Thursday, April 24, 2014

มาเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคมกัน

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในแต่ละยุคสมัย ผลักดันให้เกิดหน่วยงานหรือกิจการในรูปแบบใหม่ๆ ที่จำต้องถูกคิดค้น ออกแบบ และพัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการและรองรับการทำงานให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ตัวอย่างของหน่วยงานหรือกิจการในรูปแบบใหม่ทางสังคมที่พูดถึงกันมากในปัจจุบันนี้ คือ กิจการในลักษณะที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งในแต่ละประเทศ ได้มีความพยายามในการออกกฎหมายเพื่อรองรับสถานภาพของกิจการเหล่านี้ อาทิ กิจการ Community Interest Company (CIC) ในประเทศอังกฤษที่เกิดขึ้นปี ค.ศ.2005 หรือในสหรัฐอเมริกาที่มีกิจการ Low-profit Limited Liability Company (L3C) เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2008 ตามมาด้วยกิจการ Benefit Corporation ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2010 ตามลำดับ

ประเทศไทย และในอีกหลายประเทศทั่วโลก ได้มีความพยายามในการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมในลักษณะดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่มีกฎหมายรองรับสถานภาพของกิจการประเภทนี้เป็นการเฉพาะ ผู้ประกอบการสังคมที่ต้องการก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม จึงต้องใช้การจดทะเบียนในรูปของบริษัทจำกัดเพื่อให้มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสำหรับรองรับการดำเนินงาน

ในทัศนะของสถาบันไทยพัฒน์ เห็นว่า แม้การรับรองสถานภาพของกิจการเพื่อสังคมในทางกฎหมายจะเป็นเงื่อนไขหนึ่ง แต่ผู้ประกอบการสังคมยังมีทางเลือกอื่น หรือใช้การคิดค้นและพัฒนารูปแบบของกิจการในลักษณะอื่นที่เอื้อให้เกิดการทำงานเพื่อสังคม โดยไม่ขึ้นกับข้อจำกัดของกฎหมายในปัจจุบัน หรือต้องรอให้มีการออกกฎหมายใหม่มารองรับในอนาคต ซึ่งก็คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ตัวอย่างของรูปแบบกิจการในทางธุรกิจที่จะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ และไม่ได้มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnership) ซึ่งในทางสังคม สามารถที่จะนำแนวทางดังกล่าวมาดัดแปลงให้เหมาะสมสำหรับการทำงานเพื่อสังคม ภายใต้รูปแบบที่เรียกว่า หุ้นส่วนเพื่อสังคม (Social Partnership)

ตามแนวคิดของสถาบันไทยพัฒน์ การเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคม คือ การที่นิติบุคคลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไปตกลงทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ นำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่แต่ละองค์กรมีอยู่มาผสมผสานในทางที่เสริมพลังการทำงานซึ่งกันและกัน โดยผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้

หุ้นส่วนเพื่อสังคมแตกต่างจากกิจการเพื่อสังคม ตรงที่ไม่ต้องจดทะเบียนเพื่อให้มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเช่นกิจการเพื่อสังคม หรืออีกนัยหนึ่งคือ หุ้นส่วนเพื่อสังคมไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน การดำเนินงานของหุ้นส่วนเพื่อสังคมอาจใช้วิธีการทางธุรกิจหรือการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดเช่นเดียวกับกิจการเพื่อสังคม ซึ่งหากมีรายรับที่เป็นส่วนเกิน (Surplus) จากการดำเนินงานหรือจากกิจกรรมนั้นๆ จะไม่นำมาแบ่งปันกันในรูปของผลกำไรหรือเงินปันผลในลักษณะเดียวกับกิจการเพื่อสังคม แต่จะนำกลับมาลงทุนใหม่ (Reinvest) ทั้งหมดในกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งหุ้นส่วนเพื่อสังคม หรือใช้ในการขยายและปรับปรุงการดำเนินงานของหุ้นส่วนเพื่อสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ในแง่มุมที่หุ้นส่วนเพื่อสังคม มีวัตถุประสงค์ที่จะไม่นำผลกำไรมาปันกลับคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน จะมีความคล้ายคลึงกับการดำเนินงานในลักษณะธุรกิจเพื่อสังคมที่ มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้บุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคมในบังกลาเทศได้ให้นิยามไว้ (Type I Social Business: Non-loss, Non-dividend Company) แต่ข้อแตกต่างยังอยู่ตรงที่หุ้นส่วนเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเช่นเดียวกับธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อให้มีสภาพนิติบุคคลรองรับการทำงาน การทำงานของหุ้นส่วนเพื่อสังคมจะใช้สภาพนิติบุคคลเดิมของผู้เป็นหุ้นส่วนรองรับการทำงาน โดยหากมีการเลิกความเป็นหุ้นส่วน หรือภารกิจที่ร่วมกันดำเนินงานเสร็จสิ้นตามวัตถุประสงค์ของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคม ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ (ถ้ามี) ผู้เป็นหุ้นส่วนจะดำเนินการรับกลับคืนตามส่วนหรือตกลงกันเพื่อมอบให้แก่องค์กรสาธารณประโยชน์ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายกับวัตถุประสงค์ของหุ้นส่วนเพื่อสังคมที่ได้ก่อตั้งขึ้น

หุ้นส่วนเพื่อสังคมยังมีแง่มุมความแตกต่างจากมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่แม้จะมีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะเหมือนกัน แต่หุ้นส่วนเพื่อสังคมใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันระหว่างหลายนิติบุคคลที่เข้าเป็นหุ้นส่วนในทางที่เสริมสมรรถภาพซึ่งกันและกันโดยใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรที่เข้าเป็นหุ้นส่วนกัน ไม่ได้อาศัยเพียงศักยภาพในการทำงานของมูลนิธิหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยลำพัง ทำให้หุ้นส่วนเพื่อสังคมสามารถขยายผลกระทบของการทำงานเพื่อสังคมได้มากกว่า

ทั้งนี้ มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์สามารถที่จะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคมทำงานร่วมกันในประเด็นทางสังคมเดียวกันหรือมีจุดหมายในเรื่องเดียวกันได้

จุดเน้นของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคม คือ การเข้าร่วมทำงานต้องเอื้อให้เกิดการใช้ศักยภาพของแต่ละองค์กรที่เข้าเป็นหุ้นส่วนในทิศทางที่เสริมกันและทวีคุณค่ามากกว่าการทำงานโดยองค์กรเดียว

การก่อตั้งหุ้นส่วนเพื่อสังคมที่มีการทำงานอิงอยู่กับองค์กรเดียวหรือมีผู้เป็นหุ้นส่วนเพียงบางองค์กรที่ทำงาน จะมีผลให้ขีดความสามารถในการขยายผลกระทบหรือทวีคุณค่าของการทำงานเกิดขึ้นได้อย่างจำกัด และอาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

ในส่วนที่เป็นการกำกับดูแลการดำเนินงานของหุ้นส่วนเพื่อสังคม จะใช้แนวทางที่เอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในรูปของคณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Board of Stakeholders ที่ไม่จำกัดเฉพาะผู้แทนของผู้เป็นหุ้นส่วน แต่รวมถึงผู้แทนของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องหรือในภารกิจที่หุ้นส่วนเพื่อสังคมนั้นๆ ดำเนินการอยู่ ซึ่งรายละเอียดในเรื่อง Board of Stakeholders จะขอนำเสนอในโอกาสต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

No comments: