Thursday, January 29, 2015

หุ้นติดเรต ESG100 ธุรกิจวิถียั่งยืน

หน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ผู้ริเริ่มพัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ได้เปิดเผยรายชื่อ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ประจำปี 2558 จำนวน 100 บริษัท หรือ ที่เรียกว่ากลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ด้วยการคัดเลือกจาก 567 บริษัทจดทะเบียน ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลจาก 6 แหล่ง จำนวนกว่า 10,500 จุดข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ที่บริษัทเผยแพร่ไว้ต่อสาธารณะ

การเปิดเผยกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของการเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG ของหลักทรัพย์จดทะเบียนให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ควบคู่กับข้อมูลผลประกอบการทางการเงิน อันจะนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน การส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัท และการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 มาจากหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคมากสุด คือ 12 บริษัท รองลงมาเป็นหมวดธุรกิจธนาคาร จำนวน10 แห่ง และมีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด mai เข้าอยู่ใน ESG100 จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ QTC, ILINK, CMO, APCO

100 บริษัทที่ติดอันดับ กระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มี 11 บริษัท เช่น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มี 10 บริษัท เช่น ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล, ซาบีน่า และไทยวาโก้ กลุ่มธุรกิจการเงิน มี 17 บริษัท เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มี 10 บริษัท เช่น พีทีที โกลบอล เคมิคอล, อินโดรามา เวนเจอร์ส และสหวิริยาสตีลอินดัสตรี กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มี 11 บริษัท เช่น ปูนซิเมนต์ไทย, เซ็นทรัลพัฒนา และพฤกษา เรียลเอสเตท กลุ่มทรัพยากร มี 14 บริษัท เช่น ปตท., ปตท.สผ. และโกลว์ พลังงาน กลุ่มบริการ มี 16 บริษัท เช่น ท่าอากาศยานไทย, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กลุ่มเทคโนโลยี มี 11 บริษัท เช่น แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, อินทัช โฮลดิ้งส์ และโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น

ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของ 100 บริษัทใน ESG100 มีมูลค่าราว 9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปของทั้งตลาดฯ ที่ 14 ล้านล้านบาท

ในต่างประเทศ ได้มีผู้จัดทำข้อมูลและให้บริการดัชนีด้านความยั่งยืนเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุน โดยใช้ข้อมูล ESG เป็นฐานในการพิจารณา เป็นจำนวนหลายราย อาทิ เอสแอนด์พี ดาวโจนส์ ฟุตซี่ เอ็มเอสซีไอ และนับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณเม็ดเงินที่ถูกจัดสรรในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) ทั่วโลก มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด

เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ปริมาณเม็ดเงินที่ลงทุนในหมวดนี้ มีมากกว่า 6.57 ล้านล้านเหรียญ คิดเป็นร้อยละ 18 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมดที่ 36.8 ล้านล้านเหรียญ หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 6 เหรียญ จะมีไม่ต่ำกว่า 1 เหรียญที่ลงทุนโดยใช้ข้อมูล ESG ขณะที่ในยุโรป การลงทุนในหมวดนี้ มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านยูโร

การจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 เป็นข้อมูลตั้งต้นที่ผู้ลงทุนสามารถใช้คัดเลือกหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป สำหรับรายชื่อบริษัทที่อยู่ใน ESG100 ทั้ง 100 หลักทรัพย์ สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.esgrating.com...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, January 22, 2015

คลอด G4 ฉบับ How-to

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อพูดถึงกรอบการจัดทำรายงานความยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางนั้น หนีไม่พ้นที่จะพูดถึงองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 โดยแนวร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Coalition for Environmentally Responsible Economies: CERES) และสถาบันเชิงสหวิทยาการที่ทำงานด้านวิจัยและนโยบาย ชื่อว่า Tellus Institute

เมื่อครั้งที่ GRI เป็นแผนกงานของ CERES คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานได้เสนอแนะให้ GRI ขยายบทบาทการทำงานที่มากกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม จนนำมาสู่การพัฒนาเป็น “กรอบการรายงานความยั่งยืน” ที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ฉบับแรก ซึ่งเรียกว่า ฉบับ G1 พร้อมกับการแยกตัวออกมาจาก CERES จัดตั้งเป็นองค์กรอิสระในปี พ.ศ.2543 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ถัดจากนั้น ในปี พ.ศ.2545 GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554 จนพัฒนามาสู่ฉบับล่าสุดที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ฉบับ G4 เมื่อปี พ.ศ.2556

GRI ทำงานในลักษณะเครือข่ายที่มีผู้มีส่วนได้เสียมากกว่า 30,000 ราย และมีผู้มีส่วนได้เสียภาคองค์กร (Organizational Stakeholders) ทั่วโลกราว 600 องค์กรทั้งในภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา รวมทั้งสมาคมการค้าต่าง ๆ ช่วยเหลือร่วมมือกันพัฒนากรอบและแนวปฏิบัติในการจัดทำรายงานความยั่งยืน

รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เป็นรายงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน มีองค์กรทั่วโลกที่จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI แล้วมากกว่า 5,000 แห่ง ใน 90 กว่าประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะ Certified Training Partner และผู้มีส่วนได้เสียภาคองค์กรของ GRI ได้จัดทำหนังสือชุด “รายงานเพื่อความยั่งยืน: Reporting your CSR” ที่อ้างอิง GRI ฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2554 และฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2555 เผยแพร่ให้แก่องค์กรธุรกิจที่สนใจ นำไปใช้เป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับทำความเข้าใจเรื่องการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามแนวทางของ GRI ที่ชี้ให้เห็นถึงวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึงและทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงาน

สัปดาห์หน้า ในงานแถลง “ทิศทาง CSR ปี 2558” สถาบันไทยพัฒน์จะทำการเผยแพร่หนังสือในชุดรายงานเพื่อความยั่งยืนเล่มล่าสุด “GRI Sustainability Reporting Process” ที่เป็น G4 ฉบับ How-to คู่มือเบื้องต้นสำหรับองค์กรในการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามแนวทางของ GRI ฉบับ G4 ที่เน้นการสร้างให้เกิดกระบวนการรายงาน (Reporting Process) ขึ้นในองค์กร มิใช่มุ่งหวังเพียงเพื่อให้องค์กรได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report) เป็นเรื่องหลัก รวมทั้งการตอกย้ำเรื่องสารัตถภาพ (Materiality) ของกระบวนการรายงานและการเปิดเผยข้อมูล โดยพิจารณาถึงสิ่งซึ่งองค์กรควรดำเนินการและนำมารายงานให้ถูกเรื่อง ไม่ใช่การรายงานถึงสิ่งที่องค์กรได้ดำเนินการในทุกเรื่อง...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, January 15, 2015

ท็อป 10 ประเด็น CSR

จากประเด็นสภาพการจ้างงานในภาคประมง ข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารทะเล และมาตรการที่เสนอให้ระงับการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ส่งมอบที่มีส่วนในการสนับสนุนการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม จนส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการส่งออกของไทย เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงขอบข่ายของความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ที่ไม่สามารถจำกัดอยู่เพียงเฉพาะองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ยังยึดโยงกับขีดการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของคู่ค้าในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วย

ประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ถูกระบุว่ามีสาระสำคัญ (Identified Material Aspects) จะมีความแตกต่างกันตามรายสาขาอุตสาหกรรม อาทิ ประเด็นการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ประเด็นน้ำทิ้งและของเสียในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ประเด็นสิทธิเด็กในอุตสาหกรรมสิ่งทอและท่องเที่ยว

การระบุประเด็น CSR ที่มีนัยสำคัญต่อกิจการ เป็นสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการ โดยใช้ข้อมูลนำเข้าจากผลการปรึกษาหารือและรับฟังเสียงสะท้อนในกระบวนการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Engagement)

ทั้งนี้ การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียที่องค์กรดำเนินการในกระบวนการรายงานนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้แน่ใจว่า เรื่องและประเด็น CSR ที่มีความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น จะถูกพิจารณาเพื่อบรรจุเป็นวาระการดำเนินงานและสำหรับใช้เป็นหัวข้อในการรายงานผลการดำเนินงาน ตามลำดับ

กระบวนการสานสัมพันธ์ที่มีประสิทธิผล จะทำให้องค์กรทราบถึงความสนใจหรือความคาดหวังของแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่มีต่อการดำเนินงานและผลกระทบจากการดำเนินงาน ซึ่งจะมีความเกี่ยวเนื่องและมีความเชื่อมโยงกับผลประกอบการ การเจริญเติบโต และความยั่งยืนของกิจการ

สำหรับองค์กรที่ยังไม่มีกระบวนการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย หรือยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลตามที่ควรจะเป็น มักจะประสบกับคำถามที่ว่า เรื่องและประเด็น CSR ที่ดำเนินการอยู่นั้น สามารถตอบโจทย์หรือเป็นสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการจริงหรือ และสามารถนำพาองค์กรไปสู่การเป็นกิจการที่ยั่งยืน (Sustainable Enterprise) ได้จริงหรือไม่

ตัวช่วยหนึ่งที่องค์กรสามารถใช้เป็นแนวในการค้นหาเรื่องและประเด็น CSR ที่ควรดำเนินการ นอกเหนือจากการสานสัมพันธ์ระหว่างกิจการกับผู้มีส่วนได้เสียเองโดยตรง คือ การพิจารณาแนวปฏิบัติด้าน CSR ที่จัดทำขึ้นตามรายอุตสาหกรรมที่ธุรกิจสังกัดอยู่ หรือการประเมินและคัดเลือกประเด็นที่ถูกระบุว่ามีสาระสำคัญในรายสาขาอุตสาหกรรม (Sector-specific Material Aspects) เพื่อนำมาพิจารณาดำเนินการ

กล่าวอย่างเข้าใจง่าย คือ ประเด็น CSR ที่มีสาระสำคัญ ที่องค์กรเลือกมาดำเนินการ ดีที่สุด คือ ได้มาจากการเห็นพ้องของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง รองลงมา คือ ได้มาจากการเห็นตรงกันในกลุ่มอุตสาหกรรมโดยรวม และที่มีดีอยู่บ้าง คือ ได้มาจากการเห็นชอบของฝ่ายบริหาร และ/หรือคณะกรรมการบริษัท (ซึ่งก็ยังดีกว่า การชงเอง-สรุปเอาเอง จากฝ่าย CSR โดยลำพัง)

เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็น CSR แก่กิจการที่ยังไม่มีกระบวนการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย หรือยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลตามที่ควรจะเป็น สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประมวลข้อมูลจากรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) รายงานประจำปี (Annual Report) ที่เปิดเผยข้อมูลในหัวข้อ CSR และรายงาน CSR แบบบูรณาการ (Integrated CSR Report) จำนวน 126 เล่ม จาก 90 บริษัท ในระหว่างปี 2556-2557 เพื่อสังเคราะห์ประเด็น CSR ที่บริษัทมีการรายงานมากที่สุด 10 อันดับแรก โดยปรากฏผลเป็นดังนี้

1. การฝึกอบรมและการให้ความรู้ (Training and Education)
2. อาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational Health and Safety)
3. ผลเชิงเศรษฐกิจ (Economic Performance)
4. การจ้างงาน (Employment)
5. พลังงาน (Energy)
6. การต้านทุจริต (Anti-corruption)
7. มลอากาศ (Emissions)
8. น้ำทิ้ง และของเสีย (Effluents and Waste)
9. ชุมชนท้องถิ่น (Local Communities)
10. การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และบริการ (Product and Service Labeling)

สำหรับข้อมูลประเด็น CSR ที่มีการรายงานสูงสุดจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) กลุ่มธุรกิจการเงิน (Financials) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) กลุ่มทรัพยากร (Resources) กลุ่มบริการ (Services) และกลุ่มเทคโนโลยี (Technology) ตามการจัดหมวดอุตสาหกรรมสำหรับหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ จะทำการเปิดเผยรายละเอียดในงานแถลง “ทิศทาง CSR ปี 2558” ซึ่งจะจัดขึ้นภายในเดือนมกราคมนี้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, January 08, 2015

ทิศทาง CSR ในตลาดทุน

ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) นับเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจไม่สามารถละเลยที่จะไม่ให้ความสนใจ เนื่องเพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการดำเนินธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่กิจการเข้าไปเกี่ยวข้อง และได้มีการขยายความเพิ่มเติมในระยะหลังว่า ความสำเร็จจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นกุญแจที่เปิดทางไปสู่การพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่กิจการและสังคมโดยรวม

ทำให้ความต้องการในข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน (ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงผลประกอบการในอดีต) ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ รวมทั้งผู้ลงทุน ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คำว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance จึงเกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับกิจการและการดำเนินงานของกิจการ

Financial Times ได้บัญญัติความหมายของ ESG ว่า เป็นคำที่ใช้ในตลาดทุน ที่ผู้ลงทุนใช้ประเมินการดำเนินงานของกิจการ เพื่อให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของกิจการ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการดังกล่าวนี้ มาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เรื่องความยั่งยืน หรือที่มักอ้างอิงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในสามด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้ คือ การพัฒนาในฝั่งของผู้ลงทุนต่อการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบที่มีการพิจารณาถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หรือผู้จัดการลงทุนซึ่งทำหน้าที่ดูแลการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน จำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติสำหรับการลงทุนที่ดี ใช้ข้อมูลการดำเนินงานในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ที่กิจการเปิดเผย ประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบด้าน

สำหรับในฝั่งของกิจการที่ต้องการได้รับเม็ดเงินลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตของธุรกิจจากผู้ลงทุน หากกิจการมีการขับเคลื่อน CSR-in-process หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการหลักทางธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว อาจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการอะไรใหม่ หรือทำเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ เพราะสิ่งที่ดำเนินการอยู่ เข้าเกณฑ์ ESG ที่ผู้ลงทุนใช้พิจารณาเข้าลงทุนในกิจการอยู่แล้ว ส่วนจะลงทุนมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับที่ผู้ลงทุนจะ Benchmark การดำเนินงานตามเกณฑ์ ESG ของกิจการ เทียบกับองค์กรอื่นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้าลงทุน

ส่วนกิจการที่มีการขับเคลื่อนเรื่อง CSR-in-process ยังไม่เด่นชัดนัก อาจจะต้องดำเนินการปรับปรุงพัฒนาในส่วนนี้เพิ่มเติม เพื่อให้เข้าเกณฑ์ ESG เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ลงทุนที่ใช้เกณฑ์ ESG จะให้ความสำคัญกับ CSR-in-process ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกิจการ และกับผลประกอบการของกิจการ มากกว่า CSR-after-process ในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งแยกต่างหากจากกระบวนการหลักทางธุรกิจ และไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับผลประกอบการของกิจการเท่าใดนัก

ตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ต่างออกมาตรการในการส่งเสริมให้กิจการที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีมาตรการในการสนับสนุนให้ผู้ลงทุนใช้ข้อมูล ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในบริษัทที่ขาดธรรมาภิบาล ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างผลกระทบเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อความยั่งยืนและผลประกอบการในระยะยาวของกิจการ

ในปี 2558 เป็นที่คาดหมายว่า จะเห็นการเกิดขึ้นของดัชนีที่ให้ข้อมูลด้าน ESG ในประเทศไทย และบรรดากลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ จะให้ความสำคัญกับการออกบทวิเคราะห์ที่ให้ข้อมูลด้าน ESG แก่ผู้ลงทุนเพิ่มเติมจากเดิม ทำให้อุปสงค์ของรายงานแห่งความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูลความรับผิดชอบต่อสังคมของหลักทรัพย์จดทะเบียน เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

จากวลีที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” ในไม่ช้าอาจจะพัฒนามาสู่ “การลงทุนเป็นโอกาส ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ESG ก่อนการตัดสินใจลงทุน”...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]