Thursday, February 25, 2016

ไขความเข้าใจ Social Business

สัปดาห์ที่แล้ว (19 ก.พ.) สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ Yunus Center AIT และ บริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ลงนามความร่วมมือในการก่อตั้ง "Thailand Social Business Initiative (TSBI)" เพื่อส่งเสริมความริเริ่มด้าน Social Business หรือ ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ตามแนวคิดของ ศ.มูฮัมมัด ยูนุส สำหรับใช้พัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมด้วยรูปแบบทางธุรกิจ ในลักษณะที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของ Social Business


ความตั้งใจของทีเอสบีไอในช่วงแรก ต้องการที่จะสื่อสารและสร้างความเข้าใจในเรื่อง Social Business ในฉบับที่เป็นต้นตำรับของยูนุสให้ถูกต้องถ่องแท้ เพื่อที่จะได้นำแนวคิดดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมให้เกิดผลอย่างเต็มที่

เริ่มจากการแก้ความกำกวม ที่เชื่อว่ายังมีหลายท่านหลายหน่วยงานเข้าใจไปว่า Social Business กับ Social Enterprise คือเรื่องเดียวกัน ไม่ได้มีความแตกต่าง สามารถใช้เรียกแทนกันได้ ซึ่งอันที่จริงแล้ว มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ถามต่อว่า แล้วทำไมถึงต้องเป็น Social Business แล้วโมเดลหรือตัวแบบอื่นไม่ตอบโจทย์หรือ ต้องเรียนว่าทุกตัวแบบที่มีการนำไปใช้และดำรงคงอยู่ แสดงว่าต้องมีจุดที่สร้างคุณค่าบางอย่างในตัวแบบนั้น และให้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์ (Purpose) ของผู้ที่นำไปใช้

Social Business เป็นการประกอบการที่ตั้งอยู่บนความมุ่งประสงค์เดียว (Sole Purpose) คือ การแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ถ้าอิงตามนิยามนี้ กิจการที่เป็นมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณกุศล เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคม แต่หากหมดเงินบริจาคหรือขาดผู้อุปถัมภ์เมื่อใด แล้วมูลนิธิอยู่ไม่ได้ แสดงว่า ไม่ใช่ Social Business

กิจการที่เป็นบริษัทหรือธุรกิจปกติ เชื่อแน่ว่าเป็นการประกอบการด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่เป็นไปเพื่อความมุ่งหมายที่จะแสวงหากำไรและนำมาแบ่งปันกันระหว่างผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่ Social Business

ส่วนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ตั้งขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหลักแบบมูลนิธิ แต่มีหนทางที่เลี้ยงตัวเองได้แบบบริษัท โดยยังคงสามารถแบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ด้วย เข้าข่ายเป็นลูกผสมระหว่างมูลนิธิกับบริษัท แสดงว่า มิได้มีความมุ่งประสงค์เดียว (Sole Purpose) ในกรณีนี้ จึงไม่ใช่ Social Business (วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่มีนโยบายปันผลกำไร ถึงจะจัดเป็น Social Business)

ด้วยความที่ยูนุสต้องการสร้างโมเดลทางธุรกิจที่โฟกัสในจุดที่เน้นการแก้ไขปัญหาสังคมจริงๆ โดยไม่ให้ผู้ประกอบการวอกแวก หรือไม่เปิดช่องให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ประโยชน์ส่วนรวม” กับ “ปันผลส่วนตัว”

เพราะมีฐานคิดว่า ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น ความโน้มเอียงจะไปในทางที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน แล้วประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง (กรณีนี้ เกิดขึ้นแล้วกับโมเดล Community Interest Company หรือ CIC ในประเทศอังกฤษ จนถึงกับต้องแก้กฎหมายเพื่อขอขยายเพดานการปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น)

มาถึงตรงนี้ ต้องขยายการอธิบายความ ไม่ใช่ว่า โมเดล Social Enterprise จะด้อยกว่า Social Business เพราะอย่างที่เรียนตอนต้นว่า แต่ละโมเดลมีจุดที่สร้างคุณค่าบางอย่างไม่เหมือนกัน มีความเหมาะสมแตกต่างกันตามจริตของผู้ที่นำไปใช้

ผู้ประกอบการที่มาจากสายธุรกิจ และต้องการขยายบทบาทมาสู่การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสังคม อาจจะถูกจริตกับโมเดล Social Enterprise มากกว่า เพราะยังคงสามารถรับรู้กำไรผ่านปันผลที่พึงได้

ขณะที่ ผู้ประกอบการสังคม สายเอ็นจีโอ ที่ไม่ต้องการถูกครหาว่า มีประโยชน์ส่วนตัวบนการแก้ไขปัญหาชุมชนหรือการช่วยเหลือสังคมส่วนรวม อาจจะถูกจริตกับโมเดล Social Business มากกว่า

หรือกรณีที่ ภาครัฐ เชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมแก้ไขปัญหาสังคมในรูปแบบความร่วมมือทวิภาคี หรือรัฐร่วมเอกชน อะไรก็แล้วแต่ โดยภาคเอกชนต่างออกมาขานรับว่า ยินดีที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากงบประมาณของรัฐ หรือคิดที่จะหาประโยชน์แอบแฝงกับโครงการช่วยเหลือชุมชนใดๆ ทั้งสิ้น ในกรณีนี้ โมเดลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการนำไปใช้ คือ Social Business

สำหรับธุรกิจปกติทั่วไป เมื่ออ่านถึงจุดนี้ อาจจะด่วนสรุปความว่า ถ้างั้น โมเดล Social Business คงไม่เหมาะกับตนเอง และนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็ต้องขอเรียนว่า ผิดครับ เพราะถ้าธุรกิจท่านมีการทำ CSR-after-process ในรูปของการบริจาคหรือการกุศลอยู่ทุกปี Social Business จะเป็นทางเลือกใหม่ในการทำ CSR แบบที่ท่านเคยทำในรูป Philanthropy โดยไม่สูญเงินต้น!

ไว้จะได้ขยายความให้ฟัง ในโอกาสต่อไปครับ

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, February 18, 2016

รายงานความยั่งยืนในมิติ SDGs

แม้การประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยองค์การสหประชาชาติ จะเพิ่งล่วงมาได้ยังไม่ถึงสองไตรมาส (193 ประเทศสมาชิกได้ให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558) แต่ความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานและการรายงานโดยใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกรอบอ้างอิงของบรรดาองค์กรธุรกิจที่ตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อยู่แล้ว ดูจะมีความคึกคักไม่น้อยเลยทีเดียว


จากการคลุกคลีและติดตามความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจไทยต่อเรื่อง SDGs โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินงานโดยอ้างอิงกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้ว ต่างให้การตอบรับที่จะนำ SDGs จำนวน 17 ข้อ มาใช้เป็นโจทย์ในการพิจารณาปรับวิถีการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับ SDGs ในข้อที่องค์กรตนเองมีความเกี่ยวข้อง

สำหรับองค์กรที่มีการตอบสนองสูง พบว่า ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอข้อมูลในเล่มรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report ปี 2558 ด้วยการแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของข้อมูลการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่เกี่ยวข้อง ในเล่มรายงานที่กำลังจะเผยแพร่ในไตรมาสแรกของปีนี้เลย

อันที่จริง การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ผ่านช่องทางที่เป็นรายงานแห่งความยั่งยืน โดยเฉพาะองค์กรที่ใช้กรอบการรายงานที่สากลยอมรับ อาทิ Global Reporting Initiative (GRI) จะมีข้อกำหนดในการเปิดเผยเนื้อหา ตั้งแต่นโยบายและการดำเนินงานในภาพรวม ประเด็นที่มีสาระสำคัญต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสีย แนวการบริหารจัดการกับประเด็นที่เลือกดำเนินการ ไปจนถึงตัวบ่งชี้การดำเนินงานที่ใช้วัดความก้าวหน้าของการจัดการในประเด็นดังกล่าว โดยประเด็นและตัวบ่งชี้การดำเนินงานเหล่านั้น มีส่วนในการตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ระบุใน SDGs ทั้ง 17 ข้อ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และไม่มากก็น้อย เพียงแต่ยังไม่มีการเชื่อมโยงให้เห็นก่อนหน้าที่ SDGs จะประกาศใช้

ยกตัวอย่างในเรื่องการศึกษา ที่ SDGs ระบุให้หญิงชายได้รับโอกาสและความเสมอภาคในการศึกษาเรียนรู้วิชาชีพและทักษะในอาชีพ เยาวชน คนหนุ่มสาวได้รับการจ้างงาน งานที่มีคุณค่า และทักษะในการประกอบการ เป็นต้น ขณะที่ องค์กรธุรกิจที่มีการเปิดเผยข้อมูลตามกรอบ GRI ในหมวดที่เกี่ยวกับแรงงาน จะมีการรายงานเรื่องการฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่พนักงาน จำนวนชั่วโมงโดยเฉลี่ยที่พนักงานได้รับการฝึกอบรมต่อคนต่อปี จำแนกตามเพศ และประเภทของพนักงาน เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) ได้จัดทำเอกสารเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับตัวบ่งชี้การดำเนินงานตามกรอบการรายงานสากล GRI ที่มีชื่อว่า 'Linking the SDGs and GRI' เพื่อช่วยให้องค์กรเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SDGs ในเล่มรายงานแห่งความยั่งยืนผ่านช่องทางที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่เป็นการสร้างภาระการรายงานเพิ่มจากรายงานแห่งความยั่งยืนฉบับเดิม เผยแพร่ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ในรูปแบบที่สถาบันไทยพัฒน์ เรียกว่า Enhanced Sustainability Report

เอกสารฉบับนี้ จะเป็นตัวช่วยชั้นดีสำหรับองค์กรที่มีการดำเนินงานสนองตอบต่อ SDGs และมีการรายงานตามกรอบ GRI อยู่แล้ว ให้สามารถจัดทำข้อมูลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดความยั่งยืนของ GRI เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN ได้อย่างเป็นระบบและอยู่ในบรรทัดฐานที่ยอมรับในวงกว้าง

องค์กรที่สนใจจะปรับรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบ GRI เพื่อสะท้อนความเชื่อมโยงกับ SDGs ให้ทันในรอบการรายงานปี 58 ฉบับที่กำลังจะเผยแพร่ในไตรมาสนี้ หรือเตรียมปรับสำหรับปี 59 สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่านทาง http://bit.ly/SDGmapping

นอกจากนี้ GRI ยังได้เปิดให้บริการ 'SDG Mapping' สำหรับยืนยันความถูกต้องในการเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามกรอบ GRI เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการสืบค้นและใช้ประโยชน์ข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับ SDGs ในเล่มรายงานที่ได้รับการตรวจสอบจาก GRI ด้วย

ต้นปีนี้ คาดว่าจะได้เห็นรายงานแห่งความยั่งยืนในมิติ SDGs ของไทย จากองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้นำขบวนความยั่งยืน แน่นอนครับ

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, February 11, 2016

เรียกชื่อไหน ก็ยังเป็น CSR

หากย้อนมองพัฒนาการซีเอสอาร์ของภาคธุรกิจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หนึ่งในเรื่องที่ควรหยิบยกมากล่าวถึง คือ ซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic CSR ที่ได้พัฒนากลายมาเป็นเรื่องการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value ในปัจจุบัน

ในการพัฒนาซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ จะมีองค์ประกอบสองส่วนสำคัญ ประการแรก คือ การให้ความสำคัญกับความต้องการของสังคม (ฝั่งอุปสงค์) ที่เป็นการสำรวจความต้องการของสังคมหรือชุมชนในพื้นที่ที่องค์กรต้องการเข้าไปดำเนินงาน เป็นลักษณะของการวิเคราะห์ในแบบ Outside-In ที่มีการพิจารณาถึงปัญหาของชุมชนหรือประเด็นทางสังคมที่แท้จริง เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิผล (Effectiveness) ที่สูงกว่าการที่องค์กรนึกอยากจะช่วยเหลือสังคมแล้วนำอะไรต่อมิอะไรไปมอบ

ประการที่สอง คือ การคำนึงถึงความเชี่ยวชาญขององค์กรในการตอบสนองต่อประเด็นทางสังคม (ฝั่งอุปทาน) เป็นการสำรวจขีดความสามารถหรือทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ ว่าสามารถเข้าไปดำเนินงานซีเอสอาร์นั้นได้ดีเพียงใด เป็นลักษณะของการวิเคราะห์ในแบบ Inside-Out ซึ่งคล้ายกับการวิเคราะห์ SWOT ในทางธุรกิจซึ่งจะทำให้การดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ได้มาเกิดประสิทธิภาพ (Efficiency) ที่สูงแก่สังคม เพราะหากสำรวจแล้วพบว่ายังขาดทรัพยากรหรือความเชี่ยวชาญที่ต้องใช้องค์กรก็จำต้องแสวงหาทรัพยากรจากภายนอกด้วยการหาหุ้นส่วน (Partnership) หรือมอบหมายให้หน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ดำเนินงานให้ โดยไม่จำเป็นต้องลงมือทำเองโดยลำพัง

การดำเนินงานซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ทั้งสององค์ประกอบนี้ นอกจากสังคมจะได้ทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์แล้วยังสามารถวางตำแหน่งองค์กรและสร้างความได้เปรียบในทางธุรกิจที่เหนือกว่าองค์กรอื่นจากผลลัพธ์และอรรถประโยชน์ที่ให้แก่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เหนือกว่า

วิธีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบที่เป็นซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์นี้ กิจการไม่เพียงแต่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับเท่านั้น แต่ยังมีการกำหนดจุดยืนที่เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากแนวปฏิบัติขององค์กรอื่นๆ มีการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ในวิธีการ มีอิสรภาพในการคัดเลือกประเด็นทางสังคม โดยที่ปลอดจากพันธนาการหรือข้อเรียกร้องดังเช่นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นการรับมือกับผลกระทบทางลบอันเกิดจากการดำเนินงานปกติประจำวัน

ซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ เป็นกลไกหรือเครื่องมือในการปรับทิศทางของธุรกิจและสังคมให้ไปในทิศเดียวกัน เป็นการผสานคุณค่าระหว่างองค์กรกับสังคมไปด้วยกัน เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ไม่เพียงเพื่อให้องค์กรได้รับการยอมรับเท่านั้น แต่ทำให้องค์กรสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย จากการสร้างความแตกต่างในกิจกรรม โดยไม่มองเพียงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย แต่ยังมองว่ากิจการมี Core Value หรือ Competency อะไรบ้าง ที่สามารถส่งมอบให้แก่สังคมได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงเป็นการมองทั้งแบบ Outside-In และแบบ Inside-Out เป็นการทำซีเอสอาร์ในเชิงรุก โดยไม่ได้รอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยไปแก้ไข หรือทำโครงการที่เป็นในลักษณะของการเยียวยา แต่เป็นการพยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในการพัฒนาซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ จะต้องเข้าใจหลักการ (Principle) และประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับซีเอสอาร์ทั้งหมด และต้องรู้ความสัมพันธ์ของซีเอสอาร์ระหว่างองค์กร สังคม และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ตลอดจนต้องเข้าใจว่าซีเอสอาร์ของแต่ละองค์กรนั้น มีความแตกต่างกันด้วยสามปัจจัยหลัก คือ ความเกี่ยวเนื่อง (Relevance) ความมีนัยสำคัญ (Significance) และลำดับความสำคัญ (Priorities) ของแต่ละประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม

องค์กรที่ไม่ได้สร้างผลกระทบในเชิงสิ่งแวดล้อม อาจไม่จำเป็นต้องดำเนินการซีเอสอาร์ในด้านสิ่งแวดล้อม เหมือนกับโรงงานหรือกิจการที่มีกระบวนการที่ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมทางใดทางหนึ่ง แต่อาจเน้นหนักหรือให้ความสำคัญกับเรื่องคน/พนักงานซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ เป็นต้น

ในการวางนโยบาย (Policy) ด้านซีเอสอาร์ นอกเหนือจากการระบุผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholder Identification ที่บอกว่ามีใคร (who) บ้างที่เกี่ยวข้องหลัก/รองแล้ว องค์กรต้องสามารถจัดกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Stakeholder Segmentation เพื่อให้ทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างกิจการกับผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นเป็นอย่างไร (how) ถัดจากนั้น จึงทำการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียเป้าหมาย หรือ Targeted Stakeholder Analysis เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ (why) ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อย่างนั้น (ทั้งดีและไม่ดี) เพื่อนำไปสู่การกำหนดจุดยืนทางกลยุทธ์ หรือ Strategic Positioning ที่จะเป็นกรอบในการพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นๆ ได้อย่างตรงจุด

ในการนำไปสู่การปฏิบัติ (Practice) หลังจากที่ได้นโยบายแล้ว ผู้บริหารต้องนำนโยบายนั้นมาทำให้เกิดสามสิ่ง คือ ก่อนทำต้องสร้าง Credibility เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานซีเอสอาร์ ระหว่างทำต้องได้ Performance โดยมีเครื่องมือในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานซีเอสอาร์อย่างเป็นระบบ และหลังทำต้องให้เกิด Recognition มิฉะนั้น สิ่งที่ลงทุนลงแรงทำอย่างตั้งใจและทุ่มเทก็อาจจะสูญเปล่า

ด้วยวิธีการที่แตกต่างและกิจกรรมซีเอสอาร์ที่เหมาะสม ผลลัพธ์จากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้รูปแบบที่เป็นซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ จะทำให้เอื้อต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว

ทั้งนี้ เป้าประสงค์ของซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ ที่ผสมผสานการริเริ่มทั้งจากภายในและการเชื่อมโยงจากภายนอกจะก่อให้เกิดคุณค่าร่วมกัน (Shared Value) ระหว่างธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน

จึงไม่แปลกใจที่เรื่อง Shared Value จะยังมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ทอดยาวไปในทศวรรษหน้าอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]

Thursday, February 04, 2016

กระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development (SD) เป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบกันอย่างสมดุล เกิดจากการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่เฉพาะเพียงภาคธุรกิจเอกชน

ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม มุ่งหมายที่จะบรรลุถึงสถานะแห่งความยั่งยืนของสังคมโลก ไม่ใช่เพื่อความยั่งยืนหรือความสามารถในการอยู่รอดขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งหมายรวมถึง วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน และแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืน

เมื่อไล่เรียงพัฒนาการในกระบวนทัศน์ (Paradigm) การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ โดยใช้กรอบผู้มีส่วนได้เสียของกิจการเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา จะสามารถจับคู่กระบวนทัศน์การพัฒนาที่สัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ได้เป็น 5 คู่ความสัมพันธ์ ได้แก่ CG กับผู้ถือหุ้น, ESG กับผู้ลงทุนสถาบัน, CSR กับผู้มีส่วนได้เสียรอบกิจการ, SD กับสังคม, และ Sustainability กับองค์กร

ความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนทัศน์การพัฒนากับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร

กระบวนทัศน์เรื่องธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการ (CG) จัดเป็นหลักการเบื้องต้นที่ธุรกิจคำนึงถึงการรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้นผ่านทางตัวแทนที่เป็นคณะกรรมการบริษัท ธรรมาภิบาลถือเป็นโครงสร้างและกระบวนการภายในกิจการ ที่จัดให้มีขึ้นสำหรับการกำหนดทิศทางและสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของกิจการให้มีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายของกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง

เนื่องจาก CG เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขั้นพื้นฐานของกิจการ ที่คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย และดูแลผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องภายใต้สิทธิที่พึงได้รับตามที่กฎหมายกำหนด กระนั้นก็ตาม องค์กรที่มี CG ดี อาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการจากสังคม (License to operate) เพียงเพราะได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

กระบวนทัศน์เรื่อง ESG เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในแวดวงผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ที่ตระหนักถึงการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยให้น้ำหนักความสำคัญทั้งในแง่ผลประกอบการทางการเงิน และผลกระทบจากการประกอบการที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance)

ขณะที่กระบวนทัศน์เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR เป็นกลไกการดำเนินงานในกิจการที่เชื่อมโยงสู่การปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียรอบกิจการ ที่องค์กรจัดให้มีขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่กิจการและผู้มีส่วนได้เสียบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การสงเคราะห์ช่วยเหลือตามกำลังและความสามารถของกิจการ อันจะนำไปสู่การยอมรับจากสังคมและความยั่งยืนของกิจการ

CSR จึงเป็นการดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนิติพลเมือง (Corporate Citizen) โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกกิจการอย่างเป็นธรรม เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่มากกว่าการคำนึงถึงเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย

สำหรับบทบาทของธุรกิจต่อกระบวนทัศน์เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) คือ การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปพร้อมกัน ในอันที่จะช่วยเสริมหนุนการทำงานของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ให้เกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม

เนื่องจาก การประกอบธุรกิจ มีเป้าประสงค์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ความคาดหวังที่จะให้ภาคธุรกิจ ดำเนินงานด้านการพัฒนาสังคมหรือการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงไม่อยู่ในวิสัยที่ธุรกิจจะดำเนินงานในแบบเต็มตัว

กลยุทธ์ SD ที่ธุรกิจนำมาใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จึงเป็นการจำกัดความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นการประกอบธุรกิจหรือการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากกลยุทธ์ CSR แต่ประการใด (กลายเป็นว่า กลยุทธ์ SD = CSR)

ขณะที่เรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability เป็นอีกหนึ่งคำ ที่ภาคธุรกิจหยิบฉวยมาใช้ เพื่อแสดงถึงสถานะของผลการดำเนินงาน ที่สามารถนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนของสังคมโดยรวม หรือความยั่งยืนในระดับองค์กร ตามแต่กลยุทธ์ที่นำมาใช้

กระบวนทัศน์เรื่องความยั่งยืน ตามนัยที่ภาคธุรกิจนำมาใช้ เป็นการจัดการในระดับองค์กรหรือระดับห่วงโซ่ธุรกิจ ที่มุ่งหมายให้องค์กรเกิดความยั่งยืนเป็นหลัก โดยมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับการเติบโตทางธุรกิจ (Carrying Capacity) ซึ่งอาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการก็ได้

กลยุทธ์ความยั่งยืนที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจหรือประโยชน์ขององค์กร ในกรณีนี้ จึงมีขอบเขตที่แคบกว่ากลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมที่ใช้เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังหรือประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง (กลายเป็นว่า กลยุทธ์ Sustainability < CSR)

หวังว่า คงจะช่วยให้ท่านผู้อ่านคลายความสับสนต่อคำเรียกหลายคำที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นะครับ

จากบทความ 'หน้าต่าง CSR' ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ External Link [Archived]