Thursday, June 20, 2013

ตามรอยการประชุมโลกว่าด้วยความยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดงานเสวนาตามรอยการประชุมระดับโลกว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน ในหัวข้อ “GRI Global Conference Debrief on Sustainability and Reporting” ถอดรหัสการสร้างองค์กรยั่งยืน ด้วยกรอบการรายงานสากลฉบับใหม่ล่าสุด ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI)


การเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ รวมทั้งถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ที่สนใจ จากการที่ทีมงานได้เดินทางไปร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน (Global Conference on Sustainability and Reporting) ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2556 โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,600 คน จาก 80 กว่าประเทศทั่วโลก

เท้าความกันสักนิดหนึ่งว่า GRI เป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งโดยสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย Ceres ทำหน้าที่พัฒนากรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนและนำออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2543 ซึ่งเรียกว่า ฉบับ G1

ถัดจากนั้น ในปี พ.ศ.2545 GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554

ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา GRI ได้ยกระดับกรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนเป็นฉบับ G4 และได้ใช้เวทีประชุมระดับโลกที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประกาศแนวทางการรายงานฉบับใหม่นี้ โดยได้มีการปรับปรุงจากฉบับ G3.1 ที่ใช้อ้างอิงกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงถูกใช้อ้างอิงโดยบริษัทในประเทศไทยที่ได้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนหรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบ GRI ด้วย

รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เป็นรายงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน มีองค์กรทั่วโลกที่จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI แล้วมากกว่า 5,000 แห่ง โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ

โดยจากการสำรวจข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน พบว่า สามารถให้ผลตอบแทนอยู่เหนือกลุ่มบริษัทที่อยู่ในดัชนีอย่าง MSCI World และ S&P 500 ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

หัวใจของการรายงานความยั่งยืนตามกรอบ GRI มิได้อยู่ที่การจัดทำเพื่อให้ได้เล่มรายงานเป็นผลลัพธ์หลัก แต่เป็นการใช้กระบวนการของการจัดทำรายงานมาสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรในบริบทของความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ที่ไม่จำกัดเฉพาะการสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน แต่ยังรวมถึงลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม

ในงานเสวนา ยังได้มีการนำเสนอเนื้อหาและเครื่องมือใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน สถานการณ์ความเคลื่อนไหวเรื่องความยั่งยืนและการจัดทำรายงานในระดับโลก แนวโน้มของ External Assurance และการปรับปรุงกระบวนการรายงานด้วย GRI Taxonomy โดยทีมงานของสถาบันที่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมใหญ่และกิจกรรมคู่ขนาน ทั้งใน Plenary Meeting ใน Master Class Training และในช่วง Regional Presentation เพื่อรวบรวมเนื้อหาและข้อมูลสำคัญๆ จากเวทีประชุมที่กรุงอัมสเตอร์ดัม นำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่ต้องการรับทราบเนื้อหาและข้อมูลจากงานประชุมดังกล่าว โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้กว่า 200 คน จาก 114 องค์กรและ 4 มหาวิทยาลัย...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Wednesday, June 05, 2013

กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สืบเนื่องจากการที่องค์การสหประชาชาติจัดให้มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ระหว่างวันที่ 5 - 16 มิถุนายน 2515 ณ กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ผลจากการประชุมในครั้งนั้น ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์

ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้จัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) ขึ้น และรัฐบาลจากนานาประเทศได้รับข้อตกลงจากการประชุมในครั้งนั้น แล้วดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน รวมทั้งได้นำผลจากการประชุมดังกล่าวมาจัดทำเป็นรายงานเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมโลกเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิถีการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้ วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือจากนานาชาติทั่วโลกในด้านสิ่งแวดล้อม โดยในแต่ละปี UNEP ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกให้เป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลก

สำหรับในปี 2556 นี้ UNEP ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Think-Eat-Save” ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ใช้หัวข้อภาษาไทยว่า “กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” อันเป็นการลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐในเรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth)

แนวคิด Think-Eat-Save เป็นการรณรงค์ให้พลเมืองโลกตระหนักในความสูญเสียที่เป็นอาหารเหลือทิ้งและเศษอาหาร เพื่อปลุกเร้าให้ลด “Foodprint” เพราะข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในทุกๆ ปี จะมีอาหารที่ถูกทิ้งไปราว 1.3 พันล้านตัน ซึ่งเท่ากับปริมาณอาหารที่ผลิตได้ในแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราทั้งหมด ขณะที่ประชากรโลกทุกๆ 1 ใน 7 คนได้รับความอดอยากหิวโหย และมากกว่า 2 หมื่นคนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เสียชีวิตเพราะขาดอาหาร

โลกในขณะนี้ จำต้องจัดหาทรัพยากรรองรับประชากรจำนวน 7 พันล้านคน (และจะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคนในปี ค.ศ.2050) FAO คาดการณ์ว่า หนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตทั่วโลก มิได้รับการบริโภค และถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้ร่อยหรอลงเพื่อนำมาผลิตอาหารที่ไม่ถูกบริโภค และยังเป็นการสร้างผลกระทบทางลบจากขยะอาหารเหลือทิ้งทับถมสู่สิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างของอาหารที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัต เช่น นมจำนวน 1 ลิตร ต้องใช้น้ำ 1,000 ลิตร ไปในกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้อง หรือแฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น จะเกี่ยวข้องกับน้ำ 16,000 ลิตร ที่ต้องถูกใช้ไปกับอาหารวัว ไม่นับรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปศุสัตว์และจากห่วงโซ่อุปทานอาหาร ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสูญเปล่า หากอาหารที่ผลิตนั้น ไม่ได้ถูกนำมาบริโภค

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า สายการผลิตอาหารโลก ครอบครองพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยไปร้อยละ 25 และเป็นกิจกรรมที่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้น้ำจืดเพื่อการบริโภคถึงร้อยละ 70 ต่อการทำลายป่าในอัตราร้อยละ 80 และต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อัตราร้อยละ 30 นับเป็นมูลเหตุซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่สุดต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องพิจารณาตัดสินใจเลือกอาหารที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย หรืออาหารอินทรีย์ (Organic Food) ที่ไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต เลือกซื้ออาหารที่ผลิตได้ในท้องถิ่น ที่ช่วยลดการขนส่งและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สมกับคำขวัญที่ว่า “กิน อยู่ รู้คิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]