Thursday, November 05, 2015

ย้อนรอยการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปีนี้ สหประชาชาติ ได้ประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ซึ่งจะเป็นข้อผูกพันสำหรับชาติสมาชิกที่ได้ให้การรับรอง รวมทั้งประเทศไทย ในการนำไปใช้ บทความนี้ จะพาท่านย้อนรอยดูที่มาและความเคลื่อนไหวแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งสำคัญๆ ของโลก

เส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเวทีนานาชาติ มีจุดเริ่มต้นที่การก่อตั้งคณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ หรือคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ในปี ค.ศ.1984 จากข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่มีต่อกระบวนการเตรียมตัวด้านสภาวะแวดล้อม นับจากปี ค.ศ.2000 เป็นต้นไป อันเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UNCHE) ที่จัดขึ้น ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน เมื่อปี ค.ศ.1972 ซึ่ง 113 ประเทศที่เข้าร่วม ได้ให้ความตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและเกินขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติโดยมนุษย์

คณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ในเอกสารรายงานชื่อว่า อนาคตของเรา (Our Common Future) ซึ่งเสนอต่อสหประชาชาติในปี ค.ศ.1987 อันเป็นที่มาของแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” โดยได้ให้นิยามไว้ในรายงานฉบับดังกล่าวว่า “เป็นการพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป

ถัดจากนั้น ได้มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Earth Summit) หรือที่เรียกว่า การประชุม Rio เกิดขึ้นที่ กรุงรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ในปี ค.ศ.1992 โดยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สำหรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของประชาคมโลก ที่เรียกว่า ปฏิญญารีโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา และแผนปฏิบัติการ 21 ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทสำหรับการดำเนินงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

ต่อมาได้มีการประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษ (Millennium Summit) ในปี ค.ศ.2000 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้มีการรับรองและยืนยันถึงพันธกรณีร่วมกันที่จะดำเนินการเรื่องสำคัญของมนุษยชาติ ตามปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ และกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) เป็นวาระการพัฒนาของโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี อันประกอบด้วย เป้าหมายหลัก 8 ข้อ ได้แก่ (1) ขจัดความยากจนและความหิวโหย (2) ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา (3) ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี (4) ลดอัตราการตายของเด็ก (5) พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ (6) ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่น ๆ (7) รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (8) ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก

และในปี ค.ศ.2002 การประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Earth Summit) หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า การประชุม Rio+10 ได้ถูกจัดขึ้นที่ นครโจฮันเนสเบอร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยได้มีการรับรองเอกสารพันธกรณี 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาโจฮันเนสเบอร์กว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการดำเนินงานโจฮันเนสเบอร์ก ซึ่งกำหนดมาตรการในการช่วยเร่งรัดการอนุวัตตามแผนปฏิบัติการ 21 รวมถึงพันธกรณีของข้อตกลงและอนุสัญญาต่างๆ ที่เป็นผลจากการประชุม Earth Summit ในปี ค.ศ.1992

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Earth Summit) หรือที่เรียกว่า การประชุม Rio+20 ได้เวียนมาจัดขึ้นที่ กรุงรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล อีกครั้งหนึ่ง ในปี ค.ศ.2012 โดยได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ที่มีชื่อว่า อนาคตที่เราต้องการ (The Future We Want) ซึ่งนับเป็นจุดตั้งต้นของกระบวนการหารือเพื่อกำหนดวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 และการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อใช้แทน MDGs ซึ่งสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.2015

และในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชาติสมาชิก 193 ประเทศ ได้ใช้เวทีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Summit) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs จำนวน 17 ข้อ

SDGs 17 ข้อ ประกอบด้วย (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว จะถูกใช้เป็นเครื่องกำหนดทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกนับจากนี้ จวบจนปี ค.ศ.2030 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี...(หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: