Thursday, February 27, 2014

เริ่มทำ CSR อย่างไรดี

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ที่ผมได้มีโอกาสทำงานในบทบาทการเผยแพร่ความรู้และขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ CSR ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน นับตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน รวมเวลาก็เข้าปีที่ 9 แล้ว ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในมิติการทำงานด้าน CSR ที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง ทั้งในทางที่แสดงให้เห็นถึงระดับความรับผิดชอบขององค์กรที่เพิ่มขึ้นและในทางที่องค์กรใช้ CSR เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์มากขึ้น

ในทุกๆ ปี จะมีองค์กรธุรกิจหน้าใหม่ๆ ที่ก่อนหน้าไม่ได้ให้ความสำคัญกับ CSR มากนัก ได้แสดงความสนใจในการศึกษาและกระตือรือร้นที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวมีขึ้นในองค์กรของตนเอง ซึ่งจากการพบปะกับองค์กรเหล่านี้ คำถามที่ผมได้รับอยู่เสมอๆ คือ “องค์กรยังไม่มี CSR และไม่รู้จะเริ่มอย่างไร”

คำถามนี้ อาจจะเป็นกับดักทำให้หลายองค์กรที่อยากทำ CSR ต้องเสียเงินจ้างที่ปรึกษาหรือเอเจนซี่ มาช่วยคิดกิจกรรม CSR ให้ เพราะเข้าใจว่า องค์กรตนเองยังไม่มี CSR

ในความเป็นจริง ทุกองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอยู่รอดมาจนถึงวันนี้ ต้องมีเรื่องของ CSR อยู่ในองค์กรบ้างไม่มากก็น้อย ข้อเท็จจริง คือ ผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการไม่ทราบว่า มีการดำเนินงานใดบ้างในองค์กรที่เข้าข่ายเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR

ฉะนั้น คำถามที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เริ่มจาก “องค์กรยังไม่มี CSR” แต่ต้องเริ่มจาก “มีเรื่องใดบ้างในองค์กรที่เป็น CSR” และสิ่งที่ควรลงมือทำก่อนการคิดกิจกรรม CSR ขึ้นใหม่ คือ การสำรวจกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจัดจำพวก CSR สำหรับการพัฒนาต่อยอดขยายผล ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์

หลักการง่ายๆ ที่ช่วยบ่งชี้ว่า เรื่องใดเป็น CSR หรือไม่ คือ ประการแรก เรื่องนั้นทำแล้วส่งผลต่อผู้อื่น (รวมถึงสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศโดยรวม) จึงต้องเกิดเป็น “ความรับผิดชอบ” ต่อผลแห่งการดำเนินงานนั้น ในทางกลับกัน กิจกรรมใดที่องค์กรทำแล้วไม่ส่งผลต่อผู้อื่น ถือว่าไม่อยู่ในข่ายของ CSR

ในความเป็นจริง คงไม่มีเรื่องใดที่องค์กรทำ แล้วไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เช่น บริษัทหนึ่งตัดสินใจเลิกจ้างพนักงาน ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีหรือธุรกิจซบเซา เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้องค์กรอยู่รอด และได้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด กรณีนี้ ถือว่า บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคม (ในที่นี้ คือ พนักงาน) ตามข้อกำหนดทางกฎหมาย

หากแต่อีกบริษัทหนึ่ง ต่อกรณีเดียวกันนี้ ตัดสินใจที่จะประคับประคองกิจการ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายอื่น โดยพยายามไม่ให้เกิดผลกระทบกับการว่าจ้างพนักงาน การดำเนินงานนี้ ถือว่า บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นกัน และอาจจะเหนือกว่าการตัดสินใจดำเนินงานของบริษัทแรกที่เป็นไปตามภาระผูกพันทางกฎหมาย เพราะองค์กรสมัครใจที่จะใช้วิธีดำเนินการเพื่อรักษาพนักงานที่ร่วมก่อร่างสร้างธุรกิจมาด้วยกันไว้

ประการที่สอง “สังคม” ที่อยู่ในคำว่า “Corporate Social Responsibility” มิได้หมายถึง สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ภายนอกองค์กรเท่านั้น อันที่จริงแล้ว การทำ CSR ตามลำดับที่ควรจะเป็น คือ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมกับผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรก่อน ซึ่งก็คือ พนักงาน ทั้งที่เป็นพนักงานประจำ ลูกจ้างรายวัน ผู้รับเหมา หรือผู้รับจ้างทำงานให้ (Outsource) ตัวอย่าง CSR ที่ทำกับแรงงานขั้นพื้นฐาน คือ การมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนหรือผลตอบแทนให้ตรงต่อเวลา การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียภายในองค์กรกลุ่มต่อมา คือ ผู้บริหารหรือผู้จัดการ ที่องค์กรต้องรับผิดชอบดำเนินการจัดวางระบบการบริหารให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีโครงสร้างและกลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบาย กลยุทธ์ และกรบวนการปฏิบัติงานตามที่ได้วางไว้ มีการเสริมสร้างวัฒนธรรม ค่านิยมองค์กร และทัศนคติของบุคลากรที่เอื้อต่อการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นรากฐานให้เกิดการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร

องค์กรที่เริ่มจากการทำ CSR ภายในองค์กรได้ข้างต้น จะมีความพร้อมต่อการขับเคลื่อน CSR ภายนอกองค์กร มากกว่าการเริ่มนับหนึ่งที่กิจกรรม CSR เพื่อสังคมภายนอกตั้งแต่แรก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่เริ่มจากการมีบรรษัทภิบาล หรือ Corporate Governance ในองค์กร เป็นฐานสำหรับการดำเนินเรื่อง CSR กับสังคมภายนอกองค์กรในขั้นต่อไป

หวังว่า ข้อแนะนำข้างต้น จะช่วยให้องค์กรที่กำลังจะใช้เงินไปกับการคิดหรือการว่าจ้างทำกิจกรรมเพื่อสังคม ได้เตรียมองค์กรให้พร้อมก่อนดำเนินการ และได้ประโยชน์จากการใช้เม็ดเงินงบประมาณอย่างคุ้มค่าครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, February 20, 2014

CSV: กลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคม

ในปี พ.ศ.2548 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ เพื่อศึกษาคุณลักษณะและองค์ประกอบของ CSR ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและพัฒนาบนพื้นฐานของภูมิปัญญาตะวันออก ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ผลลัพธ์จากงานวิจัยชิ้นนั้น ก่อให้เกิดคำว่า “CSR-in-process” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีการใช้ตัวกระบวนการธุรกิจเป็นเครื่องมือในการจำแนก CSR ออกเป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการธุรกิจ ซึ่งมีผู้ใช้คำเรียกแทนว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” แม้จะไม่ค่อยตรงความหมายมากนัก แต่เพื่อต้องการชี้ให้เห็นความแตกต่างกับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปของกิจกรรมที่แยกต่างหากจากกระบวนการธุรกิจและมักเกิดขึ้นภายหลัง หรือ “CSR-after-process” และมีการใช้คำเรียก CSR จำพวกนี้ว่า “กิจกรรมเพื่อสังคม”

ปัจจุบัน คำว่า “CSR-in-process” ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการประกอบธุรกิจที่ทำอยู่ปกติอย่างรับผิดชอบ ด้วยการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร อันนำไปสู่ความยั่งยืน นอกเหนือจากการเติบโตของกิจการ

การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ได้มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียในกรอบของการ “ทำก็ต่อเมื่อเกิดเรื่อง” ในลักษณะเชิงรับหรือเชิงตอบสนองเพื่อมุ่งจัดการกับผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าเป็น Responsive CSR มาสู่กรอบของการ “ทำโดยไม่รอให้เกิดเรื่อง” ในลักษณะเชิงรุกหรือเชิงป้องกันเพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าหรือผลกระทบทางบวก ด้วยการใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญที่องค์กรมีอยู่ หรือที่เรียกว่าเป็น Strategic CSR

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วิธีการทางธุรกิจเพื่อใช้สร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ได้ถูกพัฒนาต่อยอดจากแนวคิด Strategic CSR จนกลายมาเป็น Creating Shared Value (CSV) หรือการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน โดยไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ผู้ที่เป็นต้นตำรับของแนวคิดดังกล่าว ล่าสุดได้ก่อตั้งเป็น Shared Value Initiative เมื่อปี 2555 เพื่อนำแนวคิด CSV ที่ทั้งสองได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น ไปใช้ในองค์กรและทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

ในประเทศไทย องค์กรภาคธุรกิจหลายแห่ง ได้ทำการศึกษาและนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับองค์กร ถึงขนาดที่ว่า มีองค์กรบางแห่งประกาศจะนำมาใช้แทนเรื่อง CSR ที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีความเข้าใจที่มีความแตกต่างหรือมีความคลาดเคลื่อนในหมู่ของผู้ที่นำแนวคิด CSV มาใช้

การสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV ตามแนวทางของไมเคิล อี พอร์เตอร์ ให้ความสำคัญกับการนำวิธีการทางธุรกิจมาใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม โดยคำนึงถึงการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของกิจการ มาสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน ถือเป็นส่วนที่มาขยายหรือเติมเต็มการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้วิถีของการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ในบริบทของ CSR-in-process นั่นเอง

สถาบันไทยพัฒน์ เห็นว่าเรื่อง CSV จะเป็นแนวคิดที่ภาคธุรกิจให้ความสนใจนำมาใช้เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จึงได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “CSV: กลยุทธ์สร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคม” ในงานแถลง “ทิศทาง CSR ปี 2557” ในวันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 9.00-12.00 น. ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก โดยการเสวนาครั้งนี้ จะมีวิทยากรที่ผ่านการอบรมและได้รับการรับรองจาก Shared Value Initiative มาเป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดและมุมมอง พร้อมตัวอย่าง CSV ขององค์กรธุรกิจไทย

บริษัทจดทะเบียนและองค์กรภาคธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมงานสัมมนา สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งฟรี (จำนวนจำกัด) ได้ที่ www.thaicsr.com...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, February 13, 2014

วันแห่งความรักที่สูงส่งบริสุทธิ์

วันพรุ่งนี้ เป็นวันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และปีนี้ยังตรงกับวันแห่งความรักอีกด้วย ทำให้ผมได้มีโอกาสหยิบข้อมูลที่บันทึกไว้ครั้งที่ไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นระยะเวลา 45 วัน เมื่อปี 2547 หรือ 10 ปีที่แล้ว มาถ่ายทอดแบ่งปันเนื่องในโอกาสวันสำคัญนี้

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มีตำนานว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้มาเป็นเวลา 9 เดือน ขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ได้มีพระสงฆ์ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6 และเป็นพระสงฆ์ที่พระพุทธองค์ทรงประทานอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เอง จำนวน 1,250 รูป มาชุมนุมโดยมิได้นัดหมายมาก่อน

พระพุทธองค์ทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี จึงได้เสด็จท่ามกลางหมู่สงฆ์ ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” อันเป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา นับตั้งแต่นั้นมาในวันอุโบสถทุกกึ่งเดือน พระองค์ก็ทรง ยกขึ้นตรัสแก่พระภิกษุสงฆ์ในที่ประชุมเสมอ แต่ภายหลังได้ทรงยกเลิก และอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์นำเอาสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ มาสวดในที่ประชุมแทน ซึ่งในปัจจุบันนี้ เรียกว่า สวดปาติโมกข์ หรือ ลงปาติโมกข์ นั่นเอง

ในบทสวดโอวาทปาติโมกข์นั้น มีหลักธรรมสำคัญที่ประกอบกันอยู่ในพระคาถา คือ

พระคาถาที่ 1 ว่าด้วย “อุดมการณ์”
พระองค์ทรงแสดงถึงคุณธรรม คือ ขันติ ความอดทนอดกลั้น ว่าเป็นเครื่องอุดหนุนให้บุคคลบรรลุบรมธรรม คือ พระนิพพาน พร้อมทั้งทรงแสดงลักษณะของบุคคลผู้เป็นบรรพชิตหรือสมณะไว้ว่า บุคคลผู้ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นให้ลำบาก หาชื่อว่าเป็นบรรพชิตหรือสมณะไม่

พระคาถาที่ 2 ว่าด้วย “หลักการ”
พระองค์ทรงแสดงถึงหลักคำสอนที่สำคัญซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสาวกได้นำไปใช้เป็นหลักในการเผยแผ่และสั่งสอนไว้ 3 ประการ คือ
- เว้นจากทุจริต คือ การประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ (ไม่ทำชั่ว)
- ประกอบสุจริต คือ ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ (ทำแต่ความดี)
- ทำจิตใจของตนให้หมดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง (ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว)

พระคาถาที่ 3 (กับอีกครึ่งพระคาถา) ว่าด้วย “วิธีการ”
พระองค์ทรงแสดงถึงปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติของพระสงฆ์สาวก 6 ประการ คือ
- ห้ามมิให้ว่าร้ายผู้อื่น
- ห้ามมิให้เบียดเบียนผู้อื่น
- ต้องสำรวมในพระปาติโมกข์ คือ ไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทบัญญัติ
- ต้องรู้จักประมาณในการแสวงหา และในการบริโภคใช้สอย
- ควรอยู่ในสถานที่อันสงบเงียบ
- ประกอบความเพียรในอธิจิต คือ ชำระจิตให้ปราศจากนิวรณ์ เพื่อให้เกิดมีสมาธิและปัญญา รู้เท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในที่สุด

หลังจากที่พระองค์ ได้ตรัสรู้และสั่งสอนพระธรรมมาเป็นระยะเวลา 45 ปี พระองค์ทรงปลงมายุสังขาร คือ ตั้งพระทัยว่า "ต่อแต่นี้ไปอีก 3 เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน" การปลงอายุสังขาร ตรงกับวันมาฆบูชาในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พระชันษา

ในวันมาฆบูชา ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า รวม 2 ประการ คือ เป็นวันที่แสดงโอวาทปาติโมกข์ และ เป็นวันปลงอายุสังขาร

ดังที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เคยปรารภและรับสั่งว่า ถ้าจะถือว่ามีวันแห่งความรัก ก็ต้องถือว่า วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรักที่สูงส่งบริสุทธิ์ในพระพุทธศาสนา

ก็ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่าน หาโอกาสในวันพรุ่งนี้ ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ไปวัดรับศีล ฟังเทศน์ตอนกลางวัน และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น เพื่อสร้างกุศลและเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัวโดยถ้วนหน้ากันครับ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR)

Thursday, February 06, 2014

‘พิมพ์เขียว’ การเข้าร่วมปฏิรูปของภาคธุรกิจ

การเข้าร่วมขบวนปฏิรูปสังคมร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ นับเป็นหนึ่งในเรื่อง CSR ที่ภาคธุรกิจพึงดำเนินการ และถือเป็นหน้าที่ตามบทบาทที่เป็นพลเมืองภาคองค์กรในสังคม โดยวิธีการและระดับของการเข้าร่วม (Engagement) จะแตกต่างกันตามโอกาสและสมรรถภาพขององค์กรที่มีต่อประเด็นการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง

คำว่า Engage นั้นมีดีกรีที่แตกต่างจากคำว่า Participate หรือ Involve คือสูงกว่าขั้นการมีส่วนร่วมหรือการเข้าร่วมในระดับพฤติกรรม แต่ยังเป็นเรื่องของ emotional and intellectual commitment ในระดับจิตใจและสติปัญญาร่วมด้วย

คุณลักษณะของการเข้าร่วมแบบ Engagement ที่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากนั้น จะต้องเริ่มจาก ‘สำนึก’ ขององค์กรที่ประสงค์จะเข้าร่วมในการแก้ปัญหาหรือการปฏิรูปในเรื่องนั้น ถึงจะเปิดทางให้การทำงานในระดับจิตใจและสติปัญญาเกิดขึ้นได้จริง

มิฉะนั้นแล้ว การเข้าร่วมที่เกิดขึ้น ก็จะดำเนินไปในทำนอง เรื่อยๆ ไม่ดิ้นรน (Passive) หรือ รับไว้ ว่าตามกันไป (Receptive)

แนวทางการ Engagement ที่ภาคธุรกิจ สามารถนำมาเป็นตัวแบบในการดำเนินการ คือ หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานไว้ ซึ่งถือเป็นหลักการเพื่อสังคมที่ใช้การทำงานของจิตใจและสติปัญญา เพื่อบรรลุถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

“หลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา คือ ก่อนจะทำอะไรต้องมีความเข้าใจเสียก่อน เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจผู้คนในหลากหลายปัญหา ทั้งนี้ จะต้องทำให้ผู้ที่เราจะไปทำงานกับเขาหรือทำงานให้เขานั้น เข้าใจเราด้วย เพราะถ้าเราเข้าใจเขาแต่ฝ่ายเดียว โดยที่เขาไม่เข้าใจเรา ประโยชน์คงจะไม่เกิดขึ้นตามที่เรามุ่งหวังไว้ เมื่อรู้ปัญหาแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ต้องเข้าถึง เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ และเมื่อเข้าถึงแล้วจะต้องทำอย่างไรก็ตามให้เขาอยากเข้าถึงเราด้วย ดังนั้น จะเห็นว่า เป็นการสื่อสารสองทาง ทั้งไปและกลับ ถ้าสามารถทำสองประการแรกได้สำเร็จ เรื่องการพัฒนาจะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี” (สภาพัฒน์, พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุข สู่ปวงประชา, 2554)

ขณะที่ องค์ประกอบต่างๆ ขององค์กร ที่รวมกันเข้าเป็น “ระบบ” การดำเนินงาน จะต้องได้รับการจัดวางให้มีสภาพที่เอื้อต่อการทำหน้าที่พลเมืองภาคองค์กรในสังคม โดยรูปแบบและลักษณะของการจัดวางองค์ประกอบทางธุรกิจเพื่อเปิดทาง (Enablement) การเข้าร่วมทำงานนั้น จะมีความแตกต่างกันตามความพร้อมขององค์กร และตามสภาพแวดล้อมของสาขาอุตสาหกรรมที่องค์กรสังกัดอยู่

สิ่งที่แต่ละองค์กรธุรกิจสามารถริเริ่มได้ทันที คือ การสำรวจองค์ประกอบของการดำเนินงานในห่วงโซ่ธุรกิจ (Value Chain) ตนเอง ค้นหาช่องทางที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสายอุปทานในฝั่งต้นน้ำ เพื่อให้เป็นผู้ส่งมอบปัจจัยการผลิต นอกเหนือจากแรงงาน รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสายคุณค่าในฝั่งปลายน้ำ เพื่อการบริโภคใช้สอยที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รูปแบบการจัดวางองค์ประกอบทางธุรกิจเพื่อเปิดทางในลักษณะนี้ เรียกว่า Inclusive Business ในฐานะผู้ส่งมอบนั้น ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะมีโอกาสเข้าถึงระบบเศรษฐกิจแบบเป็นทางการและเกิดการกระจายรายได้ รวมทั้งโอกาสในการได้รับการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเพื่อร่วมในระบบการผลิต ส่วนในฐานะผู้บริโภคนั้น ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะได้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการและในราคาที่สามารถจับจ่ายได้

พร้อมๆ กับการจัดวางองค์ประกอบการดำเนินงานในห่วงโซ่ธุรกิจ องค์กรสามารถดำเนินการเสริมสร้างพลัง (Empowerment) ให้แก่บุคลากรในเครือข่ายที่องค์กรได้เข้าร่วมทำงาน โดยมีเป้าที่การสร้างความเข้มแข็งกับเครือข่าย ให้สามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้ เมื่อองค์กรถอนการทำงานออกจากพื้นที่หรือประเด็นที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม

บทเรียนจากโครงการประชานิยมของภาครัฐ (ซึ่งอาจไม่ต่างจาก CSR ชนิดที่เป็นการบริจาคในหลายโครงการของภาคธุรกิจ) สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการดำเนินโครงการ ที่มิได้ช่วยให้สังคมเข้มแข็งขึ้น แต่กลับส่งผลตรงกันข้าม ทำให้ชุมชนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกตลอดเวลา ขีดความสามารถของประชาชนถดถอย และสังคมโดยรวมอ่อนแอลง

หวังว่า หลักการ Engage-Enable-Empower จะช่วยให้องค์กรธุรกิจ สามารถใช้เป็นหนึ่งใน ‘พิมพ์เขียว’ สำหรับเข้าร่วมขบวนปฏิรูปที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมไทย ในฐานะของพลเมืองภาคองค์กร (Corporate Citizen) ได้ไม่มากก็น้อย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]