Thursday, March 12, 2015

หุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย

จากผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนจำนวน 425 คนในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2557 โดยโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต (CAC) พบว่า นักธุรกิจที่ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 75 มีความพร้อมมากถึงมากที่สุดที่จะผลักดันให้เกิดการต่อต้านการทุจริตที่เป็นระบบภายในบริษัทหรือองค์กรของตน

เพื่อเป็นการส่งเสริมการยกระดับการต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม สถาบันไทยพัฒน์ จึงได้จับมือกับหน่วยร่วมดำเนินงานที่เห็นความสำคัญต่อการต้านทุจริตภาคปฏิบัติ (Anti-corruption in Practice) ริเริ่มการทำงานในลักษณะเครือข่ายที่เรียกว่า PACT สำหรับใช้เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาระดับการต่อต้านทุจริตให้กับองค์กรที่เข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย (โดยไม่มีค่าใช้จ่าย) ด้วยระเบียบวิธีการดำเนินงานที่อ้างอิงจากหลักการและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่เป็นสากล

หุ้นส่วนต้านทุจริตเพื่อประเทศไทย หรือ Partnership Against Corruption for Thailand (PACT) เป็นเครือข่ายขององค์กรจากหลากหลายสาขา ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการต่อต้านการทุจริต ที่เน้นให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ด้วยการดำเนินงานเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การให้คำมั่นและจัดทำนโยบายการต่อต้านการทุจริต การวางกระบวนงานสำหรับการต่อต้านการทุจริตโดยเริ่มจากภายในองค์กร ขยายไปยังหุ้นส่วนทางธุรกิจ จนครอบคลุมตลอดถึงห่วงโซ่อุปทาน ตามลำดับ

เครือข่าย PACT ที่ริเริ่มขึ้น นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับการต่อต้านทุจริตของภาคเอกชนในประเทศไทย ที่ทำงานในแบบหุ้นส่วนดำเนินงาน (Partnership) รองรับการขับเคลื่อนในระดับห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นตามหลักการและแนวปฏิบัติที่แนะนำโดยข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) โดยมีบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาเครือข่าย (Consulting Partner)

องค์กรสมาชิกที่เข้าร่วมในเครือข่าย PACT จะได้รับ “คู่มือแนวทางการต้านทุจริต สำหรับองค์กรธุรกิจ” ฉบับ How-to ที่เน้นให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ด้วยการดำเนินงานเป็นขั้นตอน โดยกระบวนงานในการต่อต้านการทุจริต ตามแพลตฟอร์ม PACT แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

1. Commit: ให้คำมั่น ด้วยการจัดทำถ้อยแถลงขององค์กรและสารของผู้บริหาร รวมทั้งตัวอย่างหรือรูปธรรมของการดำเนินการที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตของฝ่ายบริหาร

2. Establish: ลงมือทำ ด้วยการแปลงคำมั่นขององค์กรไปสู่การปฏิบัติ ผ่านการวางนโยบายและระบบการควบคุมภายในที่ใช้ในการป้องกันและตรวจพบทุจริต

3. Extend: ขยายวง ด้วยการผลักดันให้หุ้นส่วนหรือคู่ค้าทางธุรกิจ ดำเนินนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต

บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไปที่ต้องการเข้าร่วมในเครือข่าย PACT เพื่อรับคู่มือแนวทางการต้านทุจริต ฉบับ How-to สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pact.network ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

แนวทางการต้านทุจริต สำหรับองค์กรธุรกิจ ฉบับ How-to ความหนา 50 หน้า คู่มือช่วยองค์กรยกระดับการรับรู้เรื่องการต้านทุจริตในหมู่พนักงาน และทำให้ฝ่ายบริหารมีเครื่องมือและกติกาในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน รวมทั้งเอื้อให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานมีบรรทัดฐานในการติดตามและรายงานการปฏิบัติงานและการดำเนินการต่อต้านการทุจริตในภาษาเดียวกัน ตลอดจนช่วยเสริมสร้างบทบาทการต่อต้านการทุจริตของกิจการให้เป็นที่ยอมรับในสังคม

No comments: