Thursday, March 17, 2016

นับหนึ่ง ธุรกิจเพื่อสังคม

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร (15 มี.ค.) ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทที่ทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคม ซึ่งจะถูกใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) จากนี้ไป อย่างมีนัยสำคัญ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ชี้แจงหลังจากที่ ครม. มีมติในเรื่องดังกล่าวว่า สิทธิประโยชน์ที่ให้ตามมาตรการนี้ แบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีแรก เป็นการตั้งวิสาหกิจใหม่เพื่อดำเนินการในรูปของธุรกิจเพื่อสังคม กรณีที่สอง เป็นการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือธุรกิจอื่นที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม และกรณีที่สาม เป็นการให้เงินสนับสนุนที่เป็นเงินให้เปล่าในกิจการหรือธุรกิจเพื่อสังคม

กรณีแรก วิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ที่ดำเนินการในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม คือ นำเงินรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 กลับมาทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ทั้งในด้านการเกษตร การศึกษา หรือด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นการกุศลทั้งหมด วิสาหกิจเพื่อสังคมดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี โดยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เลย เนื่องจากเป็นกิจการที่นำรายได้ทั้งหมด (หรือส่วนใหญ่) ไปทำประโยชน์ให้แก่สังคม

กรณีที่สอง ผู้ลงทุนที่เป็นบริษัทใหญ่ซึ่งมีกำลัง ไปช่วยเหลือบริษัทเล็กที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยไปลงทุนในหุ้นของวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือการที่บริษัทต่างๆ ระดมทุนเพื่อจดจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมร่วมกัน เงินที่นำไปลงทุนก้อนนี้ สามารถนำไปใช้คำนวณเพื่อหักภาษีในบริษัทใหญ่ของตัวเองได้

กรณีที่สาม เงินสนับสนุนที่เป็นเงินให้เปล่าแก่วิสาหกิจหรือธุรกิจเพื่อสังคม ที่ไม่ใช่การลงทุน ซึ่งปกติจะไม่สามารถนำมาหักภาษีได้ เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ แต่ด้วยมาตรการนี้ จะเปิดให้สามารถนำเงินสนับสนุนจำนวนดังกล่าว มาหักภาษีได้ด้วย

ทั้งสามกรณี เป็นการออกแบบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการที่ทำ CSR อย่างครบวงจร ตั้งแต่การตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมขึ้นเอง การไปร่วมถือหุ้นหรือร่วมลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมอื่น และการสนับสนุนในรูปของเงินให้เปล่าที่มิใช่การลงทุนแก่วิสาหกิจเพื่อสังคม

ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร จะได้ยกร่างเป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นด้วยมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมชุดนี้ จะเปิดโอกาสให้บริษัทมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการทำ CSR ในรูปของการลงทุนและการสนับสนุนนิติบุคคลที่มิใช่มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

แนวทางดังกล่าวนี้ สอดรับกับความเคลื่อนไหวหรือทิศทางการทำ CSR-after-process ในวิถีที่เน้นเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากการจัดตั้ง หรือการลงทุน หรือการให้เงินสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม อยู่บนสมมติฐานที่วิสาหกิจนั้นจะมีการดำเนินงานต่อเนื่อง (Going Concern) ด้วยการใช้ประโยชน์จากเงินทุนตั้งต้นหรือเงินสนับสนุนแรกเริ่มที่ได้รับไปดำเนินงานในรูปของธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้

แตกต่างจากองค์กรการกุศล ที่ต้องอาศัยเม็ดเงินบริจาคเป็นรายงวด เติมเพิ่มสม่ำเสมอ เพื่อให้การดำเนินงานต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก ซึ่งในความเป็นจริง บริษัทผู้ให้ความช่วยเหลืออาจทำได้เป็นครั้งคราวหรือในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถจัดสรรงบบริจาคเพื่อให้ความช่วยเหลือแบบไม่สิ้นสุดได้

ในต่างประเทศ กลไกการส่งเสริมการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบนี้ ก่อให้เกิดรูปแบบของกิจการพันธุ์ใหม่จำนวนมาก อาทิ Community Interest Company (CIC), Benefit Corporation (B-Corp), Low-profit Limited Liability Company (L3C), Social Purpose Corporation (SPC), Flexible Purpose Corporation (FPC) อีกทั้งยังนำไปสู่การปรับตัวขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่ต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และต้องยกระดับการดำเนินงานในทางที่ก่อให้เกิดผลิตภาพมากยิ่งขึ้น

จากนี้ไป คงต้องเฝ้าติดตามว่า ด้วยมาตรการนี้ การพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือสังคมของประเทศไทย จะไปในทิศทางใด

สำหรับผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้น คือ เราจะได้เห็นการแก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรมที่ไม่ผูกติดกับเงื่อนไขเชิงพาณิชย์ สามารถสร้างทางเลือกให้แก่กลุ่มเป้าหมายจากผู้รอรับความช่วยเหลือเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อในระดับราคาที่จับจ่ายได้ ด้วยการใช้ประโยชน์จากโมเดลธุรกิจในการส่งมอบผลลัพธ์ที่สืบเนื่องไม่สิ้นสุด

เป็นการเพิ่มความคุ้มค่าของเม็ดเงินช่วยเหลือสังคมที่ให้ผลยั่งยืนกว่าการทำ CSR ในรูปการบริจาคอย่างแน่นอน!

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, March 10, 2016

เปิดทิศทาง CSR ปี 59

วันนี้ (10 มี.ค.) สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดการแถลงทิศทาง CSR ปี 2559 ให้กับองค์กรธุรกิจที่สนใจ นำใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนของกิจการประจำปี โดยในปีนี้ ธีมหลักจะเป็นการเสนอแนะให้ธุรกิจปรับโจทย์ (Re-proposition) การดำเนินงานเพื่อรองรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) และการนำโมเดล Social Business มาเป็นทางเลือกในการทำ CSR แทนรูปแบบของการบริจาค หรือ Philanthropy โดยไม่สูญเงินต้น

สำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อาทิ กิจการในกลุ่มพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ในปีนี้ ต่างต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจกันขนานใหญ่ เพื่อรักษาหรือคงไว้ซึ่งเสถียรภาพของกิจการ และจำเป็นต้องเปลี่ยนจุดโฟกัสจากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเติบโต มาสู่กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืนที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ โดยใช้ประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยหรือโอกาสในการเสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการได้มาซึ่งกำไรที่มั่นคง

ส่วนกิจการที่ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคม ก็จำต้องปรับวงเงินงบประมาณให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การทำ CSR ในแบบที่ไม่สูญเงินต้น หรือแบบที่ใช้เงินงบประมาณ CSR ก้อนเดิม แต่หมุนเวียนทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้หลายรอบ จะกลายเป็นทางเลือกที่หลายกิจการจะพิจารณานำมาใช้ในปี 2559 โดยหนึ่งในทางเลือกนั้น คือ โมเดล Social Business ตามแนวคิดของ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส

ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมมือกับ Thailand Social Business Initiative (TSBI) จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “Social Business: A Solution to achieve SDGs” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการที่จะนำ Social Business มาใช้แก้ไขปัญหาในสังคมไทย และใช้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล โดยได้รับเกียรติจาก Dr.Faiz Shah ผู้อำนวยการศูนย์ยูนุสประจำเอไอที และ ดร.สุนทร คุณชัยมัง คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงาน Social Business ของกระทรวงมหาดไทย มาเป็นวิทยากรร่วมการเสวนาในครั้งนี้

ในต่างประเทศ การประกอบธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมมีความเคลื่อนไหวที่ก่อตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจตัวเลขการลงทุนในกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการสังคมของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) เมื่อปี 2557 ระบุว่า มีเม็ดเงินที่ลงทุนในกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการสังคม กระจายอยู่ทั่วโลกราว 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากการสำรวจในปี 2555

ในสหภาพยุโรป มีผู้ประกอบการสังคม อยู่จำนวน 2 ล้านราย ที่สร้างให้เกิดงาน 11 ล้านตำแหน่ง และในทุกๆ 4 รายของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นจะเป็นผู้ประกอบการสังคม โดยเมื่อปี 2554 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ก่อตั้ง Social Business Initiative ขึ้นเพื่อพัฒนาภาคส่วนที่เป็นผู้ประกอบการสังคม ซึ่งมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพีในสหภาพยุโรป

ปัจจุบัน หลายประเทศได้มีการพัฒนารูปแบบของกิจการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ในหลายรูปแบบ อาทิ Community Interest Company (CIC), Benefit Corporation (B-Corp), Low-profit Limited Liability Company (L3C), Social Purpose Corporation (SPC), Flexible Purpose Corporation (FPC)

ในประเทศไทย เป็นที่คาดหมายว่า จะมีการนำแนวคิด Social Business ตามนิยามของยูนุส คือ เป็นธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) มาใช้เป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการขจัดปัญหาความยากจน การว่างงาน และก๊าซเรือนกระจก ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นับจากปีนี้เป็นต้นไป

สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือชื่อ “Creating Social Business: สร้างธุรกิจเพื่อสังคม” เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการและองค์กรธุรกิจทำความเข้าใจรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคมตามแนวทางของยูนุส เจ้าของแนวคิด Social Business ฉบับต้นตำรับ พร้อมตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคม จำนวน 10 กิจการ ที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศ จากการเข้าร่วมดำเนินงานของกิจการกรามีนที่ยูนุสเป็นผู้บุกเบิกขึ้น โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, March 03, 2016

แปรทุน เปลี่ยนสังคม

ใครมีเงินเก็บ มีเงินเย็น ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดอกเบี้ยฝากก็น้อย มาทำ Social Business กันดีกว่าจ้า

ศ.มูฮัมมัด ยูนุส ผู้บุกเบิกแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม ได้นิยาม Social Business ไว้ว่า เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ในบทความตอนนี้ จะได้มาขยายความว่า โมเดล Social Business ใช้เงินทุนให้เกิดประโยชน์แก่สังคม แตกต่างจากธุรกิจปกติอย่างไร โดยเงินต้นที่เป็นทุนยังอยู่ครบ

เมื่อเทียบกับบริษัททั่วไป การจดจัดตั้งบริษัท ต้องมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ผู้เริ่มก่อการหรือผู้ที่ต้องการถือหุ้น นำมาลงขันกันโดยได้รับหุ้นตามสัดส่วนของเงินลงทุน ซึ่งสัดส่วนการถือครองหุ้นนี้จะมีนัยสำคัญต่อการใช้สิทธิออกเสียงและเงินปันผลที่จะได้รับ อันเป็นการรักษาประโยชน์ส่วนบุคคล (หรือนิติบุคคล) ที่เป็นเจ้าของกิจการ ผู้ดำเนินกิจการในภาคส่วนนี้ เรียกว่า Private Sector

ทั้งนี้ เงินลงทุนในกิจการ ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้น เมื่อใดที่ผู้ถือหุ้นต้องการเงินลงทุนคืน ก็ต้องขายหุ้นออกไป ในราคาที่ผู้ซื้อผู้ขายตกลงกัน

ในกรณีของ Social Business ธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งอาจมีหรือไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลก็ได้ เช่น เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnership) เป็นกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ (Unincorporated Joint Venture) เป็นบริษัทค้าร่วม (Consortium) หรือเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ (Business Unit) ภายใต้นิติบุคคลเดิม

ด้วยเหตุที่การประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ทำให้โครงสร้างหรือรูปแบบการถือครองหุ้นเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนบุคคล จึงไม่มีนัยสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมในภาคส่วนนี้ ยูนุสใช้คำเรียกว่าเป็น Citizen Sector อันหมายถึงกลุ่มของปัจเจกชนซึ่งทำงานอยู่ในภาคเอกชน ที่นำความเชี่ยวชาญหลัก (Core Expertise) ในธุรกิจ มาใช้แก้ไขปัญหาสังคมส่วนรวม แทนการใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตน

ทั้งนี้ เงินลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม เมื่อใดที่เจ้าของเงินลงทุนต้องการเอาเงินต้นกลับคืน ก็สามารถทำได้ภายใต้ระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ส่วนกำไรที่ทำมาหาได้ทั้งหมดระหว่างดำเนินงาน ต้องคงไว้ในกิจการ

Social Business ไม่มีการปันผลกำไร (Non-dividend) เนื่องจากไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าหรือความมั่งคั่งให้แก่เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม จึงมีอิสระที่จะเลือกเข้าถึงตลาดในส่วนที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากธุรกิจปกติ เช่น การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาวะหรือยกระดับคุณภาพชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องพะวงเรื่องการทำกำไรสูงสุด

ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการเงินลงทุนที่ได้รับโดยไม่ให้ขาดทุน (Non-loss) สร้างเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงกิจการ โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาคหรือเงินอุดหนุนจากภายนอก เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มุ่งสร้างคุณค่าสูงสุด (Maximize Value) ให้แก่สังคม ตรงกันข้ามกับธุรกิจปกติที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ การมีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง มิได้เป็นเงื่อนไขในการจำกัดขนาดของ Social Business แต่อย่างใด ธุรกิจเพื่อสังคมบางแห่ง เป็นกิจการขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจจัดหาพลังงานสะอาดให้แก่ครัวเรือนในชนบท ที่ชื่อ กรามีน ศักติ (แปลว่า กำลัง) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ.1996 ในรูปองค์กรไม่แสวงหากำไร และได้แปลงสภาพเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในปี ค.ศ.2010 ปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ 2,834 ล้านบาท และมีพนักงานทำงานอยู่กว่า 12,000 คน

Social Business ตามแนวคิดของยูนุส ก่อประโยชน์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคม โดยประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ ได้แก่ การแก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรมที่ไม่ผูกติดกับเงื่อนไขเชิงพาณิชย์ การสร้างทางเลือกให้แก่กลุ่มเป้าหมายจากการเป็นผู้ที่รอรับความช่วยเหลือเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อในระดับราคาที่จับจ่ายได้ การใช้ประโยชน์จากโมเดลธุรกิจในการส่งมอบผลลัพธ์ที่สืบเนื่องไม่สิ้นสุด การเสริมสร้างกรอบคิดทางธุรกิจในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การเพิ่มความเป็นรูปธรรมในการตรวจสอบและประเมินความคุ้มค่าที่สังคมได้รับด้วยตัวเลขทางบัญชี เป็นต้น

ส่วนประโยชน์สำหรับธุรกิจที่นำโมเดล Social Business มาใช้ ได้แก่ ความคุ้มค่าของเม็ดเงินช่วยเหลือสังคมที่ให้ผลยั่งยืนกว่าการทำ CSR ในรูปการบริจาค โอกาสในการเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบตลาดหรือลูกค้ากลุ่มใหม่ ความภาคภูมิใจของพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องซึ่งนำไปสู่ความผูกพันกับองค์กร และการรับรู้ที่น้อมไปในทางซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อตราสินค้า เป็นต้น

ด้วยโมเดล Social Business นี้เอง เปิดโอกาสเจ้าของทุนมีทางเลือกในการแปรเงินทุนดำเนินงาน จากการทำธุรกิจที่มุ่งกำไรสูงสุด มาสู่การทำธุรกิจที่สร้างคุณค่าสูงสุดให้แก่สังคม และเลี้ยงตัวเองได้!

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]