Thursday, July 23, 2015

กำเนิดกองทุนสุนทาน

วานนี้ (22 ก.ค.) องค์กรธุรกิจชั้นนำ 6 แห่ง ได้จับมือเป็นหุ้นส่วน “การลงทุนสุนทาน” หรือ “Philanthropic Investments” ระดมเงินตั้งต้นกว่า 120 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนประเดิมในโครงการลงทุนสุนทาน โดยคาดหวังจะนำดอกผลจากการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ไปช่วยเหลือและพัฒนาสังคมในแบบยั่งยืน

6 องค์กรที่ได้ร่วมกันก่อตั้งกองทุนสุนทาน ได้แก่ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, ไมเนอร์ กรุ๊ป, แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์, น้ำตาลขอนแก่น, นำสินประกันภัย และ ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป

กองทุนสุนทาน เป็นการลงทุนในรูปแบบ Philanthropic Investments ภายใต้ Universe ที่เป็นกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์เป็นผู้คัดเลือก สำหรับตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับนำผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป มาใช้สนับสนุนการขับเคลื่อน CSR ตามนโยบายขององค์กรที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการลงทุน

ในส่วนของ บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ร่วมลงเงินทุนตั้งต้นสำหรับโครงการ โดยหวังให้เกิดดอกผลสะสมเพื่อนำไปใช้ในโครงการ ‘สถานีส่งความสุขจากชาวบีทีเอสกรุ๊ปฯ’ ซึ่งเป็นโครงการ CSR หลักของบริษัทฯ ที่นำความช่วยเหลือไปมอบให้กับเด็กในโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือมาก่อน รวมทั้งโครงการ ‘คลินิกลอยฟ้า’ โครงการ ‘หนูด่วนชวนกินเจ’ การสนับสนุนให้เยาวชนเรียนรู้การประหยัดพลังงานด้วยการทัศนศึกษาระบบขนส่งมวลชน และโครงการ ‘บีทีเอสกรุ๊ปอนุรักษ์ช้างไทย’ เป็นต้น

ขณะที่ ไมเนอร์ กรุ๊ป มีความตั้งใจที่จะนำดอกผลจากการลงทุนนี้ มอบให้แก่สังคมผ่านทางมูลนิธิต่างๆ ที่กลุ่มไมเนอร์ให้การสนับสนุนอยู่ เช่น มูลนิธิไฮเน็ค ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ส่งเสริมด้านการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนในประเทศไทย มูลนิธิ โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอลเลเฟ่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อลดปัญหาช้างเร่ร่อนบนถนนในเมืองและปัจจุบันขยายขอบเขตรวมถึงการส่งเสริมการอนุรักษ์ช้าง การให้ความรู้และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับช้าง และมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล หาดไม้ขาว รวมทั้ง มูลนิธิไมเนอร์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างจัดตั้งขึ้นใหม่ด้วย

สำหรับ แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จะนำดอกผลจากการลงทุน ไปสนับสนุนบริษัทในเครือ คือ บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด (LPC) ที่มีนโยบายพัฒนาสตรีด้อยโอกาสให้เป็นพนักงานบริการชุมชน เพิ่มศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตของสตรีกลุ่มนี้ โดยเฉพาะมีแนวคิดที่จะพัฒนาบริษัทให้เป็นองค์กรเพื่อสังคม (SE) และพร้อมจะระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนบริษัทกิจการของบริษัท LPC ในอนาคต

เช่นเดียวกับที่ กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น มองว่าจะเป็นโอกาสที่กลุ่มบริษัทเคเอสแอลจะขยายการดำเนินบทบาทตามพันธกิจในการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียและสังคมได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคาดหวังจะนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุนสุนทาน มาทำประโยชน์ในด้านสาธารณสุข ผ่านโรงพยาบาลที่กลุ่มบริษัทเคเอสแอลให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว รวมทั้งนำมาใช้ในโครงการเพื่อการศึกษาและสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

นำสินประกันภัย ผู้ให้บริการกรมธรรม์ความคุ้มครองที่สร้างหลักประกันและการบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนสุนทาน มุ่งหวังว่าจะนำดอกผลที่ได้รับจากการลงทุนไปใช้สนับสนุนกิจกรรมด้านการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยแก่สาธารณชน โครงการพัฒนาและเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส รวมถึงโครงการเพื่อการรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมเพื่อความยั่งยืน

ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนสุนทาน และเป็นผู้รับบริหารจัดการกองทุน มุ่งหมายที่จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนในการบริหารจัดการกองทุนสุนทานนี้ ให้ได้ผลตอบแทนที่ดี เกิดดอกผลไปทำคุณประโยชน์ต่างๆ เพื่อสังคม ตามเจตนารมณ์ของโครงการ โดยดอกผลที่ได้จากการลงทุนในส่วนของกลุ่มทิสโก้ จะนำไปทำประโยชน์แก่สังคม โดยเน้นที่การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ด้วยการจัดโครงการค่ายการเงินเยาวชน และจัดอบรมความรู้แก่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ นอกเหนือจากการให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลนผ่านมูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศล และการสนับสนุนกิจกรรมด้าน ESG อันได้แก่ การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

อนึ่ง โครงการลงทุนสุนทาน เป็นความริเริ่มของสถาบันไทยพัฒน์ ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนในระยะยาว เพื่อหาดอกผล สำหรับนำไปใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ เป็นทางเลือกให้กับบริษัทจดทะเบียน มูลนิธิในสังกัดภาคเอกชน และสำนักงานธุรกิจครอบครัว สามารถวางแผนการจัดสรรทุนหรือทรัพยากรสำหรับการให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง จนโครงการหรือภารกิจที่ริเริ่มขึ้น เห็นผลหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://thaipat.org...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 16, 2015

เข้าสู่ยุค Slow Business

บทความตอนนี้ ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับเทรนด์ Slow Life หรือการใช้ชีวิตแบบเนิบช้า ที่หลายท่านกำลังฝึกชะลอตัวเองให้ไม่ไหลอย่างไร้ทิศทางไปตามกระแสสังคม ซึมซับกับธรรมชาติรอบตัว ใส่ใจกับคนรอบข้างมากขึ้น ในสไตล์แบบ “ช้าๆ แต่ไม่ล้าหลัง”

อันที่จริง เทรนด์การใช้ชีวิตสไตล์นี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะ ความไม่สมดุลของการใช้ชีวิต ที่หลายท่านต้องอุทิศเวลาให้กับการทำงาน การทำมาหากิน ซึ่งต้องเร่งรีบ แข่งกับเวลา เน้นสร้างความสำเร็จให้เร็ว ด้วยหวังว่าจะได้เลิกทำงานและมีเวลาไปหาความสุข จนทำให้เสียสุขภาพ กระทบกับชีวิตครอบครัว หรือพลาดสิ่งดี ๆ ในระหว่างทางไปไม่น้อย (ในประเด็นเรื่องความสุขนี้ ผมขอแปะไว้ก่อน จะมาขยายความถึง “ความสุขที่เกิดจากการทำงาน กับความสุขที่ไขว่คว้าหลังเลิกงาน” ในโอกาสต่อไป)

แต่ในโหมดที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลกอยู่ขณะนี้ ทำให้ธุรกิจโดยรวม มีความยากลำบากที่จะเพิ่มหรือคงการเติบโตในอัตราเดิมเหมือนช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว ปัจจัยความเร่งรีบหรือการแข่งขันเพื่อคว้าโอกาสช่วงขาขึ้น จะมิใช่ตัวแปรหลักในทางธุรกิจกับโหมดเศรษฐกิจแบบชะลอตัว

กลายเป็นว่า เทรนด์ Slow Life เหมือนจะเข้ามามีบทบาทในขอบเขตของการดำเนินธุรกิจ ในแบบที่ผมขอเรียกว่า Slow Business เพื่อให้เข้ากับท้องเรื่องตามที่จั่วหัวไว้

ในอดีต เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจส่วนใหญ่ มักจะมีสูตรสำเร็จในการปรับตัว โดยจัดสรรเวลาให้กับกิจกรรมภายในองค์กรเพิ่มขึ้น หันกลับมาพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนงานต่างๆ ลดความสูญเสีย หรือพิจารณาตัดค่าใช้จ่ายในรายการที่ไม่สำคัญในแผนกต่างๆ

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะกรอบคิดเดิมของธุรกิจ มอง “องค์กร” เป็นหน่วยแข่งขัน ขอบเขตของกิจกรรมในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จึงจำกัดอยู่ภายในองค์กรเป็นส่วนใหญ่

แต่ด้วยเงื่อนไขหรือตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไปในบริบทใหม่ ที่ซึ่ง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ถูกใช้เป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจ จำต้องมีกรอบคิดที่มิได้มองเพียงระดับองค์กร ว่าเป็นหน่วยแข่งขันที่ควรได้รับการพัฒนาหรือปรับตัวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องใน “สายคุณค่า” (Value Chain) ทั้งหมด ที่ธุรกิจควรเข้าไปพัฒนากิจกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

องค์กรที่จะเดินรอยตาม Slow Business ตามแนวการพัฒนาที่ยั่งยืน วิถีทางแรก คือ การทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการขยายกิจกรรมในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จากเดิมที่จำกัดอยู่เพียงการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร มาสู่การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement) ในสายคุณค่าหรือในห่วงโซ่ธุรกิจ

ทั้งนี้ เป้าประสงค์ในการสานสัมพันธ์ขององค์กรในแต่ละแห่งหรือในแต่ละสาขาอุตสาหกรรม อาจจะมีประเด็นความสนใจหรือเรื่องที่ต้องการพัฒนาแตกต่างกันไป เช่น ต้องการเพิ่มผลิตภาพในสายคุณค่า หรือต้องการลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายแฝงในสายอุปทาน ฯลฯ

ตัวอย่างของประเด็นทางสังคมที่สามารถหยิบยกขึ้นมาดำเนินการ ได้แก่ การวางนโยบายการต่อต้านทุจริตที่ครอบคลุมถึงหุ้นส่วนทางธุรกิจ ที่ปรึกษา ตัวกลาง หรือตัวแทนในการดำเนินธุรกิจ หรือผลักดันให้คู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจดำเนินนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต

ตัวอย่างของประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ คือ การวางนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือดำเนินการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกับคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยการลดการใช้สารอันตราย การร่วมพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สะดวกต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ การจัดการซากผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเพิ่มยอดขายขององค์กร ไม่ว่าจะด้วยวิธี Up-Selling (เช่น เพิ่ม 10 บาท เป็นแก้วใหญ่ ไหมครับ) หรือ Cross-Selling (เช่น รับขนมจีบ ซาลาเปา เพิ่มไหมครับ) จะทำได้ยาก เพราะลูกค้าหรือผู้บริโภค มีกำลังซื้อลดลง หรือประหยัดมากขึ้น

สูตรสำเร็จเดิม ที่ธุรกิจใช้เพิ่มยอดขาย ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวคือ การลดราคา หรือ ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง หรือ ซื้อชิ้นแรก ชิ้นต่อไปลด 50% ฯลฯ ที่ธุรกิจเองก็ต้องยอมรับกับกำไรที่ลดลงด้วย

วิถีทางต่อมาของการดำเนินธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ Slow Business คือ การคงส่วนแบ่งทางการตลาด เปลี่ยนโฟกัสจากการทำโปรแกรม Promotion มาเป็นโปรแกรม Retention ด้วยการรักษาฐานลูกค้าเดิมให้คงอยู่ และให้มียอดใช้จ่ายที่ไม่น้อยลงกว่าเดิม

วิธีการผูกพันรักษาลูกค้า (Customer Retention) จะแตกต่างจากการทำโปรโมชั่น ตรงที่ธุรกิจสามารถรักษายอดขาย โดยไม่ต้อง Trade-off กับกำไรที่ลดลง ด้วยการลดราคาหรือแถมสินค้า

ตัวอย่างของการผูกพันรักษาลูกค้าในเชิงสังคม ได้แก่ การสร้างการมีส่วนร่วมให้ลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ ด้วยการสร้างประสบการณ์ในการเป็นที่ยอมรับจากสังคม ต่อการใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ดังกล่าว เปลี่ยนโฟกัสจากการที่ลูกค้าจะได้รับคุณค่าในตัวผลิตภัณฑ์ มาเป็นการได้รับคุณค่าในเชิงสังคม เช่น การมอบสิทธิ์ให้ลูกค้าเดิมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ การได้สิทธิ์เลือกซื้อสินค้าก่อนลูกค้าทั่วไป รวมไปถึงการสร้างคอมมูนิติ้สำหรับกลุ่มคนที่ชอบแบรนด์เดียวกันขึ้น เพื่อสร้างให้เกิดแนวโน้มการบอกต่อไปยังคนรู้จักเพิ่มขึ้น และด้วยการบอกต่อของลูกค้ากันเอง จะมีส่วนช่วยสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือได้มากขึ้นด้วย

ตัวอย่างของการผูกพันรักษาลูกค้าในเชิงสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสร้างแบบแผนพฤติกรรมที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ามีส่วนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมจากการใช้ผลิตภัณฑ์ขององค์กร (ขณะที่ลูกค้าอาจยินดีจ่ายในราคาที่แพงขึ้นด้วย) อาทิ การรวมกลุ่มผู้ที่มีแบบแผนการใช้ชีวิตที่ใส่ใจต่อสุขภาพและความยั่งยืน (เช่น กลุ่ม LOHAS: Lifestyle of Health and Sustainability) ที่ผลักดันให้เกิดตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงสุขภาพ (เช่น ตลาด Clean Food) ซึ่งนับวันจะมีอัตราการขยายตัวและการเติบโตที่สูงขึ้น

ยังมีวิถีทางของธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ Slow Business ตามแนวการพัฒนาที่ยั่งยืน อื่นอีก แต่ด้วยพื้นที่จำกัด จึงขออนุญาตยกไปนำเสนอในโอกาสต่อไปนะครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, July 09, 2015

เศรษฐกิจพอเพียง-สังคมพอประมาณ

จั่วหัวบทความตอนนี้ ท่านผู้อ่านมีทางเลือก 2 ทาง คือ ข้ามไปเลย เพราะไม่อยู่ในความสนใจ หรือพาดหัวเอาเท่ เนื้อหาคงงั้นๆ กับอีกทาง อาจชวนให้สงสัยอยากรู้ว่า เอ๊ะ สองเรื่องนี้เกี่ยวกันยังไง

ถ้าท่านอ่านต่อในย่อหน้านี้ แสดงว่าเลือกทางหลัง และต้องขอบคุณล่วงหน้าที่ให้ความสนใจ แต่อย่าคาดหวังไว้สูงนะครับ เพราะเป็นเพียงการนำเสนอความคิด ไม่ใช่ทฤษฎีหรือความจริงที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์แล้วตามหลักวิชาแต่อย่างใด

เรื่องเศรษฐกิจ เอาความอย่างง่าย เป็นเรื่องของปากท้อง รวมไปถึงเครื่องใช้สอยต่างๆ ปุถุชนพึงรับผิดชอบดูแลตนเองให้ท้องอิ่ม มีเครื่องอุปโภคบริโภคที่เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน ไม่ขัดสนจนเกิดความยากลำบากในการดำรงชีพ หากทุกคนทำได้ถ้วนหน้า เรื่องเศรษฐกิจในระดับมหภาคก็จะไม่เป็นปัญหาให้ต้องมาคอยแก้ไข

แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถดูแลรับผิดชอบปากท้องของตนเองได้ ขณะที่บางคนซึ่งมีศักยภาพหรือโอกาสมากกว่าผู้อื่น กลับใช้ความสามารถในการตักตวงและสะสมเครื่องอุปโภคบริโภคในรูปของทุน(เงิน)

ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ แสวงหาด้วยการเอารัดเอาเปรียบหรือคดโกงผู้อื่น แทนที่จะใช้ความสามารถนั้นในการช่วยเหลือผู้อื่นที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ทำให้รัฐต้องรับบทในการคุมกติกาให้เกิดความเป็นธรรม ให้แต้มต่อแก่ผู้ด้อยโอกาสหรือขาดศักยภาพ ที่หากช่วยโดยไม่คำนึงถึงการสร้างให้เกิดภาวะพึ่งตนเองให้ได้ (ผสมโรงกับการหวังผลทางการเมือง ทำให้เป็นประชานิยมแบบพึ่งพา) นานวันเข้า สัดส่วนของการพึ่งพาผู้อื่นในทางเศรษฐกิจก็จะมากกว่าการพึ่งตนเอง ผลิตภาพถดถอย จนระบบเศรษฐกิจในภาพรวมอ่อนแอลงเรื่อยๆ และเดินเข้าสู่ภาวะล้มละลายในอนาคต

ทางออกจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายเห็นหายนะที่รออยู่ข้างหน้า ไม่เว้นแม้แต่ภาคเอกชนหรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่ถือความมั่งคั่งไว้ตรงยอดพีระมิด เพราะท่านไม่สามารถจะตักตวงหรือสะสมทุนอย่างที่เคยได้ในระบบเศรษฐกิจที่ล่มสลาย

ผู้แทนหรือนักการเมืองต้องสลัดกรอบเวลาของการบริหารกิจการบ้านเมืองตามวาระของรัฐบาลโดยไม่ผลักปัญหาเพียงให้พ้นตัวหรือทิ้งให้เป็นภาระในอนาคต ประชาชนทุกคนก็ต้องตระหนักและรับผิดชอบต่อตนเอง พัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้เกิดอิสรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่คอยแต่พึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอก

เมื่ออิสรภาพทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น เข้าหลัก ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ปุถุชนจึงจะสามารถคิดอ่านกระทำการในขั้นถัดไป

เรื่องสังคม เป็นเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ บุคคลไม่อาจอยู่ได้โดดเดี่ยวลำพัง แม้ท่านจะมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างเหลือล้น แต่ในการดำรงชีวิตก็ขาดการปฏิสัมพันธ์ไม่ได้

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ให้ผลในหลายลักษณะ แต่มีหน้าที่เดียวกัน คือ การถ่ายเทสิ่งซึ่งเป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรมระหว่างกัน เช่น การแบ่งปันทรัพยากร ข้อมูล ความรู้สึก ความคิดเห็น ความรัก ความชัง ฯลฯ

ในยุคก่อนที่จะมีเทคโนโลยีติดต่อสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต้องเกิดขึ้นซึ่งหน้า และกับบุคคลต่อบุคคล แต่ในยุคที่มีเทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายพิสัยของมนุษย์ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เป็นยุคสื่อสังคมออนไลน์ การปฏิสัมพันธ์ได้พัฒนารูปแบบโดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ซึ่งหน้าอีกต่อไป

บุคคลเดียวสามารถใช้สื่อในการปฏิสัมพันธ์กับคนจำนวนมหาศาลได้ในคราวเดียว และไปไกลถึงขนาดที่เรียกว่า ความรู้สึกหรือความคิดเห็นของบุคคลๆ เดียว สามารถส่งอิทธิพลไปยังคนทั้งโลกได้ในชั่วลัดนิ้วมือเดียว

เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจ ที่ความเหลื่อมล้ำเกิดจากช่องว่างทางศักยภาพที่บุคคลมีต่างกัน ในเรื่องสังคม ช่องว่างทางศักยภาพในการปฏิสัมพันธ์หรือการใช้สื่อที่บุคคลมีต่างกัน ก่อให้เกิดการล่อลวงและการโฆษณาชวนเชื่อได้โดยง่าย (เช่น Clickbait หรือการพาดหัวเพื่อให้ผู้อ่านคลิกโดยมักนำไปยังเนื้อหาที่ไม่ได้น่าสนใจจริง)

นอกจากเรื่องวัยหรืออายุของบุคคล ที่ต้องมีการชี้แนะหรือมีการกำกับดูแลในการปฏิสัมพันธ์โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์แล้ว ยังต้องอาศัยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบุคคลเพื่อให้มีวุฒิภาวะในการใช้สื่อดังกล่าวเพื่อการปฏิสัมพันธ์ มีการเสริมสร้างให้เกิดสำนึกรับผิดชอบในการสื่อสาร เน้นการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ และในทางสร้างสรรค์

แม้การปฏิสัมพันธ์ที่เป็นไปในทางบวก เช่น การแบ่งปันปัจจัยช่วยเหลือผู้อื่น การมอบความรัก ยังจำเป็นต้องมีขอบเขต มีเบรกหรือห้ามล้อ เมื่อถึงจุดที่เกินความเหมาะสม จนอาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น (เช่น กรณีของดาราที่บูชาความรักถึงขนาดยอมแลกชีวิตตัวเอง)

บุคคลไม่ว่าจะยากดีมีจน ต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้เกิดวุฒิภาวะทางสังคม ไม่คอยแต่หมกมุ่นปฏิสัมพันธ์กับภายนอก

เมื่อวุฒิภาวะทางสังคมเกิดขึ้น เข้าหลัก ‘สังคมพอประมาณ’ ปุถุชนจึงจะสามารถคิดอ่านกระทำการในขั้นถัดไป

ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรต่อไปนั้น โปรดติดตาม เมื่อผมสามารถพัฒนาวุฒิภาวะทางสังคมได้ถึงขั้น เลิกหมกมุ่นกับสื่อสังคมออนไลน์ได้ก่อนนะครับ!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]