่ตรวจตราในฐานะคู่ค้าที่ต้องการระดับของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ยอมรับได้เหมือนกัน ต่างกันเพียง ใครจะส่งอิทธิพลต่อกันก่อนหรือหลังเท่านั้นเอง

ส่วนองค์กรธุรกิจที่ได้รับอิทธิพลจากคู่ค้าในแบบที่เลี่ยงไม่ได้หลบไม่พ้น ต้องเล่นตามกติกาใหม่ ท่านก็จำต้องศึกษาและหาวิธีบริหารจัดการกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพและคุณค่าจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตัวอย่างเช่น การรับการฝึกอบรมจากภายนอกที่มีความหลากหลายสะเปะสะปะและไม่ได้เนื้อได้หนัง ก็เปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) ของบุคลากรจากภายในอย่างต่อเนื่องเป็นระบบและทันต่อสถานการณ์ การบริหารการตรวจสอบกระบวนการจากหลายคู่ค้าที่กินเวลาและซ้ำซ้อน ก็เปลี่ยนมาเป็นการปรับกระบวนการให้เข้ากับมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่บรรดาคู่ค้าเหล่านั้นให้การยอมรับร่วมกันและมีระยะเวลาการรับรองและการตรวจสอบที่แน่ชัด เป็นต้น

ยังมีเนื้อหาอีกหลายส่วนจากการประชุมในครั้งนี้ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่มีการพูดถึงกรอบสหประชาชาติว่าด้วย “Protect-Respect-Remedy” และเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่พูดถึง GHG Accounting และแนวคิดการผนวกการรายงาน (Integrated Reporting) ด้านเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม ในรูปแบบ 3-in-1 ซึ่งจะหาโอกาสเล่าสู่กันฟังต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 01, 2010

Corporate Engagement in (New Normal) Society

การขับเคลื่อนบทบาทขององค์กรพลเมือง สำหรับสังคมไทยในวันนี้ มิได้อยู่ที่ความจำกัด หรือศักยภาพของธุรกิจ แต่อยู่ที่การยกระดับการทำงานร่วมกัน

การตื่นตัวของภาคธุรกิจ ในการดำรงบทบาทขององค์กรพลเมือง (Corporate Citizen) ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมเด่นชัดมากขึ้น จากการแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ขององค์กรในระดับ Engagement ที่มีความเข้มข้นกว่าระดับ Participation หรือ Involvement คือ สูงกว่าขั้นการมีส่วนร่วมหรือการเข้าร่วมในระดับการกระทำ แต่ยังเป็นเรื่องของ Emotional and Intellectual Commitment ในระดับจิตใจและสติปัญญาร่วมด้วย

ส่วนเรื่องของ New Normal กับสังคมนั้น เป็นคำที่ใช้ในการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ภาวะของสังคมหรือสภาพบางอย่างที่คงตัวหรือคุ้นเคย เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่สามารถคืนสภาพกลับเป็นดังเดิม เช่น ประเทศมีการเปลี่ยนระบอบการปกครอง เศรษฐกิจที่มีการเลื่อนไหลของเงินทุนในวิถีโลกาภิวัตน์ ระบบนิเวศน์ที่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ต้องมีการปรับตัวเข้าสู่จุดปกติใหม่ ที่มิใช่จุดเดิม

ในต่างประเทศ เรื่อง Corporate Engagement in Society ประกอบด้วย 5 หลักการสำคัญ ได้แก่ Corporate Governance, Corporate Philanthropy, Corporate Social Responsibility, Corporate Social Entrepreneurship และ Global Corporate Citizenship (Klaus Schwab, 2008) โดยหลักการเหล่านี้ กำลังมีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจในดินแดนตะวันตกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับในประเทศไทย เรามีหลักการที่ทรงคุณค่าสำคัญ อาทิ หลักพุทธธรรม และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็น Corporate Engagement Strategy ได้ ขณะที่ในดินแดนตะวันออก อย่างประเทศภูฏาน ก็กำลังมีการศึกษาเรื่อง Gross National Happiness (GNH) มาประยุกต์ใช้ในระดับองค์กรด้วย


โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกับศูนย์คุณธรรม ในการดำเนินโครงการสมัชชาคุณธรรมปี 2553 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านคุณธรรมใน 3 ประเด็นหลัก คือ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และความพอเพียง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของหลักการบรรษัทภิบาล (CG) ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และเศรษฐกิจพอเพียง (SE) ในภาคธุรกิจ

มีการจัดประชุมระดมความคิดในหัวข้อ “Corporate Engagement in (New Normal) Society” เพื่อการขับเคลื่อนสังคมที่ยั่งยืน ที่ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม SVN (Thailand) ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บมจ.บางจากปิโตรเลียม บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น PricewaterhouseCoopers FAS Limited ฯลฯ


โดยการระดมความคิดครั้งนี้ ได้มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และมีโอกาสที่จะขยายเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่าย อาทิ
การใช้ Partnership Model กับการร่วมดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม
การบรรจุเรื่อง Ethics ในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ
การจัดเวทีสานเสวนาระดับท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม
การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหยิบยกเรื่องศีลธรรมมาสื่อสารในรูปแบบสมัยใหม่
การริเริ่มเครือข่ายการค้าที่โปร่งใสเป็นธรรมด้วยการผลักดันขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่
การสร้างสำนึกขั้นคุณธรรมในตัวผู้บริหาร ที่สูงกว่าขั้นกฎหมายและจริยธรรมทางธุรกิจ
การนำหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาใช้ในการปฏิบัติงานขององค์กร
การหลีกเลี่ยงกิจกรรม CSR ที่เป็นการบริจาคในส่วนที่เป็นเหตุทำให้สังคมอ่อนแอลง

ข้อเสนอหลายประเด็นข้างต้น หากองค์กรธุรกิจใดจะพิจารณานำไปดำเนินการในเครือข่ายของท่าน ก็จะช่วยเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการสร้างให้เกิด Corporate Engagement in (New Normal) Society ได้ด้วยเช่นกัน

ข้อจำกัดในการขับเคลื่อนบทบาทขององค์กรพลเมือง สำหรับสังคมไทยในวันนี้ มิได้อยู่ที่ความจำกัดหรือศักยภาพของธุรกิจ ในการทำหน้าที่หรือแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่อยู่ที่การยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรในแบบร่วมไม้ร่วมมือ สู่การร่วมใจร่วมใส่สติปัญญา ที่เป็นระดับ Engagement จริงๆ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]