Thursday, February 19, 2015

สู่ Sustainable Enterprise

ปัจจุบัน มีหลายองค์กรธุรกิจที่ได้นำปัจจัยแห่งความยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคำนึงถึงประเด็นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความเกี่ยวโยงกันและส่งผลต่อความเป็นไปของกิจการ มาออกแบบและปรับแต่งโมเดลทางธุรกิจ วางกลยุทธ์มุ่งความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมกับพัฒนาแนวทางในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้รับทราบถึงทิศทางขององค์กร และตอบสนองต่อความจำกัดของกลยุทธ์มุ่งการเติบโต (Growth) ที่ไม่อาจใช้เป็นกลยุทธ์หลักเดียวของธุรกิจได้อีกต่อไป

ข้อปฏิบัติทางธุรกิจที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่กิจการ คือ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ที่ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่แทบทุกแห่ง มีการดำเนินการและสื่อสารให้แก่สังคมได้รับทราบกันอย่างแพร่หลาย

แต่ก็ใช่ว่า กิจการที่หยิบเรื่อง CSR มาดำเนินการทุกแห่ง สามารถที่จะนำองค์กรเข้าสู่วิถีของกิจการที่ยั่งยืนได้ เนื่องจาก ธุรกิจหลายแห่งนำ CSR มาใช้เป็นเพียงเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการตลาด และการสร้างภาพลักษณ์ในตราสินค้า มากกว่าที่จะพัฒนาให้เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ผู้นำองค์กรมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการกำกับทิศทาง การกำหนดขอบเขต การจัดลำดับความสำคัญ และการสร้างแรงจูงใจต่อการขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าสู่วิถียั่งยืน

เริ่มจากการตระหนักว่าความยั่งยืนมีความหมายความสำคัญกับองค์กรอย่างไร อะไรคือโอกาสและความเสี่ยงที่องค์กรต้องเผชิญ การระบุประเด็นที่มีสาระสำคัญต่อองค์กร และการจัดลำดับความสำคัญเพื่อคัดกรองประเด็นที่จะดำเนินการ

การชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน จะช่วยสื่อความให้พนักงานและหุ้นส่วนทางธุรกิจได้เห็นคล้อยตามและโน้มน้าวให้เกิดการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน

ผู้นำองค์กรควรผลักดันให้เกิดการกำหนดและให้ความเห็นชอบในเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ขององค์กร

เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนที่กำหนด ควรมีความเจาะจงและเหมาะสมกับองค์กร โดยสะท้อนประเด็นที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์

บางองค์กรตั้งเป้าหมายให้เชื่อมโยงกับเกณฑ์ในดัชนีด้านความยั่งยืนที่องค์กรได้รับการประเมินและจัดอันดับตามมาตรฐานของแต่ละผู้จัดทำดัชนี เช่น ดัชนี DJSI หรือ FTSE4Good ซึ่งดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่องค์กรพึงระลึกว่า ดัชนีเหล่านั้น มีการพัฒนาเกณฑ์ที่ใช้แตกต่างกัน และไม่สามารถใช้วัดหรือเปรียบเทียบในสิ่งซึ่งสำคัญสุดที่องค์กรแต่ละแห่งมีไม่เหมือนกันได้ ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายความยั่งยืน จึงควรมุ่งในสิ่งซึ่งมีความสำคัญและมีคุณลักษณะทางกลยุทธ์กับองค์กรของตนจริงๆ

การตั้งเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนสามารถจำแนกได้เป็นสองระดับ คือ ระดับที่เป็นเป้าการดำเนินงานความยั่งยืนจากตัวการดำเนินงานนั้นๆ เอง (อาทิ เป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือเป้าการพัฒนาปรับปรุงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย) และในระดับที่เป็นผลกระทบจากการดำเนินงานความยั่งยืนต่อบรรทัดสุดท้ายทางการเงิน (อาทิ ยอดรายจ่ายที่ลดได้ หรือ ยอดรายได้ที่เพิ่มขึ้น)

ลำดับถัดมา เป็นการนำองค์กรให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด ด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ องค์กรบางแห่งใช้วิธีกำหนดเป็นนโยบายและวิธีดำเนินการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ขณะที่บางแห่งใช้การชักชวนให้พนักงานปรับพฤติกรรมจนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรม หรือทำให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่มีอยู่ และใช้การวินิจฉัยโดยนัยว่าสิ่งใดถูกหรือผิด

การสร้างสิ่งจูงใจที่ผูกโยงกับผลตอบแทนและความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เสริมสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเป็นเครื่องแสดงการให้คุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ต่อเรื่องความยั่งยืนที่องค์กรได้ให้ความสำคัญ อันส่งผลต่อการบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องต่อการขับเคลื่อนในวิถีดังกล่าว

สิ่งที่สำคัญกว่าการสร้างสิ่งจูงใจในรูปของตัวเงิน คือ การที่ผู้นำลงมือปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างผ่านบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบปกติ ทั้งการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริษัท การจัดการองค์กรของฝ่ายบริหาร ให้เป็นไปในวิถียั่งยืน อาทิ การตัดสินใจเลือกระหว่างผลกำไรในระยะสั้น กับการสร้างคุณค่าในระยะยาว รวมทั้งความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก

การเข้าร่วมในความริเริ่มด้านความยั่งยืนในระดับอุตสาหกรรม ในระดับภูมิภาค หรือในระดับโลก เป็นเครื่องแสดงถึงภาวะผู้นำในอีกลักษณะหนึ่งที่องค์กรสามารถดำเนินการได้ อาทิ การประกาศเจตนารมณ์โดยผู้นำสูงสุดขององค์กรต่อการรับ เข้าร่วม หรือผลักดันข้อตกลงหรือมาตรฐานระหว่างประเทศในประเด็นด้านความยั่งยืนที่องค์กรสนใจหรือให้ความสำคัญ เช่น การต้านทุจริต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงงานเด็ก ฯลฯ

การปรับแนวการดำเนินงานของกิจการให้เข้าสู่วิถีที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ จำเป็นต้องอาศัยภาวะผู้นำ (Leadership) และวิสัยทัศน์ (Vision) ที่เห็นว่าบริบทในการดำเนินธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, February 12, 2015

การขับเคลื่อน CSV ระดับองค์กร

นับตั้งแต่ที่ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง Creating Shared Value (CSV) ร่วมกับ มาร์ค เครเมอร์ ในปี พ.ศ.2554 ว่าเป็นบทบาทของภาคธุรกิจที่จะร่วมพัฒนาสังคมด้วยการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักขององค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งมีความแตกต่างจากการขับเคลื่อน CSR ในรูปแบบเดิม จนในปัจจุบัน มีองค์กรธุรกิจที่ขานรับเอาแนวคิดดังกล่าวไปใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกสาขาอุตสาหกรรม

สำหรับองค์กรที่ต้องการนำแนวคิด CSV เคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ได้แนะนำไว้ว่าให้เริ่มต้นจากการสร้างสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขสนับสนุนใน 3 ประการสำคัญ ได้แก่ การกำหนดเป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน การเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อน

แนวทางของการกำหนดเรื่องการสร้างคุณค่าร่วมให้เป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร มีจุดที่เริ่มต้นได้จากการปรับเจตจำนงขององค์กรและการกำหนดวิสัยทัศน์ที่แสดงให้เห็นการคำนึงถึงคุณค่าร่วม การเชื่อมโยงความต้องการทางสังคมในประเด็นที่กำหนดเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และการสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร

ส่วนการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน CSV ในระดับองค์กร ประกอบด้วย การออกแบบโครงสร้างการดำเนินงานใหม่จากการพิจารณาภาวะความพร้อมของเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบ การแสวงหาหุ้นส่วนการทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกซึ่งมีความเชี่ยวชาญจำเพาะในประเด็นทางสังคมนั้นๆ การพัฒนาหรือดัดแปลงกระบวนการธุรกิจ รวมถึงการสร้างระบบการวัดผลในเชิงคุณค่าร่วม

ในแง่ของการเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อนเรื่อง CSV มีข้อพิจารณาตั้งแต่การสร้างแรงจูงใจหรือให้สิ่งจูงใจในรูปแบบที่เหมาะสมแก่พนักงาน การพัฒนาบ่มเพาะความรู้ สมรรถภาพ และภาวะผู้นำ รวมถึงการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องดังกล่าวเข้ามาร่วมงาน

หลังจากที่ได้ดำเนินการจัดวางเงื่อนไขสนับสนุนและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นแล้ว ข้อพิจารณาต่อมา คือ การจัดวางองค์ประกอบที่ช่วยในการออกแบบความริเริ่มหรือแผนงานในการสร้างคุณค่าร่วม ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนากรณีทางธุรกิจ การเข้าร่วมกับหุ้นส่วนดำเนินการภายนอก การกำหนดกิจกรรมและเม็ดเงินลงทุน การจัดโครงสร้างทรัพยากรในองค์กร การกำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคม

ทั้งนี้ การที่องค์กรจะสามารถจัดวางองค์ประกอบสำหรับความริเริ่มหรือแผนงานในการสร้างคุณค่าร่วม องค์กรจำเป็นที่จะต้องทราบหรือกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่ประสงค์จะดำเนินการ โดยพิจารณาจากความพร้อมของทรัพยากรและเงื่อนไขที่องค์กรมีอยู่ในขณะนั้นว่าสอดคล้องกับระดับที่เป็นการส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมโดยตรงผ่านทางตัวสินค้าและบริการ หรือเป็นการกำหนดบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องผลิตภาพ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า หรือเป็นการร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น เช่น การสร้างงาน การสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจชุมชน สวัสดิการสังคม

เมื่อองค์กรสามารถกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่จะดำเนินการ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงในขั้นต่อไป คือ การระบุตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคมของความริเริ่มหรือแผนงานที่สอดคล้องกับระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่เลือกดำเนินการ

กรอบการขับเคลื่อน CSV ที่เป็นผลจากการประมวลเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมที่องค์กรต้องทำให้มีขึ้น องค์ประกอบที่ใช้ในการออกแบบความริเริ่มหรือแผนงาน การกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่บูรณการเข้ากับกลยุทธ์องค์กร และการกำกับการสร้างคุณค่าร่วมโดยใช้ตัวชี้วัดทั้งทางธุรกิจและทางสังคมควบคู่กัน สามารถแสดงได้ดังภาพ


ในบริบทของการสร้างคุณค่าร่วม ตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์เชิงสังคมจะใช้เป็นตัวตัดสินใจหรือตอบโจทย์การลงทุนในความริเริ่มหรือแผนงานที่องค์กรได้ออกแบบเพื่อดำเนินการ โดยผลได้ในเชิงสังคมที่เกิดขึ้นจะใช้เป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจตามมาด้วย

จะเห็นว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคมตามแนวคิด CSV จะมุ่งเน้นในเรื่องหรือประเด็นทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความเชี่ยวชาญขององค์กร โดยมีการนำประเด็นปัญหาสังคมดังกล่าวมาใช้เป็นโจทย์ร่วมในการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร และให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีหุ้นส่วนภายนอกเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, February 05, 2015

ความเคลื่อนไหว CSR ปี 58

สัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์ได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดแถลง “ทิศทาง CSR ปี 2558” เผยแพร่ให้แก่องค์กรธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนของกิจการ ท่ามกลางความคาดหวังของสังคมไทยที่มีต่อการปฏิรูป การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยเฉพาะบทบาทขององค์กรธุรกิจที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคเศรษฐกิจ และพร้อมรองรับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในสิ้นปีนี้

เพื่อให้ท่านผู้อ่านคอลัมน์ “หน้าต่าง CSR” ได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ ประมวลทิศทาง CSR ที่ได้แถลงไป พอสังเขปดังนี้ครับ

1. The Promise of ESG
ธุรกิจหวังใช้ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) เป็นปัจจัยนำกิจการมุ่งสู่ความยั่งยืน
ในปี 2558 เป็นที่คาดหมายว่าจะมีการยกระดับด้วยการทบทวน CG หรือบรรษัทภิบาลในองค์กร ขยายสู่เรื่อง ESG เพื่อให้ครอบคลุมปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อรับกับแนวโน้มความต้องการของผู้ลงทุนที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่นอกเหนือจากตัวเลขทางการเงิน

2. The Index of Things
การเกิดดัชนีของสิ่งที่เชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมาภิบาล ในตลาดทุน
ในปีนี้ จะเห็นการเกิดขึ้นของดัชนีที่ให้ข้อมูลด้าน ESG ในประเทศไทย เพิ่มมากขึ้น ฝั่งบริษัทหลักทรัพย์ จะเริ่มมีบทวิเคราะห์ที่ให้ข้อมูลด้าน ESG แก่ผู้ลงทุน ทำให้อุปสงค์ของรายงานแห่งความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูลความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียน เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

3. Shared Value Movement
การก่อตัวของความเคลื่อนไหวเรื่องการสร้างคุณค่าร่วม (CSV) ในภาคเอกชน
การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ ที่ยกระดับมาสู่การสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ระหว่างองค์กรและสังคมไปพร้อมกัน เป็นแนวโน้มที่คาดว่าจะกลายเป็นกระแสหลักในอนาคต

4. Supply Chain Engagement
ธุรกิจจะขับเคลื่อน CSR ด้วยการสร้างข้อผูกพันร่วมกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานเพิ่มขึ้น
ประเด็นการต่อต้านการทุจริต สำหรับองค์กรที่มีกระบวนการป้องกัน การควบคุมภายใน และการตรวจพบทุจริต อย่างครบถ้วนเพียงพอแล้ว เป็นที่คาดหมายว่าจะยกระดับมาสู่การขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการสร้างข้อผูกพันร่วมกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Engagement) เพิ่มขึ้น

5. Waste Side Story
ธุรกิจจะเพิ่มความสำคัญกับการจัดการของเสียและซากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่ธุรกิจ
การหยิบยกปัญหาขยะขึ้นเป็นวาระสำคัญ การประกาศเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งแนวโน้มการออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการซากผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจจำต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การลดใช้สารอันตราย และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สะดวกต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และกฎหมายใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

6. The Birth of SDGs
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จะมากำกับทิศทางการพัฒนาของโลกนับจากนี้ไปอีก 15 ปี
เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ซึ่งถูกใช้ในช่วง 15 ปีมานี้ กำลังจะถูกแทนที่ด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และจะเริ่มต้นใช้ในปีนี้จวบจนปี พ.ศ.2573 ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล

สำหรับผู้ที่สนใจรายงาน “6 ทิศทาง CSR ปี 2558: Sustainable Enterprise” ฉบับเต็ม สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ thaicsr.com ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]