Sunday, December 31, 2017

ความยั่งยืนใน 3 ประเด็นสำคัญ ปี 61

เริ่มต้นศักราชปี 2561 ด้วยการจับกระแสประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญ ไว้เป็นข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจในการวางกลยุทธ์องค์กรที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการให้สอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ที่ได้จากการประมวลความเห็นของบรรดาองค์กรธุรกิจในระดับสากล

GLOBESCAN และ BSR ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากนักวิชาชีพด้านความยั่งยืนจำนวน 272 ท่าน จาก 151 องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก (ทวีปอเมริกาเหนือ ร้อยละ 52 ทวีปยุโรป ร้อยละ 29 และภูมิภาคอื่นๆ ร้อยละ 19) ในการสำรวจสถานะของธุรกิจยั่งยืน ประจำปี 2560

ผลการสำรวจที่เกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนที่ควรให้น้ำหนักความสำคัญ ในปี 2561 สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ได้รับความสำคัญสูงสุด ประกอบด้วย ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน (ร้อยละ 73) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ร้อยละ 73) และสิทธิแรงงาน (ร้อยละ 66)

กลุ่มที่ได้รับความสำคัญรองลงมา ได้แก่ ประเด็นด้านการมีน้ำใช้และคุณภาพน้ำ (ร้อยละ 48) กรอบนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมความยั่งยืน (ร้อยละ 45) การบริโภคที่ยั่งยืน (ร้อยละ 44) การเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่สนองตอบต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (ร้อยละ 39) ตามลำดับ

ส่วนประเด็นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับความสำคัญน้อยสุด คือ ประเด็นการลดปัญหาความยากจน (ร้อยละ 25)


สำหรับประเด็นความยั่งยืนอื่นๆ ที่ผู้ตอบแบบสำรวจระบุถึงเพิ่มเติม ประกอบด้วย การจ้างงานและผลกระทบจากการปรับให้เป็นดิจิทัล การเพิ่มความโปร่งใส โดยเฉพาะในสายอุปทาน (ที่เลยจาก Tier 1) การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติ การต่อต้านทุจริต หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และการเสริมพลังสตรี เป็นต้น

ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้ตอบแบบสำรวจ กว่าหนึ่งในสี่เป็นนักวิชาชีพด้านความยั่งยืนที่ทำงานอยู่ในหมวดธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค อีกหนึ่งในสี่อยู่ในหมวดบริการทางการเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอีกหนึ่งในสี่อยู่ในหมวดธุรกิจการเกษตร อาหาร สุขภาพ และพลังงาน ส่วนที่เหลือเป็นหมวดท่องเที่ยว ขนส่ง บันเทิง และอุตสาหกรรมหนัก ฯลฯ

อนึ่ง ผลการสำรวจประเด็นความยั่งยืนที่ควรให้น้ำหนักความสำคัญ ในปี 2561 ของ GLOBESCAN และ BSR นี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลนำเข้า ประกอบการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของประเด็นความยั่งยืนที่องค์กรจะนำไปดำเนินการ หรือนำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำกลยุทธ์องค์กรที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ

อย่างไรก็ดี องค์กรควรตรวจสอบความสมเหตุสมผล (Validate) ด้วยเครื่องมือตามหลักวิชา อาทิ การใช้หลักการสารัตถภาพ (Materiality) และหลักความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Inclusiveness) เพื่อคัดกรองจนได้ประเด็นที่มีสาระสำคัญ และขอบเขตของประเด็นที่จะดำเนินการ ให้มีความสอดคล้องกับบริบทธุรกิจและลักษณะกิจการของตน เพื่อให้เกิดคุณค่าสูงสุดสุด ทั้งต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน จงประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ในปี 2561 นี้ โดยถ้วนหน้าครับ


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, December 17, 2017

ผลิตภัณฑ์ 4.0

เมื่อช่วงปลายเดือน (พฤศจิกายน) ที่ผ่านมา ผมมีอันต้องไปบรรยายที่ จ.เชียงใหม่ ในโครงการร่วมสร้างต้นแบบการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน/ท้องถิ่น เลยเป็นเหตุให้ต้องทำการเตรียมเอกสารบรรยายขึ้นใหม่ ไม่สามารถใช้วัตถุดิบเดิมๆ ในเรื่อง CSR ที่ถนัด สำหรับงานนี้ได้

โจทย์มีประมาณว่าต้องแตะเกี่ยวกับ แนวทางการสร้างเศรษฐกิจ / ธุรกิจ (ใหม่) / ผลิตภัณฑ์ (ใหม่) ของจังหวัด และด้วยอารมณ์แบบว่า โจทย์พาไป เลยทำให้ต้องด้นเนื้อหา ที่ต้องฉายภาพให้เห็นเกี่ยวกับลำดับขั้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะหยิบยกการอธิบายระดับด้วยเลข 1.0 ถึง 4.0 ตามแบบอย่างนิยมที่ใช้กันในปัจจุบัน

เรื่อง ผลิตภัณฑ์ 4.0 นี้ มิได้มีส่วนเชื่อมโยงหรือเกี่ยวเนื่องอะไรกับ ประเทศไทย 4.0 ใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งอยู่บนคนละฐานคิดโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ พัฒนาการของผลิตภัณฑ์ 1.0 ยังคงดำเนินอยู่ และสามารถที่จะอยู่รอดและเติบโตในตลาดปัจจุบันและในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องยกระดับไปเป็น 4.0 ขณะที่แนวคิดหลัง มุ่งที่จะยกระดับเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศไทย ไปเป็น 4.0 ซึ่งผมเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ ทั้งในแง่ของแนวคิด (Concept) และการทำให้เกิดผล (Implementation)

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (หมายรวมถึง สินค้าและบริการ) ภายใต้แนวคิดนี้ ตั้งต้นจาก ผลิตภัณฑ์ 1.0 ที่มีคุณลักษณะ “ถูกกว่า” ผลิตภัณฑ์ 2.0 ที่มีคุณลักษณะ “คุ้มกว่า” ผลิตภัณฑ์ 3.0 ที่มีคุณลักษณะ “ดีกว่า” และผลิตภัณฑ์ 4.0 ที่มีคุณลักษณะ “เหนือกว่า” ตามลำดับ


เริ่มจากผลิตภัณฑ์ 1.0 ที่มีคุณลักษณะ “ถูกกว่า” เป็นการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ โดยใช้ “ราคา” เป็นตัวตั้ง ส่วนใหญ่สินค้าและบริการที่จัดอยู่ในจำพวก ผลิตภัณฑ์ 1.0 นี้ มักจะเป็นสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่ไม่มีความแตกต่างในคุณสมบัติหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ก๊าซ โลหะ สินค้าเกษตร ปศุสัตว์ ชื่อโดเมน ฯลฯ

ตัวอย่างธุรกิจที่มีสินค้าและบริการ จัดอยู่ในจำพวกผลิตภัณฑ์ 1.0 ได้แก่ ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (นอกธนาคาร) ที่เติบโตสูงตามตลาดการเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศ เช่น ซุปเปอร์ริช ไทยแลนด์ ที่ใช้การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ด้วยการเสนอราคาที่ดีที่สุด (Best rate) ให้กับลูกค้า และมีอัตรารับแลกเปลี่ยนเดียวกันในทุกสาขา

สำหรับผลิตภัณฑ์ 2.0 ที่มีคุณลักษณะ “คุ้มกว่า” เป็นการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ โดยใช้ “มูลค่า” เป็นตัวตั้ง โดยอาศัยการเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย หรือไม่จำกัดปริมาณ (ต่อครั้ง ต่อเดือน) ที่เป็นผลมาจากการประหยัดจากการปรับขอบเขตการดำเนินงาน (Economy of Scope) ที่สามารถใช้ปัจจัยบางอย่างร่วมกันได้ หรือจากการขายเหมา (รายครั้ง รายเดือน) หรือจากการขายพ่วง เป็นต้น

ตัวอย่างธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์ 2.0 ซึ่งเป็นที่รู้จักหรือคุ้นเคย ได้แก่ ธุรกิจบริการอาหารบุฟเฟ่ต์ ที่มีเมนูให้เลือกหลากหลาย ทานได้ไม่จำกัด ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีความ “คุ้มค่า” ต่อราคาที่จ่าย แม้ราคาจะสูงกว่าเมนูอาหารจานเดียว (a la carte) หรือธุรกิจบริการให้เช่าที่จอดรถรายเดือน หรือการขายตั๋วรถโดยสารสาธารณะรายเดือน เป็นต้น

ขณะที่ ผลิตภัณฑ์ 3.0 ที่มีคุณลักษณะ “ดีกว่า” เป็นการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ โดยใช้ “คุณภาพ” เป็นตัวตั้ง โดยอาศัยความเป็นผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือความชำนาญเฉพาะเรื่องนั้นๆ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีความมั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ และยอมจ่ายในราคาที่ “แพง” กว่าสินค้าและบริการในหมวดเดียวกัน

ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดที่มีการพัฒนาในแบบ 3.0 มีอยู่ในทุกหมวดสินค้าและบริการ ที่เรามักจะเรียกว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มียี่ห้อ หรือเป็นสินค้าและบริการในระดับบน อาทิ รถยนต์ โรงแรม ห้องพัก เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเสียง เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ ฯลฯ

ผลิตภัณฑ์ 3.0 ที่แข่งขันด้วยปัจจัยด้านคุณภาพ เมื่อเริ่มอิ่มตัว หรือมีผู้เล่นเพิ่มมากขึ้น มักจะหันมาสร้างความแตกต่างในตัวผลิตภัณฑ์ด้วยการสร้าง “ประสบการณ์” หรือ “บรรยากาศ” ที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคจะได้รับจากการใช้สินค้าและบริการแทน คือ มุ่งให้ เสพ (แล้ว ติด) ผลิตภัณฑ์ของตน จนเป็นสาวก ไม่หันไปใช้ของคู่แข่ง

ส่วนผลิตภัณฑ์ 4.0 ที่มีคุณลักษณะ “เหนือกว่า” เป็นการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ โดยใช้ “เอกสิทธิ์” หรือสิทธิพิเศษบางอย่าง เป็นตัวตั้ง ผสมผสานกับการสร้างเงื่อนไขของ “ความจำกัด” ที่ไม่สามารถซื้อหาได้เป็นการทั่วไป หรือไม่มีคุณลักษณะดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง

ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ 4.0 ที่ต่อยอดมาจากสินค้าและบริการปกติ โดยเพิ่มเอกสิทธิ์ในการใช้บริการให้รวดเร็วขึ้น หรือสะดวกขึ้น เช่น บริการบัตรประเภท Express หรือ Fast Pass สำหรับใช้เครื่องเล่นหรือเข้าชมในสวนสนุกหรือสตูดิโอต่างๆ บัตรหรือบัญชีธนาคารบางประเภทที่ให้อภิสิทธิ์ในการใช้บริการโดยไม่ต้องรอคิวตามปกติ หรือบริการช่องทางผ่านตรวจคนเข้าเมืองพิเศษตามท่าอากาศยานต่างๆ เป็นต้น

สำหรับกรณีตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ 4.0 ที่รายได้หลักอาจมิได้มาจากผู้ใช้โดยตรง ได้แก่ บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งใช้ความจำกัดของกลุ่มเพื่อนที่มีเฉพาะในเครือข่าย เช่น เฟซบุ๊ก สามารถทำเงินมหาศาลจากค่าโฆษณา (มีรายได้รวมเกือบ 9 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว) โดยใช้ความเป็นเครือข่าย “เพื่อน” ของผู้ใช้เอง ในการยึดผู้ใช้ให้คงอยู่ในเครือข่าย

หรือ LINE ที่ยึดผู้ใช้ในไทยให้คงอยู่ในเครือข่ายอย่างเหนียวแน่น มียอดผู้ใช้ประจำทั่วโลกอยู่ราว 200 ล้านคนต่อเดือน แต่มีตลาดหลักอยู่เพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย และอินโดนีเซีย (ขณะที่ WhatsApp มีผู้ใช้ประจำอยู่ที่ 1.3 พันล้านคนต่อเดือน ไล่หลังด้วย WeChat ที่มีอยู่เกือบ 1 พันล้านคนต่อเดือน)

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ 4.0 ที่ผู้ประกอบการใช้วิธีสร้างเครือข่ายของ “อุปทาน” (สินค้าและบริการที่ตนอาจมิได้เป็นเจ้าของหรือครอบครองกรรมสิทธิ์) มาเป็นเงื่อนไข ในการยึดผู้ใช้ให้เป็นสมาชิก เพื่อการซื้อสินค้าและใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบในทุกหมวดธุรกิจ อาทิ Amazon (เริ่มจากหนังสือ จนเป็นสรรพสินค้า) , Airbnb (ห้องพัก), Grab (พาหนะเดินทาง-ขนส่ง), Raksul (โรงพิมพ์), Wongnai (ร้านอาหาร) เป็นต้น

จะเห็นว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ 4.0 สามารถต่อยอดมาจากสินค้าและบริการปกติที่ธุรกิจมีอยู่เดิม หรือรวบรวมมาจากผู้ส่งมอบ (Suppliers) สร้างเป็นเครือข่าย “อุปทาน” ที่มีตนเป็นผู้ดูแลบริหารเครือข่าย หรือสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมกลุ่มผู้ใช้ มาสร้างเป็นเครือข่าย “อุปสงค์” เพื่อหารายได้จากธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้เหล่านี้อีกต่อหนึ่ง

ผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ 1.0 จนถึง 4.0 ตามที่เล่ามานี้ ล้วนมีที่ยืนเป็นของตัวเอง ทั้งในตลาดที่เป็นปัจจุบัน และในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า ต้องอาศัยทักษะของผู้ประกอบการที่มีความแตกต่างกัน สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแต่ละระดับเช่นกัน และที่สำคัญ ท่านผู้ประกอบการต้องรู้ว่า ท่านมีธุรกิจหรือวัตถุดิบที่เหมาะสมต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในระดับใด


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, December 11, 2017

ความยั่งยืนที่ให้ผลระยะสั้น

สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประธานกรรมการบริษัทที่มาร่วมงาน Chairman Dinner ของ IOD เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 พบว่า ร้อยละ 82 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าคณะกรรมการของบริษัทได้นำประเด็นเรื่องความยั่งยืน มาพิจารณาในการกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กร

สำหรับการสอบถามในประเด็นที่คณะกรรมการบริษัทจะใช้เวลาพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการมากขึ้นในปีหน้า นอกเหนือจากเรื่องกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ คือ เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ร้อยละ 61.2 เรื่องการบริหารความเสี่ยง ร้อยละ 55.1 เรื่องการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ร้อยละ 22 และเรื่องการต่อต้านทุจริต ร้อยละ 18.4 ตามลำดับ

ผลสำรวจดังกล่าว มาจากผู้ตอบแบบสอบถาม 49 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 7.2 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ทั้ง SET และ mai) จำนวน 679 บริษัท

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ออก “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560” (Corporate Governance Code: CG Code) เพื่อนำมาใช้แทนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2555 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

CG Code ฉบับดังกล่าว ถือเป็นหลักปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการ นำไปปรับใช้ในการกำกับดูแลให้บริษัท มีผลประกอบการที่ดีในระยะยาว ดำเนินงานอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย พัฒนาหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

โดยหลักปฏิบัติเน้นการบูรณาการเรื่องความยั่งยืน ในประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) เข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ ตั้งแต่การกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ กระบวนการดำเนินงาน การติดตามและการรายงาน เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท สามารถใช้เป็นกรอบในการกำกับดูแลให้บริษัท ดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นไปเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน

ผมคาดการณ์ว่า ไม่ช้าก็เร็ว บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ จะต้องรับเอาเรื่องความยั่งยืนมาดำเนินการ ทั้งที่เกิดจากความริเริ่มภายในตัวบริษัทเอง (Self-Discipline) หรือจากกฎเกณฑ์การกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Discipline) รวมทั้งแรงผลักดันจากตลาด (Market Discipline)

กลไกหนึ่งที่สำคัญ เพื่อให้การส่งเสริมเรื่องนี้สัมฤทธิ์ผล คือ การสื่อสารให้บริษัทจดทะเบียน รับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่เฉพาะการมีผลประกอบการที่ดีในระยะยาวจากการดำเนินการเรื่องความยั่งยืน แต่ยังสามารถให้ผลในระยะสั้นได้ด้วย ซึ่งในประเด็นหลังนี้ จะสร้างให้เกิดแรงจูงใจ ในแบบที่ไม่ต้องรอ หรือต้องแลก เพื่อผลในระยะยาว 5 ปี 10 ปี ซึ่งบางที คณะกรรมการอาจหมดวาระ หรืออยู่ไม่ทันรับอานิสงส์ถึงผลที่จะเกิดขึ้น

แนวทางการดำเนินการเรื่องความยั่งยืน เพื่อให้ผลในระยะสั้นนั้น อยู่ที่การออกแบบความริเริ่มด้านความยั่งยืน จากที่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น (หรือที่จะเกิดขึ้น หากมิได้ดำเนินการ) โดยการจับคู่พิจารณากับ “โอกาส” และ “ความเสี่ยง” ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต มาเป็นการจับคู่พิจารณากับ “รายรับ” และ “รายจ่าย” ซึ่งเป็นเรื่องในปัจจุบัน ที่มีผลกับบรรทัดสุดท้ายของกิจการตอนสิ้นปี

เป็นการปรับเปลี่ยนการรับรู้ประโยชน์ (Recognized Benefit) ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เป็นการรับประโยชน์ (Realized Benefit) จากการดำเนินการเรื่องความยั่งยืน ในรอบปีปัจจุบัน ซึ่งผมเรียกว่าเป็น “มูลค่าปัจจุบันของความยั่งยืน” (Present Value of Sustainability)


เสมือนกับการบันทึกการรับรู้รายได้ในทางบัญชีที่มี 2 แบบ คือ เกณฑ์เงินสด (Cash Basis) กับเกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) นั่นเอง

ส่วนรายละเอียดและวิธีการในการให้ได้มาซึ่งมูลค่าปัจจุบันของความยั่งยืน จากการออกแบบความริเริ่มเพื่อรับประโยชน์ (Realized Benefit) ในรอบการดำเนินงานปัจจุบัน จะทำได้อย่างไรนั้น ผมจะมาขยายความ พร้อมตัวอย่างในตอนต่อไปครับ


จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Sunday, December 03, 2017

โค้งสุดท้าย ประชารัฐ

เรื่อง “เศรษฐกิจ ปากท้อง” นับเป็นเรื่องสำคัญในวาระการพัฒนาประเทศ สำคัญถึงขนาดที่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้เลยทีเดียว

การเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน ทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ พ่อค้า ประชาชน ทุกกลุ่มรายได้ ทุกหน่วยสังคม ทั้งในเมืองและในชนบท เป็นสิ่งจำเป็น แม้การดำเนินการตามข้อเรียกร้องเหล่านั้น จะไม่สามารถทำได้ทั้งหมดก็ตาม

หนึ่งในปัญหาสำคัญ ที่ได้มีการสรุปไว้แล้ว ได้แก่ ปัญหาในการสร้างความเชื่อมโยงในระบบเศรษฐกิจ เช่น “ต้นทาง” การผลิต การเพาะปลูก “กลางทาง” การแปรรูป การสร้างนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่ม และ “ปลายทาง” คือ การตลาด ที่จำเป็นต้องสร้างทางเลือก สำหรับ ประชาชน พ่อค้าคนกลาง ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ให้เป็น “ตลาดทางเลือก” ของผู้ผลิต เพาะปลูก

แม้รัฐบาลได้ริเริ่มกลไก “ประชารัฐ” เพื่อสานพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เข้าด้วยกัน เชื่อมโยงกัน เกื้อกูลกัน เกิดเป็น “ห่วงโซ่” ที่ไม่อาจแยกคิด แยกทำได้

แต่หลายโครงการความริเริ่มที่นำหน้าด้วยคำว่า ประชารัฐ เริ่มปรากฏผลให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถทำได้ตามวัตถุประสงค์ และมีการดำเนินงานที่เบี่ยงเบนออกไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิม ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก ช่วยภาคประชาชน กลับกลายเป็นประชาชนผู้มีรายได้น้อยถูกใช้เป็นช่องทางในการถ่ายโอนประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น กรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ในอีกมุมหนึ่ง รัฐบาลได้ออกมาตรการหลายชุด ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ SMEs แต่ในทางปฏิบัติ หลายกลไกไม่ทำงาน หรือใช้เวลานาน เช่น กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่เริ่มโครงการในเดือนพฤษภาคม ปัจจุบันอนุมัติไปเพียง 4,423 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22 จนทำให้ต้องขยายการเปิดรับการยื่นคำขอออกไปจนถึงเดือนธันวาคมนี้

เสียงสะท้อนจากวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs ที่ผมได้มีโอกาสลงคลุกคลีและสัมผัสกับปัญหาหรืออุปสรรคที่เขาเหล่านั้นเผชิญอยู่ในวันนี้ ส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่องการพัฒนา “ผลิตภัณฑ์” แต่เป็นเรื่องช่องทาง “การตลาด” เพิ่มเติมจากที่มีอยู่

ซึ่งแต่ก่อน หน่วยงานราชการหลายแห่งที่ไปส่งเสริม มักมีวาทกรรมว่า เป็นเพราะ สินค้าและบริการ ที่ผลิตได้หรือที่มีอยู่ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีขบวนส่งเสริมทั้งเรื่องวัตถุดิบ เรื่องการออกแบบ เรื่องบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ แต่สถานะตอนนี้ของผู้ประกอบการในห่วงโซ่เศรษฐกิจ “ต้นทาง” คือ มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว (อุปทานพร้อม) แต่ยังก็ขายไม่ได้ (ไร้อุปสงค์)

เลยทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ตกลงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนานั้น ก็ยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ดี (หรือจริงๆ แล้ว มีตลาดอยู่จริงหรือไม่)

จึงเป็นเหตุให้ภาครัฐ จำต้องมีนโยบายด้านตลาดรองรับขึ้น และเป็นที่มาของโครงการ “ตลาดประชารัฐ”

แนวคิดของตลาดประชารัฐ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไม่มีพื้นที่ค้าขาย ให้มีพื้นที่และโอกาสในการค้าขาย โดยเป็นการเพิ่มพื้นที่ตลาดใหม่ และขยายพื้นที่ตลาดเดิม จำแนกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ ตลาดประชารัฐ Green Market ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ตลาดประชารัฐ กทม. คืนความสุข ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ตลาดประชารัฐ Modern Trade ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธกส. ตลาดประชารัฐต้องชม และตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม

ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ จะมีการเปิดตลาดประชารัฐพร้อมกันทั่วประเทศ ภายใต้ชื่องาน “ตลาดประชารัฐ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความสุข” เพื่อนำเสนอการส่งต่อโมเดลตลาดคลองผดุงกรุงเกษมไปสู่ตลาดประชารัฐ จำนวนรวม 6,520 แห่ง

และจากการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ มียอดผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 120,276 ราย โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มพ่อค้า/แม่ค้า 59,887 ราย กลุ่มเกษตรกร 31,071 ราย และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 12,862 ราย ตามลำดับ

ซึ่งก็ต้องติดตามรวบรวมข้อมูล เพื่อดูกันต่อว่า ตัวเลขยอดขายสูงปรี๊ดที่คาดการณ์ว่าจะประกาศจากโครงการตลาดประชารัฐนี้ มาจากอุปสงค์ก้อนใด สามารถเชื่อมโยงและตอบสนองกับอุปทานก้อนที่ได้รับการพัฒนาในห่วงโซ่เศรษฐกิจ “ต้นทาง” ที่ผ่านมา ได้มากน้อยเพียงใด

หาก “เศรษฐกิจ ปากท้อง” ในเวอร์ชันที่ชาวบ้านสัมผัส ยังไม่ดีขึ้น ก็เชื่อแน่ว่า ประชารัฐกำลังเดินทางเข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว!!


จากบทความ 'Sustainpreneur' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]