Thursday, January 30, 2014

สู้เข้าไป อย่าได้ถอย...

สถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นปีที่แล้วและพัฒนาจวบจนปัจจุบัน คือการลุกขึ้นของมวลมหาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและจริยธรรมซึ่งต้องมีต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่เอื้อประโชน์แก่พวกพ้องและการดำเนินโครงการที่เกิดการทุจริตจนสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติ

ความรับไม่ได้ของภาคประชาชนต่อรัฐบาลที่คดโกง ซึ่งได้มีการประเมินตัวเลขความเสียหายนับแสนล้านบาท กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปขนานใหญ่จากทั่วทุกสารทิศ ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ข้าราชการ และกระทั่งจากรัฐบาลที่เป็นตัวปัญหาเองด้วย

แม้เป้าหมายปลายทางจะมุ่งที่การปฏิรูปเหมือนกัน แต่เงื่อนไขที่ยังคงดำรงอยู่ คือ ความเห็นต่างในวิธีการที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน นำไปสู่ความไม่ลงรอยกัน และกลายเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการจัดการตามวิถีทางที่ต่างฝ่ายได้ประกาศไว้

ในปีนี้ ภาคธุรกิจ ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความขัดแย้งในบ้านเมืองครั้งนี้ได้ ขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจ ถือเป็นนิติบุคคลที่มีส่วนได้เสียในสังคม บทบาทที่องค์กรได้ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ จำต้องสลับเป็นผู้มีส่วนได้เสียของสังคม ทำหน้าที่ในหมวกของ ‘นิติพลเมือง’ หรือ พลเมืองภาคองค์กร (Corporate Citizen) ที่ดี ไม่นิ่งดูดายต่อการร่วมขบวนปฏิรูปสังคม ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลที่นำไปสู่ความยั่งยืนของสังคมไทยในวันข้างหน้า

บทบาทของภาคเอกชนต่อการมีส่วนร่วมและพัฒนาสังคม เป็นเรื่องที่ถูกผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมากกว่าการสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียในแง่ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กร แต่การมีส่วนร่วมกับสังคมในบทบาทนี้ อยู่ในฐานะของพลเมืองภาคองค์กรที่ธุรกิจถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียหนึ่งในสังคม และมีผลประโยชน์ร่วมกับสังคม

มิติทาง CSR ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มีนักธุรกิจหลายท่านอ้างถึงคำว่า “Corporate Citizenship” หรือความเป็นพลเมืองขององค์กรธุรกิจ ที่ต้องมีบทบาทหน้าที่ไม่ต่างไปจากบุคคลในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ (ดังเช่นสถานภาพของความเป็น “นิติบุคคล” ที่องค์กรธุรกิจได้รับตามกฎหมาย) ด้วยการประพฤติปฏิบัติ “หน้าที่พลเมือง” ขององค์กรธุรกิจ หรือ Civic Duty of Corporation นั่นเอง

ขณะที่ บทบาทของธุรกิจในหมวกนิติบุคคล คือ การดำเนินกิจการเพื่อมุ่งแสวงหากำไรโดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐาน ในหมวกของนิติพลเมือง ธุรกิจมีหน้าที่เยี่ยงพลเมืองในการยังประโยชน์แก่ส่วนรวม ด้วยการมีส่วนร่วมและพัฒนาสังคมที่ตนเองอยู่อาศัยและประกอบกิจการ โดยยึดหลักความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นพื้นฐาน

การเข้าร่วมขบวนปฏิรูปสังคมร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ นับเป็นหนึ่งในเรื่อง CSR ที่ภาคธุรกิจพึงดำเนินการ และถือเป็นหน้าที่ตามบทบาทที่เป็นพลเมืองภาคองค์กรในสังคม โดยวิธีการและระดับของการเข้าร่วม (Engagement) จะแตกต่างกันตามโอกาสและสมรรถภาพขององค์กรที่มีต่อประเด็นการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง

หนึ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทุกธุรกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความร้ายแรงและเรื้อรังมายาวนานจนกลายเป็นวาระหลักอันดับหนึ่งของการปฏิรูป คือ ประเด็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น อันได้แก่ การให้สินบนในทุกรูปแบบ (การเรียก การเสนอ หรือการรับสินบนทั้งที่เป็นตัวเงินและรูปแบบอื่น) แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือระหว่างบุคคลในภาคเอกชนด้วยกันเอง การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การฉ้อโกง การฟอกเงิน การยักยอก การปกปิดข้อเท็จจริงและขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และการใช้อิทธิพลเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบ ฯลฯ

องค์กรธุรกิจแต่ละแห่งสามารถเริ่มต้นจากการดำเนินการภายในหน่วยงาน เช่น การเปิดเผยมติคณะกรรมการบริษัทในเรื่องนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การเปิดเผยการดำเนินการที่เป็นไปตามนโยบายในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่ได้ดำเนินการแล้ว ในเรื่องที่เกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจที่อาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อควบคุม ป้องกัน และติดตามความเสี่ยงจากการทุจริต รวมทั้งการสื่อสารและฝึกอบรมแก่พนักงานเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริต แนวทางในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริต เป็นต้น

ความสำเร็จของการปฏิรูปเพื่อขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ได้เกิดจากจำนวนขององค์กรที่เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ไม่ได้เกิดจากการชี้นิ้วให้ภาครัฐหรือองค์กร (อิสระ) อื่นๆ ดำเนินการ หรือใช้วิธีโยนภาระไปสู่การสร้างหรือปลูกฝังคนรุ่นหลัง โดยที่ตัวเองมิได้ทำอะไรเลย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link

Thursday, January 16, 2014

จาก ’โครงการ’ สู่ ‘กระบวนการ’

สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดสัมมนา "แนวทางการเปิดเผยข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมตามแบบ 56-1" เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรา 56 ที่ปรับปรุงใหม่ โดยเน้นการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบ (CSR-in-process) ให้แก่บริษัทจดทะเบียนจำนวนเกือบ 300 แห่ง

CSR-in-process เป็นการดำเนินธุรกิจปกติของกิจการให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตรงจุดที่เกิดผลกระทบในห่วงโซ่ธุรกิจ และอยู่ในวิสัยที่องค์กรสามารถบริหารจัดการและวัดผลได้ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดหาวัตถุดิบ การออกแบบกระบวนการผลิต การปฏิบัติต่อพนักงานลูกจ้าง การแข่งขัน การปฏิบัติต่อลูกค้า ฯลฯ

การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมให้ได้ประสิทธิผลนั้น มีส่วนที่ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ สมรรถภาพของบุคลากร การกำกับดูแล การตรวจตรา การประเมินผล และการทบทวนสิ่งที่ดำเนินการ

การให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ แสดงให้เห็นได้ด้วยเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบ คำนึงถึงความเป็นธรรมและผลกระทบในด้านต่างๆ ผ่านทางสารจากผู้บริหาร นโยบายจากคณะกรรมการที่จะดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้บริบทความยั่งยืน รวมทั้งการผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ ภารกิจ ค่านิยม วัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ ที่ซึ่งบุคลากรในทุกระดับ สามารถรับรู้ว่าเป็นแนวทางที่กิจการได้ให้ความสำคัญและต้องปฏิบัติตาม

ในการสร้างสมรรถภาพการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ควรเริ่มด้วยการปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสังคมให้อยู่ในทุกส่วนขององค์กร จากการให้คำมั่นและการสร้างความเข้าใจร่วมกันในทุกระดับ

เริ่มจากผู้นำสูงสุด โดยชี้ให้เห็นถึงนัยและประโยชน์ของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือใช้การต่อยอดจากค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรที่มีอยู่ และมีการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่นำมาดำเนินการ ซึ่งอาจครอบคลุมไปถึงการฝึกอบรมให้แก่ผู้จัดการและคนงานในสายอุปทาน

การกำกับดูแลความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับกิจการขนาดใหญ่ ควรมีการกำหนดโครงสร้างและกระบวนการอย่างชัดเจน เช่น การมีคณะกรรมการชุดย่อย/คณะทำงาน และการกำหนดบุคคลหรือหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ แผนการดำเนินงานระยะสั้น/ระยะยาว และหลักเกณฑ์วิธีการประเมินผลการดำเนินงาน ฯลฯ ส่วนกิจการขนาดเล็ก อาจใช้วิธีแบบไม่เป็นทางการ โดยผู้นำองค์กรใช้การขับเคลื่อนผ่านค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กร การสานเสวนากับพนักงาน เป็นต้น

สำหรับการตรวจตราและเฝ้าสังเกตการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม อาจทำได้หลายวิธี เช่น การติดตามและเก็บรวบรวมข้อมูลตัวบ่งชี้การดำเนินงานตามรอบเวลา การเทียบเคียง (Benchmarking) ผลการดำเนินงาน และการวัดผลตอบรับจากผู้มีส่วนได้เสีย

ส่วนการทบทวนการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการนำผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในแต่ละประเด็นมาเปรียบเทียบกับผลที่ได้ในช่วงเวลาก่อนหน้า เพื่อประเมินความก้าวหน้า การบรรลุเป้าหมายของตัวชี้วัด และวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน โดยกิจการสามารถดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับกระบวนการ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ความคาดหวัง กฎ ระเบียบ ที่กระทบต่อการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม หรือเกิดโอกาสใหม่ๆ ในการขยายบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จากมุมมองของผู้มีส่วนได้เสีย

นอกจากนี้ กิจการควรนำผลลัพธ์จากการทบทวนการดำเนินงาน มาพิจารณาหาหนทางในการปรับปรุงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การปรับปรุง หมายรวมถึง การแก้ไขเพิ่มเติมเป้าหมายและวัตถุประสงค์ซึ่งสะท้อนเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเพื่อมุ่งหมายผลสัมฤทธิ์ที่ท้าทายยิ่งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การขยายขอบเขตการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การเพิ่มทรัพยากรหรือจัดหาทรัพยากรประเภทใหม่ และการริเริ่มดำเนินงานเพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

การเชื่อมโยงผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมเฉพาะในบางเรื่องเข้ากับการประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการและผู้บริหาร จะช่วยสร้างข้อยึดมั่นในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

งานสัมมนาแนวทางการเปิดเผยข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมตามแบบ 56-1 ในครั้งนี้ มี บมจ.บางจาก ปิโตรเลียม เป็นผู้ให้การสนับสนุน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 500 คน...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, January 02, 2014

เทรนด์ ‘CSR’ ปี 57

9 ใน 10 ขององค์กร เมื่อถูกถามเรื่อง CSR จะมีคำตอบว่า “เราทำอยู่แล้ว” และมากกว่าครึ่งจะขยายความต่อว่า เราทำเรื่องนี้นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กร ดำเนินมาตลอดต่อเนื่อง มีโครงการที่ถูกพัฒนาขึ้นต่างๆ มากมาย ตามด้วยการแจกแจงรายละเอียดของโครงการและกิจกรรมให้ฟังกันแบบ non-stop service หากไม่มีคำถามขัดจังหวะเกิดขึ้นระหว่างการสนทนา

สถานการณ์ของ CSR ในวันนี้ องค์กรธุรกิจที่มีความรู้ความเข้าใจตามควรเกี่ยวกับเรื่อง CSR ต่างมีความสามารถในการอธิบายและแจกแจงเรื่องราว CSR ที่ตนดำเนินการเป็นอย่างดี มีการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบของรายงาน CSR เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบของข่าวประชาสัมพันธ์ปกติ

สำหรับองค์กรธุรกิจที่พยายามผลักดันตัวเองให้เข้าถึงการขับเคลื่อน CSR ในระดับที่สูงขึ้นไป จะมีคำถามต่อว่า “แล้วที่ทำมา มันได้ผลขนาดไหน”

การค้นหาคำตอบในข้อนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสำรวจและทบทวนตนเอง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในเรื่อง CSR ที่มุ่งเน้นเรื่องและประเด็นที่มีสารัตถภาพ หรือ Materiality สำหรับการดำเนินการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดบนเงื่อนไขของทรัพยากรที่มีอยู่

นี่คือ เทรนด์ CSR ที่จะเกิดขึ้นในปี 57 !

ในศักราชใหม่นี้ นอกจากที่บริษัทจดทะเบียนจะขมีขมันในการจัดทำรายงาน CSR ตามประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้แนวทางไว้แล้ว องค์กรธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการริเริ่มพัฒนาขีดความสามารถในการเลือกเรื่องที่จะดำเนินการ ไม่น้อยไปกว่าการรักษาระดับความสามารถในการแจกแจงเรื่องที่ได้ดำเนินการ ตามเทรนด์หลักของกระบวนการรายงานที่เป็นสากล

สารัตถภาพ (Materiality) หมายถึง ความมีสาระสำคัญของสิ่งที่นำมาแสดงไว้ในรายงาน ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้รายงานที่ต้องมีความรู้ตามควรเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจ ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการรายงาน รวมทั้งมีความตั้งใจตามควรที่จะศึกษาข้อมูลดังกล่าว โดยการพิจารณาความมีสาระสำคัญจะขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของการแสดงข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ รวมทั้งสถานการณ์แวดล้อมเป็นปัจจัยประกอบ

ในการประเมินว่า เรื่องใดมีสาระสำคัญต่อการนำมาแสดงไว้ในรายงาน ควรพิจารณาจากความเกี่ยวเนื่องที่มีผลต่อขีดความสามารถในการสร้างคุณค่าขององค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นซึ่งสามารถส่งผลให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และการให้ความสำคัญโดยองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องดังกล่าว

ในประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมฉบับดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้แนวทางการเปิดเผยข้อมูลโดยเน้นที่ข้อมูลการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ (CSR-in-process) เริ่มตั้งแต่นโยบายภาพรวม วิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ที่นำไปสู่ความยั่งยืน และการดำเนินงานซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ได้เปิดเผยไว้ รวมทั้งกรณีหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับ CSR ที่กระทบต่อบริษัทและบริษัทย่อย ซึ่งจะทำให้บริษัทจดทะเบียนจำเป็นต้องมีการวางแผนและคัดเลือกเรื่องที่จะดำเนินการและนำมาเปิดเผย ก่อนการลงมือดำเนินการ

กระบวนการรายงานตามขั้นตอนดังกล่าว จะกลายเป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงการผนวกเรื่อง CSR เข้ากับกลยุทธ์องค์กร การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ รวมถึงตัวชี้วัดการดำเนินงานในทั้งสามด้าน (เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม) เพื่อให้ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ภายใต้บริบทแห่งความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

การขับเคลื่อน CSR ในทิศทางดังกล่าว จะทำให้เกิดการกำหนดบทบาทขององค์กรและขอบเขตของสิ่งที่จะดำเนินการ ซึ่งไม่อาจจำกัดอยู่เพียงภายในองค์กร แต่ยังครอบคลุมไปถึงกิจกรรมในห่วงโซ่ธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยแนวโน้มที่น่าจะเห็นเด่นชัดในปี 57 ประกอบด้วย 3 ธีมสำคัญ ได้แก่

Materiality Matters
จากความเชื่อในการใช้รายการตรวจสอบ (check-list) เพื่อกำกับให้องค์กรดำเนินการตามกรอบแนวทางหรือมาตรฐาน โดยหวังจะให้เกิดผลได้ตามที่ตั้งใจไว้ กลับทำให้ผลสำเร็จถูกประเมินด้วยปริมาณของรายการที่ผ่านการตรวจสอบ มากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพของผลการดำเนินงานตามที่ระบุในรายการตรวจสอบนั้น การวัดความสำเร็จจึงติดหล่มอยู่กับ “รูปแบบ” จนไปบดบังความสำคัญใน “สาระ” ของการดำเนินงาน

แนวโน้มการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบการรายงานสากล เน้นการให้ความสำคัญที่สาระของการดำเนินงาน มากกว่าการตรวจสอบรูปแบบของรายการที่ดำเนินงาน เกณฑ์ที่ใช้ประเมินจึงให้น้ำหนักกับความสามารถในการเลือกเรื่องที่สำคัญเพื่อดำเนินการ มากกว่าความสามารถในการแจกแจงเรื่องทั้งหมดที่ได้ดำเนินการ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกับการสร้างคุณค่าขององค์กร ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อองค์กร และมีลำดับความสำคัญในมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

ในปี 2557 องค์กรธุรกิจที่พยายามผลักดันตัวเองให้เข้าถึงการขับเคลื่อน CSR ในระดับที่สูงขึ้นไป จะให้ความสำคัญกับการริเริ่มพัฒนาขีดความสามารถในการเลือกเรื่องที่จะดำเนินการ โดยเน้นที่ความมีสาระสำคัญ (Materiality) ของประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแง่มุมการดำเนินงานตามปัจจัยและเงื่อนไขของแต่ละองค์กร เพื่อรับกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น

De-Organization Imperative
ประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญ ในหลายกรณีเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ และสามารถสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับองค์กรจากการดำเนินงานของผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้น ตัวอย่างเหตุการณ์อาคารโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปถล่มทับคนงานในบังกลาเทศ มีผู้เสียชีวิตนับพันราย ได้ส่งผลกระทบไปยังเจ้าของตราสินค้าและห้างค้าปลีกในห่วงโซ่ธุรกิจ จนต้องมีการปรับรื้อมาตรฐานความปลอดภัยและการปฏิบัติด้านแรงงานกันอย่างจริงจัง

การดำเนินงาน CSR จากนี้ไป จะไม่ขึ้นอยู่กับสมรรถนะขององค์กรเพียงลำพัง แต่ยังยึดโยงกับสมรรถนะของคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจ ซึ่งองค์กรไม่อาจใช้การกำกับดูแลตามเขตอำนาจของตนได้ แต่จำเป็นต้องใช้การถ่ายทอดอิทธิพลข้ามองค์กรไปยังคู่ค้าที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่ต้องการให้ร่วมดำเนินการ เส้นแบ่งของความรับผิดชอบต่อสังคมระหว่างองค์กรกับองค์กรข้างเคียงในห่วงโซ่ธุรกิจจะเลือนรางลง เนื่องจากองค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยการผลักภาระให้พ้นจากเขตความรับผิดชอบของตนได้

ทำให้คาดได้ว่า ในปี 2557 กิจการขนาดใหญ่หลายแห่ง จะลุกขึ้นเป็นผู้นำการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่ธุรกิจ ในประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญอิงตามรายสาขาอุตสาหกรรม

ความครอบคลุมของประเด็นการดำเนินงานที่ได้แผ่ขยายไปยังผู้มีส่วนได้เสียอื่น เป็นตัวการที่ทำให้เกิดการลดทอนตัวตนหรือสภาพขององค์กรลง (De-Organization) และเป็นตัวเร่งที่ผลักดันให้กิจการจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทการขับเคลื่อน CSR ในห่วงโซ่ธุรกิจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Strategy-Based CSR
เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเรื่อง CSR ถูกให้ความสำคัญ กิจการจะมีการตั้งส่วนงานขึ้นมาเป็นการเฉพาะ หรือยกระดับการดำเนินงานโดยให้มีแผนแม่บทรองรับ หรือมีบุคคลทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง พึงระลึกว่า การขับเคลื่อนงาน CSR ซึ่งถือเป็นวิเศษณ์ที่ขยายลักษณะของการกระทำและบอกถึงปริมาณหรือคุณภาพของการกระทำนั้น มีขอบข่ายที่ครอบคลุมการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร การมีส่วนงาน แผนงาน หรือผู้รับผิดชอบเรื่อง CSR ขึ้นในองค์กร จึงต้องทำให้แน่ใจว่า ได้บูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไว้ในการดำเนินงานขององค์กรอย่างทั่วถึง มิใช่จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานของส่วนงานใดส่วนงานหนึ่ง หรือแยกเป็นแผนงานต่างหากจากแผนองค์กร หรือมอบหมายให้เฉพาะกลุ่มบุคคลหนึ่งไปดำเนินการ

วิธีการที่จะผนวก CSR เข้าในทุกส่วนการดำเนินงานขององค์กรได้อย่างไร้รอยต่อ คือ การวางแนวทางการขับเคลื่อน CSR ไว้ในระดับกลยุทธ์องค์กร มิใช่เพียงการดำเนินงานตามแผนงาน CSR ที่เป็นรายโครงการหรือรายกิจกรรม

ในปี 2557 กระบวนทัศน์ของกิจการที่เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนา CSR ในเชิงกลยุทธ์ (Strategy-Based) ที่เชื่อมร้อยเข้ากับยุทธศาสตร์องค์กร โดยมุ่งให้เกิดผลลัพธ์ที่สนองตอบต่อเป้าประสงค์ในระดับองค์กร มากกว่าการตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ในระดับแผนงาน และหลีกเลี่ยงการกำหนดกลยุทธ์ CSR ในแผนงานแยกต่างหากจากกลยุทธ์องค์กร ซึ่งไม่สามารถตอบโจทย์การนำองค์กรไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

จะเห็นว่า แนวโน้มความเคลื่อนไหวเรื่อง CSR ในปี 2557 ภายใต้ธีมที่กล่าวมาข้างต้น จะผลักดันให้องค์กรธุรกิจ ต้องแสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างแนวร่วมการทำงานในห่วงโซ่ธุรกิจตามประเด็นที่พิจารณาแล้วว่ามีสาระสำคัญต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง และปรับแนวการขับเคลื่อน CSR ให้อยู่ในระดับที่เป็นยุทธศาสตร์องค์กร

บริษัทที่เป็นมวลมหาชนทั้งหลาย จะทำให้ความเข้มข้นของ CSR เริ่มต้นขึ้น ณ จุดนี้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]