Sunday, January 28, 2018

มาแล้ว ประชารัฐ 2.0 (เวอร์ชัน ไทยนิยม)

ตั้งแต่ที่ คสช. ซึ่งนั่งควบบริหารราชการแผ่นดินในรัฐบาลชุดนี้ ได้ประกาศแนวทาง “ประชารัฐ” เป็นธงนำในการพัฒนา ผมยังจำได้ว่า มีการทำโฆษณา สื่อสารกับสังคมขนานใหญ่ ว่าแนวทางดังกล่าว ต่างจาก “ประชานิยม” อย่างไร

หากนับจากที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อ สนช. ไว้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2557 ต้องยอมรับว่า การผลักดันแนวทางประชารัฐ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่เคลื่อนจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและสังคมพึ่งพิงรัฐ (ที่นิยามว่าเป็น ประชานิยม) มาสู่การขจัดปัญหาเชิงฐานรากและการผนึกกำลังของสามภาคส่วน (ที่นิยามว่าเป็น ประชารัฐ)ได้ในห้วงระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา

การนำเสนอแนวทาง “ไทยนิยม” ในห้วงเวลานี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า จุดขาย ประชารัฐ ได้ดำเนินมาถึงสุดทางแล้ว จ๊อกกี้กำลังเปลี่ยนม้าที่ชื่อ ประชารัฐ ไปเป็น ม้าชื่อ ไทยนิยม โดยหวังจะอาศัยม้าในชื่อใหม่นี้ ควบเข้าสู่เส้นชัย ที่เหลือระยะทางอีกรอบปีกว่าๆ นับจากนี้

หากมองด้วยสายตาของนักการตลาด สำนักคอตเลอร์ ที่ได้เข็นหลักคิดทางการตลาดไว้ถึง 4 เวอร์ชัน สำหรับการนำไปใช้ในธุรกิจแขนงต่างๆ รวมไปถึงการประยุกต์ใช้ในบริบทของการตลาดภาครัฐ แต่ในที่นี้ ผมจะขอนำมาประยุกต์กับการตลาดภาคการเมือง เพื่อใช้คาดการณ์คำตอบบางอย่างล่วงหน้าครับ

เริ่มจากหลักคิดของการตลาด 1.0 (Product-centric) ในทางการเมือง คือ ขายด้วยนโยบาย การตลาด 2.0 (Consumer-oriented) ขายด้วยความพึงพอใจและการรักษาฐานคะแนนเสียง การตลาด 3.0 (Values-driven) ขายด้วยค่านิยมที่ทำให้ประเทศน่าอยู่ขึ้น และการตลาด 4.0 (Social-factor) ขายด้วยความเห็นของคนหมู่มาก

ส่วนกลยุทธ์ที่ใช้ในการตลาด 1.0 คือ การพัฒนานโยบายให้ตรงกับความต้องการของประชาชน กลยุทธ์สำหรับการตลาด 2.0 คือ การสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในใจของประชาชน ขณะที่กลยุทธ์สำหรับการตลาด 3.0 คือ การสร้างให้เป็นค่านิยมในระดับจิตวิญญาณของประชาชน และกลยุทธ์สำหรับการตลาด 4.0 คือ การสร้างปัจจัยเอื้อที่สามารถชี้นำหรือครอบงำความเห็นของประชาชน

รัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ต้องใช้การตลาด 1.0 เพราะไม่จำเป็นต้องเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก เพื่อจะได้เข้ามาบริหารประเทศ และสามารถก้าวข้ามการตลาด 2.0 เพราะไม่ได้ต้องการสืบทอดอำนาจ หรือให้ได้คะแนนนิยม เพื่อจะได้สมัครรับเลือกตั้งเข้ามาในสมัยต่อไป หรือไม่อย่างไร

การตลาด 3.0 เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่สุด และเชื่อว่า ในต้นสมัยของการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ก็ได้ถูกวางแนวทางไว้เช่นนั้น

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า สิ่งที่คิด กับสิ่งที่เกิดขึ้น มิได้ไปในทิศทางเดียวกัน เอาแค่ประเด็นเรื่องความโปร่งใสและการต่อต้านทุจริต เรื่องนาฬิกาหรูของรัฐมนตรีร่วม ครม. (ที่สำคัญมากกว่า คือ ท่าทีของผู้นำรัฐบาลต่อเรื่องดังกล่าว) เรื่องการไม่ร่วมเผยแพร่ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ทุจริต โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ด้วยเหตุผลบางประการ เป็นต้น

ทำให้การปลูกฝังค่านิยม (ที่ดี) ในจิตวิญญาณของประชาชน เป็นอันไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเครดิตที่สูญเสียไป และเกิดวิกฤตศรัทธาในกลุ่มคนที่เคยให้การสนับสนุน ดังที่ท่านรัฐบุรุษ ได้แสดงความห่วงใยว่า กองหนุนกำลังหมดแล้ว

เมื่อการตลาด 3.0 ใช้ไม่ได้แล้ว การตลาด 4.0 กลายเป็นทางบังคับเลือกของรัฐบาล คือ การสร้างปัจจัยเอื้อที่สามารถชี้นำความเห็นของประชาชน

ซึ่งในทางทฤษฎีบอกว่า ต้องเข้าใจและนำเรื่องอิทธิพลของ O Zone (Own + Other + Outer Influence) มาใช้

แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาล กำลังถอยกลับไปใช้ การตลาด 2.0 ที่พยายามขายด้วยความพึงพอใจและการรักษาฐานคะแนนเสียง โดยสังเกตจากองคาพยพของ ไทยนิยม ที่ทยอยประกาศออกมา

ทำให้ข้อสงสัยในใจของหลายคนก่อนหน้านั้น ว่าคสช.กำลังต้องการสืบทอดอำนาจ หรือกำลังสร้างคะแนนนิยม เพื่อจะได้รับเลือกเข้ามาในสมัยต่อไป หรือไม่อย่างไร ยังคงเป็นที่คาใจ

ตามมาด้วยคำถามอีกว่า ด้วยสรรพกำลังของทีมแวดล้อมรัฐบาลนั้น มีสมรรถภาพและทรัพยากรในตัว พอต่อการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในใจของประชาชนได้จริงหรือ

ฤาจะเดินตามรอย ประชานิยม ที่รัฐบาลสมัยหนึ่งเคยประทับความทรงจำในใจของประชาชนได้อย่างแน่นแฟ้น อย่างนี้แล้วจะประกาศว่า เป็นความแตกต่างได้อย่างไร

หากกุนซือรัฐบาลไม่สามารถตีโจทย์การตลาดมวลชนให้แตกครานี้ การนำเสนอแนวทางไทยนิยม คงไม่ได้ต่างจาก ประชานิยมของรัฐบาลยุคก่อน และไม่ได้มีพัฒนาการที่ดีกว่าประชารัฐ 1.0 ซึ่งได้ประกาศไว้ เมื่อ 3 ปีก่อนมากนัก

เมื่อถึงเวลานั้น ไม่เพียงแต่ม้าที่ชื่อ ไทยนิยม จะไม่ได้ไปต่อ เจ้าของคอก ก็อาจเปลี่ยนตัวจ๊อกกี้ ในสนามหน้า ก็เป็นได้


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link

Sunday, January 14, 2018

ธุรกิจในแบบ SDG-Friendly

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ภาคเอกชน โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ได้พูดถึงเรื่องการที่องค์กรตนเองจะมีส่วนในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่มีอยู่ 17 ข้อ ในประเด็นใดบ้าง และได้มีหลายองค์กร ลงมือทำให้เห็นแล้วว่าองค์กรตนเองได้สนับสนุนเรื่อง SDGs นี้อย่างไร

การนำ SDGs มาใช้เป็นแนวทางประกอบการดำเนินงานทางธุรกิจ ไม่ได้เป็นเรื่องข้อกำหนด หรือเป็นภาคบังคับที่จะต้องปฏิบัติ แต่เป็นสิ่งที่องค์กรหลายแห่ง ลุกขึ้นมาดำเนินการโดยสมัครใจ ซึ่งแน่นอนว่า องค์กรเหล่านั้น จะต้องมีแรงจูงใจ หรือเห็นผลได้บางอย่าง ที่เป็นคุณค่าแก่องค์กร นอกเหนือจากประโยชน์ที่จะตกกับสังคม (และสิ่งแวดล้อม)

การที่จะเข้าใจ หรือเห็นคุณค่าในเรื่องนี้ ก็อาจต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า วิสัยสามารถ หรือ Capacity เดียวกันกับที่องค์กรเหล่านั้นมี ถึงจะไขข้อค้นพบดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ผลได้หลักๆ 5 ประการ จากการนำ SDGs มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานทางธุรกิจ ประกอบด้วย

ประการแรก ช่วยให้องค์กรสามารถระบุถึงโอกาสทางธุรกิจในอนาคต ที่ซึ่งความท้าทายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ได้กลายเป็นโอกาสตลาดสำหรับธุรกิจที่สามารถพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีนวัตกรรมและประสิทธิผล

ประการที่สอง ช่วยให้องค์กรเพิ่มคุณค่าด้านความยั่งยืนของกิจการ ด้วยการผนวกข้อพิจารณาด้านความยั่งยืนเข้าในห่วงโซ่คุณค่าตลอดสาย ซึ่งจะเอื้อให้องค์กรสามารถสร้างและคงคุณค่าไว้ในตัวกิจการเอง ทั้งในเรื่องการเพิ่มยอดขาย การพัฒนาส่วนตลาดใหม่ๆ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตราสินค้า การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมในตัวผลิตภัณฑ์ และการลดอัตราการเข้าออกของพนักงาน เป็นต้น

ประการที่สาม ช่วยให้องค์กรกระชับความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียและทันต่อพัฒนาการทางนโยบาย เพราะ SDGs เป็นเครื่องสะท้อนความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย เช่นเดียวกับทิศทางของนโยบายในอนาคตทั้งในระดับระหว่างประเทศ ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค

ประการที่สี่ ช่วยให้องค์กรมีเสถียรภาพในตลาดและสังคม เนื่องจากธุรกิจไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จในสังคมที่ล้มเหลว การลงทุนเพื่อการบรรลุ SDGs จะเป็นเสมือนเสาค้ำยันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จด้วย

ประการที่ห้า ช่วยให้องค์กรมีภาษากลางและความมุ่งประสงค์ร่วมกัน เนื่องจาก SDGs ได้ถูกนำมาใช้กำหนดเป็นกรอบร่วมสำหรับการดำเนินงานและการสื่อสารระหว่างองค์กรธุรกิจกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ให้สามารถรับทราบถึงผลการดำเนินงานและผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิผลและเห็นพ้องต้องกัน

จะเห็นว่า การนำ SDGs มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานทางธุรกิจ หรือที่ผมเรียกว่า “ธุรกิจที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “SDG-Friendly Business” นั้น นอกจากจะทำให้ธุรกิจมีการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ (Act Responsibly) ในอันที่จะดูแลผลกระทบเชิงลบ มิให้เกิดเป็นความเดือดร้อนเสียหายต่อสังคมแล้ว ยังสามารถเอื้อให้เกิดการแสวงหาโอกาส (Find Opportunities) ในอันที่จะสร้างเป็นผลกระทบเชิงบวก ทั้งแก่ธุรกิจและสังคมควบคู่ไปพร้อมกันด้วย

คณะกรรมาธิการด้านธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเหล่าผู้นำในภาคธุรกิจ ภาคการเงิน ภาคประชาสังคม ภาคแรงงาน และองค์กรระหว่างประเทศ และเปิดตัวในการประชุมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2559 ระบุในรายงาน “Better Business, Better World” ว่า การขับเคลื่อนเพื่อที่จะบรรลุ SDGs จะเปิดโอกาสทางการตลาดที่มีมูลค่าสูงถึง 12 ล้านล้านเหรียญ ในระบบเศรษฐกิจ 4 หมวดสำคัญ ได้แก่ อาหารและเกษตรกรรม เมือง พลังงานและวัสดุ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือคิดเป็นสัดส่วนอยู่ราวร้อยละ 60 ของภาคเศรษฐกิจจริง


การนำ SDGs มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานทางธุรกิจ ในบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) เป็นการผนวก SDGs เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่เป็นปกติประจำวัน (Day-to-day business operations) มิใช่การดำเนินงานในรูปแบบกิจกรรม (Event) หรือเป็นโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่แยกต่างหากจากกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-after-process) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนจากกระบวนการดำเนินงานได้อย่างแท้จริง

การดำเนินธุรกิจในแบบ SDG-Friendly อีกนัยหนึ่ง คือ การปรับทิศทางการดำเนินงานทางธุรกิจ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และดำเนินการไปโดยไม่แปลกแยกต่างหากจากกัน

ครั้นเมื่อกิจการสามารถขับเคลื่อนทั้งสองเรื่องไปในทิศทางเดียวกันได้ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นการบรรลุความสำเร็จทางธุรกิจไปพร้อมกันในตัว


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, January 08, 2018

เหลียวหลังแลหน้า CSR ปี 61

ในรอบปี 2560 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมและเรื่องความยั่งยืน เริ่มจากการออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Code: CG Code) สำหรับบริษัทจดทะเบียน ฉบับใหม่ โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อตอบโจทย์ทั้งเรื่องการสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อม เทคโนโลยี รวมทั้ง ความคาดหวังต่อบริษัทจดทะเบียนในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น

CG Code ฉบับใหม่ ที่ออกมาใช้แทน CG Principles ฉบับปี 2555 ที่ออกโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมประเด็น เพื่อให้ครอบคลุมถึงแนวคิดและปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การเพิ่มความชัดเจนของบทบาทคณะกรรมการในการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ และบูรณาการหลักความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจเข้าไปในชั้นวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักดังกล่าว เพื่อให้การสร้างคุณค่ากิจการอย่างยั่งยืนแทรกเป็นเนื้อเดียวกับการประกอบธุรกิจ

หลักปฏิบัติที่สำคัญอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งออกโดย ก.ล.ต. ในปี 2560 คือ หลักธรรมาภิบาลการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code: I Code) เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันใช้เป็นแนวในการบริหารจัดการลงทุนอย่างรับผิดชอบ คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) นอกเหนือจากปัจจัยด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุน

หลักปฏิบัติ I Code ฉบับนี้ ก.ล.ต. จัดทำขึ้น โดยปรับมาจาก Stewardship Code ของต่างประเทศ (โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรที่เป็นต้นแบบ) เพื่อใช้กับผู้ลงทุนสถาบันที่สมัครใจรับการปฏิบัติตาม I Code ทั้งผู้ลงทุนสถาบันที่ให้บริการจัดการเงินลงทุน (Asset Managers) ผู้ลงทุนสถาบันที่จัดการแทนเจ้าของทรัพย์สิน (Asset Owners) และผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง (Related Service Providers)

การออกหลักธรรมาภิบาลการลงทุนนี้ ก.ล.ต. เชื่อว่าจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของผู้ลงทุนสถาบันที่รับจัดการเงินลงทุนให้กับลูกค้า (ที่เป็นผู้ถือหน่วยลงทุน เจ้าของเงินลงทุน และผู้รับประโยชน์) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบของบริษัทและกิจการในตลาดทุนไทย

การประกาศ CG Code และ I Code ทั้งสองฉบับ มีผลให้บริษัทจดทะเบียนจำเป็นต้องศึกษา CG Code ฉบับใหม่ เพื่อนำไปปฏิบัติ (โดยใช้หลัก “Apply or Explain” ให้ปรับใช้ตามดุลยพินิจ หรืออธิบายเหตุผลหากไม่ดำเนินการ) รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 (ที่จะมีผลใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป) และในแบบ 69-1 (ที่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป)

รวมถึงกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่จะต้องทำความเข้าใจกับ I Code เพื่อพิจารณารับไปปฏิบัติ (โดยใช้หลัก “Comply or Explain” ให้เป็นไปตามข้อกำหนด หรืออธิบายเหตุผลหากไม่ดำเนินการ) รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประกาศรับการปฏิบัติตาม I Code และผลการปฏิบัติตาม I Code บนเว็บไซต์ของผู้ลงทุนสถาบันและจัดส่ง link (URL) ให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้งในรายงานประจำปี (ถ้ามี)

หลักปฏิบัติทั้งสองฉบับ เน้นการบูรณาการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน (CG Code) และกระบวนการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน (I Code) ตั้งแต่การกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ กระบวนการดำเนินงาน การติดตามและการรายงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน

ในปี 2561 ความเข้มข้นของการขับเคลื่อนความยั่งยืนจะยกระดับขึ้นตามกฎเกณฑ์จากผู้กำกับดูแล (Regulatory Discipline) ด้วยหลักการ CG Code และแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด (Market Force) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ลงทุนสถาบัน ด้วยหลักปฏิบัติ I Code นำไปสู่การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบของกิจการในตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, January 01, 2018

มองทิศทาง CSR 2018: รับ-รุก-ร่วม-รวม สู่ SDGs

นับตั้งแต่มีการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และการประกาศใช้เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals -SDGs) ซึ่งเป็นทิศทางของการพัฒนาโลกต่อไปอีก 15 ปี นับตั้งปี 2559-2573

โดย SDGs สานต่อภารกิจการทำงานที่ยังไม่บรรลุผลตามเป้าหมายแห่งการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals-MDGs) เพื่อมุ่งขจัดความยากจนในทุกมิติ และทุกรูปแบบ และสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการพัฒนาใน 3 มิติที่เอื้อต่อกัน และแบ่งแยกมิได้ จนทุกประเทศนำไปใช้เป็นกรอบของการพัฒนาประเทศ และไม่เพียงแต่ภาครัฐบาล ภาคประชาสังคมเท่านั้น

หากรวมไปถึงภาคเอกชน ภาคธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม และการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ ในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศชาติต่อไป

ทั้งนั้น เพื่อเป็นการสะท้อนถึงทิศทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และแนวทางการขับเคลื่อน SDGs ในปี 2561 “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ถึงทิศทาง และแนวโน้มในเรื่องดังกล่าว

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวว่า จากการที่ SDGs มีการประกาศใช้ไปเมื่อปี 2015 และในขณะนี้ผ่านมาแล้ว 2 ปีเต็ม นานาประเทศ รวมถึงประเทศไทย ทุกภาคส่วนมีการนำเอา SDGs มาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

“ในส่วนของภาครัฐมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วยอนุกรรมการอีก 3 คณะ ทำหน้าที่เป็นกลไกระดับชาติ ในการกำหนดนโยบาย กรอบทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดย กพย.จัดทำ roadmap ในการขับเคลื่อน SDGs 17 เป้าหมาย ประกอบด้วยแนวทางดำเนินงานในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความเหลื่อมล้ำมากและยังขาดความพร้อม กลุ่มที่มีศักยภาพพร้อมต่อการขับเคลื่อน และกลุ่มที่มีความเข้มแข็งและขยายผลได้”

“โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงาน SDGs มีทั้งในระดับ Macro ซึ่งเป็นระดับชาติ ระดับภาค และกลุ่มจังหวัด และในระดับ Micro คือระดับจังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน และในส่วนของภาคเอกชน มีองค์กรธุรกิจอย่างน้อย 124 แห่ง

มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับ SDGs โดยจากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ พบว่าองค์กรส่วนใหญ่ มีการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อ SDGs สูงสุด 3 อันดับแรก คือ เป้าหมายด้านการศึกษา มากสุดที่ร้อยละ 57.5 รองลงมาคือ เป้าหมายด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ร้อยละ 40.1 และเป้าหมายด้านความเท่าเทียมทางเพศ ร้อยละ 31.0 ตามลำดับ


“ขณะที่ภาคประชาสังคมมีองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งระดับพื้นที่ และเครือข่ายในระดับภูมิภาครวมตัวกันเป็นภาคีร่วมสังเกตการณ์ ดำเนินการ และติดตามการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย เพื่อตอบสนองต่อคนทั้งประเทศ และเป็นความยั่งยืนของสังคมโลก ที่จะไม่ทิ้งคนส่วนใหญ่ไว้ข้างหลัง”

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการสำรวจของ GLOBESCAN และ Sustainability ต่อการประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินงาน SDGs ในปี 2017 จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านความยั่งยืน 511 คน ใน 74 ประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคบริการและสื่อ และภาคอื่น ๆ พบว่า องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ประกอบการสังคม เป็นกลุ่มที่มีส่วนผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าต่อเรื่อง SDGs มากที่สุด ในขณะที่รัฐบาลในแต่ละประเทศ มีส่วนผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าต่อเรื่อง SDGs น้อยที่สุด


“คนที่ยังเข้าใจว่า SDGs เป็นเรื่องของสหประชาชาติ เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาโลก ไม่เกี่ยวกับตนเอง หรือกิจการของตนเท่าใดนัก ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าทุกเป้าหมายของ SDGs ที่เมื่อแต่ละประเทศเข้าร่วมดำเนินการ ผลลัพธ์จะตกอยู่กับชุมชนหรือสังคมที่เราอาศัยอยู่ หรือในอาณาเขตที่กิจการของเรามีสถานประกอบการหรือแหล่งดำเนินงานอยู่”

“ข้อมูลการสำรวจของ GLOBESCAN และ Sustainability ต่อการประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินงาน SDGs ชุดเดียวกัน ในหัวข้อที่องค์กรธุรกิจมีส่วนในการสนับสนุน หรือมีแผนงานที่จะสนับสนุนการบรรลุ SDGs อย่างไรนั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 51 ของผู้ทรงคุณวุฒิด้านความยั่งยืนในภาคธุรกิจ 104 คน มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการเพื่อสนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับ SDGs

“รองลงมาเป็นการพัฒนาหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานรัฐ-เอกชน หรือการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย เพื่อสนับสนุนการส่งมอบผลลัพธ์ตามแผนงาน ร้อยละ 35 และการนำ SDGs มาใช้เป็นแนวในการกำหนดเป้าประสงค์/ กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ร้อยละ 33 ขณะที่อีกร้อยละ 9 ระบุว่าไม่มีส่วนในการสนับสนุน หรือไม่มีแผนงานที่จะสนับสนุนการบรรลุ SDGs”


สำหรับภาคธุรกิจ รูปแบบการดำเนินงานในการตอบสนองต่อ SDGs ที่ควรจะเป็นคือการผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่เป็นปกติประจำวัน (Day-to-day business operations) มากกว่าการจัดทำเป็นกิจกรรมในลักษณะ event หรือเป็นโครงการเพื่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่แยกต่างหากจากกระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นไปแบบยั่งยืนอย่างแท้จริง

ในขณะที่รายงาน Better Business, Better World ของคณะกรรมาธิการด้านธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ระบุว่า การขับเคลื่อนเพื่อที่จะบรรลุ SDGs จะเปิดโอกาสทางการตลาดที่มีมูลค่าสูงถึง 12 ล้านล้านเหรียญ ในระบบเศรษฐกิจ 4 หมวดสำคัญ ได้แก่ อาหารและเกษตรกรรม เมือง, พลังงานและวัสดุ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือคิดเป็นสัดส่วนอยู่ราวร้อยละ 60 ของภาคเศรษฐกิจจริง (real economy) และส่งผลอย่างสำคัญต่อ SDGs

“ดร.พิพัฒน์” บอกว่าจากข้อมูลที่ได้กล่าวมาข้างต้น สถาบันไทยพัฒน์จึงทำการประมวลทิศทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับ SDGs ไว้ 4 ทิศทาง คือ รับ-รุก-ร่วม-รวม ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกระบวนการ-โครงสร้าง-ความสัมพันธ์-โมเดลทางธุรกิจ ตามลำดับ

“เริ่มจากการที่องค์กรธุรกิจ รับเอา SDGs มาเป็นปัจจัยนำเข้า เพื่อทบทวนกระบวนการดำเนินงานของตน ในการที่จะขจัดหรือลดผลกระทบเชิงลบทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการ ถือเป็นการจัดกระบวนการทางธุรกิจ (business process) ใหม่ ให้ตอบสนองต่อ SDGs

ถัดมาเป็นการนำ SDGs มาใช้เป็นแนวในการกำหนดเป้าประสงค์ และกลยุทธ์เชิงรุกด้านความยั่งยืน เพื่อพัฒนาความริเริ่มใหม่ ๆ ในอันที่จะสร้างคุณค่าร่วม หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ (business structure) ให้ตอบสนองต่อ SDGs”

“จากนั้นจึงเป็นการขยายการทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย หรือเป็นการพัฒนาหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานรัฐ-เอกชน เพื่อเพิ่มผลลัพธ์หรือผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ถือเป็นการจัดภาวะความสัมพันธ์ทางธุรกิจ (business relationship) ในการขยายบทบาทหรืออิทธิพลไปสู่หน่วยงานที่อยู่รายรอบ ให้ตอบสนองต่อ SDGs”

“จนนำมาสู่การบูรณาการ หรือการผนวกรวม การแก้ไขปัญหาทางสังคม และสิ่งแวดล้อม ไว้ในตัวผลิตภัณฑ์/บริการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือธุรกิจมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการที่ผู้บริโภคสามารถซื้อหาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และใช้แก้ปัญหาที่สอดคล้องกับ SDGs ไปในตัว ถือเป็นการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจ (business model) ใหม่ให้ตอบสนองต่อ SDGs”

ดังนั้น การขับเคลื่อนของภาคธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อ SDGs จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ ในการที่จะดูแลผลกระทบเชิงลบเพื่อมิให้เกิดเป็นความเดือดร้อนเสียหายขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแสวงหาโอกาส (find opportunities) ในการสร้างเป็นผลกระทบเชิงบวก ทั้งแก่ธุรกิจและสังคมควบคู่ไปพร้อมกันต่อไป


จากเซกชัน 'ซีเอสอาร์-เอชอาร์' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]