Monday, December 31, 2012

CSR @ heart

ในขวบปีที่ผ่านมา ผมได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านทางคอลัมน์หน้าต่าง CSR ในวันพฤหัสบดี เป็นจำนวน 39 บทความ แต่หากนับตั้งแต่บทความหน้าต่าง CSR ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 ก็รวมแล้ว 115 ชิ้น ผมต้องขอขอบพระคุณผู้อ่านทั้งฉบับกระดาษ และฉบับออนไลน์ (ผ่าน CEO Blogs ที่มีจำนวนคนอ่านราว 2 แสนคน) มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

อันที่จริงเรื่อง CSR ที่ผมนำมาถ่ายทอดนั้น ก็วนเวียนอยู่ใน 3 ส่วนหลัก แต่ละบทความก็เป็นการดึงแง่มุมเฉพาะเรื่อง มาลงรายละเอียดเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น หรือเรียงร้อยให้เข้ากับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ หรือเป็นการสะท้อนความคิดจากมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความหลากหลายแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน

ส่วนแรกนั้น เป็นการพูดถึง CSR 2 จำพวก คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) กับความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการและเกิดขึ้นภายหลัง (CSR-after-process) โดยชี้ให้เห็นความแตกต่างในบทความ CSR ที่แลกไม่ได้ แนวทางการขับเคลื่อนในตอน ตั้งไข่ให้ CSR และการวัดผลสัมฤทธิ์ในบทความ ดูยังไง CSR เวิร์กไม่เวิร์ก

ส่วนที่สอง เป็นการเปรียบเทียบหรือพูดถึงเรื่อง CSR กับเรื่องอื่นๆ หรือในบริบทอื่นๆ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืนในบทความ CSR กับ SD เหมือนหรือต่างกัน การกำกับดูแลกิจการในตอน CG กับ CSR เหมือนหรือต่างกัน หรือการสื่อสารในตอน สื่อสาร CSR ดีหรือไม่ดี

ส่วนที่สาม เป็นการขยายเนื้อหาเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ในรูปของรายงานแห่งความยั่งยืน และรายงานด้าน CSR ในหลายตอนด้วยกัน อาทิ รายงาน CSR แบบไม่... เออเร่อ ความยั่งยืนที่ต้องรายงาน รายงานเพื่อความยั่งยืน

ส่วนอื่นๆ เป็นการประมวลความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วม อย่างเช่น การประชุม Rio+20 ในบทความ Rio+20 กับอนาคตที่พึงปรารถนา การประชุม Global Ethics Forum ในตอน เวทีจริยธรรมโลกที่เจนีวา การประชุม ISO 26000 ในตอน การประชุมนานาชาติว่าด้วย ISO 26000 และ ยลออฟฟิศ ISO การประชุมระดับอาเซียนว่าด้วยเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในบทความ CSR ในบ้าน เพื่อคนนอกบ้าน

ขอขอบพระคุณหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยเฉพาะเซคชัน HR&Management ที่เอื้อเฟื้อเนื้อที่ในการเผยแพร่สาระด้าน CSR ให้อย่างต่อเนื่อง และถือโอกาสเชิญชวนท่านผู้อ่านติดตามคอลัมน์หน้าต่าง CSR กันต่อในปี 2556 นี้ (สามารถติดตามบทความย้อนหลังได้ที่ http://bit.ly/CSRwindows)

เนื่องในโอกาสขึ้นศักราชใหม่ ผมขออาราธนาพลานุภาพของคุณพระศรีรัตนตรัย พระเป็นเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเคารพบูชา จงอำนวยพรให้ทุกท่านได้รับแต่ความสุข ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน มีโภคทรัพย์อุดมสมบูรณ์ และมีสุขภาพที่ดี ตลอดปี พ.ศ.2556 นี้

บุญกุศลใดที่ผมได้มีโอกาสทำผ่านทางคอลัมน์หน้าต่าง CSR และในที่อื่นๆ อันเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ขอให้ท่านได้มีส่วนร่วมในบุญกุศลนี้อย่างเต็มที่ถ้วนหน้ากันทุกท่านด้วยเทอญ...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 27, 2012

เทรนด์ธุรกิจ ปี 56 Think SD, Act CSR!

สมมติว่า CSR มีตัวตนเป็นเหมือนบริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัท CSR นี้ได้เจริญเติบโตขึ้นมาก จนกลายเป็นบริษัทมหาชน แผ่ขยายอิทธิพลไป ‘ควบรวม’ กิจการกับบริษัทธุรกิจอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในตลาดและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้กระทั่งรัฐวิสาหกิจ กวาดต้อนเข้ามาเป็นบริษัทในเครือในสังกัดมากมาย

และแล้วก็มีอีกบริษัทที่ชื่อว่า SD ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในวงการไล่หลังบริษัท CSR ไม่นาน ได้รับแรงส่งจากความต้องการของตลาดโลก จนสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดออกไปอย่างรวดเร็ว มีอิทธิพลถึงขนาดเข้ามา ‘ครอบงำ’ กิจการทั้งที่อยู่ในเครือและนอกเครือบริษัท CSR ในอัตราที่เร็วไม่แพ้อัตราการเข้าไปควบรวมกิจการของบริษัท CSR

วันนี้ ธุรกิจที่ถูกควบรวมกิจการกับบริษัท CSR และกำลังถูกครอบงำจากบริษัท SD เริ่มมีความสับสนในการรับนโยบายจากทั้งสองบริษัท ขณะที่หลายธุรกิจที่ดำเนินงานโดยใช้กลยุทธ์จากบริษัท CSR มาระยะหนึ่ง มีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์จากบริษัท SD บ้าง ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่ได้สับเปลี่ยนกลยุทธ์จากบริษัท CSR มาเป็นของบริษัท SD เรียบร้อยแล้ว กลับไม่แน่ใจว่ากลยุทธ์ของบริษัท SD มีความเหมาะสมกับองค์กรจริงหรือไม่

นี่คือ เทรนด์ธุรกิจ ที่จะเกิดขึ้นในปี 56 !

การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development เป็นการพัฒนาที่คำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบกันอย่างสมดุล เกิดจากการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่เฉพาะเพียงภาคธุรกิจเอกชน

บทบาทของธุรกิจต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปพร้อมกัน ในอันที่จะช่วยเสริมหนุนการทำงานของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม ให้เกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยรวม

ความคาดหวังที่จะให้ภาคธุรกิจ ดำเนินงานด้านการพัฒนาสังคม หรือ การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแบบเต็มตัว จึงไม่ถืออยู่ในวิสัยแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของธุรกิจซึ่งมีเป้าประสงค์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

กลยุทธ์ SD ที่ธุรกิจนำมาใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการจำกัดความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เป็นการประกอบธุรกิจหรือการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากกลยุทธ์ CSR แต่ประการใด

ขณะที่ ‘ความยั่งยืน’ หรือ Sustainability เป็นอีกหนึ่งคำ ที่ภาคธุรกิจหยิบฉวยมาใช้ เพื่อแสดงถึงสถานะของผลการดำเนินงาน ที่สามารถก่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนของสังคมโดยรวม หรือความยั่งยืนในระดับองค์กร ตามแต่กลยุทธ์ที่นำมาใช้

ธุรกิจจำนวนหนึ่ง ได้มีการพัฒนากลยุทธ์ความยั่งยืน หรือ Sustainability Strategy ขึ้น เพื่อจัดการกับความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ความต้องการทางธุรกิจ หรือการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการก็ได้

กลยุทธ์ความยั่งยืนที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจหรือประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (Shareholder) ในกรณีนี้ จะมีขอบเขตที่แคบกว่ากลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความคาดหวังทางสังคมหรือประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ในวงกว้าง

ด้วยเหตุนี้ การระบุผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ (อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม) สำหรับการดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืนหรือกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคม จึงถือเป็นบันไดขั้นต้นแห่งความสำเร็จของการสร้างผลได้สูงสุดจากความทุ่มเทขององค์กร อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ระดับของกลยุทธ์ความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน กับผู้มีส่วนได้เสียภายใต้ขอบเขตองค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถแสดงดังภาพ

ระดับของกลยุทธ์ความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

หากเจาะลึกเทรนด์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกลยุทธ์ความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับปี 56 จะมีธีมที่น่าสนใจดังนี้

Chief Sustainability Officer
ถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อกิจการที่ต้องการจะขับเคลื่อนเรื่องใหม่ๆ ซึ่งมีนัยสำคัญต่อองค์กร จะทำการมอบหมายตำแหน่งหรือตั้งบุคคลให้รับผิดชอบเรื่องความยั่งยืนเป็นการเฉพาะ ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน หรือ Chief Sustainability Officer จะถือกำเนิดขึ้นในองค์กร

ในปี 2556 กระแสเรื่องความยั่งยืนจะผลักดันให้หลายธุรกิจดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับกับเทรนด์ธุรกิจดังกล่าว จากเดิมธุรกิจที่มีหรือที่กำลังจะพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม หรือแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ อาจมีการปรับเปลี่ยนชื่อ ควบรวม โยกย้าย บุคลากรและตำแหน่งหน้าที่ในส่วนนี้ เพื่อรับกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี หากเป้าหมายของกิจการที่ต้องการบรรลุคือการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรเป็นหลัก ขอบข่ายของการทำงานและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน อาจไม่มีความแตกต่างจากกลยุทธ์ทางธุรกิจปกติ และอาจไม่ครอบคลุมการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่องค์กรได้เคยทำไว้แต่เดิม

Integrated CSR Reporting
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เหล่าบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ในประเทศไทย ได้ริเริ่มจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เผยแพร่ให้แก่สังคมและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องของกิจการ แยกเป็นเล่มต่างหากจากรายงานประจำปี

จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ ในกลุ่มบริษัทที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานด้าน CSR เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่า ร้อยละ 27 ได้มีการจัดทำโดยแยกเล่มรายงาน และร้อยละ 73 มีการจัดทำรวมไว้ในรายงานประจำปี

โดยสัดส่วนของกลุ่มบริษัทที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานด้าน CSR เมื่อเทียบกับบริษัทที่ทำการสำรวจทั้งหมดซึ่งมีความสนใจที่จะจัดทำรายงานดังกล่าว พบว่า มีถึงร้อยละ 42 ที่ยังไม่เคยจัดทำรายงานด้าน CSR มาก่อน

ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดที่จะให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคม นโยบายและการดำเนินการของบริษัทที่แสดงว่าได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และการดำเนินการของบริษัทกรณีที่มีประเด็นดังกล่าวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีข้อพิพาททางกฎหมาย ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (filing) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) โดยระยะเวลาและข้อมูลที่เปิดเผยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทำให้คาดได้ว่า ในปี 2556 จะมีกิจการหลายแห่งที่ยังไม่เคยจัดทำรายงานด้าน CSR โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ริเริ่มและเตรียมจัดทำรายงานด้าน CSR รวมไว้ในรายงานประจำปีเพิ่มมากขึ้น

New SD Agenda
จากผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNCSD) หรือที่เรียกว่า Rio+20 ณ นครริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ทำให้เกิดกรอบการทำงานเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ ภายใต้เอกสารผลลัพธ์การประชุม ความหนา 53 หน้า ที่มีชื่อว่า “The Future We Want” ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากชาติสมาชิก 193 ประเทศ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกสองปีนับจากนี้ คือ การเปลี่ยนผ่านเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2015 ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)

สหประชาชาติได้บรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ความเสมอภาค (Equality) และความยั่งยืน (Sustainability) ไว้เป็นหลักการพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากปี ค.ศ. 2015

ในปี 2556 กิจการที่ใช้เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SD Framework เป็นกรอบในการขับเคลื่อนธุรกิจ จะเริ่มมีการปรับวาระการดำเนินงานขององค์กรให้เข้ากับวาระการพัฒนาหลังจากปี ค.ศ. 2015 (Post-2015 Development Agenda) และจะมีการปรับกระบวนการทางธุรกิจให้สอดรับกับหลักสิทธิมนุษยชน และหลักความเสมอภาค นอกเหนือจากหลักการความยั่งยืนที่ดำเนินอยู่

สำหรับธุรกิจทั่วไป ที่ยังมิได้เข้าสู่สนามการแข่งขันในระดับโลก หรือในระดับภูมิภาค กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ สามารถนำมาใช้เป็นแนวคิดสำหรับการวางกลยุทธ์การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในภาคปฏิบัติขององค์กรได้ ดังวลีที่ว่า Think SD, Act CSR!...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]

Thursday, December 06, 2012

CSR ในบ้าน เพื่อคนนอกบ้าน

สัปดาห์ที่แล้ว (28-29 พ.ย.) คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งออสเตรเลีย (AHRC) ได้ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศออสเตรเลียทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ราว 40 ท่าน

ผมได้มีโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ประสานงานระดับชาติที่ทำงานสนับสนุนทีมศึกษาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในอาเซียน 10 ประเทศ และได้นำเสนอข้อมูลในช่วงกรณีศึกษากลไกการตรวจสอบและบังคับใช้รวมถึงการเข้าถึงการเยียวยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมด้วย

ในที่ประชุม ได้มีการแนะนำหลักการแนวทางของสหประชาชาติต่อกรอบ “คุ้มครอง-เคารพ-เยียวยา” สำหรับการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ได้ให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 และประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนและร่วมอุปถัมภ์ข้อมติดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ไทยต้องนำหลักการแนวทางดังกล่าวมาพิจารณาดำเนินการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย

ช่วงต่อมาเป็นการประมวลความเคลื่อนไหวเรื่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยได้นำผลการวิจัยขนาดย่อมที่ทำในโครงการ UN Global Compact LEAD program เรื่องภูมิศาสตร์ใหม่ว่าด้วยความยั่งยืนขององค์กร มานำเสนอในสองมุมมอง คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ และลักษณะของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในแต่ละประเทศสมาชิก

การพัฒนาชุมชนเป็นเรื่องหลักที่ภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนใช้แสดงถึงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะที่ภาครัฐยังไม่สามารถตกผลึกหนทางในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างถ่องแท้ อย่างไรก็ตาม เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมสามารถใช้เป็นเครื่องมือขยายการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนสู่ความเป็นประชาคมที่สำคัญ

สำหรับนัยของการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน ประการแรก คือ การลดช่องว่างของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมระหว่างองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้นำและผู้ตาม ทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง ประการที่สอง คือ การให้ความรู้และการสร้างความเข้าใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนอกภาคธุรกิจ (รัฐ ประชาสังคม สื่อ ฯลฯ) และประการที่สาม คือ การแปลงวาระความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในอาเซียนให้เป็นรูปเป็นร่างในทางปฏิบัติ

ในการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ช่วง เป็นการถกกันในหัวข้อความท้าทายของ CSR ในอาเซียนกับผลกระทบต่อสตรี การยกระดับการรับรู้และความเข้าใจเรื่อง CSR การสร้างข้อผูกพันร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ และการพัฒนากลยุทธ์ระดับภูมิภาคที่เกี่ยวกับประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม

สำหรับหัวข้อหลังนี้ ถือเป็นประเด็น CSR ข้ามชาติ (Transnational Issues) ที่มีการกล่าวถึงปัญหาและผลกระทบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายในประเทศพม่า หรือ โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีสถาบันการเงิน บริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจไทยเกี่ยวข้อง

CSR ในบริบทการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจที่ก้าวเข้าสู่เวทีระดับภูมิภาคในวันนี้ จึงมิใช่เรื่องการลูบหน้าปะจมูกทำความดีแบบ charity-based ให้สังคมในบ้านเห็น แล้วก็ออกไปหาประโยชน์ใส่ตัวด้วยการลิดรอนสิทธิของคนในสังคมนอกบ้าน

แต่ CSR สามารถใช้เป็นเครื่องมือทำความดีแบบ rights-based ที่จะช่วยเสริมสร้างความสำเร็จของธุรกิจนอกบ้านด้วยการยอมรับจากสังคมทั้งในและนอกประเทศควบคู่กันไปได้...(จากคอลัมน์ หน้าต่าง CSR) External Link [Archived]