Thursday, April 24, 2014

มาเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคมกัน

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในแต่ละยุคสมัย ผลักดันให้เกิดหน่วยงานหรือกิจการในรูปแบบใหม่ๆ ที่จำต้องถูกคิดค้น ออกแบบ และพัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการและรองรับการทำงานให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ตัวอย่างของหน่วยงานหรือกิจการในรูปแบบใหม่ทางสังคมที่พูดถึงกันมากในปัจจุบันนี้ คือ กิจการในลักษณะที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งในแต่ละประเทศ ได้มีความพยายามในการออกกฎหมายเพื่อรองรับสถานภาพของกิจการเหล่านี้ อาทิ กิจการ Community Interest Company (CIC) ในประเทศอังกฤษที่เกิดขึ้นปี ค.ศ.2005 หรือในสหรัฐอเมริกาที่มีกิจการ Low-profit Limited Liability Company (L3C) เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2008 ตามมาด้วยกิจการ Benefit Corporation ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2010 ตามลำดับ

ประเทศไทย และในอีกหลายประเทศทั่วโลก ได้มีความพยายามในการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมในลักษณะดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่มีกฎหมายรองรับสถานภาพของกิจการประเภทนี้เป็นการเฉพาะ ผู้ประกอบการสังคมที่ต้องการก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม จึงต้องใช้การจดทะเบียนในรูปของบริษัทจำกัดเพื่อให้มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสำหรับรองรับการดำเนินงาน

ในทัศนะของสถาบันไทยพัฒน์ เห็นว่า แม้การรับรองสถานภาพของกิจการเพื่อสังคมในทางกฎหมายจะเป็นเงื่อนไขหนึ่ง แต่ผู้ประกอบการสังคมยังมีทางเลือกอื่น หรือใช้การคิดค้นและพัฒนารูปแบบของกิจการในลักษณะอื่นที่เอื้อให้เกิดการทำงานเพื่อสังคม โดยไม่ขึ้นกับข้อจำกัดของกฎหมายในปัจจุบัน หรือต้องรอให้มีการออกกฎหมายใหม่มารองรับในอนาคต ซึ่งก็คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ตัวอย่างของรูปแบบกิจการในทางธุรกิจที่จะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ และไม่ได้มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnership) ซึ่งในทางสังคม สามารถที่จะนำแนวทางดังกล่าวมาดัดแปลงให้เหมาะสมสำหรับการทำงานเพื่อสังคม ภายใต้รูปแบบที่เรียกว่า หุ้นส่วนเพื่อสังคม (Social Partnership)

ตามแนวคิดของสถาบันไทยพัฒน์ การเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคม คือ การที่นิติบุคคลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไปตกลงทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ นำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่แต่ละองค์กรมีอยู่มาผสมผสานในทางที่เสริมพลังการทำงานซึ่งกันและกัน โดยผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้

หุ้นส่วนเพื่อสังคมแตกต่างจากกิจการเพื่อสังคม ตรงที่ไม่ต้องจดทะเบียนเพื่อให้มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเช่นกิจการเพื่อสังคม หรืออีกนัยหนึ่งคือ หุ้นส่วนเพื่อสังคมไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน การดำเนินงานของหุ้นส่วนเพื่อสังคมอาจใช้วิธีการทางธุรกิจหรือการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดเช่นเดียวกับกิจการเพื่อสังคม ซึ่งหากมีรายรับที่เป็นส่วนเกิน (Surplus) จากการดำเนินงานหรือจากกิจกรรมนั้นๆ จะไม่นำมาแบ่งปันกันในรูปของผลกำไรหรือเงินปันผลในลักษณะเดียวกับกิจการเพื่อสังคม แต่จะนำกลับมาลงทุนใหม่ (Reinvest) ทั้งหมดในกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งหุ้นส่วนเพื่อสังคม หรือใช้ในการขยายและปรับปรุงการดำเนินงานของหุ้นส่วนเพื่อสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ในแง่มุมที่หุ้นส่วนเพื่อสังคม มีวัตถุประสงค์ที่จะไม่นำผลกำไรมาปันกลับคืนให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วน จะมีความคล้ายคลึงกับการดำเนินงานในลักษณะธุรกิจเพื่อสังคมที่ มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้บุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคมในบังกลาเทศได้ให้นิยามไว้ (Type I Social Business: Non-loss, Non-dividend Company) แต่ข้อแตกต่างยังอยู่ตรงที่หุ้นส่วนเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเช่นเดียวกับธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อให้มีสภาพนิติบุคคลรองรับการทำงาน การทำงานของหุ้นส่วนเพื่อสังคมจะใช้สภาพนิติบุคคลเดิมของผู้เป็นหุ้นส่วนรองรับการทำงาน โดยหากมีการเลิกความเป็นหุ้นส่วน หรือภารกิจที่ร่วมกันดำเนินงานเสร็จสิ้นตามวัตถุประสงค์ของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคม ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ (ถ้ามี) ผู้เป็นหุ้นส่วนจะดำเนินการรับกลับคืนตามส่วนหรือตกลงกันเพื่อมอบให้แก่องค์กรสาธารณประโยชน์ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายกับวัตถุประสงค์ของหุ้นส่วนเพื่อสังคมที่ได้ก่อตั้งขึ้น

หุ้นส่วนเพื่อสังคมยังมีแง่มุมความแตกต่างจากมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่แม้จะมีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะเหมือนกัน แต่หุ้นส่วนเพื่อสังคมใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันระหว่างหลายนิติบุคคลที่เข้าเป็นหุ้นส่วนในทางที่เสริมสมรรถภาพซึ่งกันและกันโดยใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรที่เข้าเป็นหุ้นส่วนกัน ไม่ได้อาศัยเพียงศักยภาพในการทำงานของมูลนิธิหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยลำพัง ทำให้หุ้นส่วนเพื่อสังคมสามารถขยายผลกระทบของการทำงานเพื่อสังคมได้มากกว่า

ทั้งนี้ มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์สามารถที่จะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคมทำงานร่วมกันในประเด็นทางสังคมเดียวกันหรือมีจุดหมายในเรื่องเดียวกันได้

จุดเน้นของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคม คือ การเข้าร่วมทำงานต้องเอื้อให้เกิดการใช้ศักยภาพของแต่ละองค์กรที่เข้าเป็นหุ้นส่วนในทิศทางที่เสริมกันและทวีคุณค่ามากกว่าการทำงานโดยองค์กรเดียว

การก่อตั้งหุ้นส่วนเพื่อสังคมที่มีการทำงานอิงอยู่กับองค์กรเดียวหรือมีผู้เป็นหุ้นส่วนเพียงบางองค์กรที่ทำงาน จะมีผลให้ขีดความสามารถในการขยายผลกระทบหรือทวีคุณค่าของการทำงานเกิดขึ้นได้อย่างจำกัด และอาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

ในส่วนที่เป็นการกำกับดูแลการดำเนินงานของหุ้นส่วนเพื่อสังคม จะใช้แนวทางที่เอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในรูปของคณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสีย หรือ Board of Stakeholders ที่ไม่จำกัดเฉพาะผู้แทนของผู้เป็นหุ้นส่วน แต่รวมถึงผู้แทนของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องหรือในภารกิจที่หุ้นส่วนเพื่อสังคมนั้นๆ ดำเนินการอยู่ ซึ่งรายละเอียดในเรื่อง Board of Stakeholders จะขอนำเสนอในโอกาสต่อไป...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, April 10, 2014

เทรนด์ธุรกิจต้านทุจริต

เรื่องการต่อต้านทุจริต ได้ถูกบรรจุเป็นประเด็นหลักหนึ่งของ CSR ในทุกมาตรฐานและแนวปฏิบัติทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ การที่องค์กรธุรกิจประกาศว่าตนเองทำ CSR จะหมายรวมถึง การดำเนินเรื่องต่อต้านทุจริตในองค์กรด้วย ซึ่งหากองค์กรไหนไม่มีหรือไม่ได้ทำเรื่องต้านทุจริตจริงจัง แสดงว่าองค์กรนั้นไม่ได้มีหรือไม่ได้ทำ CSR อย่างจริงจัง

ทั้งหลักการใน UN Global Compact หรือเรื่องหลักในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 หรือในแนวปฏิบัติของธุรกิจข้ามชาติที่ออกโดย OECD หรือในกรอบการรายงานความยั่งยืนของ GRI ที่เป็นองค์กรระดับนานาชาติ เรื่อยมาถึงแนวปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนที่ออกโดยสำนักงาน ก.ล.ต. แนวทาง CSR ของบริษัทที่ออกโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ของไทย ล้วนแล้วแต่พูดถึงการต่อต้านทุจริตว่าเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของ CSR

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เรื่องการต่อต้านทุจริต น่าจะกลายเป็นเทรนด์หลักของปี
ประการแรก คือ จำนวนของบริษัทที่มีการประกาศเจตนารมณ์เข้าเป็นแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตที่ดำเนินงานโดย 8 องค์กรนำโดย IOD จากในปี 53 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้น มีจำนวน 27 บริษัทที่เข้าร่วม มาเป็น 56 บริษัทในปี 54 และเพิ่มเป็น 152 บริษัทในปี 55 และปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าร่วมแล้วราว 300 บริษัท ถือว่าเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ

ประการที่สอง เนื่องจากปีนี้จะเป็นปีแรกที่บริษัทจดทะเบียนจะต้องดำเนินการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรา 56 แห่ง พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ที่ต้องจัดส่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ได้เพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อ CSR และได้มีข้อแนะนำให้บริษัทเปิดเผยการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันมิให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นเป็นหัวข้อแยกต่างหาก

สิ่งที่องค์กรธุรกิจสามารถดำเนินการได้ในวิสัยของตนเอง คือ การเตรียมและจัดการองค์กรตนเองให้พร้อมทำเรื่องต้านทุจริต ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรก เป็นเรื่องคำมั่นและนโยบาย (Commitment and Policy) จากผู้บริหารสูงสุดและในนามองค์กรโดยมติคณะกรรมการบริษัทต่อการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น ส่วนที่สอง เป็นการนำไปปฏิบัติ (Implementation) โดยเริ่มจากองค์กรตนเองและมีการดำเนินการที่เป็นแบบอย่างจากผู้นำองค์กรในลักษณะที่เป็น Action-Oriented นอกเหนือจากการให้คำมั่นและการประกาศเจตนารมณ์ และส่วนที่สาม เป็นการติดตามผล (Monitoring) โดยมีการดูแลให้มีการดำเนินการตามนโยบายและมีการทบทวนความเหมาะสมของนโยบายโดยคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยทุกปี

ในส่วนของสถาบันไทยพัฒน์ บทบาทในการขับเคลื่อน CSR ที่สนับสนุนเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นขององค์กรธุรกิจ ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 53 ด้วยการเข้าร่วมขับเคลื่อนสมัชชาคุณธรรมทั้ง 4 ภาคในประเด็นธุรกิจ (CSR) และศาสนา มีองค์กรภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมถกในประเด็น CSR นับรวมได้ 64 แห่ง ตกผลึกออกมาเป็นหลักการ 4 ข้อ

อาทิ การปรับทัศนคติที่เห็นว่าการทำธุรกิจด้วยคุณธรรมจริยธรรมจะทำให้สูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน และการมุ่งขจัดค่านิยมในทางที่ส่งเสริมการทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่ธุรกิจ บรรจุอยู่ภายใต้กรอบแนวทางที่เรียกว่า “การทำงานวิถีกลุ่ม” หรือ Collective Action และได้มีการพัฒนาเป็นข้อเสนอมอบให้กับรัฐบาลในสมัยนั้น ผ่านทางเวที “Thailand Competitiveness Conference 2010” ซึ่งมี TMA เป็นแม่งานหลัก

การขับเคลื่อนในช่วงนั้นไปสอดรับกับสิ่งที่คุณชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการ IOD เริ่มจัดทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจภาคเอกชนเกี่ยวกับการสร้างแนวร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชั่น จนได้ก่อตั้งเป็นโครงการ Collective Action Coalition against Corruption ขึ้นในปลายปี 2553

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ กำลังดำเนินการพัฒนาเครื่องมือประเมินการต่อต้านทุจริต สำหรับเป็นตัวช่วยให้บริษัทที่กำลังอยู่ในโหมดของการนำไปปฏิบัติ ได้มีแนวทางในการดำเนินการอย่างเป็นระบบ

เพราะที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนจากบริษัทที่ประสงค์จะทำเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร หรือมีวิธีและขั้นตอนดำเนินงาน หนึ่ง สอง สาม สี่ อะไรบ้าง เครื่องมือชิ้นนี้จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้บริษัทมีข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ภายในเร็วๆ นี้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]