Monday, August 08, 2016

ดัชนียั่งยืนองค์กร

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) 17 ข้อ ที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศ ได้มีฉันทามติร่วมกัน ภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ได้ถูกนำมาใช้เป็นเป้าหมายอ้างอิงต่อการพัฒนาทั้งในภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ที่สามารถยอมรับร่วมกัน โดยได้รับการเห็นพ้องทั้งในระดับระหว่างองค์กรและระหว่างประเทศ

แต่เดิมหน่วยงานที่เข้าเป็นภาคีหรือหุ้นส่วนการพัฒนาในมิติต่างๆ ต้องใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการรวบรวม กลั่นกรอง และเห็นพ้องในเป้าหมายร่วมกันก่อนการดำเนินงาน และบ่อยครั้ง ก็ไม่สามารถได้ข้อสรุปร่วม เป็นเหตุให้การดำเนินงานในลักษณะหุ้นส่วนความร่วมมือในหลายเวที ไม่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์

การอ้างอิงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นธงในการพัฒนาของแต่ละภาคส่วน จะช่วยขจัดและลดการสูญเสียเวลาและทรัพยากรที่ใช้ไปกับการได้มาซึ่งข้อตกลงก่อนการดำเนินงาน ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย ได้อย่างกว้างขวางนับจากนี้ไป

จากรายงานการศึกษา “SDG Index and Dashboards - Country Profiles” ที่จัดทำโดยมูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ (Bertelsmann Stiftung) ร่วมกับเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ประเทศไทย มีการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในอันดับที่ 61 ของโลก จากการสำรวจทั้งหมด 149 ประเทศ โดยเป้าหมาย SDG หลัก 3 ลำดับแรก ที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนา ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 หมวดอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายที่ 12 แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 16 หมวดสันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

เป้าหมาย SDG 3 ลำดับแรก ที่ไทยควรให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนา

สำหรับภาคเอกชน ขั้นตอนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถเริ่มจากการพิจารณาสิ่งที่องค์กรตนเองได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยการประมวลและเพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กร ให้มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากนั้น องค์กรธุรกิจจึงค่อยพิจารณาเพิ่มเติมการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องหรือตอบสนองต่อ SDG ในข้อที่มีการดำเนินการบ้างแล้ว แต่ยังทำไม่ได้เต็มที่ และในข้อที่ยังมิได้มีการดำเนินการ ตามลำดับ

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า องค์กรธุรกิจทุกแห่ง จะต้องดำเนินการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทั้ง 17 ข้อ แต่กิจการต้องสามารถเลือกเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องต่อการสร้างคุณค่า เป็นเรื่องซึ่งมีนัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ถูกให้ลำดับความสำคัญโดยองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีกรอบในการใช้ปรับแนวการดำเนินธุรกิจ ในทิศทางที่สอดคล้องกับ SDG สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2548 ได้ริเริ่มโครงการจัดทำ ดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับองค์กร (Corporate SDG Index) สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการแปลงเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นโจทย์ในการดำเนินงานในระดับองค์กร ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองให้ภาคเอกชนได้เห็นภูมิทัศน์ใหม่ทางธุรกิจ และเอื้อให้เกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

องค์กรธุรกิจที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://www.sdgindex.com ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

จากบทความ 'CSR Talk' ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ External Link [Archived]

Monday, August 01, 2016

เริ่มต้น CSV ให้ถูกทาง

ทุกวันนี้ มีการพูดกันอย่างกว้างขวางถึงการยกระดับ CSR มาเป็นเครื่องมือช่วยสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันตามโมเดลของไมเคิล อี พอร์เตอร์ ที่ฉายภาพให้เห็นว่า องค์กรสามารถพัฒนา Responsive CSR ในเชิงของการดูแลผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ มาสู่ Strategic CSR ที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV) ระหว่างธุรกิจกับสังคมไปพร้อมกัน

คำว่า Responsive ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายในบริบทของ CSR คือ ความที่องค์กร Respond ในเรื่องที่เป็นผลกระทบอันมีสาเหตุจากการประกอบกิจการ หากมองในเชิงอุดมคติ ถ้าองค์กรไม่ได้ไปทำให้ใครเดือดร้อน ก็อาจจะไม่ต้องทำ CSR ก็ได้ แต่ในความเป็นจริง กระบวนการในทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การส่งมอบ การจำหน่าย การบริการ ฯลฯ ย่อมต้องเกิดผลภายนอก (Externalities) ไม่มากก็น้อย ฉะนั้น การที่ชาวบ้านเดินมาหาโรงงาน บอกว่าเขาได้รับผลกระทบจากจากน้ำทิ้ง กลิ่นเหม็น อากาศเสีย หากโรงงานไม่ดำเนินการอะไรเลย นั่นแสดงว่า ไม่มี CSR

การที่องค์กรรับที่จะดำเนินการตามที่ชาวบ้านร้องขอ อันนี้เรียกว่า Responsive คือ React ในสิ่งที่ตนเองได้สร้างผลกระทบไว้ ซึ่งพอร์เตอร์กล่าวไว้ว่า การที่องค์กรตอบสนองต่อข้อท้วงติงหรือข้อเรียกร้องเช่นนี้ องค์กรจะได้รับการยอมรับในฐานะ Good Citizen ในสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้

ทีนี้ ในมุมมองพอร์เตอร์ยังขยายความต่อว่า แม้องค์กรจะได้ทำเรื่อง Responsive CSR ครบถ้วนดีแล้ว แต่ก็อาจไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ทุกธุรกิจให้ความสำคัญ เพราะการดำเนินงาน CSR ในเชิงรับ องค์กรไม่สามารถกำหนดประเด็นการดำเนินงานทางสังคมได้เอง ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) และเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จหนึ่งของการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน

Corporate Involvement in Society: A Strategic Approach (Porter and Kramer, 2006)

แนวคิดของ CSR เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic CSR ซึ่งก็คือการทำ CSR ในเชิงรุก จึงถูกพอร์เตอร์หยิบยกขึ้นมานำเสนอ โดยที่องค์กรเป็นผู้หยิบยกประเด็นทางสังคมขึ้นมาวิเคราะห์และเลือกดำเนินการให้สอดรับกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ รวมทั้งเกื้อหนุนกับพันธกิจ ตลอดจนขับเน้นค่านิยมขององค์กรอย่างผสมผสานกลมกลืน

อย่างไรก็ตาม การที่องค์กรหลายแห่งลุกขึ้นมาประกาศว่าจะเข้าไปทำงานเชิงรุกกับสังคม แต่หากผลกระทบทางลบจากกิจการที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยังไม่ได้ทำ Responsive CSR การแสวงหาความแตกต่างหรือมุ่งเน้นพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วย Strategic CSR ก็จะไม่เป็นผล เนื่องเพราะองค์กรยังละเลยสิ่งที่เป็น Minimum Requirement ที่ควรต้องดำเนินการอยู่

ดังนั้น การทำ CSR เชิงกลยุทธ์ จึงมิได้มาทดแทน Responsive CSR แต่เป็นสิ่งที่องค์กรต้องมีพัฒนาการ ตั้งแต่การทำ CSR ในเชิงรับ (ที่เน้นแก้ไขผลกระทบทางลบ) จนมาสู่ CSR ในเชิงรุก (ที่เน้นเสริมสร้างผลกระทบทางบวก) อย่างเป็นลำดับขั้น

การสร้างคุณค่าร่วม จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อ สังคมให้การยอมรับกิจการ ในฐานะที่เป็น Good Citizen สามารถดำเนินการดูแลผลกระทบได้ดี ไม่สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่รายรอบกิจการ จึงเรียกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการทำ CSV อย่างถูกทาง

จากบทความ 'CSV' ในนิตยสาร MBA External Link [Archived]